เก็บตกเวทีครูพอเพียง(2) โดย คุณสุจินดา งามวุฒิพร
Atomdony Modtanoy



การสอนที่ประทับใจ
คือ "โครงงานทรัพย์ในดิน" นัก เรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนแล้วสนุก โดยสอนเรื่องใกล้ตัวคือเรื่องดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนเห็นอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน โดยเลือกให้เด็กใช้กระบวนการกลุ่ม เพราะเด็กจะได้คุณธรรมจากกระบวนการทำงาน การเป็นผู้นำ-ผู้ตามที่ดี ความสามัคคี



วิธีการ ใช้ ๓ แผนการจัดการเรียนรู้ แผนละ ๒ ชั่วโมง รวมเป็น ๖ ชั่วโมง โดยให้ความรู้นักเรียนก่อน ได้แก่
๑. กระบวนการเกิดดินและคุณสมบัติของดิน
- เริ่มต้นด้วยครูสอนและพูดคุย ดูผังการเกิดดินว่ามีองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือวัตถุต้นกำเนิดดิน และ humus (เศษซากพืชซากสัตว์ที่ผ่านการย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว)
- ให้นักเรียนทดสอบชั้นหน้าตัด โดยใช้ใบงาน (ซึ่งใบงานจะบอกวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ให้นักเรียนรู้จักอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน) นักเรียนเอาดินจากหมู่บ้านมาทดสอบ ทดลอง
- ตอบคำถามว่าเข้าใจสิ่งที่เรียนหรือไม่ เช่น สิ่งที่เจือปนระหว่างดินชั้นบนกับชั้นล่างต่างกันอย่างไร
- ส่งรายงานองค์ประกอบของดิน วิเคราะห์ดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกควรเป็นอย่างไร
- เด็กกลับไปสังเกตดินที่บ้าน
๒. พฤติกรรมการใช้ประโยชน์ของดินในชุมชน
- ครูให้นักเรียนว่าเราใช้ประโยชน์จากดินได้หลายวิธี ให้นักเรียนสังเกตว่าปัจจุบันนักเรียนเห็นว่าเป็นอย่างไร
- วางแผนการสำรวจดินภายในกลุ่ม นักเรียนออกแบบการลงชุมชน เช่น ออกแบบการสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม เป็นต้น
- ครูตรวจความเหมาะสม ทั้งเวลาที่ใช้ เนื้อหา และกระบวนการทำงาน
- สำรวจท้องถิ่น นักเรียนร่วมกันสังเกตพฤติกรรมการใช้ดินของชุมชน แยกแยะพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีว่าแตกต่างกันอย่างไร นักเรียนอาจบันทึกภาพมาได้ สัมภาษณ์ชาวบ้านถึงวิธีดำเนินการพัฒนาปรับปรุงดิน
๓. แนวทางการพัฒนาดินของคนในชุมชน
- นักเรียนแลกเปลี่ยนกันว่าแนวทางการปรับปรุงดินที่ดีเป็นอย่างไร ใช้วิธีการแบบไหน ถ้าสืบค้นแล้วไม่ชัดเจน ต้องสืบค้นเพิ่มขึ้น เช่น สืบค้นจากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
- ใช้สื่อเศรษฐกิจพอเพียง อธิบายให้เห็นว่าวิธีการทำนาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่างกัน คือ การดำนา จะไถละเอียด หญ้าจะไม่เยอะ แต่ถ้านาหว่าน หญ้าจะเยอะ ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ให้นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์ว่าควรจะทำนาด้วยวิธีไหน เพราะอะไร
- ครูจะสอนความหมายของเรื่อง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข
- ให้นักเรียนย้อนดูว่าการทำโครงงานแต่ละขั้นตอนสัมพันธ์กับเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไร เป็นการสอนไปก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาคิดวิเคราะห์หลักปรัชญา
ที่มาของโครงการ เมื่อ นักเรียนเรียนรู้ไปแล้ว แต่ไม่สามารถดึงชุมชนให้พัฒนาดินได้ เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็ยังเผาเหมือนเดิม จึงใช้นักเรียนเข้าชุมชน โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง และคละนักเรียนอ่อน-แข็งเพื่อช่วยเหลือกันได้

             ผลที่เกิด

- นักเรียนได้ทักษะการสำรวจชุมชน เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากการสัมภาษณ์
- ชุมชนดีใจที่เด็กเข้ามาเรียนรู้ด้วย
- นักเรียนรู้จักสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง เช่น ค้นจากอินเตอร์เน็ต หาวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น
เป็น การออกแบบการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนหาความรู้ด้วยตนเอง โดยให้นักเรียนนำวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์สภาพปัญหาของชุมชน ซึ่งก็คือปัญหาดินเสื่อมโทรม และให้นักเรียนเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหา นับว่าเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว