กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
นิทรรศการและกิจกรรมมูลนิธิสยามกัมมาจล (งานประกาศผล "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" ปีที่8 รอบชิงชนะเลิศ)
ความเป็นมา วัตถุประสงค์
นิทรรศการ และกิจกรรมของมูลนิธิสยามกัมมาจลภายในงานการประกาศผลรอบชิงชนะเลิศโครงการ "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" ปีที่ 8 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557


 ที่มาและความสำคัญของกิจกรรม
ภารกิจหนึ่งของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มีต่อโครงการกล้าใหม่ใฝ่รู้ คือ การสร้างเครือข่ายเยาวชนหลังจากที่โครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นลงในแต่ละปี ในปีนี้จะมีการประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับต่างๆ ในวันที่ 24 มกราคม 2557 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายของ เยาวชนกลุ่มดังกล่าวกับทางมูลนิธิฯ จึงมีความประสงค์ที่จะจัดนิทรรศการและกิจกรรมในงานประกาศผลรางวัล “กล้าใหม่...ใฝ่รู้”ปีที่ 8 ขึ้น


วัตถุประสงค์
  • เพื่อประชาสัมพันธ์มูลนิธิสยามกัมมาจลและสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชน ”กล้าใหม่...ใฝ่รู้”
  • เพื่อสำรวจแนวคิดในการเรียนรู้ที่สร้างความเข้าใจและจดจำของเยาวชนกลุ่ม "กล้าใหม่..ใฝ่รู้"

กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเยาวชนทุกระดับการศึกษาที่เข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปีที่ 8 พ.ศ. 2556 ที่เข้าร่วมงานประกาศผลการแข่งขัน ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2557
กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

              จากนิทรรศการและกิจกรรมที่ทางมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดขึ้น ในวันประกาศผลรางวัลรอบชิงชนะเลิศ "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" ปีที่8  ณ  บริเวณด้านหน้าหอประชุมมหิศร ธาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (สำนักงานใหญ่) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดงานได้ทั้งในส่วนของการสร้างการรับรู้ในบทบาทและพันธกิจของมูลนิธิฯ ต่อเยาวชน "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" รวมถึงการสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่อง "การสร้างการเรียนรู้" ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจและจดจำได้เป็นอย่างดี

           ในวันดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 123 คน และมีคนที่เข้าไปคลิกไลค์ที่เฟสบุคแฟนเพจอีก 116 คน ประกอบไปด้วย น้องๆ ระดับชั้นประถมศึกษา - อุดมศึกษา คุณครูและอาจารย์จากหลายสถาบันการศึกษา  สิ่งที่น้องๆ และคุณครูหลายท่านได้รับรู้เกี่ยวกับมูลนิธิฯ คือ รู้จักมูลนิธิสยามกัมมาจลมากขึ้นในแง่ประวัติการก่อตั้ง วิสัยทัศน์และการดำเนินงาน รวมถึงรู้จักช่องทางในการเข้าไปติดตามผลงานและช่องทางในการติดต่อกับมูลนิธิฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.scbfoundation.com และ เฟสบุคแฟนเพจ www.scbfoundation.com  นอกจากนั้นยังมีความสนุกจากเกม ขนมอร่อยๆ และของรางวัลที่นำมาแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานประกาศผลรางวัลฯ ได้รับทั้งความรู้ ความสนุกและความประทับใจไปพร้อมๆ กัน


             นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมสัมภาษณ์น้องๆ เยาวชนกล้าใหม่ถึงเรื่องการเรียนรู้ที่ทำให้ตนเองมีความเข้าใจและจดจำได้มากขึ้น จากการสัมภาณ์น้องๆ ส่วนหนึ่งสามารถสรุปได้ว่า วิธีที่ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และเกิดทักษะใหม่ที่ตนเองไม่เคยรู้หรือเรียนมาก่อน สามารถจดจำได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถนำเอาความรู้ที่เรียนในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ได้จริง ล้วนแล้วแต่เกิดจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนและได้ลงมือทำจริงทั้งสิ้น .....


................................................

