ร่วมสร้างสังคมน่าอยู่..ปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ ๒
นงนาท สนธิสุวรรณ

เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมงาน าฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ ร่วมสร้างสังคมน่าอยู่ ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ต ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งจัดร่วมกันโดยองค์กรภาคีในกลุ่ม "มวลมิตรการพัฒนาประเทศไทย (Grand Alliance for Thailand Development)" ที่ได้ทำงานด้านสังคมใกล้ชิดกับคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประกอบด้วย มูลนิธิหัวใจอาสา สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ศูนย์คุณธรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบัน Change Fusion มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย มูลนิธิกองทุนไทย และ มูลนิธิเพื่อคนไทย เป็นต้น

­

  คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ได้กล่าวเปิดงานว่า วัตถุประสงค์ของงานนี้เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของคุณไพบูลย์ ในการสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ และร่มเย็นเป็นสุข โดยสร้างความร่วมมือของกลุ่ม/องค์กร ที่ทำงานเพื่อสังคม ให้ทำงานและ/หรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศร่วมกัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เข้าถึง มีส่วนร่วม และเกิดแรงบันดาลใจ ในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาสังคม ตลอดจนเห็นช่องทาง กลไกของงานพัฒนาสังคม ที่มีประชาชนคนไทย ช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมน่าอยู่

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานของคุณไพบูลย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ได้ยึดหลักการลักษณะเดียวกับ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บนพื้นฐานของสันติประชาธรรม คือ รูปแบบของสังคมเข้มแข็ง โดยการเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น การปฏิรูปประเทศไทยซึ่งกำลังเป็นวาระแห่งชาติในขณะนี้ จึงควรเป็นโอกาสของการเชื่อมโยงที่เข้มแข็งของทั้งประเทศดังกล่าวนี้ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ทั้งด้านภาคสังคม การศึกษา สุขภาพ กระบวนการยุติธรรม ระบบการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความแตกต่างด้วยปัญญาและสันติ..ในแนวทาง " หันหน้าคุยกัน..ต่างใจ..ไทยเดียว"

   ผู้ปาฐกถา ๖ ท่านในงานนี้ จากภาคประชาชน (คุณไมตรี กงไกรจักร์) ภาคการศึกษา (รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม) ภาคธุรกิจ(คุณวิเชียร อัศรัสการ) ภาคสื่อสารมวลชน (คุณดวงกมล โชตะนา) ภาคองค์กรมหาชน (ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์) ภาคราชการ(ดร.กิติพงศ์ กิตติยารักษ์) ได้ร่วมกันให้ความเห็นถึงแนวทางการสร้างสังคมน่าอยู่ ด้วยกลไกของทุกภาคส่วน สรุปได้ว่า

   คุณไมตรี กงไกรจักร์ ผู้มีประสบกาณ์ในการสร้างความสุขจากการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของภัยพิบัติสึนามิ ได้ถอดบทเรียนของความสำเร็จในการสร้างระบบการฟื้นฟูชีวิต และพัฒนาความเป็นอยู่ทุกระดับให้เข้มแข็ง ทั้งด้านอาชีพ ธนาคารชุมชน การดูแลเด็กกำพร้า การเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับพื้นที่และจังหวัด ที่จะร่วมกันผลักดันโอกาสการปฏิรูปสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

   รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม ได้กล่าวถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของการศึกษาไทย ที่กำลังมาถึงทางโค้งของการเปลี่ยนแปลง จากระบบการศึกษาเทียม มาเป็นระบบการศึกษาแท้ คือจากการมุ่งสอนวิชา ที่ประเมินผลด้านความจำ/สาระวิชา มาเป็นการสอนคน ที่ประเมินผลด้านทักษะการใช้ชีวิต /จิตใจ /สติปัญญา ซึ่งจะต้องใช้ยุทธวิธี "ทางลัดทางการศึกษา" กล่าวคือ การศึกษาชีวิตที่บ้าน โดย พ่อแม่ บ่มเพาะหล่อเลี้ยงความรัก ความอบอุ่น และความเข้มแข็งทั้งทางกายและใจ การศึกษาที่โรงเรียน ครูเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและวิชาความรู้ การศึกษาในสังคม เพื่อนและผู้แวดล้อมแบ่งปันอาหารใจ สมอง ลดความหลงมัวเมา

