เก็บตกเวทีเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง-ห้องภาษาไทย โดย คุณสุจินดา งามวุฒิพร
Atomdony Modtanoy
คุณครูทั้งหลายในห้องนั้นมีตัวอย่างการคิดออกแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจกันทุกท่านเลย และแทบทุกท่านก็ยกให้อ.กุณฑีรา บุญเลี้ยง พี่ใหญ่จากราชวินิต มัธยม เป็นปรมาจารย์ของวิชาภาษาไทย ที่สามารถเข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กนักเรียน ทำให้เด็กเรียนภาษาไทยได้สนุกสนานขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างทักษะชีวิตให้เด็กๆ และสอนเศรษฐกิจพอเพียงได้เนียนไปในชีวิตประจำวัน โดยเด็กไม่ต้องท่อง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขเลย ว่าไปแล้วอาจจะไม่เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างเรื่องเล่าของอาจารย์เลยดีกว่า  
พี่ใหญ่ของเราเกริ่นถึงการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ว่า เกิดจากความต้องการที่จะเดินตามรอยในหลวง ราชวินิตเป็นโรงเรียนของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นทุนเดิมของโรงเรียนที่แข็งแกร่งมาก จึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะสนองคุณแผ่นดิน และเป็นโชคดีที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นผู้ร่วมร่างหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงที่บางละมุง เมื่อปี ๒๕๔๙ ทำให้เริ่มเข้าใจหลักปรัชญาฯ ว่าแท้จริงแล้ว เป็นกรอบแนวคิดที่ใช้คิดวิเคราะห์ก่อนกระทำการใดๆ
 
ฟังแล้วประทับใจจังนะคะ…เข้าสู่ตัวอย่างเรื่องเล่าดีๆ ของพี่ใหญ่กันดีกว่า
Sealed ในห้องประชุมนักเรียน เด็กมักจะคุยกัน… พี่ใหญ่ก็จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส (สอนเด็กๆ) โดยตั้งคำถามว่า “นักเรียนจะฟังอย่างไรให้พอเพียง” “ถ้าฟังอย่างพอเพียงแล้วจะได้อะไรบ้าง” เด็กก็จะกลับมาคิดได้ว่าถ้าไม่ฟังก็จะไม่รู้ว่าครูจะแจ้งเรื่องอะไร แล้วก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการประชุม…เป็นตัวอย่างที่ทำได้ง่ายๆ และสร้างความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ง่ายๆ เลยนะคะ.. จากนั้นพี่ใหญ่ก็จะนำเรื่องนี้เข้ามาตอกย้ำซ้ำทวนตลอดเวลาในห้องเรียน
Smile ให้นักเรียนเลือกพระราชดำรัสที่ชอบ ตอบให้ได้ว่าเลือกเพราะอะไร เป็นการฝึกอ่าน คิด และเขียนสรุปแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและวิเคราะห์ได้
