กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ประชุมสรุปบทเรียนโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2 ณ โรงแรมภูริมาศ บีช โฮเต็ลแอนด์สปา บ้านฉาง จ.ระยอง
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

ประชุมสรุปบทเรียนโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2

วันที่ 23 - 24 มกราคม 2558 ณ โรงแรมภูริมาศ บีช โฮเต็ลแอนด์สปา บ้านฉาง จ.ระยอง



                ประชุมสรุปบทเรียนโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2 ร่วมระดมสมอง วิเคราะห์ และสรุปบทเรียนจากการจัดกิจกรรมต่อยอดพัฒนาเยาวชนด้าน IT ของ NECTEC และนำข้อค้นพบมาพัฒนาปรับปรุงพัฒนาโครงการในระยะต่อไป


รูปแบบการประชุม

               เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อทบทวนเป้าหมายกิจกรรมการดำเนินโครงการ

­

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 2 
  2. เพื่อบทเรียนจากกระบวนการโค้ช เพื่อพัฒนาเยาวชนด้านไอที โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่2
  3. เพื่อปรับและวางแผนกิจกรรมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 3

­

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

­สรุปบทเรียนโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2

วันที่ 23 - 24 มกราคม 2558 ณ โรงแรมภูริมาศ บีช โฮเต็ลแอนด์สปา บ้านฉาง จ.ระยอง



ในฐานะคนทำงาน มองว่าในปีที่ 2 นี้โครงการต่อกล้าฯ ประสบความสำเร็จอย่างไร


สุนทรีย์ : ในมุมมองที่ตัวเด็ก เห็นว่าเด็กๆ ได้พัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น มีตรรกะในการคิดกระบวนการวางแผนการทำงานมากขึ้น จากประสบการณ์ที่เราได้เติมเต็มในการ workshop ต่างๆ ที่เติมเต็มให้กับน้องๆ เข้าไป รู้สึกว่างานที่เขาทำ ปกติโปรเจคทำเสร็จปีหนึ่งก็จบ แต่เขาสามารถพัฒนาต่อยอดไปถึง End User ได้แล้ว อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ส่งถึงมือ End User อีกส่วนหนึ่งก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องรุ่นต่อๆ ไปด้วยที่จะเข้ามาพัฒนาผลงานกันต่อ


สิทธิชัย :  มีความรู้สึกว่า เด็กมีมุมมองที่กว้างมากขึ้นเกี่ยวกับการที่จะทำอะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคที่อยากทำเอง อยากทำขาย หรืออยากทำธุรกิจ คือเด็กมีความคิด ความอ่านเป็นของตัวเองเพิ่มมากขึ้น กล้าที่จะฝัน กล้าที่จะลงมือทำมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนว่า ทำแล้วมันมีช่องทางนะ ตรงนี้คิดว่าเด็กได้ไปเยอะมาก

­

­

ในส่วนของตัวเอง ในฐานะคนทำงาน มองว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไร


สิทธิชัย : ต้องขอบคุณพี่ก้อง (เนคเทค)ที่ไว้วางใจให้พี่มาทำงานในจุดนี้ พี่ก็กลัวว่าทำแล้วจะออกมาได้ดีเหมือนที่พี่สุนทำไหม กลัวว่าถ้าทำไม่ดีจะกระทบทั้งหัวหน้าเรา และองค์กรเรา แต่พอได้ทำแล้วรู้สึกว่าสนุก ซึ่งสิ่งที่เราคิดไป คิดไม่ผิดว่าควรจะใส่อะไรให้เด็ก หรือเด็กควรจะรู้อะไรบ้าง ยิ่งไปลงโค้ชกับเด็กๆ ยิ่งรู้สึกว่า บทบาทการเป็นโค้ชน่าจะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราน่าจะเรียนรู้ น่าจะฝึกฝนให้มันดีขึ้น น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งของเราที่จะก้าวไปได้ เราอาจจะทำได้ส่วนหนึ่งจากที่เราเรียนครุศาสตร์มา ก็เลยรู้สึกว่ามันได้ผลประโยชน์กับตัวเองมากพอสมควร นอกจากเด็กจะได้แล้วตัวเราเองยังได้เยอะมากด้วย ...มันทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง จากเมื่อก่อนเราจะเป็นคนเฮี๊ยบๆ ดุมาก แต่พอเราได้มาคลุกคลีกับเด็ก ได้มาเรียนรู้วิธีการนำเสนอ หรือที่วิทยากรมาสอนในคอร์สที่เราจัด ทำให้เรามีความรู้สึกว่า จริงๆ ที่เราทำมันก็ดีกับตัวเราเหมือนกัน ทำให้มุมมองและทัศนคติในการทำงานของเราเปลี่ยนไปเยอะ เช่น ถ้าไม่ทำแบบนี้ เราสามารถเปลี่ยนไปทำแบบอื่นได้ ซึ่งรูปแบบในการทำงานมีหลายทางให้เราเดิน ถ้าเราเดินแบบนี้ไม่ได้ ทำไมเราไม่เดินแบบนั้นล่ะ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดแบบนี้


