เวทีความคิดจาก: เสวนาออนไลน์ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1
เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามกัมมาจล

หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนตามปกติ ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและมาตรการอื่นๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค ทำให้โรงเรียนต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในหลายรูปแบบตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น

ทว่าด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนพื้นฐานความพร้อมของนักเรียนที่แตกต่างกัน ทำให้การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้ทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์และการออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่ามีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องหลายแห่งดำเนินการได้เป็นอย่างดี สามารถนำเสนอเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์

โอกาสนี้ คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ : บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ ผู้บริหาร ครูบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชน ได้เห็นถึง แนวทางและตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยกำหนดการจัดเสวนาขึ้น 3 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1: วันที่ 22 ส.ค. 2564 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ
  • ครั้งที่ 2: วันที่ 29 ส.ค. 2564 กรณีศึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง
  • ครั้งที่ 3: วันที่ 5 กันยายน 2564 กรณีศึกษา เครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล

วัตถุประสงค์

1.เพื่อนำเสนอแนวคิดและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ

2.เพื่อให้ผู้บริหาร ครู บุคคลากรด้านการศึกษา และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้เห็นตัวอย่าง และนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและพื้นที่

3.เพื่อสื่อสารให้สังคมได้เห็นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องและมีประสิทธิภาพในสถานการณ์โควิด-19