เก็บตกเวทีเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง-ห้องสังคม
Atomdony Modtanoy

ห้องย่อย 10 ห้องสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น ห้องผู้บริหารโรงเรียน ที่มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ห้องครู ๘ กลุ่มสาระวิชา จะเห็นรูปแบบการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน ที่สะท้อนได้ว่าเด็กจะได้เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร และห้องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่นอกจากจะเป็นเวทีนำเสนอผลงานและกิจกรรมที่หลากหลายของนักเรียนแล้ว ยังมีพื้นที่ให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนและได้ถอดบทเรียนตัวเองในการประยุกต์ ใช้เศรษฐกิจพอเพียงผ่านกิจกรรม เห็นได้ว่าเป็นที่น่าสนใจทุกห้องเลยทีเดียวค่ะ


ห้องสังคมศึกษา เป็น ห้องแรกที่ได้เข้าไปเยี่ยมชม เพราะได้ยินกิตติศัพท์ความโดดเด่นและเป็นนักปฎิบัติของอาจารย์ปริศนา ตันติเจริญ จากโรงเรียนโยธินบูรณะ (หนึ่งในโรงเรียนนำร่องของโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอ เพียง) มานานแล้ว ในห้องสังคมศึกษานี้มีครูที่เป็นตัวอย่างนำการพูดคุย ๓ ท่าน คือ
อาจารย์จุลดิษฐ์ วีรศิลป์ โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม จ.เชียงราย
อาจารย์รัตติยา แหวนวงศ์ โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์
อาจารย์ปริศนา ตันติเจริญ โรงเรียนโยธินบูรณะ จ.กรุงเทพฯ

อาจารย์ ปริศนา เริ่มเล่าก่อนว่า “เริ่มบูรณาการจากการศึกษาหลักสูตร พบว่าสังคมศึกษาเน้นความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม คล้ายกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพบว่าหน้าที่พลเมืองมุ่งให้เด็กเป็นคนดี เด็กจะทำความดีได้ต้องมีเหตุผล พอประมาณ ตัดสินได้ว่าทำดีเป็นอย่างไร จึงได้ทำหน่วยการเรียนรู้ และบูรณาการหลักปรัชญาไปกับโครงงาน เด็กเลือกโครงงานตามความสนใจ การตรวจโครงงานของครูจะกำหนดเป็น 2 แบบ คือ

1.คัดเลือกโครงงาน ครูให้คะแนน และประกวด เด็กต้องบอกให้ได้ว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงในโครงงานอย่างไร
2.เด็กสะท้อนตัวเองว่าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการคิดและปฎิบัติอย่างไร

ตัวอย่างเช่น แผนที่ความดี ครูจะสอนเด็กก่อนถึงความหมายของความดี แล้วให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ โดยให้เด็กค้นหาคนดีในดวงใจเพื่อเป็นแบบอย่างว่าคือใคร จากนั้นเขียนบันทึกความดี ครูใช้เครื่องมือ PDCA (Plan Do Check Action) และ KM (Knowledge Management) ผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง นำตัวอย่างนั้นๆ มาอธิบายว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เช่น มีนักเรียนคนหนึ่งเล่าว่ามีเงินอยู่ ๕๐๐ บาท เห็นขอทานก็สงสารเลยบริจาคให้หมดทั้ง ๕๐๐ ปรากฎว่าไม่มีเงินเหลือ กลับบ้านไม่ได้ ต้องโทรศัพท์บอกให้ที่บ้านมารับ ครูจึงตั้งโจทย์ให้เด็กในห้องแลกเปลี่ยนกันว่าแบบนี้แล้วเป็นเศรษฐกิจพอ เพียงหรือไม่ เด็กก็ได้ฝึกการวิเคราะห์และได้รู้จักตนเอง จากนั้นให้เด็กสัมภาษณ์นักเรียนห้องอื่นๆในโรงเรียน***ส่วน ๑:๑๐ ว่าเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงและเอาไปใช้อย่างไร และเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็ก

สำหรับ การประเมินผลจะใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือ มีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น การทำบันทึกการออมของนักเรียน ก่อนทำจะใช้แบบสอบถามเช็คว่าเด็กมีพฤติกรรมอย่างไร ระหว่างทำใช้การสังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็ก เป็นการประเมินเชิงคุณภาพ"

อาจารย์จุลดิษฐ์ เล่าว่า “บรรจุเป็นครูใหม่ที่แม่สรวยวิทยาคมเมื่อ ๒๑ ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุ ๒๓ ปี (ทุกคนคิดเลขในใจทันทีว่าตอนนี้อาจารย์อายุเท่าไหร่แล้วน้อ..) เด็กฝากความหวังไว้กับครูมาก จึงคิดว่าจะสอนอย่างไรให้สนุก เผอิญเคยเป็นเจ้าพ่อกิจกรรมค่าย จึงเริ่มจากการจัดค่ายสิ่งแวดล้อม “โลกร้อนทำเย็นสู่เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อสร้างความตระหนักจากผลของโลกร้อนและให้นักเรียนทำกิจกรรมว่าเราสามารถ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร การเรียนรู้เน้นผลที่คาดหวังเป็นตัวตั้ง และกระบวนการที่ใช้ต้องการปรับแนวคิดของผู้เรียน สร้างกิจกรรมที่น่าสนใจ และสนุก ”

