มูลนิธิสยามกัมมาจล


ประวัติการก่อตั้ง

“สยามกัมมาจล” สืบสานปณิธานการดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม

นับจากสยามได้เปิดประเทศเพื่อค้าขายกับชาติตะวันตก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ส่งผลให้การค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศขยายตัวมากขึ้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบเศรษฐกิจไทยจากระบบเศรษฐกิจแบบ "เลี้ยงตัวเอง" มาเป็นเศรษฐกิจที่ "ผลิตเพื่อตลาด" ซึ่งต้องพึ่งพาเงินตรามากขึ้น จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้บริการทางการเงินทางการรับฝาก ให้กู้เงิน และรองรับการบริการทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในระยะแรก ชาติตะวันตกมีบทบาทในการตั้งธนาคารสาขาขึ้นในประเทศไทย

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันการเงินที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จึงดำริที่จะตั้ง "ธนาคารกลาง" หรือ "แนชนัลแบงค์" (National Bank) และธนาคารพาณิชย์ ขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยมีสถาบันการเงิน และการธนาคารเป็นของตนเอง

"บุคคลักย์" (Book CLUB)
"บุคคลักย์" (Book CLUB)
"บริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด"
"บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด"


โดยในระยะแรก ได้ทรงจัดตั้งกิจการธนาคารในชื่อว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) เพื่อทดลองให้บริการรับฝาก และให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชนทั่วไป เมื่อพ่อค้า นักธุรกิจ และหน่วยงานราชการไทย ให้การยอมรับใช้บริการของบุคคลัภย์อย่างแพร่หลายแล้วจึงเริ่มดำเนินการขยายธุรกิจไปด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นับเป็น ครั้งแรกที่คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจที่เคยผูกขาดโดยธนาคารต่างประเทศ

ความสำเร็จของ “บุคคลัภย์” นำไปสู่การก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งแรกขึ้น กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ยื่นขอจดทะเบียน บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด โดยต้องฝ่าฟันอุปสรรคการต่อต้านจากประเทศชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในประเทศไทย จนต้องทรงตัดสินพระทัยยื่นหนังสือกราบบังคมทูล ขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อให้การก่อตั้งธนาคารแห่งแรกของไทยจึงยังคงเดินหน้าต่อไปได้ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจพิเศษให้จัดตั้ง “บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” ขึ้น (ก่อตั้งเป็นทางการ 30 มกราคม พ.ศ.2449-เพิ่มเติม) ด้วยทุนจดทะเบียน ๓ ล้านบาท โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๕) ให้บริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมา บริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๘๒ ตามการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”

จึงเป็นอันว่าความพยายามที่จะให้ประเทศไทยเป็นอิสระทางการเงินตามพระราชดาริของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ก็ประสบผลสำเร็จ นับเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน และแผ่นดินไทยในที่สุด


นับตั้งแต่ก่อตั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินงานภายใต้ปณิธานอันแน่วแน่ คือ การดำเนินงานด้วยคุณภาพควบคู่คุณธรรมมา โดยถือว่าการดำเนินกิจกรรมอันเป็น ประโยชน์ต่อสังคมนั้นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการดำเนินแนวนโยบายของธนาคาร และได้ก่อตั้ง มูลนิธิสยามกัมมาจล (Siam Commercial Foundation) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในส่วนของกิจกรรมเพื่อสังคม การธนาคำว่า “สยามกัมมาจล” มาตั้งเป็นชื่อมูลนิธิ จึงถือเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ขององค์กร ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคต


ในระยะแรก มูลนิธิสยามกัมมาจล มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม จนกระทั่ง ปี พ.ศ.๒๕๕๑ ธนาคาร จึงมอบหมายให้ มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเยาวชน และชุมชน ทั้งนี้ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน ผู้ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศนั่นเอง


มูลนิธิสยามกัมมาจล มีความเชื่อว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้อง สร้างจิตอาสา ให้เกิดขึ้นใน

สังคมไทย เพราะสำนึกของการอาสาเสียสละเพื่อส่วนรวม

เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติอีกทั้งเป็นการเสริมพลัง (SYNERGY)

ให้การดำเนินงานด้านต่างๆ เกิดผลสำเร็จ

อันจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศชาติเจริญก้าวหน้าไปอย่างสมดุล มีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง


“จิตอาสา” ในความหมายของมูลนิธิสยามกัมมาจล คือ การแบ่งปันศักยภาพของตนเองกับผู้อื่น หรือ สังคม โดยจิตอาสานั้น ต้องเกิดขึ้นจากความตระหนักภายในใจของบุคคลผู้นั้นเอง มิใช่การถูกกำหนดให้ทำ