โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย
โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย
กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
​โครงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน สู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ จ.สุรินทร์ (ค่าย 15)
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

โครงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน

สู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์


หลักการ ความเป็นมาของโครงการ

เยาวชนไทยในชนบทกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงหลายอย่าง ที่เห็นชัดได้แก่ ปัญหายาเสพติดที่ระบาดทั่วไปโดยมีเยาวชนวัยรุ่นเป็นเหยื่อสำคัญ พฤติกรรมทางศีลธรรมจรรยาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งข่าวคราวการทะเลาะเบาะแว้ง ยกพวกตีกันระหว่างโรงเรียนของนักเรียนบางกลุ่ม และเด็กติดเกมส์คอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็เป็นปัญหาใหม่ที่เริ่มกระจายตัวอย่างน่าเป็นห่วง

ปัญหาที่ลึกลงไปกว่านี้ยังมีอีกหลายอย่าง ได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาจำนวนมากไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ เขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของอนาคต เพราะผลการเรียนที่ครึ่งๆ กลางๆ นั้นไม่สามารถช่วยให้มีวิชาชีพที่ทำอย่างภาคภูมิใจได้ เพราะระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมให้เยาวชนเหล่านี้ เข้าสู่โรงงานหรือกลับสู่ท้องทุ่งอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยความภาคภูมิใจ แต่กลับทำให้เขาออกไปอย่างผู้แพ้ สังคมชนบทจำนวนมากถือว่าถ้าบุตรหลานของตนเรียนมัธยมแล้วกลับสู่ท้องทุ่งเป็นความล้มเหลว ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถกลับไปสู่ชุมชนรากเหง้าของตนเองได้

ปัญหาที่กำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เด็กเยาวชนที่หลุดออกมาจากการศึกษาในระบบ และไม่สามารถเรียนจนชั้นมัธยมศึกษา หรือการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การไม่มีความสุขกับการเรียน การศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้ หรือแม้แต่การหลงผิดไปตามเพื่อนและตามกระแสสังคมที่รุมเร้า สำหรับเด็กเยาวชนที่ออกจากระบบเพราะรู้ความต้องการที่แท้จริงของตนเองก็จะสามารถเดินตามฝันของตนเองได้อย่างเต็มกำลัง แต่สำหรับเยาวชนที่ออกมาโดยไม่ความต้องการที่แท้จริงของตนเอง การออกนอกระบบทำให้พวกเขามีเวลาว่างมากขึ้น และมักจะใช้เวลาว่างที่มีนั้นไปทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย

ปัญหาดังกล่าว มีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง การจะแก้ปัญหาเหล่านั้นเฉพาะปรากฏการณ์ที่มองเห็นเท่านั้นไม่เพียงพอ สาเหตุหลักอันหนึ่งคือ ระบบการศึกษา ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยน ส่งผลให้คนรู้สึกด้อย ไม่เคารพตนเอง รู้สึกตนเองไม่ดีพอ ผลของสิ่งเหล่านี้แสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องกลับมาที่การเรียนรู้แบบใหม่ที่จะนำไปสู่การรื้อฟื้นความเคารพตนเอง เคารพผู้อื่น เคารพธรรมชาติ เด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการศึกษาที่เป็นองค์รวมของชีวิต เพื่อจะได้เห็นความสัมพันธ์และโยงใยของตนเองกับสรรพสิ่ง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านมือ ผ่านหัวใจ และผ่านสมองอย่างสมดุล ทั้งผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่นำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเอง แม้บางคนจะเรียนไม่จบตามที่พ่อแม่และสังคมคาดหวัง โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก คือ ทรัพย์ อำนาจ และสถานะ แต่มุ่งบ่มเพาะอริยทรัพย์ภายในให้งอกงาม

สถาบันยุวโพธิชน ร่วมกับ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชนขึ้นหลายครั้ง และพบว่า ค่ายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้เข้าร่วมในระยะยาวมากที่สุด คือ นอกจากพวกเขาจะได้แรงบันดาลใจและแนวทางแล้ว พวกเขายังมีเวลามากพอที่จะบ่มเพาะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองไปทางบวกทั้งในด้านความเป็นผู้นำ การทำงานแบบมีส่วนร่วม ใฝ่เรียนรู้ และการมีจิตใจอาสารับใช้สังคม ซึ่งมักจะเป็นเด็กเยาวชนที่ผ่านค่ายระยะยาว คือ ตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป

โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 : การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนจัยเพื่อท้องถิ่น ได้สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนท้องถิ่นผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายที่ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข โดยเด็กเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม และกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ทำให้พวกเขามีความสามารถมากขึ้น และมีจิตใจอาสารักการทำเพื่อผู้อื่นและชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เพราะการได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างเป็นระบบนั้นจะทำให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะที่สำคัญของประชาชนในศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้พวกเขาเติบใหญ่ในสังคมนี้อย่างมีความสุข และได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มภาคภูมิ

“โครงการพัฒนาแกนนำเยาวชนสู่นักวิจัยท้องถิ่น” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมเด็กเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนตนเองร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนนั้น ด้วยความสมัครใจที่จะเข้าร่วมอย่างเต็มกำลัง มีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจ และลงมือทำเสมอบ่าเสมอไหล่กับผู้ใหญ่ในชุมชน เห็นงานที่ทำเป็นการบ่มเพาะความเชื่อมั่นในตนเองอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งนำไปสู่ความเคารพในตนเอง เคารพผู้อื่น และเคารพธรรมชาติ

วัตถุประสงค์โครงการ

1.พัฒนาเยาวชนให้เป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ ที่มีแรงบันดาลใจ และเครื่องมือในการฝึกฝนตนเอง สามารถนำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตอาสารับใช้สังคม รวมถึงการเป็นผู้ที่สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะคุณค่าแท้คุณค่าเทียมได้ และนำไปสู่การตัดสินใจเลือกการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม

2.เสริมทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการโครงการอย่างมีส่วนร่วมสำหรับแกนนำเยาวชน เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเอง 

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ

กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งสิ้น 40 คน ได้แก่

  1. ตำบลหนองอียอ อำเภอสนม
  2. ตำบลสลักได อำเภอเมือง
  3. เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม
  4. เทศบาลตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท

ทีมกระบวนกร

1.คุณวราภรณ์ หลวงมณี
2.คุณจรายุทธ สุวรรณชนะ
3.คุณพรพิมล สันทัดอนุวัตร
วิทยากรพิเศษ
1.คุณมาร์ติน วีลเลอร์ (ปราชญ์ชาวบ้านระบบเกษตรและนิเวศชุมชน)
2.คุณมัลลิการตั้งสงบ (อาจารย์พิเศษสอนการการละครมหาวิทยาลัยขอนแก่น)


ผู้รับผิดชอบโครงการ
นางสาววราภรณ์ หลวงมณี

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