อาจารย์รัตติยา เล่าถึงการออกแบบการเรียนรู้ว่า “ได้จัดทำหน่วยเรียนรู้ “ภูมิปัญญานำพาสู่เศรษฐกิจพอเพียง” โดยกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง จุดประสงค์การเรียนรู้ นักเรียนปฎิบัติแล้วเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่ โดยนำหลักคิดฉลาดรู้มาใช้ในการวางแผนการเรียนการสอน ประกอบกับนวัตกรรม SICAR MODEL
S - Self Motivation (การสร้างแรงจูงใจในตนเอง) ครูถามนักเรียนว่าหมู่บ้านของนักเรียนมีภูมิปัญญาอะไรบ้างและให้ยกตัวอย่าง สิ่งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยทำ
I - Investigation (การเสาะแสวงหาความรู้) ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น และเปรียบเทียบจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
C - Construction (การสร้างองค์ความรู้) สามารถยกตัวย่างประกอบ และประยุกต์จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ได้
             A - Application (การนำความรู้ไปใช้) บอกผลดีผลเสีย คุณค่า แนวปฏิบัติของภูมิปัญญา และการประยุกต์ใช้
R - Revision (การทบทวนความรู้) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปและให้นักเรียนบันทึกลงสมุด
ยุทธศาสตร์ฉลาดรู้ คือ
มุ่งมั่นด้วยศรัทธา
ใฝ่หาความรู้คู่คุณธรรม
นำไปใช้อย่างฉลาด
ไม่ประมาทหมั่นตรวจสอบพัฒนา

การ ประเมินผลการเรียนรู้จะสังเกตจากพฤติกรรมนักเรียน เช่น เด็กห่อข้าวมากิน แล้วเด็กประหยัดขึ้นมั้ย? ให้ผู้ปกครองช่วยประเมิน สังเกตพฤติกรรมเด็กเมื่ออยู่ที่บ้านด้วย ทำบ่อยๆ คล้ายเป็น Action Research”

อาจารย์ปริศนาเผยเคล็ดลับวิธีการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จว่า “ต้องสร้างทีมให้คิดให้เหมือนกัน ปริศนาพาทำ ชวนทำ ทำให้เองหมด ทั้งประสานภายในและภายนอก เมื่อเข้มแข็งแล้ว ชวนเครือข่ายนอกหมวดมาร่วม การจะประสบความสำเร็จได้ผู้บริหารต้อง OK ด้วย และที่สำคัญแกนนำจะไม่ทำตัวเหนื่อยให้คนอื่นเห็น แม้จะเหนื่อยก็ต้องอดทน อดกลั้น”

และในท้ายที่สุดคุณครูทั้ง ๓ ท่าน ได้สะท้อนความในใจที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่ง สังเกตได้ว่าอาจารย์บางท่านเล่าด้วยรอยยิ้มภูมิใจและมีน้ำตาคลอ บางท่านเล่าด้วยตาเป็นประกายระยิบระยับ ขณะที่คนฟังก็รู้สึกซาบซึ้ง บางคนก็แอบปาดน้ำตาด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน


อาจารย์ ปริศนา “สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะคิดว่าทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีกำลังใจ ตัวเองทำหน้าที่ในสมาคมสังคมศึกษาแห่งประเทศไทยด้วย ยินดีหากท่านไหนจะให้ช่วยเหลือทั้งด้านความรู้และเครื่องมือ”
อาจารย์จุลดิษฐ์ “เด็กๆ เคยถามว่าครูทำไปทำไม ก็บอกเค้ากลับไปว่า ก็ทำเพื่อพวกเราไง เห็นตาพวกเขาเป็นประกายก็รู้สึกดีใจและภูมิใจ”
อาจารย์รัตติยา “ปกติใจร้อน หลายคนว่าดุ แต่เดี๋ยวนี้ใจเย็นขึ้น มีเพื่อนก็ปรึกษากัน ทำงานให้เขาเห็นว่าเราทำจริง ไม่ทิ้งงาน ปรึกษากับคนที่คิดว่าช่วยกันได้ ถ้าทำงานให้เห็นฝีมือจะเกิดการยอมรับ”

นี่แหละค่ะ สุดยอดครูหัวใจพอเพียง.. เชื่อว่าความรู้สึกและแรงบันดาลใจนี้น่าจะตรงใจกับคุณครู และใครหลายๆ คนเลยใช่มั๊ยคะ