กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
กิจกรรมศึกษาข้อมูล (เส้นทางโซดละเว)
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

เพื่อให้ทีมงานและเยาวชนในชุมชนเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน ตลอดจนประวัติความเป็นมาของ (โซดละเว) จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

ทีมงานและเยาวชนในชุมชนเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน ตลอดจนประวัติความเป็นมาของ (โซดละเว) จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้

สัมภาษณ์ คุณตามนต์ โพธิสาร อายุ 81 ปี

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสานไม้ไผ่ประสบการณ์ 60 ปี


บ้านเลขที่ 22 หมู่ 11 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

ประวัติความเป็นมาบ้านแต้พัฒนา หมู่ 11 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ

จังหวัดศรีสะเกษ

เดิมทีตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านในปัจจุบัน เป็นป่าต้นแต้ มีประมาณ 5-6 หลังคาเรือน โดยมี คุณทวดซุย โพธิสาร, คุณทวดทอน โพธิสาร, คุณทวดคง วันนุบล เป็นผู้ก่อตั้ง

เนื่องจากบริเวณนั้นมีโจรชุกชุม ชอบขโมยวัวควายของชาวบ้าน จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน และบางส่วนได้ไปตั้งถิ่นฐานในบ้านพะยอมบ้างบ้านโพธิ์กระสังข์บ้าง โดยเป็นที่ดินของคุณตาซี คุณยายวงศ์ วันนุบล ทั้งหมู่บ้าน เป็นที่ราบสูงจึงไม่มีน้ำท่วมถึง

ในสมัยนั้นเป็น หมู่ 6 ตำบลขุนหาญ อำเภอขุขันธ์ และอีกไม่นานนักก็เปลี่ยนเป็น

หมู่ 2 ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ และมีนายสินสมุทร สีสันติแสง เป็นกำนันในช่วงนั้นและเมื่อปี 2537 ได้มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเปลี่ยนเป็นบ้านแต้พัฒนา หมู่ 11 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีนายบุญสม โพธิสาร เป็นผู้ใหญ่บ้าน และมี

นายสินสมุทร สีสันติแสง เป็นกำนันในช่วงนั้น

ปัจจุบัน นายนภดล โพธิ์กระสังข์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลด้านประชากร

ประชากรชาย 117 คน

ประชากรหญิง 110 คน

รวม 227 คน

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโคกพะยอม

ทิศใต้ ติดต่อกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและเทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านค้อปอ ตำบลขุนหาญ

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโพธิ์กระสังข์ หมู่ 12

­

­

สัมภาษณ์คุณยายพันธ์ โพธิสาร อายุ 85 ปี

ปราชญ์ด้านการทอผ้าไหม ประสบการณ์ 50 ปี


ประวัติความเป็นมาโซดละเว

การทอโซดละเวมีมาช้านานนับร้อยปี โดยมีคุณยายทวดจีน โพธิสาร เป็นคนคิดริเริ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ถักทอผ้าโซดละเวในชุมชนบ้านแต้พัฒนา โดยทำเวลาว่างหลังจากทำการเกษตรในช่วงเดือน 2 ถึงเดือน 6 ของทุกปี การมัดย้อมในอดีตใช้สีธรรมชาติในการย้อมไม่ว่าจะเป็น ต้นเข ต้นขนุน ครั่ง คราม ต้นขี้เหล็ก ใบไม้ต่างๆ

การทำโซดละเว คือ การนำไหมสองสีมาตีเกลียวให้เป็นเส้นเดียว โดยการใช้ ฮัดท์ (ไนกรอไหม) ซึ่งสีหลักในชุมชนได้ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตก็มี สีแดงครั่ง (สีกะเซา) สีเขียว แก่ (สีคีว) สีเหลืองเข (สีลืงเครจ์) สีม่วง (สีแล) โดยการนำสองสีมาตีเกลียวควบใส่กันได้แก่สีแดงครั่งแก่และสีเหลืองเขแก่, สีเขียวแก่และสีเหลืองเขแก่, สีม่วงและสีเหลืองเขแก่ ซึ่งถ้าตีเกลียวแล้วจะออกมาในลักษณะคล้ายๆลายหางกระรอก มีความเงางามสะดุดตาอย่างยิ่ง