   คุณวิเชียร อัศรัสการ ได้กล่าวถึงงานหลักของภาคเอกชนที่ต้องการผลักดันในสองประเด็นใหญ่ๆ คือ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการป้องกันปัญหาทุจริคอรัปชั่น โดยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ได้เริ่มที่การปฏิรูประบบการผลิตข้าว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยมีชาวนาเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมบนการประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในกระบวนการผลิตและค้าข้าวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลลัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติเพื่อยกระดับรายได้ของชาวนาและเกษตรในแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับในส่วนของการป้องกันปัญหาทุจริตคอรัปชั่น นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของพลเมืองในการรังเกียจการทุจริตคอรัปชั้นอย่างแพร่หลาย ซึ่งในขณะนี้ เริ่มปรากฏแนวโน้มที่สะท้อนจากโพลล์สำรวจความเห็น ที่ให้น้ำหนักในลักษณะนี้มากขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว

คุณดวงกมล โชตะนา ให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนสามารถเข้าไปมีบทบาทในการถักทอพลเมืองดีในสังคม ทั้งฐานะผู้ผลิต และผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน โดยไม่อยากให้สังคมมองว่า พลเมืองเป็นเหยื่อของสื่อ แต่สามารถเป็นผู้สร้างสื่อที่ดี ที่อยากเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ ในการส่งสัญญาณที่ดีแก่พลเมืองในทุกๆด้าน

ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ กล่าวว่าในฐานะทำงานในภาคองค์กรมหาชน ได้มุ่งเน้นความร่วมมือกับไตรภาคีในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ทั้งลดชั้นตอนการทำงาน ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และลดขนาดองค์กรให้กระทัดรัดด้วยคุณภาพ อีกทั้งสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดมิติความสุข ภาวะทางปัญญา จิตวิญญาณแห่งความเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง และช่วยกันกระตุ้นให้เกิด active citizen โดยไม่ต้องรอสภาปฏิรูป

ดร.กิติพงศ์ กิตติยารักษ์ ได้นำเสนอแนวทางในการสร้างความยุติธรรมในชุมชนที่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในระดับพื้นฐาน ก่อนจะเกิดปัญหารุนแรงลุกลามขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งในเรื่องนี้ คุณไพบูลย์ได้มีส่วนสำคัญ ในการช่วยออกแบบ "ความยุติธรรมชุมชน" ฝากไว้ที่กระทรวงยุติธรรม โดยได้มองเห็นว่า ปัญหาความอยุติธรรมบางเรื่องกลายเป็นเรื่องชอบด้วยกฏหมายที่บัญญํติขึ้นให้ยุติธรรม อีกเรื่องหนึ่งที่คุณไพบูลย์ให้ความสนใจมาก คือ เรื่องการใช้ มรรค ๘ สู่การปฎิรูป ที่ต้องมาจากรากฐานประชาชน เช่น รูปแบบของ พอช.โมเดล .. สภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันความแตกต่างกันของแกนนำทางการเมือง การบูรณาการจากทุกภาคส่วนของประเทศด้วยอุดมการร่วมกัน ประสานความรู้ ปัญญา ข้อมูล สื่อสารทุกรูปแบบ และการสนับสนุนทางงบประมาณ เพื่อนำสู่เป้าหมายอย่างเห็นผลเชิงประจักษ์

ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของเวทีเสวนาเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง การที่ได้ยินคนทำงาน มาเล่าแนวคิดและประสบการณ์จริง และเห็นศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศสู่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ แบบเชื่อมโยงกันอย่างสอดประสาน ไม่แก่งแย่งชิงดี หาผลประโยชน์ชื่อเสียงเพื่อตนและพวกพ้องเช่นนี้ ย่อมเป็นที่หวังได้ ถึงความเป็นสังคมน่าอยู่ของประเทศไทย