เวทีความคิดจาก: TEP FORUM SISAKET : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังคนศรีสะเกษ 2020
ศุลีย์ภัสร์ หอมระรื่น



ที่มาและความสำคัญ :

จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 จังหวัด ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนองค์กร ร่วมกับองค์กรสมาชิกภาคีการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการจัดการศึกษา โดยมีศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษเป็นกรรมการและเลขานุการ ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจหลักใน 3 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 

เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ ของพื้นที่ และร่วมให้การสนับสนุน รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานให้มีคุณภาพตรงตามเป้าหมาย

2. ด้านการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่อง 

เพื่อให้มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) อันส่งผลให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21

3. ด้านการศึกษาวิจัย 

เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ระเบียบ แนวปฏิบัติ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ การดำเนินงานตั้งแต่ห้วงเดือนมกราคม 2561 จนถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าที่สำคัญ ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน 

ในการกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษา ได้มีการจัดเวทีรับฟังเสียงคนศรีสะเกษต่อเป้าหมายและผลลัพธ์ การจัดการศึกษาของจังหวัด และได้ร่วมกันยกร่าง “กรอบหลักสูตรจังหวัดศรีสะเกษ : SISAKET ASTECS” จากฐานทุนและบริบทของพื้นที่

2. ด้านการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษาและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่อง 

มีโรงเรียนแกนนำในพื้นที่ สมัครเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2562 รุ่นที่ 1 จำนวน 49 โรงเรียน มีโรงเรียนที่ปรับการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในระดับดี และดีมาก จำนวน 37 โรงเรียน มีผู้บริหารที่มีศักยภาพเป็นผู้นำทางวิชาการและผู้นำการเปลี่ยนแปลง จำนวน 34 คน และครูแกนนำ ที่สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนและสามารถเป็นวิทยากรขยายผลได้ จำนวน 32 คน และครูแกนนำที่จัดการเรียนรู้ได้ในระดับดี จำนวน 97 คน มีโรงเรียน ที่พร้อมเป็นศูนย์ขยายผลนวัตกรรม จำนวน 15 โรงเรียน

3. ด้านการศึกษาวิจัย 

จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ศรีสะเกษ ร่วมกับ TDRI ได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีระดมสมอง จัดทำเป็นข้อเสนอ เชิงนโยบายต่อคณะกรรมการอำนวยการพื้นที่นวัตกรรม 3 ประเด็นหลัก คือ ด้านบุคลากร ในส่วนการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายบุคลากร รวมทั้งเกณฑ์พิจารณาวิทยะฐานะ ที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาแนวใหม่ ด้านการจัดสรรงบประมาณ ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้อิสระตรงกับเป้าหมายของโรงเรียน ด้านการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ให้สามารถซื้อหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้นอกรายการบัญชีของกระทรวงศึกษาธิการ ได้

ด้วยความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม คณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ร่วมกับภาคีดังกล่าว จัดเวที TEP FORUM SISAKET : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังคนศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2563 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ


วัตถุประสงค์ :

1) เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีที่ 1 และแผนงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ปีที่ 2

2) เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ระหว่างโรงเรียนนำร่อง และภาคีการเรียนรู้ ในจังหวัดศรีสะเกษ

3) เพื่อนำเสนอกรอบหลักสูตรจังหวัดศรีสะเกษ : SISAKET ASTECS และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่ายศรีสะเกษ

4) เพื่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจ สร้างความมั่นใจ ให้กับโรงเรียนนำร่อง บุคลากรด้านการศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดศรีสะเกษ ต่อความสำคัญและโอกาสของการเป็นจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรับฟังความต้องการของประชาสังคม

5) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่และภาคีเครือข่ายระดับประเทศ









­