"ให้โอกาส" จากคนไม่เอาถ่าน เปลี่ยนเป็นคนเอาถ่าน โดย คุณอันเร ไชยเผือก
Atomdony Modtanoy
เรื่องการเผาถ่าน และการทำน้ำส้มควันไม้ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์สังคมพัฒนา จ.สระแก้ว ผนวกกับได้อ่านบทความพระธรรมเทศนาของพระพุทธิวงศ์มุนีเรื่องคนเอาถ่าน มีใจความว่า “คนเอาถ่าน ก็คือคนไม่เกียจคร้าน ไม่หาข้ออ้างเพื่อไม่ทำการงาน บุคคลนี้ปกติรู้สึกนึกคิด และประพฤติมีจริยาวัตรของตนเป็นอย่างนี้ เป็นคนเอาถ่าน”

เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนครูจึงเกิดความคิดว่า การให้โอกาสเด็กที่มีปัญหา เด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรียน เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อพัฒนาเขาเหล่านั้น โดยนำกระบวนการเผาถ่านเข้ามาช่วยและตั้งชื่อกลุ่มเด็กเหล่านี้ว่า “กลุ่มคนเอาถ่าน” น่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น ดังนั้นกระบวนการ “ชมรมคนเอาถ่าน” จึงเกิดขึ้น โดยครูได้วางจุดประสงค์ไว้ดังนี้คือ

  1. เพื่อให้นักเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการใช้ไม้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
  2. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการการเผาถ่านการเก็บน้ำส้มควันไม้และผลิตภัณฑ์จากผลไม้จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน
  3. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมและสร้างความเดือดร้อน และสร้างความเดือดร้อน
  4. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องของคุณธรรมให้กับนักเรียน

เมื่อมีเป้าหมายแล้วจึงได้เตรียมการต่อเนื่องคือ การเสนอความคิดกับกลุ่มครูผู้ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะครูฝ่ายปกครองและครูประจำชั้น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นดีด้วย จึงได้นำเสนอแนวคิดต่อคณะผู้บริหาร และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากนั้นจึงรับสมัครนักเรียนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม “คนเอาถ่าน” รุ่นแรกมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสมัครใจเข้าร่วมชมรมนี้ 22 คน

“รุ่นแรกที่รับมามีเด็กดีอยู่ด้วย 2 คน เพื่อให้มีหัวกะทิ มีผู้นำที่ดีเป็นแบบอย่าง ส่วนคนอื่นๆ ไม่เอาการเรียนเลย มาเรียนบ้าง ไม่มาบ้าง อยู่ตามร้านเกม บางคนก็เป็นเด็กแว้น พอมารวมกลุ่มกัน แรกๆ ก็ปวดหัว ครูถึงขั้นคิดว่าไม่เอาแล้ว เพราะเด็กมาสนุกอย่างเดียว งานที่มอบหมายให้ก็ไม่ทำ เขาก็เกเรตามประสาเด็ก แต่ก็มาถึงจุดที่เราคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ดีกว่า และมากกว่าตั้งกลุ่มให้เขาเผาถ่าน ก็เลยสร้างกระบวนการความสัมพันธ์ก่อน จึงได้ให้เวลาพวกเขา ได้พูดคุยกัน ทำให้พวกเขาเริ่มเปิดใจเล่าปัญหาให้เราฟัง เช่น เวลาที่ผมอยู่บ้านพ่อแม่ไม่เคยคุยกับผมเลย พ่อแม่ให้แต่เงินเพราะบ้านเขารวย บางครั้งที่ผมมีปัญหา ผมก็ไม่รู้จะคุยกับใคร ทำให้เรารับรู้ปัญหา รับรู้ความต้องการ จึงคิดกิจกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมอีก”

ครูอันเรเล่าว่านอกจากกิจกรรมเผาถ่านแล้ว ครูได้จัดให้มีการรวมกลุ่มกันในช่วงพักเที่ยงบ้าง ตอนเย็นหลังเลิกเรียนบ้าง มีการพูดคุยกันทั้งส่วนตัวและเป็นกลุ่ม บางวันก็ชักชวนกันเล่นกีฬา ปลูกสมุนไพรร่วมกันและหากิจกรรมมาร่วมกันทำเสมอ ทำให้ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนลดน้อยลง นักเรียนกล้าที่จะคุย กล้าที่จะปรึกษาปัญหาส่วนตัวกับครู เมื่อนักเรียนเกิดความไว้วางใจครูมากขึ้น จึงจัดค่ายเผาถ่านที่โรงเรียน 1 คืน (เฉพาะนักเรียนชาย) มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย เช่น การทำอาหารร่วมกัน การเตรียมไม้ใส่เตา การจัดเรียงในเตา การปิด–เปิดหน้าเตา และการจุดไฟหน้าเตา

นอกจากนี้ยังมีการอบรมทักษะชีวิต นั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง แล้วเสริมด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นมีกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง เป็นต้น ในวันรุ่งขึ้นก่อนทานอาหารเช้า ครูอันเรจะพูดคุย สอบถามนักเรียนว่าได้อะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ “วงเปิดใจ” ว่าใครมีเรื่องอะไรที่จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ใครได้รับอะไรบ้างให้แบ่งปันกัน เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนตนเอง ซึ่งนักเรียนต่างผลัดเปลี่ยนกันเล่าความรู้สึก ประสบการณ์ของตนเอง รวมถึงมีบางคนสารภาพว่าทำสิ่งที่ผิดต่อครู

