กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

     บริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องการเกษตรและการทำงานภาคสังคม มีความมุ่งหวังในการเชื่อมโยงให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกล้าใหม่ (เกษตรกรคนรุ่นใหม่ มีวิธีคิดใหม่ และ เกษตรกรที่เปลี่ยนวิถีการผลิตจากการใช้เคมีเป็นระบบเกษตรอินทรีย์)ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ผักผลไม้ รวมถึงสมุนไพร เป็นต้น เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มคนเหล่านี้ให้เกิดเป็นเครือข่ายที่สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และผลผลิตได้ ซึ่งส่งผลต่อความร่วมมือและพลังในการขับเคลื่อนการทำเกษตรแบบอินทรีย์ให้แพร่หลายและเกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมไทย 

      มูลนิธิสยามกัมมาจล หน่วยงานที่สนับสนุนต่อยอดโครงการจิตอาสาเพื่อสังคม และ การเรียนรู้ของเยาวชน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายของเกษตรกรกล้าใหม่ขึ้น เนื่องจากเกษตรกรรุ่นเก่ามีแนวโน้มลดลง อีกทั้งคนรุ่นใหม่นิยมที่จะทำงานตามความรู้และทักษะที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา ส่งผลให้ขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสารต่อระบบเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นฐานการผลิตและฐานชีวิตที่สำคัญของคนทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้มูลนิธิฯ จึงสนับสนุน “โครงการเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่” ของบริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด เพื่อให้เกิดการดำเนินการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1.เพื่อเป็นการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่
2.เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และจัดการความรู้ของเกษตรกรคนรุ่นใหม่
3.เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลของเกษตรกรคนรุ่นใหม่
4.เพื่อร่วมกันระดมแนวคิดในการสร้าง ขับเคลื่อนและติดตามเครือข่ายของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรอินทรีย์

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

           เวลาเพียงสองวันกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ ดูเหมือนว่าจะน้อยไปสำหรับเกษตรกรกล้าใหม่กลุ่มนี้ เพราะแต่ละคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมต่างพกประสบการณ์และบทเรียนดีๆ มาแบ่งปันมากมาย ประกอบกับการที่มีหัวใจเดียวกันจึงทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวและสนิทกันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่บางคนไม่เคยเจอกันมาก่อนเลยเสียด้วยซ้ำ

     การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์ของกลุ่มเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตนเองเข้าสู่วิถีการเกษตร รวมถึงเกษตรกรรุ่นใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงตนเองจากการทำการเกษตรแบบเคมีมาสู่เกษตรแบบอินทรีย์ให้มารู้จักและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ โดยมีชุดประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอดแบ่งปันซึ่งกันและกัน เพื่อสุดท้ายแล้วเกษตรกรคนรุ่นใหม่จะกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมต่อไป

       จากเวทีนี้เราได้เรียนรู้ถึงมุมมองและวิธีคิดที่ทำให้คนรุ่นใหม่ผันตัวเองจากการดำเนินชีวิตในกระแสหลัก มาสู่วิถีชีวิตการเป็นเกษตร ซึ่งคนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะคิดถึงเรื่องแบบนี้ แต่ทำไมพวกเขากลับเลือกเส้นทางนี้ ทั้งที่ต้องเริ่มต้นทำในสิ่งที่ตนเองอาจจะไม่ถนัดเลยก็ตาม

•  มีต้นทุนจากที่บ้านและอยากสานต่อ

          ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมากมาย บางคนเรียนจบทางด้านวิศวกรรม บริหารธุรกิจ การออกแบบ ฯลฯ แต่สิ่งที่ยึดโยงให้พวกเขายังนึกถึงอาชีพเกษตรกรอยู่เสมอคงเป็นเพราะ จริงๆ แล้ว พื้นฐานครอบครัวของพวกเขาหลายคนนั้นทำอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จนมาถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ตาม แต่เนื่องจากความลำบากและรายได้ที่อาจไม่สูงมาก จึงทำให้ครอบครัวของพวกเขาเลือกที่จะส่งเสียพวกเขาให้ได้เรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้มีงานทำ มีอาชีพที่ดี มีหน้ามีตาในสังคม สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ โดยไม่ต้องจับจอบจับเสียมดังเช่นที่บรรพบุรุษเป็นมา แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการที่ครอบครัวยิ่งพยายามวางกรอบให้พวกเขามากเท่าไหร่ ความต้องการที่จะหนีออกจากกรอบก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ภาพที่พวกเขาเคยเห็นในวัยเด็กยังคงติดตาและจดจำอยู่ในใจเสมอมาและยากที่จะลบเลือน จึงเป็นเสมือนหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พร้อมจะฉีกกรอบความคาดหวังของครอบครัวแล้วก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นเกษตรกร

             คุณศักรินทร์ ภาษี หรือคุณแม็ค วัย 34 ปี ได้เล่าให้เราฟังถึงการตัดสินใจในการเป็นเกษตรกรของเขาโดยย้อนไปตอนประมาณช่วงมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องเลือกระหว่างการเรียนต่อกับการทำเกษตร “ตอนนั้นถือว่าเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของผม ที่จะต้องเลือกเรียนต่อกับการช่วยพ่อทำงาน จริงๆ แล้ว พ่อไม่ได้ปิดกั้นอะไรเลย ให้โอกาสในการเลือกได้อย่างเต็มที่ ตอนนั้นผมก็คิดในใจว่า ถ้าผมเลือกที่จะไปเรียนต่อ ผมคงเหมือคนอื่นๆ ที่ไม่กลับมาทำงานภาคเกษตรแล้ว คงมุ่งหน้าหาเงินในเมืองใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้ผมเลือกที่จะทำเกษตรนั้นคงเป็นเพราะ แรงบันดาลใจที่ได้เห็นและผูกพันกับงานของพ่อ (นายคำเดื่อง ภาษี: ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรประณีต) ผมเห็นมีคนมากมายมาเรียนรู้งานจากพ่อ มันทำให้ผมคิดได้ว่า คนข้างนอกมากมายมาหาพ่อเพราะความศรัทธา พ่อได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่าของการเป็นเกษตรกร แล้วทำไมผมเองถึงจะทิ้งสิ่งเหล่านี้ไป” และนับตั้งแต่นั้นคุณแม็คก็ตั้งใจเรียนรู้และทำงานกับพ่อคำเดื่อง จนสั่งสมประสบการณ์ความรู้ ความสามารถมากมาย จนทำให้วันนี้เขาเองได้พิสูจน์ให้คนภายนอกได้เห็นแล้วเช่นกันว่า ถึงจะไม่ได้เรียนต่อแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปี เขาได้เรียนรู้และเห็นโลกจริงมากกว่าบางคนเสียด้วยซ้ำ ปัจจุบันนอกจากคุณแม็คจะทำเกษตรของตนเองและครอบครัวแล้ว เขายังมีส่วนในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดบุรีรัมย์อีกมากมาย เช่น ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ การจับมือร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อสร้างเครือข่ายทางความรู้เรื่องการเกษตร ประสานงานหน่วยงานวิชาการขับเคลื่อนงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาจากเกษตรอินทรีย์ให้กลายเป็นเกษตรประณีต ที่มีเรื่องของการจัดการดิน น้ำ และแสง เพิ่มเติมเข้าไป เป็นเป็นแนวทางใหม่ให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ในการพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

•   ถึงจุดอิ่มตัว เพราะ สิ่งที่เรียนและงานที่ทำไม่ตอบโจทย์

           

    อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญให้ใครหลายคน เลือกที่จะก้าวออกจากชีวิตในเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบแข่งขัน ก็เพราะ ค้นพบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ซ้ำๆ ทุกวันนั้น ไม่เกิดคุณค่าอะไรกับตนเอง ไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่ตนเองต้องการ แต่อะไรหละที่คนเหล่านี้ต้องการค้นหาและสามารถตอบโจทย์ของพวกเขาได้ คุณหนึ่ง คำนึง เจริญศรี อายุ 37 ปี ได้เล่าให้เราฟังว่า “เมื่อก่อนผมทำงานอยู่ในโรงงาน เป็นลูกจ้างเขากว่า 10 ปี ได้เงินเดือนก็พอใช้จ่ายไม่เดือดร้อนอะไร เวลาว่างผมก็กิน ดื่ม เที่ยวตามภาษา เพราะคิดว่าตนเองประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ผมคิดกลับผิดไปถนัดตา เมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือของสถาบันภูมิปัญญาไทย และได้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้กับปราชญ์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าพ่อแม่ทุกวันนี้เลี้ยงลูกให้คนอื่นเอาไปใช้งาน พ่อแม่แก่เฒ่าก็ไม่เคยมาดูแลพ่อแม่ ยิ่งไปกว่านั้นผมเองเคยได้ยินคนต่างชาติบอกว่า ประเทศไทย ดินดี น้ำดี อากาศดี แสงแดดดี เสียดายที่มีคนไทยอยู่ ในหลวงให้ทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทยไม่อยากทำ อยากเป็นลูกจ้างคนอื่น ... หลังจากนั้นผมกลับมาคิดทบทวนถึงคุณค่าในตัวเองที่ผมทำหายไป ผมจึงลาออกจากที่ทำงานเมื่อปี 2551 และเริ่มเรียนรู้และทำการเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่นั้นมา” ตั้งแต่คุณหนึ่งเริ่มกลับมาทำนาที่บ้านจากพื้นที่นาที่มีเพียงต้นข้าวก็เปลี่ยนไปเป็น มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ ทุกวันนี้คุณหนึ่งยังคงทำนาของตนเอง แต่บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ การช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรคนอื่นโดยการถ่ายทอดความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรทฤษฎีใหม่ และขยายผลต่อไปให้กว้างขึ้น เพราะคุณหนึ่งมีเป้าหมายว่าอยากจะสร้างครอบครัวของตนเองให้มีความสุขและสร้างชุมชนแห่งความพอเพียง ที่มีแต่ความสงบและอุดมสมบูรณ์