การทอโซดละเว มีการทอหลายประเภท เช่น ฉฺจ์ละเว (ซิ่นไหมควบ) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ซึ่งผ้าแต่ละประเภทก็ใช้ในในพิธีกรรมที่แตกต่างกัน

­

สัมภาษณ์ คุณยายแวง โพธิ์กระสังข์ อายุ 72 ปี

ปราช์ด้านการทอผ้าไหม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอโซดละเว ประสบการณ์ 50 ปี


การนำโซดละเวไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

1.พิธีกรรมงานบวช นาคจะนุ่งฉิจ์สะนอบจ์ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) เข้าอุปสมบท

2.พิธีกรรมแต่งงาน เจ้าสาวนุ่งฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) เจ้าบ่าวนุ่งฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) และเป็นเครื่องไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ไม่ว่าจะเป็น ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ชาวกวยถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะฉจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็ควบ) จะต้องต่อเชิงทั้งสองด้านบนและล่าง เชิงด้านล่างเรียกว่า บูลจ์บูลจ์ (เชิงไหมมัดหมี่) มีความกว้าง 12 ซม. เสลิก (ไหมยกมุกลายข้าวหลามตัด) มีความกว้าง 3 ซม. ปลอจ์ฉิจ์ หัวเชิงด้านบน ทอด้วยการยกขิดลายก้างปลา ลายดอกหมาก ลายโคมห้า ซึ่งในอดีตผ้าฉิจ์ละเวไม่กว้างมากนัก จึงต่อเชิงด้านบนและล่างให้มีความกว้างมากพอสำหรับการนุ่ง

3.พิธีกรรมเกลนางออ (รำแม่มด) เป็นเครื่องสมมา (ไหว้) แถน (เทวดาประจำตัวหรือประจำตระกูล) ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว)

4.พิธีกรรมงานอวมงคล (งานศพ) ใช้ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ในการคลุมโรงศพ เชื่อกันว่าให้ผู้ที่ล่วงรับไปแล้วปสู่สรวงสวรรค์และมีผ้าผ่อนที่ดีใช้ในโลกหน้า

5.พิธีกรรมบุญเทศน์มหาชาติ (บุญผะเหวด) ใช้ผ้าโซดละเวทุกประเภทในการห่อพระคัมภีร์

6.พิธีกรรมเซ่นสาร์ทเดือนสิบ ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ในการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ได้ใส่ผ้าผ่อนใหม่ๆ

7.พิธีกรรมเรียกขวัญ (กะเยือละวาย) ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) เซ่นเทวดารักษาประจำตัวผู้ป่วย เพื่อให้มาอยู่เหมือนดั้งเดิม

8.พิธีกรรมสู่ขวัญข้าว (โซดทรอจ์) ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ในการเซ่นไหว้พระแม่โพสพ เพื่อปกปักรักษาและให้ข้าวน้ำบริบูรณ์

­

สัมภาษณ์คุณยายสวัสดิ์ โพธิ์กระสังข์ อายุ 67 ปี

ปราชญ์ด้านการทอผ้าไหม ประสบการณ์ 40 ปี


กรรมวิธีการทอโซดละเว

1.การฟอกไหม (ผ๊อจ์โซด) คือ การลอกกาวออกจากเส้นไหมเพื่อให้ง่ายต่อการย้อมและการทอ

2.การกวักไหมที่ผ่านการฟอกแล้ว (เปลจ์โซด) คือ การกวักเข้าอักเพื่อรอการนำไปแกว่ง

3.การแกว่งไหม (ขวีจ์โซด) คือ การตีเกลียวเส้นไหมไม่ให้แตกก่อนการย้อมและทำโซดละเว

4.การทำไหมเป็นเป็นใจ (ซัลจ์โซด) คือ การแหล่งไหมเข้า ซะนัลจ์ (เหล่งกวักไหม) เพื่อทำให้เป็นใจ (ปอย)

5.การย้อมไหม (เลาะโซด) คือ การนำไหมลงไปย้อมในหม้อสีที่เดือดๆ ต้มประมาณ 1 ชั่วโมง

6.การกวักไหม (เปลจ์โซด) คือ การกวักไหมที่ผ่านการย้อมเข้าอักก่อนนำไปทำโซดละเว

7.การทำโซดละเว (เวไมไม) คือ การตีเกลียวไหมสองสีให้เป็นเส้นเดียว

8.การกวักโซดละเวเข้าอัก (เปลจ์ไมไมมูดอัก) คือ การกวักไหม (โซดละเว) เข้าอักเพื่อให้โซดละเวยืดเพื่อง่ายต่อการทอ

