เวทีความคิดจาก: เวลาคุณภาพกับลูกรักในยุคสมัย ๔.๐ ครั้งที่ ๓ ต้นทางแห่งศรัทธา
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล

โครงการห้องเรียนพ่อแม่ เวลาคุณภาพกับลูกรักในยุคสมัย ๔.๐

ครั้งที่ ต้นทางแห่งศรัทธา

วันเสาร์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

ณ ห้องประชุมเรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ

สาระสำคัญ

วิถีไทยเป็นวิถีแห่งการเรียนรู้โดยได้รับคุณแห่งพระพุทธศาสนา โดยมีหลักไตรสิกขาซึ่งเป็นหลักการศึกษา ๓ ด้าน คือ ๑. การพัฒนากายและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม (ศีลสิกขา)๒. จิตใจ (จิตตสิกขา) และ ๓. ปัญญา (ปัญญาสิกขา) การศึกษาในมิตินี้จึงเป็นการพัฒนาชีวิตของผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม กล่าวได้ว่า “การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา”

เนื่องจากการศึกษามิใช่เป็นเพียงการถ่ายทอดความรู้จากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง หรือการลอกเลียนแบบกันเท่านั้น พ่อแม่เป็น “ต้นธารแห่งศรัทธา”ของลูกในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า พ่อแม่ควรที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ทั้งเป็นต้นแบบ และช่วยสร้างกระบวนการให้ลูกเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็น ด้วยบุคลิกท่าทีของผู้ใฝ่เรียนรู้ก่อนเผชิญโลกด้วยความมั่นคง จัดปรับความสัมพันธ์ที่ตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น ด้วยท่าทีดังนี้

๑.การสังเกตที่ดี

๒.การนิ่งรอดู

๓.การผ่อนปรน ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ผ่อนสั้น ผ่อนยาว

๔.การสื่อสารที่ถูกจังหวะ

๕.การยอมรับธรรมชาติการเรียนรู้ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลายของกันและกัน

๖.อดทนฝืนใจ อยู่กับความไม่พึงพอใจของตนได้


ในการสั่งสมบุคลิกท่าทีดังกล่าว “สัมมาสติ” เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ทำหน้าที่ “...ระลึกรู้และปลดเปลื้องความคิดที่ไม่จำเป็นออก วิถีแห่งสติสร้างความแจ่มใสของจิต จิตที่ได้รับการฝึกฝนจนสติหยั่งราก มีความพร้อมที่จะทำดี และมีความคิดฉลาดเฉลียวหลั่งไหลออกมาได้อย่างฉับพลัน เท่ากับปลูกปฏิภาณให้เติบโต...” (ญาณโปนิกเถระ, พลังแห่งสติและความประเสริฐสุด ๔ สถาน)ลูกไม่ได้ “เป็น” อย่างที่เราบอก หรือเราต้องการ แต่เขาจะศรัทธาแก่นคุณค่าในชีวิตของพ่อและแม่ ซึมซับเพื่อจะเป็น อย่างที่พ่อแม่ “เป็น” เราจึงต้องหมั่นฝึกสติให้เจริญยิ่งขึ้นโดยการหาโอกาสปฏิบัติภาวนาในรูปแบบและนำมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน

จุดประสงค์

  • เพื่อให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของท่าทีของการสังเกต นิ่งรอดู ซึ่งเป็นท่าทีของพ่อแม่ผู้เรียนรู้ก่อนและฝึกตนเองในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะขณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูก
  • การสื่อสารที่ถูกจังหวะ การยอมรับธรรมชาติการเรียนรู้ของกันและกัน และอดทนฝืนใจ อยู่กับความไม่พึงพอใจของตนได้