เวทีความคิดจาก: เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายโรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Professional Learning Network:PLN) และเวทีระดมสมองเพื่อการขับเคลื่อนงานพื้นที่การศึกษาพิเศษ จังหวัดศรีสะเกษ
นาถชิดา อินทร์สอาด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เครือข่ายโรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Professional Learning Network:PLN)

และเวทีระดมสมองเพื่อการขับเคลื่อนงานพื้นที่การศึกษาพิเศษ จังหวัดศรีสะเกษ

โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล และ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

ระหว่างวันที่ 30- 31 มกราคม 2561

ณ โรงเรียนบ้านตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และโรงแรมแกเลอรี่ ดีไซน์


หลักการและเหตุผล

การศึกษาถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างคน สร้างสังคม และสร้างชาติ เป็นกลไกหลัก ในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” คือ มีปัญญาที่เฉียบแหลม (Head) มีทักษะที่เห็นผล (Hand) มีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) และมีจิตใจที่งดงาม (Heart) เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “คนไทย 4.0” และสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21

ระบบการศึกษาของประเทศไทย ยังมีปัญหาหลายประการ นับตั้งแต่ปัญหาคุณภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ปัญหาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับ จุดอ่อนของระบบการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่ยังไม่เหมาะสม ขาดความคล่องตัว ยังมีความเหลื่อมล้ำ ในด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และการขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจิตสาธารณะของคนไทยส่วนใหญ่

ประเทศไทย มีความพยามยามปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ สนองและรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ระบบการศึกษา เป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต มากว่า 20 ปี ทั้งปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปสื่อกสารสอน การวัดผล ในขณะที่องค์กรภาคสังคม พยายามสนับสนุนการปฏิรูปจากฐานราก คือ การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน และพัฒนาศักยภาพครู แต่พบกว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทั้งนี้เพราะ มีบางอย่างขับเคลื่อนอยู่ข้างหลัง เช่น โครงสร้างหรือระบบ ที่ส่งผลให้เกิดแบบแผนพฤติกรรม ที่มาจากโลกทัศน์ และความเชื่อ (Mindset) ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เห็นว่า จุดคานงัดที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา คุณภาพของผู้เรียน คุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน ให้สูงขึ้นจะต้องเปลี่ยนเชิงระบบ โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน PBL (Problem-based Learning) และ PLC (Professional Learning Community) เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พัฒนาผู้บริหารให้เป็นผู้นำทางการศึกษาที่มีสัมมาทิฐิ และพัฒนาครูผู้สอนให้เป็นครูโค้ช อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเครือข่ายเชิงระบบ PLN (Professional Learning Network) ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ศรีสะเกษ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างโรงเรียนที่สามารถปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ได้สำเร็จและพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมให้กับโรงเรียนในพื้นที่ได้

ในขณะเดียวกัน มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชน หลายภาคส่วนที่ตระหนักถึงสถานการณ์การศึกษาของประเทศ ได้มีการรวมกันในรูปแบบของวง Think Thank เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ พร้อมทั้งหาแนวทางในการสนับสนุนภาครัฐปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว โดยในปี 2560 ได้ก่อรูปเป็นคณะทำงานร่วมภายใต้ชื่อ Thailand Education Partnership : TEP มีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานการขับเคลื่อนที่ชัดเจน

ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ได้มี หน่วยงานทางด้านวิชาการเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ (สถาบันอาศรมศิลป์) มูลนิธิเพื่อคนไทย มูลนิธิสยามกัมมาจล Learn Ed. EDUCA คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เป็นต้น ได้ร่วมมือกัน จัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนคนไทย ซึ่งได้ตัดสินใจร่วมกันที่จะดำเนินการให้เกิด กิจกรรมและการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้กับสาธารณะชนเพื่อเป็นการสนับสนุนทิศทางการพัฒนาการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่าน 2 แผนงาน ได้แก่

  • 1)พื้นที่การจัดการศึกษาพิเศษ : การสร้างกลไก เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาเชิงระบบ
  • 2)ThailandEducation Summit : การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้กับสาธารณะชน

ในโอกาสที่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จึงเห็นความสำคัญของการทำงานเชิงระบบในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษจังหวัดศรีสะเกษเพื่อนำรูปแบบ (Platforms) ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาระดับอื่นๆ ที่สนใจ

วัตถุประสงค์ :

  • 1.เพื่อให้เกิดการรับรู้รูปแบบการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน PBL(Problem-based Learning) และ PLC (Professional Learning Community) สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21
  • 2.เพื่อรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความสำเร็จ กำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกันของทุกกลุ่มเครือข่ายภาคีด้านการศึกษา
  • 3.เพื่อ Empower ผู้บริหาร คณะครูและนักการศึกษาผู้ทำงานด้วยสัมมาทิฐิต่อการศึกษาอย่างแท้จริงและสร้างเครือข่าย PLN(Professional Learning Network) ที่เข้มแข็งในจังหวัดศรีสะเกษ

กลุ่มเป้าหมาย

  • 1.เลขาธิการ กพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
  • 2.ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษานิเทศก์จังหวัดศรีสะเกษ
  • 3.ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ ศรีสะเกษ เขต 1-4
  • 4.คณะบดีและอาจารย์มหาวิทยาลัย
  • 5.คณะทำงานมูลนิธิสยามกัมมาจล
  • 6.กลุ่มภาคีประชาสังคมที่ทำงานด้านการศึกษา
  • 7.ผู้อำนวยการโรงเรียนแกนนำที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อปฏิรูปการศึกษา
  • รวมทั้งสิ้น จำนวน 60 คน

ระยะเวลาและสถานที่ : - วันที่ 30 เดือนมกราคม 2561 จัดที่โรงเรียนบ้านตะเคียนราม ต.ตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ

- วันที่ 31 เดือนมกราคม 2561 จัดที่ห้องประชุมโรงแรมโรงแรมแกเลอรี่ ดีไซน์ใน จ.ศรีสะเกษ

งบประมาณ

งบประมาณจากโครงการงอกนอกกะลา โดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิสยามกัมมาจล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • 1.เกิดการรับรู้รูปแบบการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน PBL(Problem-based Learning) และ PLC (Professional Learning Community) สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21
  • 2.ได้แนวทาง ข้อกำหนด วางแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกันของทุกกลุ่มเครือข่ายภาคีด้านการศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ
  • 3.ผู้บริหาร และคณะครูมีกำลังใจเห็นเป้าหมายร่วมกันที่จะทำงานด้านการศึกษาอย่างมีสัมมาทิฐิ
  • 4.เกิดเครือข่าย PLN(Professional Learning Network) ที่เข้มแข้งในจังหวัดศรีสะเกษ