หลักสูตรพัฒนาครู...นักเรียนได้อะไร? โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
Webmaster

"ผมอยากเห็นเงินงบประมาณพัฒนาครูได้ผลที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน มีผลให้คุณภาพทางการศึกษาดีขึ้น ไม่ใช่แบ่งเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้ แล้วนักเรียนไม่ได้ประโยชน์เลย อย่างที่ผ่านมา"


ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล



แล้วนักเรียนจะได้อะไร

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุมแถลงข่าว เรื่อง การเสนอโครงการหรือหลักสูตรพัฒนาครู เพื่อให้ครูได้เลือกพัฒนา ตาม ประกาศนี้ สพฐ..pdf และตาม ข่าวนี้ โดยในการประชุมแถลงข่าวมี ppt ประกอบการประชุม ดังนี้ สพฐ. 1.pdf

ความสนใจของผมอยู่ที่ “นักเรียนได้อะไร” แต่ในเอกสารของ สพฐ. ทั้งหมดตีความได้ว่า เน้นที่ “ครูได้อะไร” และนอกจากข้อ ๘ และข้อ ๑๐ ในประกาศแล้ว ในเอกสารอื่นๆ ไม่ระบุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ศิษย์จะได้รับเลย

ที่จริงในข่าวเรื่องการแถลงข่าว ระบุว่างานนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับหลักการของการพัฒนาครู เปลี่ยนจาก Training มาเป็น Learning ใน PLC ของครู ซึ่งหากมีการบริหารอย่างได้ผล ก็จะมีคุณูปการต่อวงการศึกษาไทยมาก

ข้อสังเกตก็คือ เอกสาร ppt ยังเน้นที่วิทยะฐานะครู ที่ได้จากการเก็บคะแนนกิจกรรม ไม่เน้นที่ผลงานพัฒนาการเรียนรู้ของศิษย์ และยิ่งน่าตกใจที่ประกาศนี้ระบุให้หน่วยงานที่จะจัดหลักสูตร (ซึ่งผมตีความว่า เน้นกิจกรรม โค้ชชิ่ง) ที่โรงเรียน เสนอโครงการภายในวันที่ ๑๓ - ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ คือให้เวลาสัปดาห์เดียว ประกาศนี้สำหรับผม ประจานความอ่อนแอในการบริหารงานของ สพฐ. อย่างโจ่งแจ้ง และประจานการบริหาร PLC ที่ผิด ที่ยกให้ครูเป็นรายๆ ตัดสินใจใช้เงินก้อนนี้เอง ซึ่งขัดกับหลักการ PLC

ผมจึงขอส่างสารมายังครูไทย ว่าควรรวมตัวกันเลือกใช้บริการ ในลักษณะที่เป็นบริการ classroom coaching และเป็น PLC Facilitator ยิ่งรวมตัวกันทั้งโรงเรียน จะยิ่งดีที่สุด และตัวอย่างหน่วยงานที่ผมรู้จัก ว่าน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดี ได้แก่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา (ประถม) โรงเรียนสัตยาศัย และโรงเรียนราษฎร์กระแสทางเลือกอีกจำนวนหนึ่ง น่าเสียดายที่ผมถามหาคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ที่น่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดี ไม่มีใครให้คำตอบได้

การทำหน้าที่ PLC Facilitator คือการทำหน้าที่โค้ช ให้ครูเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของครู ผ่านการปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (critical reflection) ร่วมกัน

ที่ผ่านมานโยบายดีๆ ทางการศึกษาไทย มักมาล้มเหลวเพราะความอ่อนแอของการบริหาร ผมตั้งความหวังว่า ในเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย

ผมอยากเห็นเงินงบประมาณพัฒนาครูได้ผลที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน มีผลให้คุณภาพทางการศึกษาดีขึ้น ไม่ใช่แบ่งเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้ แล้วนักเรียนไม่ได้ประโยชน์เลย อย่างที่ผ่านมา

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มี.ค. ๖๐

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

ขอบคุณที่มาจากบันทึก gotoknow ของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช : https://goo.gl/DVGjyH