คุณค่างานวิจัยของ NSTDA Chair Professor ต่อสุขภาวะของมนุษยชาติ
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

     เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ศกนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมงานพิธีมอบทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2556 และการรายงานความก้าวหน้าทุน NSTDA Chair Professor ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่แห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง "ศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม" ในด้านการวิจัย พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อันเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง


       ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา และทีมวิจัย จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2556 ได้ทำการวิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมด้านโรคติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน เรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ โดยการผลิตแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันของคนที่พร้อมใช้สำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดื้อยา หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ และอาจเสียชีวิตได้ เช่น ผู้สูงวัย เด็กทารก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถฉีดให้แก่ผู้ป่วยและออกฤทธิ์ต้านไวรัสทันที โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง ต่างจากวัคซีนที่ต้องรอเป็นเวลา 7-10 วันจนกว่าร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมา ซึ่งอาจไม่ทันการ นอกจากนั้นโดยที่ไวรัสต้นเหตุโรคเปลี่ยนสายพันธุ์ไปทุกปี ทำให้ต้องเตรียมวัคซีนใหม่ทุกปีที่แต่ละคนต้องฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่แพ้โปรตีนจากไข่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ เพราะไวรัสที่ใช้เป็นวัคซีนต้องเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อ ประกอบกับปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถต้านทานไวรัสที่มีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

       ในกรณีโรคตับอักเสบชนิดซี ซึ่งมีประชากรโลกติดเชื้อนี้ประมาณ 200 ล้านรวมทั้งคนไทย โดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3-4 ล้านคน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นผลให้เกิดมะเร็งตับ ตับแข็ง หรือตับวายได้ ซึ่งในขณะนี้ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบซี การรักษาจึงใช้ยากินและยาฉีดอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานหกเดือนถึงหนึ่งปี ในราคาที่แพง และหมดอายุเร็ว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญคือ ยาออกฤทธิ์ และมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งป่วยมากขึ้นในขั้นรุนแรง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เลือดจาง มีอาการทางระบบประสาท และดื้อยา


     ทีมวิจัยชุดนี้ ได้มีแนวคิดในการรักษาโรคตับอักเสบซีแบบใหม่ คือ การใช้แอนตีบอดี้สายเดี่ยว หรือ แอนตีบอดี้จิ๋วของคนที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนสำคัญของไวรัส เช่น เอนไซม์ โดยแอนตีบอดี้เหล่านี้ สามารถเข้าเซลล์ได้เอง เพื่อไปขัดขวางการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ของตับ และยับยั้งไม่ให้โรคลุกลามกลายเป็นโรคตับระยะสุดท้าย โดยที่ในขณะนี้ ทีมวิจัยมีแอนติบอดี้ที่มีประสิทธิภาพดีเหล่านี้ ในรูปแบบที่สามารถนำไปขยายการผลิตในอุตสาหกรรมได้ เพื่อใช้ทดสอบทางคลีนิคต่อไป

     ในกรณีโรคภูมิแพ้แมลงสาบสายพันธุ์อเมริกาที่มีอยู่ชุกชมในประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภูมิแพ้แมลงสาบเป็นจำนวนมาก ทีมวิจัยชุดนี้ ได้ทดสอบวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้แบบใหม่ ที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้บริสุทธิ์ชนิดพ่น หรือหยอดจมูกที่ได้พัฒนาขึ้นเอง และทดสอบมาแล้วว่า ได้ผลดีในสัตว์ทดลองที่เป็นโรคภูมิแพ้ คือสามารถเบี่ยงเบนร่างกายให้ตอบโต้สารภูมิแพ้แบบที่ทำไม่ให้เกิดภูมิแพ้ต่อไป หรือเพื่อให้หายขาด เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย


         ปัญหาโรคภูมิแพ้ในพิษของแมลงขาข้อบางชนิด เช่น ผึ้ง มด และตัวต่อหัวเสือ ทีมวิจัยชุดนี้ ได้พัฒนาน้ำยาเพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินสภาวะการแพ้ของผู้ที่ถูกแมลงเหล่านี้กัดต่อย และมีอาการแพ้พิษรุนแรง เช่น ช็อค แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งหากได้รับการรักษาไม่ทันการอาจถึงแก่เสียชีวิตได้ แมลงขาข้อที่เป็นพิษเหล่านี้ในประเทศไทย มีความแตกต่างจากที่มีอยู่ในต่างประเทศ จึงต้องมีน้ำยาเพื่อตรวจสอบวินิจฉัย และประเมินสภาวะการแพ้ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่คนไทยแพ้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อพึ่งตนเองของบริการทางการแพทย์ไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างยั่งยืนด้วย