
มูลนิธิกองทุนไทย จัดประชุมทีมวิชาการเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการออกแบบหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพเยาวชน และการจัดการความรู้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 55 ที่สำนักงานมูลนิธิกองทุนไทย
หลังจากที่ได้ประกาศเชิญชวนให้น้องๆเยาวชนที่สนใจและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของบ้านตนเองแล้ว ก้าวต่อไปของงานพัฒนาเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมสิ่งสำคัญคือ การออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน ครั้งนี้เราจึงได้ชวนภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานพัฒนาเยาวชน อันนำไปสู่การพัฒนาหลักสุตรโดยใช้เยาวชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่โครงการฯ จากมูลนิธิกองทุนไทย เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสยามกัมมาจล และทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ทำงานพัฒนาเยาวชนมา ได้แก่
ที่ปรึกษาพัฒนาหลักสูตร
- คุณสุรินทร์ วราชุน มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- คุณสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน กลุ่มไม้ขีดไฟ
- คุณสุภาภรณ์ ปันวารี ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แผนงานประเทศไทย
- คุณเกษณี ซื่อรัมย์ สมาคมป่าชุมชนอีสาน
- คุณไพลิน กล้าจริง สมาคมสร้างสรรค์ไทย
ที่ปรึกษาการจัดการความรู้
- ดร.สมศรี ศิริขวัญชัย นักวิชาการอิสระ /มหาวิทยาลัยมหิดล
- คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส นักวิชาการอิสระ
ข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน สรุปได้ดังนี้
- ตัวชี้วัดโครงการต้องชัดเจน
- ควรมีการกำหนดระดับการพัฒนาเยาวชนให้เป็น Active Citizen ใน 1 ปี (โครงการ 1 ปี) เนื่องจากการพัฒนา Active Citizen จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 1-2 ปี ได้ อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมของเยาวชนเพียง 7 เดือน อาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
- การเชื่อมเครือข่ายเยาวชนที่ได้รับการสนับสนุน จากปีที่ 1 สู่ปีที่ 2 ,3 ต้องคิดรูปแบบ หรือกระบวนการที่สามารถดึงเด็กไว้ได้ เพราะเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรวดเร็ว
- การพัฒนาเด็กในปีแรกน่าจะเป็นเด็กที่มีความพร้อมก่อน เพื่อที่จะพัฒนายกระดับให้เป็นพี่เลี้ยงต่อได้ เป็นการวางฐานพี่เลี้ยงของโครงการ
- สิ่งที่เราต้องคิด กระบวนการที่ต้องหนุนเสริมกลุ่มเยาวชน เพราะ 3 ปีเด็กอาจไม่ได้อยู่กับเราได้อย่างต่อเนื่อง มองว่าในการทำงานของเด็กถ้าไม่มีพี่เลี้ยงที่ใกล้ชิดและเกาะติดในพื้นที่ เราอาจเจอปัญหาได้
- สำหรับการจะไปถึงเป้า Active Citizen หาพี่เลี้ยงมีศักยภาพมาก ก็จะหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนได้ แต่ถ้าหากพี่เลี้ยงไม่เกาะติดพื้นที่และทำงานไม่เป็นการไปถึง Active Citizen ค่อนข้างยากมาก
มุมมองของที่ปรึกษาในเรื่องสถานการณ์ปัญหา และข้อคิดเห็นในการทำงานกลุ่มเยาวชน ปัจจุบันสรุปได้ดังนี้
- ปัจจุบันเด็กรวมตัวกันง่าย แต่เด็กไม่มีทักษะการจัดการกลุ่ม ทำให้กลุ่มแตกเร็ว
- การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่เข้ามากระทบกับเยาวชน ปัจจุบันทำให้เยาวชนไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง
- การทำงานเยาวชนในพื้นที่สามารถระดมทรัพยากรจากพื้นที่ได้ เช่นถ้าหากในบางงานสามารถเข้าไปอยู่ในแผนของ อบต .ได้ ก็จะได้รับงบประมาณจาก อบต. ซึ่งการทำงานต้องเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานในพื้นที่ก่อน และอาจจะต้องใช้เวลาในการทำงาน 2-3 ปี พี่เลี้ยงในพื้นที่อาจทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมในพื้นที่ด้วย
ความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวน การออบแบบหลักสูตร การจัดการความรู้ สรุปได้ดังนี้
- ควรดูจากตัวเด็กว่าเด็กสนใจอะไร และค่อยเติมเต็มในสิ่งที่เยาวชนจำเป็นต้องเรียนรู้
- เนื่องจากเยาวชนจะมาจากหลายพื้นที่ มีช่วงอายุแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการเติมความรู้ การคิดออกแบบกระบวนการพัฒนาเด็กก็จะต่างกันด้วย
- กระบวนการสรุปบทเรียนสามารถตั้งเป้าว่าเราต้องการการอะไรจากการสรุปบทเรียน ไม่ได้สรุปบทเรียนเพื่อเอาบทเรียน เพราะบทเรียนจะถูกเก็บระหว่างทาง สรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดพลังข้างใจ เพื่อให้เกิดคุณค่าให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าอย่างไร สรุแบทเรียนเพื่อให้เยาวชนเห็นตัวเอง แก้ปัญหาอย่างไร
- ในการพัฒนา จะต้องมีการพัฒนาพี่เลี้ยงเพื่อให้เกิด Active Citizen ไปพร้อมๆกัน
- ควรมีการฝึกให้พี่เลี้ยงสรุปบทเรียน เพื่อให้พี่เลี้ยงไปทำกับน้องๆในกลุ่ม จะเป็นการให้เยาวชนและพี่เลี้ยงเห็นเป้าหมายร่วมกัน