สุนทรีย์ : คิดว่าไม่ใช่เฉพาะตัวเด็กที่ได้เรียนรู้ Project Management ตัวเองก็ได้ไปเยอะเหมือนกัน อะไรที่จัด workshop ให้เด็กเราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย และการเป็นโค้ชและการหาช่องทางที่จะเข้าไปคุยกับเด็กหรือวิธีการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เมื่อเราได้ไปเรียนรู้กับทางมูลนิธิสยามกัมมาจล เราก็ได้นำประสบการณ์มาใช้กับเด็กๆ ตรงนี้ได้ ซึ่งเราก็ได้จากตรงนี้เยอะเหมือนกัน ...เราก็คิดไม่ผิดนะที่อยากจะให้ผลงานของเด็กได้ไปต่อยอด การที่เราลงมือทำอย่างจริงจัง แล้วก็เรียนรู้กระบวนการต่างๆ มาปรับใช้ในงาน มันสามารถสร้างคนๆ หนึ่งให้ออกไปและประสบความสำเร็จได้ ถ้าเกิดเราสามารถขยายวิธีการแบบนี้ไป เป็นต้นแบบในการพัฒนาคนในสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะ IT ตรงนี้ มันก็น่าจะทำได้ที่จะขยายไปในวงกว้างมากขึ้น

­

­

มีอะไรที่ยังไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง และอยากไปเติมเต็มในปีที่ 3 บ้าง


สุนทรีย์ : ในปี 3 เราอาจจะต้องลงไปคลุกคลีกับเด็กๆ มากขึ้น ตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้นโครงการ ตั้งแต่วันที่น้องเขาเข้ามาโครงการเลย เพราะตอนนี้เราอาจจะมีช่องว่างกับน้องเป็นบางช่วง หรือน้องอาจจะติดสอบ ติดโน่นติดนี่ เลิกทำ ซึ่งในรายงานวิจัยมันจะต้องทำงานตลอดตาม Timeline แต่ว่าน้องอาจจะข้ามตรงนี้ไป ถ้าเกิดว่า เราเอาตัวเองไปแทรกเขาตลอดเวลา หากระบวนการต่างๆ เข้าไป มันอาจจะมีความสำเร็จของโครงการมากกว่านี้


สิทธิชัย : อีกอันที่เราคาดหวังไว้ในปีที่ 3 ตอนแรกเรากะว่าจะได้ 10 โครงการ แต่พอเราบริหารจัดการงบประมาณ ทำให้ได้เป็น 15 โครงการ เลยตั้งเป้าว่าจะได้เด็กมากขึ้น คือปีนี้มุ่งเป้าไปที่เด็กมากกว่าแล้ว คือถ้าได้มากกว่า 15 โครงการเราจะภูมิใจมาก


สุนทรีย์ : ตอนนี้เรากำลังทบทวนงบประมาณกันอยู่ว่าเราใช้อะไรสิ้นเปลืองไปหรือเปล่า หรือเราจะไปเพิ่มทุนให้เด็กทางด้านไหนได้บ้าง


สิทธิชัย : อยากให้โอกาสให้เด็กได้ลองไปปรับดูว่าโจทย์ยาวๆ ของน้อง ลองเอาออกมาแค่ส่วนเดียวได้ไหม แล้วทำออกมาให้ใช้งานได้จริง ส่วนจะเสริมอะไรให้น้องบ้างก็อาจจะดูภาพรวมของโครงการน้องก่อนว่ามีอะไรบ้าง เพราะความรู้ด้านเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ ทุกวัน เราอาจจะต้องปรับตาม จะใช้ตามรูปแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องปรับตามเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวคน ตัวเทคโนโลยีที่เอามาใช้ในการทำงาน หรือการให้ข้อมูลเด็ก ก็ต้องมีการปรับไปเรื่อยๆ  