“มีเด็กคนหนึ่งก็บอกว่า ครูครับ ถ้าผมบอกแล้วครูอย่าโกรธผมนะครับ และอย่าไล่ผมออกจากกลุ่มนะครับ ครูก็บอกว่า ไม่โกรธและไม่ไล่ออกจากกลุ่ม เด็กก็บอกว่า เมื่อคืนผมแอบสูบบุหรี่กับเพื่อนครับ เมื่อไม่ถูกว่า อีก ๓ คนก็ยกมือ บอกว่าผมด้วยครับ เราเริ่มได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี”



เมื่อถึงกำหนดวันเผาถ่านครั้งที่ 2 ครูจัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือ “เผาถ่าน เผาเหล้า เผาบุหรี่” เป็นกิจกรรมที่ต้องการให้เด็กเห็นโทษของยาเสพติด อบายมุข โดยเริ่มต้นด้วยการประชุมเด็กทั้งหมด ให้แต่ละคนเล่าประสบการณ์เรื่องของยาเสพติด โทษของยาเสพติดทั้งจากผู้เสพ คนขาย ชุมชน และสังคม จากนั้นนำภาพปัญหาความรุนแรงจากหน้าหนังสือพิมพ์มาให้เด็กช่วยกันคิด วิเคราะห์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต จากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด มีการประชุมกลุ่มย่อยถึงโทษภัยของเสพติด และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล

“บางกลุ่มบอกว่า สมมุติว่าเราสูบบุหรี่วันละ 2 มวนๆ ละ 2 บาท ถ้า 1 เดือน ก็ 60 บาท 1 ปี ก็ประมาณ 720 บาท ถ้า 10 ปี = 7,400 บาท ก็เริ่มดีใจว่าเด็กคิดได้”

ในตอนท้ายครูอันเรจัดให้มีการสรุปร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มจะลด ละ เลิก ยาเสพติดอย่างไร และจะช่วยเพื่อนในกลุ่มได้อย่างไร ครูจะโน้มน้าวให้เด็กเห็นข้อเสียและเป็นกำลังใจให้เด็กๆ สู้กับปัญหา จากนั้นครูพาเด็กๆ ไปที่เตาเผาถ่านซึ่งไฟกำลังลุกอยู่ หยิบบุหรี่พร้อมทั้งขวดเหล้า และบอกกับเด็กว่า “ลูกที่รัก ถ้าลูกยังคิดที่จะกลับใจ อยากเป็นคนดีของสังคมในอนาคต อยากเป็นนักเรียนที่ดีของครูบาอาจารย์ อยากเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ก็ให้พยายามเลิกสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ โยนสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เข้ากองไฟ เพื่อให้ความร้อนช่วยเผาผลาญความชั่วร้ายให้หมดไป และขอให้ทุกคนตั้งใจ พยามยามทำดีให้มากที่สุด พยายามอดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุ หรือสิ่งที่จะทำให้เรากลับไปหาความไม่ดีอีก และให้ทุกคนอธิฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ และวอนขอนักบุญยอห์น บัพติส เดอ ลาซาล องค์อุปถัมถ์ของโรงเรียน ช่วยปกป้อง คุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายด้วย” จากนั้นเด็กๆ ก็โยนบุหรี่ เทเหล้าเข้ากองไฟ อันเป็นเสร็จสิ้นคำสัญญาที่จะลด ละ เลิก จากอบายมุขต่างๆ

ครูอันเรเล่าว่า หลังจากสิ้นปีการศึกษามีการประเมินภาพรวมของเด็กกลุ่มนี้ ทุกคนสามารถเรียนจบและเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และมีผู้ปกครองหลายท่านเขียนจดหมายมาขอบคุณครูอันเร

“ปกติแล้วเด็กกลุ่มนี้ มีแนวโน้มว่าจะเรียนไม่จบ แต่เมื่อเราดึงตัวเขามาร่วมกิจกรรม หลายอย่างมันสอนเขา จากที่เขาไม่ค่อยมาเรียนก็เริ่มมาเรียนมากขึ้น จากที่เรียนๆ หลับๆ เขาก็สนใจเรียนมากขึ้น เราได้จุดประกายให้เขาได้คิด ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาฯ ทั้งหมด เด็กได้เรียนรู้วิธีการเผาถ่าน เพราะต้องเผาทั้งคืน ต้องคำนวณเวลา ว่าเริ่มเผากี่โมง เอาไม้ออกกี่โมง ปิดเตากี่โมง และถ้าจะเอาประจุไฟฟ้าทำสบู่ถ่าน ก็ต้องคำนวณเวลาให้ดี เด็กจะรับผิดชอบทั้งหมด ต้องรู้จักแบ่งงานกันทำ มีการวางแผน จากกิจกรรมนี้ทำให้เด็กนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ต่อไป เป็นการพัฒนาตนเอง ตัวครูเองก็มีความสุขกับงานที่ทำ แล้วเห็นเด็กๆ ที่กลับมาช่วยโรงเรียน กลับมาช่วยน้องๆ”