Smile โครงการสร้างนิสัยการอ่านด้วยนิทานทางเลือก จากธรรมชาติของเด็กบางคนจะไม่ชอบอ่านวรรณคดี /วรรณกรรม หรืออ่านแล้วจับความไม่ได้ พี่ใหญ่ก็จะประยุกต์บทเรียนให้เป็นนิทาน การ์ตูน เด็กก็จะอ่านหมดทุกเล่ม จับใจความและเล่าเรื่องได้ จากนั้นก็จะโยงเข้าสู่ธรรมชาติของวิชา เพื่อที่จะฝึกให้เด็กเขียนได้ แล้วก็จะท้าทายเด็กว่า “อ่านของคนอื่นมามากแล้ว ลองเขียนให้คนอื่นอ่านบ้างซิ “ สร้างจุดตื่นเต้น โดยการรวมเล่มงานเขียน เด็กตอบโจทย์ได้เองว่าจะเติมสีสรรได้ ด้วยการวาดภาพประกอบ.. เข้าใจได้ด้วยตัวเองว่าเขียนแล้วได้อะไรบ้าง เช่น รู้จักการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้ นอกจากจะทำให้ทั้งครูได้เห็นศักยภาพเด็กว่าเก่งด้านไหนแล้ว เด็กยังได้เห็นศักยภาพตนเอง และสามารถส่งเสริมเด็กไปทางนั้นๆ ได้…นอกจากจะเป็นกุศโลบายที่จะทำให้นักเรียนรักการอ่าน เขียนภาษาไทยอย่างได้อรรถรสแล้ว เรียกได้ว่าพี่ใหญ่ได้ออกแบบการสอนแบบครบวงจร และได้พัฒนาทักษะชีวิตให้นักเรียนในเวลาเดียวกันเลยนะคะ
Smile การทำหลักสูตรบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มจากดูว่าในหน่วยการเรียนรู้ กิจกรรมที่ออกแบบให้เด็กทำจะต้องสะท้อนภาพเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น การออกแบบแผนจะต้องชัดเจนว่าจะให้เด็กทำอะไร ผลที่คาดหวังคืออะไร หลักที่สำคัญคือต้องมีการวิเคราะห์บ่อยๆ ครูต้องพยายามกระตุ้นเด็กให้ตอบให้ได้ว่าอะไรทำให้เกิดความสำเร็จ ถ้าเด็กพูดได้ เด็กจะรู้และเข้าใจกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ต้องอธิบายคำจำกัดความ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขเลย
Smile การประเมินใช้เชิงประจักษ์จากชิ้นงาน ให้โอกาสเด็กได้พัฒนา ฝึกให้เด็กวางแผนก่อน ครูจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงตรวจโครงงานก่อนทำจริง (วางแผนรอบคอบ คิดหลายทางก่อนทำจริง) ประเมินแบบก้าวหน้า ไม่ประเมินแบบตัดสิน เห็นร่องรอยการพัฒนาของเด็ก โดยเด็กจะต้องมีแฟ้มเก็บงานของตัวเองเพื่อดูพัฒนาการการทำงาน

….คุณครูภาษาไทยในห้องฟังแล้ว ร้อง “อ๋อ” Surprised…เข้าใจเลยว่าการสอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาไม่ยากอย่างที่คิด เพราะด้วยการออกแบบอย่างรอบคอบของพี่ใหญ่ เริ่มต้นจากฐาน 2 เงื่อนไข ที่ต้องมีความรู้และคุณธรรมนำมาก่อน มีความรู้ว่าธรรมชาติของเด็กเป็นอย่างไร ชอบอะไร สนใจอะไร แล้วนำมาจูงใจให้สอดคล้องกับสาระวิชา ขณะเดียวกันพี่ใหญ่ก็มีคุณธรรมที่ตั้งใจจริง ด้วยความรักและปรารถนาดีที่จะให้นักเรียนที่รักได้เข้าใจสิ่งที่เรียนอย่างลึกซึ้งและมีความสุข (ไม่เฉพาะในห้องเรียน) และพร้อมที่จะสนับสนุนให้เด็กก้าวหน้าตามศักยภาพของตนเอง จากการดึงศักยภาพเด็กให้ได้แสดงออกตามความสามารถที่ตนเองถนัด เป็นไปตามหลักพอประมาณ ให้เด็กใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ในการเลือกและแสดงความเห็น และท้ายที่สุดความเข้าใจและรักในสิ่งที่เรียนจะเป็นภูมิคุ้มกัน เพราะจะเป็นฐานของการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นต่อไปได้ และสามารถพัฒนาเป็นทักษะชีวิตที่ดีในอนาคต…..
คุณครูบางท่านถึงกับบอกว่าอยากจะรีบกลับโรงเรียนเร็วๆ จังWink เพราะได้แนวคิดหลายอย่างที่จะเอากลับไปใช้…ฟังแล้วน่าชื่นใจจังค่ะ