-----------------------------------------------------------

­

บทบาท “ครูฝึก” เด็กเก่ง IT

1.สร้างความไว้วางใจ ให้ความเป็นกันเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโค้ชและเยาวชน เขาจะสบายใจและกล้าเข้ามาขอรับคำปรึกษาแนะนำ


“พยายามให้เขาพูดว่าเขามีอะไรอยู่ในใจ เช่น เขาอาจกังวลกับความคิดเห็นของคณะกรรมการ เราก็ต้องใช้ลูกล่อลูกชนให้เขาเปิดใจออกมา แล้วจะได้คำตอบว่าเหตุการณ์ที่เป็นอยู่นี้เป็นเพราะเขามีปัญหาอะไร” สุนทรีย์  กริชชัยศักดิ์



2. เปิดใจ รับฟัง ใช้การสื่อสารสองทาง ให้โอกาสเยาวชนได้สื่อสารความต้องการที่แท้จริงออกมาโดยไม่ด่วนสรุป โค้ชต้องทำความเข้าใจ และช่วยจับประเด็นเพื่อพัฒนาโจทย์การทำงานอย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นสิ่งที่โค้ชหลายท่านกล่าวตรงกัน


“ช่วงแรกเราจะต้องเปิดใจให้เต็มที่ เรามีความคิดอย่างไร เด็กมีความคิดอย่างไร ต้องคุยกันเพื่อหาจุดโฟกัสให้ได้ว่าข้างหน้าเราจะไปในทิศทางไหน ซึ่งต้องใช้ลูกล่อลูกชน ต้องมีทักษะในการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เพราะบางทีเราถามเป็นข้อๆ ไม่ได้คำตอบ เราจะได้คำตอบก็ต่อเมื่อปล่อยให้เขาพูด และคำตอบที่เราอยากจะได้จริงๆ มันจะอยู่ในส่วนที่เราไม่ได้ถาม ซึ่งถ้าเราไม่เปิดใจและไม่เปิดโอกาสในให้เขาแสดงออกมา เราจะไม่เห็นคำตอบที่แท้จริงว่าเขาต้องการอะไร ทั้งนี้ต้องอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”  ชัชวาล  สังคีตตระการ



3.เข้าใจธรรมชาติของเยาวชนเป็นรายบุคคล รู้จักความแตกต่างของเยาวชน ใช้จิตวิทยาเชิงบวกกระตุ้นและหนุนเสริมเยาวชน และสนับสนุนให้ทำงานเป็นทีมเวิร์ค


“เป็นเพราะเด็กต่างกัน บางคนดุแล้วเขาเปลี่ยนหรือมีพลังขึ้นมา แต่บางคนถ้าเราดุแล้วเขาจะหนี เลยรู้สึกว่าชมอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค ดุอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค ต้องแล้วแต่เด็กแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ต้องให้เขาเชื่อใจ เขาจึงจะฟังเรา” สรรพฤทธิ์  มฤคทัต


4.มีทักษะการตั้งคำถาม เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ถามกระตุ้นคิดให้สามารถทำงานตามเป้าหมาย ทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และวางแผนการทำงานต่อไปในอนาคต



5.ให้ความสำคัญกับข้อมูล แนะนำให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการสืบค้นข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และศึกษาตลาดเพื่อโอกาสทางธุรกิจ ติดตามสังเกต ช่วยเยาวชนคัดกรองข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ทำงานต่อไปได้



6.กระตุ้นให้นำผลงานทดลองกับผู้ใช้งานจริง แนะนำให้เยาวชนนำผลงานที่ได้ไปทดลองใช้งานจริงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำผลตอบรับกลับมาพัฒนาจนได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์



7.ให้กำลังใจ และคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ เมื่อเยาวชนพบอุปสรรคหรือปัญหา กระตุ้นให้เยาวชนมุมานะพยายามพัฒนาผลงานให้สำเร็จ โดยการให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคือการยกตัวอย่างหรือกรณีศึกษาอธิบายเพิ่มเติมให้เยาวชนได้เห็นภาพ จะสร้างความเข้าใจได้ดีกว่า ดังที่โค้ชได้สะท้อนกับเราว่า