                    "กิจกรรมนอกห้องเรียนที่ได้เคยเรียนรู้มาคือ ค่ายจิตอาสาค่ะ คือช่วงนั้นมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หนูก็เลยได้ไปร่วมกิจกรรมกับทางพี่ๆ ชมรมอาสาพัฒนาของ มศว ในค่ายนั้นหนูได้รับหน้าที่เป็นคนทาสี แล้วก็มีการจัดเวรแบ่งเวร ให้น้องๆ ค่ายแต่ละคนได้มาปรับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ มีทั้งการทำความสะอาด สันทนาการและการจัดเตรียมค่าย หรือว่าดูแลเพื่อนๆ ในค่ายค่ะ ได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างค่ะ อย่างเช่น เราจะต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่และเวรแต่ละอย่าง ในแต่ละวันที่เราได้มา ร่วมถึงมีความเสียสละเพราะว่าเราไม่ได้ไปพักเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น แต่ว่าเราต้องตื่นเช้า หรือว่ามาเริ่มงานก่อนเพื่อนๆ เพื่อที่จะเตรียมงาน รวมถึงอย่าง สมมุติว่าเป็นหน้าที่ล้างจานนะค่ะ เราก็ยังจะต้องอยู่เกินเวลาหลังจากเพื่อนๆ ทานข้าวแล้วไปพัก เราก็ยังต้องมาช่วยกันล้างจาน สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ได้ฝึกฝนตัวเองค่ะ แล้วก็ได้มีการเรียนรู้ในด้านทักษะ มีวินัยมีน้ำใจต่อเพื่อนที่อยู่ร่วมกันในค่าย" (นางสาวณัชชา ตันติแสงอรุณ (ปั้นหยา), โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

         "จากที่ได้มาทำโครงการนี้ ผมได้เรียนรู้ว่าจากเดิมที่ได้แต่ออกแบบ ไม่เคยได้ประสานงานกับใคร พอมาทำโครงการนี้ผมก็ได้วิธีการการจัดการโครงการว่าต้องทำงานกับใคร ติดต่ออะร อะไรมาก่อนอะไรมาหลังครับ"(นายเตชิตวัสน์ ชนินทร์ตระกูล (เต้) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

              "สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนรู้ การที่เราทำโครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้ ปกติแล้วอยู่ที่คณะ เราก็จะเป็นแค่สมาชิกไม่ค่อยมีบทบาทอะไรในคณะ แต่พอที่เพื่อนได้ดึงเรามาร่วมทำโครงการนี้ด้วย ก็ทำให้เราได้ฝึกการเป็นผู้นำ ได้เรียนรู้บทบาทการทำงาน กระบวนการทำงานตั้งแต่เริ่ม เรื่องของเริ่มการเขียนโครงการ การเขียนโครงการแต่ละครั้งไม่ได้มีปัจจัยแค่แบบว่าเราจะลงมือจับปากกาแล้วเขียนได้ เราต้องเริ่มจากการที่ไปคุยกับชุมชนก่อนที่เราจะได้โครงการมา มันก็ได้เริ่มต้นเรียนรู้จากพื้นฐานขึ้นมาเลย จากที่เราเป็นคนที่ทำงานไม่ค่อยจะเป็นค่ะ เป็นแค่คนที่อยู่เบื้องหลัง บางทีทำไม่ได้เป็นตัวเด่นอะไร แต่พอได้มาทำแบบนี้ มันทำให้เราได้เรียนรู้เป็นตัวเด่นเป็นตัวนำ เหมือนกับว่าเพราะมีเพื่อนด้วยค่ะ ที่ช่วยทำให้เรากล้ามากขึ้นและก็เรียนรู้การเป็นผู้นำมากขึ้น โครงการนี้เลยช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ดีขึ้นแล้วเราก็สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ ในการที่เราจะทำงานอย่างอื่น เราทำงานที่เป็นระบบแล้ว เราก็กล้าที่จะเป้นผู้นำที่จะช่วยในการคิด การทำงานที่เป็นระบบในเวลาทำงานลงชุมชนหรือว่าทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ต่อไปได้ค่ะ" (นางสาวพิสชา คงสัตย์ (เบลล์), มหาวิทยาลัยมหิดล)
          
                  จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงนั้น สามารถทำให้น้องๆ นั้นเกิดทักษะ เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการเรียนรู้และจดจำ รวมถึงทำให้ตนเองเป็นคนที่มีคุณธรรมมากขึ้นด้วย .........
        
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