
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 โครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ได้จัดประชุมคณะกรรมการกองทุน ครั้งที่ 1/2555 เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ แผนการดำเนินงาน และปรึกษาหารือเกี่ยวกับการค้นหาเยาวชน กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกโครงการ
ประชุมคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ครั้ง1/2555
การประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ทางโครงการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชียวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นคณะกรรมการกองทุน ได้แก่
1. ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญกรมอุทยานสัตว์ป่าและพรรณพืช
2. คุณพูนสิน ศรีสังคม ผู้ประสานงานกองทุนสิ่งแวดล้อม แผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กในประเทศไทย(GEF SGP/UDP)
3. คุณพันธ์สิริ วินิจจะกูล ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกในประเทศไทย (WWF Thailand)
4. คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
5. คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล
6. คุณกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย
ในช่วงแรกคุณปิยาภรณ์ หรือ พี่เปา ได้เกริ่นนำภาพรวมและความเป็นมาของโครงการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ที่มูลนิธิกองทุนไทยเป็นองค์กรดำเนินการว่า เป็นโครงการที่ตรงกับเป้าหมายของมูลนิธิสยามกัมมาจล (SCBF) ที่อยากเห็นเยาวชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ขณะนี้ SCBF ได้ให้การสนับสนุนดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมูลนิธิกองทุนไทย ด้านเมือง โดยสงขลาฟอรั่ม และด้าน IT โดยเนคเทค โจทย์ที่สำคัญของ SCBF คือ การพัฒนาเยาวชนจากการลงมือทำ ซึ่งการลงมือทำของเยาวชนอาจต้องการความรู้ ฉะนั้นเราจึงต้องติดอาวุธให้กับเยาวชนก่อนลงมือทำด้วย
ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้สอดคล้องกับภาพการเรียนรู้ของสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดในการพัฒนาเด็กเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นั้นคือ เรียนรู้จากการปฎิบัติมากกว่าการเรียนรู้จากตำราอย่างเดียว เพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาศักยภาพและตั้งรับการเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ ดังนั้น Program ของมูลนิธิกองทุนไทยจะเป็นการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็น Active Citizen ในสังคมไทยด้านสิ่งแวดล้อม SCBF มีความมุ่งหวังว่าจะเกิดกองทุนเพื่อพัฒนาเยาวชนในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
ต่อจากนั้นคุณกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้นำเสนอนำเสนอรายละเอียดของโครงการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน แก่ที่ประชุม โดยคณะกรรมการได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอดังนี้
- คุณปิยาภรณ์
- แนวทางดำเนินงานของกองทุนยังขาดกลไกที่สำคัญคือ ฐานข้อมูล เนื่องจากมีความสำคัญมากในการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนและเราสามารถติดตามการเติบโตของเยาวชนได้
- ระบบการศึกษาทำให้เยาวชนออกนอกพื้นที่ ถ้าเราไปจับกลุ่มโรงเรียนเราก็จะได้ Issue base แต่ถ้าไปจับกลุ่มในพื้นที่เราจะได้ Area base ความต่อเนื่องของเยาวชนจะมีการส่งผ่านส่งต่อรุ่นต่อรุ่น แต่ในโรงเรียนจะมีการส่งต่อในรูปของชมรม
- คุณพันธ์สิริ
- ฝากให้คิดถึงความต่อเนื่องของกลุ่มเยาวชน โครงการ 1 ปี และให้เยาวชนทำกิจกรรมเพียงไม่กี่เดือนทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนเกาะกลุ่มกันและทำกิจกรรมต่อเนื่อง
- ทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนโตแล้วไปมีบทบาทในสังคม เกาะกลุ่มกัน กับการให้ทุน 1 ทุน ซึ่งคิดว่าต้องมีกระบวนการอะไรมากกว่าการให้ทุน 1 ทุน
- สิ่งที่อยากให้เสริมนอกจากการฝึกอบรมให้กับเยาวชนคือการเสริมเรื่องข้อมูล เช่น ประเด็นบ้านเมือง หรือประเด็นที่มองเห็นปัญหาร่วมกัน หรือประเด็นที่เยาวชนสนใจ
- คุณศศิน
- คิดว่าโจทย์คำว่า “Active Citizen” มันเป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งกระบวนการที่จะไปสู่ตรงนี้ยังไม่ชัด โครงการนี้เหมือนกับว่าให้ทุนเยาวชนไปทำโครงการ พอเสร็จโครงการแล้วก็จบ คีย์ของคำว่า “Active Citizen” มันคือ ความต่อเนื่อง การเชื่อมโยง การสร้างเครือข่าย
- มองถึงตัวชี้วัดการเป็น “Active Citizen” ของเยาวชนที่ผ่านโครงการ ถ้าเลือกกลุ่มเป้าหมายระดับเดียวกันน่าจะทำให้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น ระดับ ม.6 เมื่อขึ้นมหาวิทยาลัยปี 1 แล้วเยาวชนกลุ่มนี้ไปเข้ากลุ่มอนุรักษ์ หรือ เข้าไปเป็นกรรมการ เป็นต้น
- ควรคิดกระบวนการการเชื่อมโยงการทำงานของเยาวชนรุ่น 1 กับรุ่นน้องต่อๆไป หรืออาจให้บทบาทของรุ่น 1 ในการคัดเลือกรุ่น 2 เพื่อความเชื่อมโยงในการทำงานพื้นที่
- ถ้าจำกัดโดยจับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่มีปัญหาจะเป็นการให้เยาวชนได้เรียนรู้ หรือได้จัดการกับปัญหาในพื้นที่ตนเอง เราจะได้เยาวชนที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณ
- ดร.โกมล
- เยาวชนมีความหลากหลายและมีความคิดไม่เหมือนกัน คณะทำงานต้องพยายามดึงความสามารถ ความเด่นของเยาวชนออกมาให้ชัดเจน เพราะเยาวชนมีพลังมาก
- น่าจะใช้ฐานหมู่บ้าน เพราะถ้าใช้ฐานโรงเรียนครูอาจครอบคลุมความคิดของเด็ก เราอาจให้ครูมาเป็นพี่เลี้ยงได้แต่อย่าเข้ามายุ่งในกระบวนการ เพราะเรากำลังสร้าง “Active Citizen” ผ่านการทำ Project base เพื่อให้เด็กรวมตัวกัน วิเคราะห์ปัญหา ลงมือทำ
- คุณพูนสิน
- “Active Citizen” มันเป็นกระบวนการตลอดชีวิต
- ควรคิดกลไก หรือ กระบวนการที่จะส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ว่าจะดำเนินอย่างไรด้วย
- มองถึงเรื่องความต่อเนื่องเยาวชนนอกระบบจะมีการทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องกว่าเยาวชนในระบบ
เจ้าหน้าที่โครงการฯทั้ง 3 คน ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการ 1 ปี, หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการเยาวชน และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งต่อไปโครงการจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการทุกๆ 3 เดือน เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและบทเรียนที่พบ แก่คณะกรรมการทราบเพื่อให้คณะกรรมการให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงานต่างๆของโครงการ
สุดท้าย คุณปิยาภรณ์ ได้นำเสนอการใช้เว๊ปไซต์โครงการต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
โครงการกองทุนพัฒนาเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของงานด้านพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ดังนั้น website โครงการฯจึงอยู่ใน website ของมูลนิธิสยามกัมมาจล คุณปิยาภรณ์ ได้แนะนำการใช้ website แก่คณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถติดตามความคืบหน้า ให้คำแนะนำและแสดงความคิดเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการ และความเคลื่อนไหวของการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันผ่าน website