“เนื่องจากเส้นทางที่จะไปมันไกลมาก ไม่เราก็เขาที่จะหมดแรง ดังนั้นถ้าจะให้ไปต่อได้ มันต้องเติมพลังซึ่งกันและกัน เวลาที่ไปฟังน้องๆ เรามีพลัง เราถ่ายพลังของเราไปให้เขาก่อน เดี๋ยวพอเขามีอะไรใหม่ๆ เราก็เอาสิ่งเรานั้นมากระตุ้นตัวเรา สร้างพลังกลับมาที่ตัวเรา แล้วก็ไปกระตุ้นเขาอีก ซึ่งมันจะทำให้พลังมันหมดช้า สามารถไปได้ไกลกว่าปกติ ถ้าน้องไม่มีพลังกลับมาให้เรา เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรให้ไป มันคือการเติมพลังซึ่งกันและกัน ถ้าเด็กไม่มีแรง ไม่มีพลังแล้ว เป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะดูว่ามีปัญหาอะไร ต้องแก้ไขอย่างไร ถ้าแก้ให้เขาได้ พลังเขาจะกลับมาเอง ถ้าเราปล่อยปละละเลย 3 เดือนไปเจอครั้งหนึ่ง ไฟก็อาจจะมอดไปแล้ว” ชัชวาล  สังคีตตระการ


“เวลาเราสอนทฤษฎี เด็กจะมองไม่ออก นึกภาพไม่ออกว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับของเขาอย่างไร เราก็ต้องแตกออกมาให้เห็นว่า คนอื่นเขาเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง เด็กก็จะสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับผลงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้การยกตัวอย่างของคนอื่นที่ทำเจ๋งแล้ว มาทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวกับผลงานตัวเอง” สิทธิชัย  ชาติ


8. มองภาพรวมและกำกับทิศทางการทำงานของเยาวชน ช่วยเยาวชนจัดลำดับความสำคัญของงาน และตั้งคำถามเพื่อช่วยวางแผนบริหารจัดการงานอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนย่อยๆ คือ ชวนน้องคิดถึงปัญหา ช่วยจัดลำดับความสำคัญ และช่วยกำกับเส้นทางเดินสู่เป้าหมาย


“การเลือกหรือช่วยเด็กจัดลำดับความสำคัญเป็นหน้าที่ของโค้ช เพราะบางทีระยะเวลาจำกัด เด็กทำไม่ทัน เราก็ต้องช่วยประเมินและจัดลำดับความสำคัญว่าส่วนไหนควรจะต้องเสร็จก่อน และต้องจูงใจให้เด็กเลิกทำส่วนที่เป็นปลีกย่อยบ้าง เพราะบางทีเด็กอยากทำทุกอย่างแต่เวลาไม่ทัน” สรรพฤทธิ์  มฤคทัต


"เป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องรักษาเส้นทางไว้ให้มั่นคงมากที่สุด เพราะตอนที่เราคุยกับเด็กทีแรก เราจะเห็นปลายทางแล้วว่ามันจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของโคชที่จะต้องรักษาให้มันเดินตามนั้นไปให้ได้ ความเห็นอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นหน้าที่ของโคชที่จะต้องย่อย และไปคุยกับเด็ก ความเห็นไหนที่สำคัญและทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โคชอาจจะต้องช่วยกลั่นกรอง เพราะถ้าหลุดโฟกัสไปแล้ว มันจะเหนื่อยทั้งเด็กและโคชที่ต้องไปเริ่มคิดกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย” ชัชวาล  สังคีตตระการ


“ต้องกระตุ้นให้น้องคิดถึงปัญหาและอุปสรรคด้วย เพราะตอนแรกๆ น้องมักจะคิดแต่เรื่องงาน ส่วนปัญหาหรืออุปสรรครอบด้านไม่เคยนึกถึง บางครั้งน้องยังไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคเลย แต่ตัดสินใจที่จะเลือกทำบางสิ่งแล้ว จึงต้องกระตุ้นให้น้องคิดทุกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่คิดงานอย่างเดียว” ศรินทร์  วัชรบุศราคำ



9.สร้างแรงบันดาลใจ ชี้ให้เห็นเป้าหมายเพื่อพัฒนายกระดับการทำงาน ช่วยมองและดึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในการทำงานของเยาวชน ชี้ชวน ท้าทาย สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาต่อ


“บางทีเด็กหมดไฟแล้ว เพราะเจอปัญหาเยอะมาก เราอาจจะต้องหาแนวทาง หรือวิธีตะล่อมๆ ให้เด็กมีกำลังใจที่จะทำต่อไป” สิทธิชัย  ชาติ

­

10.ประสานและเชื่อมโยงทุนภายนอก หนุนเสริมการทำงานของเยาวชนในด้านที่ตนไม่มีความชำนาญ

­


"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