           

นอกจากคุณหนึ่งแล้ว คุณเก้า ธีรพงษ์ สุขสวรรค์ เกษตรกรหนุ่มวัย 25 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองร่ำเรียนมาไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการจะอยู่กับมันไปตลอดชีวิต คุณเก้าจบการศึกษาจากคณะวิศกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องจักกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งแต่เด็กจนโต คุณเก้าเป็นคนที่อยู่ในกรอบ เรียนตามระบบ และเป็นความหวังของครอบครัว คุณเก้าเล่าให้เราฟังว่า “เด็กๆ ผมเป็นคนขี้กลัว เวลามีปัญหาอะไรก็ไม่เคยจัดการเอง ไม่เคยแก้ปัญหาเอง เป็นคนที่เชื่อฟังที่บ้านมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต จนเรียนจบก็รู้สึกว่าถ้าต้องเผชิญชีวิตจริง ทั้งการทำงาน การดำรงชีวิตในเมืองกรุงเทพฯ เราคงต้องปรับตัวมากขึ้น ต้องไม่กลัวที่จะเจอปัญหา และต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา จึงลองมาทบทวนตัวเองอีกทีว่าอะไรคือความต้องการของตนเองจริงๆ แล้วก็พบว่าตนเองสนใจและอยากที่จะทำการเกษตร มากกว่าที่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีแต่ความวุ่นวาย” ชีวิตของเขาก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ทันทีที่ตัดสินใจกลับบ้านและบอกกับพ่อแม่ว่าเขาจะกลับมาทำเกษตร อยากลองที่จะเรียนรู้ ทำและแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ครอบครัวจะยอมรับได้ เนื่องจากเขาเองคือความคาดหวังของครอบครัว แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เก้ารู้สึกท้อถอยหรือหมดกำลังใจ เขายังคงมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตนเองต้องการต่อไป และในวันนี้เขาก็เริ่มพิสูจน์ให้ครอบครัวได้เห็นแล้วว่าคนรุ่นใหม่อย่างเขา ถ้าคิดที่จะเรียนรู้และลงมือทำ อะไรก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

        

คุณชิน ชินวุฒิ ปิดทองคำ อีกหนึ่งเกษตรกรคนรุ่นใหม่ไฟแรง อายุ 25 ปี จาก จากจังหวัดลพบุรี ที่ดูเหมือนว่าชีวิตของเขาจะราบรื่นในเส้นทางกระแสหลักเสมอมา คุณชินบอกว่าชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างสบาย คุณพ่อของเขาเป็นถึงผู้จัดการโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา เรียกได้ว่าเขากินอยู่อย่างสบาย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดฟองสบู่แตก คุณพ่อของเขาถูกปลดออก ประกอบกับตอนนั้นคุณลุงของคุณชิน มีที่นาและทำการเกษตรอยู่แล้ว คุณพ่อจึงลงไปช่วยงานของคุณลุงและขยายฐานผลิตให้ใหญ่ขึ้นจาก 80 ไร่ (ปี 2550) เพิ่มเป็น 200 ไร่ (ปี 2552) และ 300 ไร่ (ปี 2553) ได้สำเร็จ แต่จากที่ได้กำไรในช่วงแรกๆ ก็กลับเกิดอุปสรรคอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดที่ทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายและขาดทุนในการทำนากว่า 4 ล้านบาท คุณชินเองในตอนนั้นก็เรียนจบเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งถือว่ามีรายได้ที่ดีพอสมควร กลับตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะลาออกจากอาชีพที่ทำอยู่ ด้วยเบื้องหลังความคิดที่อยากจะช่วยคุณพ่อ และอยากจะพิสูจน์ตนเองให้คนอื่นเห็นว่าตนเองก็สามารถช่วยครอบครัวได้ ประกอบกับคิดว่าถ้าจะรอเงินเดือนอย่างเดียวคงช่วยที่บ้านใช้หนี้ไม่ได้ “ถ้าจะรอไต่เต้าตามตำแหน่งผมคงต้องรออายุ 50 ปีขึ้นไปแน่นอนกว่าจะมีเงินเดือนสูง กว่าจะได้เป็นผู้อำนวยการ แต่ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าผมเป็นเกษตรกรแต่ก็สามารถมีเงินเดือนเท่าผู้อำนวยการได้ โดยไม่ต้องรออายุถึงขนาดนั้น” ปัจจุบันคุณชินช่วยครอบครัวในการทำนาลดต้นทุนได้สำเร็จ จากที่ต้องลงทุนเองในหลายๆ เรื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็เปลี่ยนเป็นการผสมผสานและพึ่งพาตนเองและธรรมชาติมากขึ้น “สิ่งที่สำเร็จในปี 2553 คือ จากที่ซื้อเคมีภัณฑ์และชีวภัณฑ์เปลี่ยนมาเป็นน้ำส้มควันไม้ ใช้จุลินทรีย์เข้ามาช่วยปรับตรงนั้น เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเพราะไม่มีเงินที่จะไปซื้อแล้ว และปีนี้เราเพิ่มเรื่องการเลี้ยงหมูหลุมและอีกหลายอย่างเข้ามา เพิ่มเรื่องเทคนิคการทำปุ๋ยใช้หลายอย่าง ตอนนี้ทำนา 300 ไร่ อย่างต่ำเพราะสัญญายังเหลืออยู่ 2 ปี และจะต่อสัญญา เรามีข้าวอยู่หลากหลายสายพันธุ์มาเพิ่มในปีนี้และเริ่มค่อยๆ ทยอยลดปุ๋ยลง ตัดจาก 30 ไร่เหลือที่ละ 10- 15 ไร่ เพื่อจะเตรียมแปลงเป็นนาโยน ตอนนี้มีทั้งแปลงนาโยน แปลงนาดำและแปลงรถดำนา ที่นา 300 ไร่เช่าหมด พื้นที่ไม่ติดกันทั้งหมด ตอนนี้ทำเมล็ดพันธุ์ให้กรมการข้าว แต่ทำไม่มาก แปลงเมล็ดพันธุ์ 10 ไร่ เพราะถ้าทำมากจะดูแลคุณภาพได้ไม่ทั่ว เขาอาจไม่รับ แล้วก็เริ่มมีเพจเฟสบุคขายข้าว ผมเริ่มลงมือทำนาเองปีนี้ เพราะตั้งแต่ปลายปี 2553 ทำแต่น้ำส้มควันไม้ และ EM ให้คุณพ่อ ตอนแรกหวังขาย สุดท้ายขายใครไม่ได้ ก็มาทำเองทั้งหมด ปี 2554 แต่เมื่อปีที่แล้วผมสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นเรื่องผัก เพราะรู้ว่าข้าวต้องมีปัญหา แล้วกลับมาทำนาปีนี้ 2556”


•   รักชีวิตที่เป็นอิสระและไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร

           เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งของคนรุ่นใหม่ ที่เลือกดำเนินกิจการของตนเองก็เพราะ รักความเป็นอิสระ ไม่ชอบทำงานในระบบบริษัทหรือองค์กร และอยากจะพิสูจน์ความสามารถของตนเอง

       2 เกษตรกรรุ่นใหม่ คุณเก็ก ชัยพล ยิ้มไทร และคุณโจ้ จิรายุทธ ภูวพูนผล ก็เป็นตัวแทนเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่คิดเช่นนั้นเหมือนกัน คุณเก็กพูดถึงตัวเองว่า “ผมเป็นชอบสนุก ไม่ชอบทำอะไรเพียงอย่างเดียว มีความเป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่ ทำอะไรเหมือนเด็ก ชอบอ่านหนังสือขับรถมอเตอร์ไซค์ รู้สึกว่าการทำนามีเวลาว่างพอที่จะทำในสิ่งที่เรารัก การทำนาก็เป็นสิ่งที่เรารักเหมือนกันเพราะว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเรา แต่ว่าสิ่งอื่นเป็นความสุขที่มาแทรกในชีวิตการเป็นชาวนา ผมรักหลายอย่าง อาชีพทำนามีเวลาว่างพอให้เราทำความสุขอย่างที่เคยเป็นตอนเด็กในส่วนหนึ่งได้” 