9.การปั่นหลอด (ปันลอด) คือ การปั่นโซดละเวเข้าหลอดเพื่อจะนำไปทอ

การทำไหมยืน ไหมเครือ (ถังคือจ์)

1.ย้อมไหม (เลาะโซด) คือ การนำไหมที่เตรียมไว้ไปลงย้อมตามสีที่ต้องการ

2.การกวักไหม (เปลจ์โซด) คือ การกวักไหมที่ผ่านการย้อมเข้าอักก่อนนำไปทำไหมยืน ค้นไหม

3.การค้นไหมเครือ (เต๊ะจ์โซด) คือ การนำไหมที่กวักแล้วมาค้นใส่ ฮ้งค้นไหมเครือ (กอนตะแน๊ะจ์) จนครบตามจำนวนเส้นไหมในฟืม เช่น ฟืม 35 หลบ ต้องค้น 2,800 เส้น

4.การสืบไหม (เตลจ์โซด) คือ การต่อเส้นไหมที่ผ่านการค้นไหมแล้วมาต่อกับเส้นไหมเส้นเดิมที่อยู่ในฟืม

การทอโซดละเว

1.การเอาปมไหมออกจากฟืม (เล๊อะจ์เฉิงจ์) คือ การเอาปมไหมออกจากฟืมเพื่อทำการทอ

2.การขัดเชิงไหม (คัดจ์เฉิงจ์) คือ การนำไม้มาขัดแล้วทอขัดไว้เพื่อไม่ให้เส้นไหมหลุด

3.หวีไหม (ซีดโซด) คือ การหวีไหมด้วยน้ำข้าว

4.การทอโซดละเว (ตานโซดละเว) คือ การทอไหมหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น ฉิจ์ละเว ฉิจ์โทรจ์ ฉิจ์สะนอบ ฉิจ์ปัดท์คั่นโซดละเว

­

­

สัมภาษณ์ คุณยายเงี่ยม ศรีทอง อายุ 67 ปี

ปราชญ์การทอผ้าไหม ประสบการณ์ 45 ปี



ความแตกต่างการย้อมสีธรรมชาติและสีเคมี

การใช้สีธรรมชาติในอดีตได้จากส่วนต่างของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ใบ กิ่ง ซึ่งแต่ละส่วนก็ให้สีแตกต่างกัน อ่อนเข้มตามส่วนประกอบของลำต้น ต้นไม้ที่ใช้ย้อมได้แก่ ต้นเข (เขลจ์เครจ์) ต้นหนุน (เขลจ์มี) ต้นคราม ลูกมะเกลือ (ไปรจ์มะกลือ) ครั่ง (ขลังจ์) ต้นและใบขี้เหล็ก (เขลจ์เคล็กจ์) เปลือกแค (คล๊อจ์แคลจ์) ซึ่งมักจะต้มแล้วเทลงไหว้ให้ได้มากที่สุด

ต้นเข (เขลจ์เครจ์) ให้สีเหลืองเข

ต้นหนุน (เขลจ์มี) ให้สีเหลืองแก่นขนุน

ต้นคราม ให้สีครามหรือสีฟ้า

ลูกมะเกลือ (ไปรจ์มะกลือ) ให้สีดำ

ครั่ง (ขลังจ์) ให้สีแดงและสีชมพู

ต้นและใบขี้เหล็ก (เขลจ์เคล็กจ์) ให้สีเขียวขี้มา สีเขียวอมเหลือง

เปลือกแค (คล๊อจ์แคลจ์) ให้สีชมพู

การย้อมสีธรรมชาติ เมื่อย้อมเสร็จแล้วมักจะนำผ้าไปลงโคลน เพื่อให้ผ้ามีความหนาและคงทนในการใช้งาน

การย้อมสีในปัจจุบัน มักย้อมด้วยสีเคมีซึ่งจะย้อมง่ายไม่เสียเวลามากเหมือนกับการย้อมสีธรรมชาติ เพียงแต่ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทสีลงไปในหม้อ คนให้สีละลาย แล้วนำไหมลงย้อมประมาณ 1 ชั่วโมง หมั่นกลับไหมบ่อยๆ เพื่อให้สีสม่ำเสมอ

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