     ส่วนคุณโจ้เองก็เล่าถึงตัวเองให้เราฟังว่า “ผมมีความตั้งใจอยู่แล้วตั้งแต่เรียน ม.ปลายว่าอยากจะมีกิจการสวนผักเป็นของตัวเอง เพราะ ตอนนั้นผมได้เคยไปดูงานสวนผักปลอดสาร ผมเลยประทับใจและอยากที่จะทำให้ได้บ้าง เลยเลือกที่จะเรียนเกษตร ที่ ม.เชียงใหม่ หลังจากจบมาก็ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์เกษตร อยู่ประมาณ 1 ปี จริงๆ ตอนแรกจะออกตั้งแต่ทำได้ไม่กี่เดือนแล้ว แต่รุ่นพี่ขอให้อยู่ก่อน เลยอยู่ยาวมาเป็นปี มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ระบบการจัดการงานแบบองค์กร ในระหว่างที่ทำเราก็เตรียมเรื่องสวน พอออกจากงานมาก็มาทำอย่างเต็มตัว โชคดีที่ตั้งแต่ทำมาไม่เคยไม่ปัญหาเลย มีบ้างก็เล็กน้อยซึ่งแก้ปัญหาได้”

           นอกจากเรื่องของแรงบันดาลใจและจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคน เลือกที่จะเปลี่ยนตนเองเป็นเกษตรกรแล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกย่างที่เราได้จากเวทีแลกเปลี่ยนในสองวันนี้ก็คือ ประสบการณ์และบทเรียนที่สำคัญและสนุกที่ต่างคนต่างถ่ายทอดให้กันฟัง ทั้งเรื่องราวของการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนเอง เป็นต้น

             การผลิตของพี่น้องเกษตรกรในปัจจุบัน เห็นได้ว่ายังคงมีต้นทุนที่สูงอยู่เนื่องจากยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกกระบวนการผลิต หลายคนยังคงต้องซื้อเมล็ดภัณฑ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาด นอกจากนั้นในเรื่องของแรงงานก็ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ทำเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องจ้างแรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนของการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ การที่เกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ที่สำคัญในการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การจัดการระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก การผสมผสานพืชพันธุ์ เทคโนโลยี รวมไปถึงการวิเคราะห์การตลาด เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ก็น่าจะมาจากการร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรเป็นหลัก ในการที่จะรวมกลุ่มเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงทักษะบางประการให้เกิดขึ้นแก่กลุ่ม และร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมๆ กัน

             

         ในวันที่สองของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ เต็มไปด้วยความรู้เรื่องการทำการตลาดของเกษตรกรที่มีความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบออนไลน์ อย่างคุณโจ้ เจ้าของส่วนผักปลอดสาร โอ้กะจู๋ ที่จังหวัดเชียงใหม่ การตลาดแบบเฉพาะกลุ่มในแบบของคุณตั้ม กัมปนาท การตลาดแบบระบบสมาชิก: Community Support Agriculture (CSA) ของคุณอั๋น อภิศักดิ์ รวมไปถึงความรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดจากคุณอดิศักดิ์ แก้วรากมุข เจ้าของแบรนด์ Urban tree organic จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

•   การตลาดแบบออนไลน์ โดย คุณจิรายุทธ ภูวพูนผล

    -เลือกช่องทางที่สามารถสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย

    -การสร้างตราสินค้าให้มีความน่าสนใจ

    -สร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพของสินค้าผ่านเรื่องราว

    -ใช้ภาพสวยๆ ในการสื่อสาร

    -ใช้เครือข่ายหรือกลุ่มคนรู้จักที่ใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์

    -เน้นการส่งเสริมการขายให้น่าสนใจ

­

•    การตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดย คุณกัมปนาท เนตรภักดี

    -ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต/ เจ้าของผลิตภัณฑ์

    -การสร้างความคุ้นเคยและความเชื่อมั่นระหว่างสินค้ากับผู้บริโภค

    -เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

    -การสร้างเรื่องราว (Story) ให้กับสินค้า

    -เน้นการส่งเสริมการขายให้น่าสนใจ

    -ความใส่ใจในเรื่องคุณภาพของสินค้าและผู้บริโภค

    -ลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค

­

•    การตลาดแบบระบบสมาชิก/ตลาดแบบเกื้อกูล: Community Support Agriculture (CSA) โดย คุณอภิศักดิ์ กำเพ็ญ

    -ทำความรู้จักกลุ่มลูกค้า ถึงความต้องการและพฤติกรรมในการบริโภค

    -สร้างความเข้าใจที่ดีกับกลุ่มลูกค้า

    -สร้างความรับผิดชอบร่วมระหว่างลูกค้าและผู้ผลิต

    -เน้นการสร้างความสัมพันธ์มากกว่าการขายสินค้า

­

•    การแปรรูปผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาด โดย คุณอดิศักดิ์ แก้วรากมุข

    -หมั่นศึกษาหาข้อมูล/วิจัยตลาดอยู่เสมอ พยายามตั้งโจทย์ให้กับสิ่งที่เรากำลังทำ

    -สร้างตราสินค้าที่น่าสนใจและมีเรื่องราว มีคุณค่า มีความหมาย มีเอกลักษณ์เฉพาะ และ  น่าจดจำ

    -สร้างจุดยืนของสินค้าของตนเองให้ได้ (Brand Positioning) ว่าจะทำอะไรกันแน่ ทำทำไม จะขายใคร ขายอย่างไร ฯลฯ แล้วจะทำให้เรารู้ช่องทางการตลาดของเราได้

    -แปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย โดยดูว่า สินค้าที่ทำอยู่สามารถต่อยอดในรูปแบบใดบ้าง (เมล็ดพันธุ์/ อาหาร/ เครื่องอุปโภค ฯลฯ)

    -เพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยการสร้างความน่าสนใจให้กับบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

    -มีเครือข่ายของผู้ผลิตสินค้า แหล่งแปรรูปที่หลากหลาย เชื่อมโยงเครือข่าย

     -รู้จักกลุ่มลูกค้า: พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค (ลูกค้าคือครูที่ดีที่สุด)

    -สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยใช้เรื่องราวของสินค้า และต้องรู้รายละเอียดของสินค้าเป็นอย่างดี (สามารถให้ข้อมูลกับลูกค้าได้อย่างละเอียด)

    -สร้างช่องทางการสื่อสารให้กับสินค้าในรูปแบบต่างๆ (ออนไลน์/ออฟไลน์)

         

        จะเห็นได้ว่าสิ่งที่คล้ายกันในเรื่องของการตลาดในแต่ละรูปแบบคือ สินค้าต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ผู้ผลิตจะต้องรู้จักกลุ่มลูกค้าและความต้องการของพวกเขาเป็นอย่างดี ต้องสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นให้ได้ โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าถึงคุณภาพของสินค้าที่เราผลิต ผ่านเรื่องราวที่สามารถเล่าความเป็นมาและรายละเอียดได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราไม่มองว่าลูกค้าเป็นเพียงแค่คนที่ซื้อสินค้า แต่กลับต้องมองว่าลูกค้าคือเพื่อนที่คอยสนับสนุนให้เราสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคสินค้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรามีอาชีพและธุรกิจที่ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

     หลังจากเสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ได้มีการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่ร่วมกัน โดยสามารถสรุปข้อตกลงร่วมกันได้ดังนี้

1.เกษตรกรทุกท่านยินดีเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่

2.ทีมงานธัญญเจริญผลจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงและสื่อสารกับสมาชิกทุกท่าน (เรื่องกิจกรรมระหว่างกลุ่ม/ สินค้าผลิตภัณฑ์/ ข่าวสารต่างๆ เป็นต้น)

3.ช่องทางในการสื่อสารแบ่งเป็นออนไลน์ (เฟสบุค/ไลน์) และ ออฟไลน์ (การโทรแจ้ง/จดหมาย ฯลฯ) https://www.facebook.com/farmernetworkthailand?fr...


­

4.หลังจากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลสรุปบทเรียนและองค์ความรู้ที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ และจะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยเมื่อเรียบเรียงเสร็จแล้ว จะมีการส่งให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านตรวจสอบข้อมูลของตนเองเพื่อความถูกต้อง

5.เผยแพร่ข้อมูลระหว่างกลุ่มเกษตรกรกล้าใหม่ด้วยกันทั้ง 2 ช่องทาง

­

"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