​Active learning "ยั่วให้คิด ยุให้ลงมือทำ"
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

กิตติรัตน์  ปลื้มจิตร

6  กันยายน  2557


Active learning  "ยั่วให้คิด ยุให้ลงมือทำ"


           การออกแบบการเรียนรู้เพื่อปลุกพลังการเรียนรู้ พลังพลเมืองเยาวชน ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม เริ่มจาก...





★ติดตั้งวิธีคิด วิธีทำงาน วิธีเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นทีม ข้ามกลุ่ม ข้ามจังหวัด co-operative learning★


● พี่เลี้ยงออกแบบกระบวนการสนุกๆ เพื่อชวนให้เยาวชนได้ทำความรู้จักเพื่อนที่มาจากต่างกลุ่ม ต่างพื้นที่ ทั้งเยาวชนจากชุมชนตำบล แพรกหนามแดง บางพรหม อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เยาวชนจากวิทยาลัยเกษตร จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี เยาวชนจากโรงเรียนพรหมมานุสรณ์ เยาวชนโรงโขน จ.เพชรบุรี เยาวชนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น การสร้างกระบวนการให้เกิดความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ที่จะร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันนับว่าสำคัญมาก เพราะจุดเริ่มต้นของพลังพลเมืองเยาวชน เริ่มจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากพี่น้อง ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความสนใจ มีประสบการณ์ความรู้ มีต้นทุนศักยภาพดีดี ในพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถจะแลกเปลี่ยนแบ่งปันซึ่งกันและกันได้ ดังนั้น "การเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมทาง เพื่อนร่วมภูมิสังคมพื่นที่ต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนปลายน้ำ" ไปจนการทำงานเป็นกลุ่มที่ต้อง "แลกเปลี่ยนความคิด รับฟัง ลงมือทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงาน"


★จัดหาสื่อดีดี มายั่วให้คิด สร้างแรงจูงใจ motivated activity★


● สร้างแรงจูงใจ ด้วยการดูสื่อสารคดีสั้น ปลุกพลังให้เห็นว่าเยาวชน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากจุดเริ่มต้นของความคิด และการลงมือทำเพื่อชุมชนสังคม ทีม coach จึงเริ่ม "ยั่วให้คิด" โดย "ตั้งคำถาม" ให้แลกเปลี่ยนกัน ว่าด้วย..... 


"เราเห็นอะไรจากคลิปวิดิโอบ้าง?"
"เรารู้สึกโดนใจในเรื่องราว/สถานการณ์ ตรงไหนจากการดูคลิปวิดิโอบ้าง? เพราะอะไร"
"จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าไม่มีการลงมือทำอะไรเลย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?"
"ตัวละครแต่ละคน ที่แสดงสีหน้าท่าทางนั้น เขารู้สึกอะไร?" "ทำไมจึงรู้สึกแบบนั้น"
"ทำไมเยาวชนถึงคิดจะทำอะไรเพื่อผู้อื่น?"
"ถ้าเป็นเราเจอเหตุการณ์แบบนั้นบ้าง เราจะทำอย่างไร?"
"เราคิดว่าพลเมือง ในความเข้าใจของเรานั้น เป็นอย่างไร?"



● จากนั้นจึงแบ่งกลุ่ม เข้าฐานการเรียนรู้ 3 ฐาน ดูสื่อ และแลกเปลี่ยนพูดคุย เพื่อให้รู้จัก และเข้าใจ "ภาพรวม" ต้นทุนภูมิสังคมภาคตะวันตก เรื่อง
           1) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจากป่าต้นน้ำ...เมืองกาญจนบุรี แม่น้ำแม่กลอง...ที่ไหนผ่านเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี สู่วิถีชีวิตชุมชนกับคลองลำประโดง ท้องร่อง สวนมากมาย สู่ปลายน้ำสมุทรสงคราม เกิดเป็นหาดเลน อ่าว ก.ไก่
          2) ต้นทุนศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตก ทั้งอาหาร การแต่งกาย ภาษา สำเนียง ประเพณี ศิลปะการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน รวมทั้งโขนเมืองเพชร ที่ถ่ายทอดวิธีคิด วิถีปฏิบัติของคนไทยภาคตะวันตก เป็นต้น
         3) ฐานอาชีพ และการถ่ายทอดภูมิปัญญาสัมมาอาชีพ ของคนในชุมชน เช่น การทำน้ำตาลตะโนด เมืองเพชร เป็นต้น

การเรียนรู้แต่ละฐาน ทีมพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ จูงใจโดย "ตั้งคำถาม" ให้น้องแต่ละกลุ่มสังเกต เรื่องราวในสื่อ "สอบถามความรู้เดิม" และ "ยั่วให้ทบทวนประสบการณ์" ว่าเราเคยเห็น หรือมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องนั้นๆ อย่างไร? เช่น คำถามที่ว่า.....


"จากการดูสื่อ เราเห็นอะไร บ้าง?"
"เรื่องราวในสื่อ สะท้อนให้เราคิดถึงอะไร?"
"ที่บ้านเรามีสิ่งดีดี อะไรบ้าง?"
"แล้วเราจะมีส่วนทำอะไรได้บ้างชุมชนของเรา?"



● จากนั้น พี่เลี้ยงจึงชวนน้องๆ แต่ละกลุ่มกลับมา "เชื่อมโยง" จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ 3 ฐาน มาสู่ชุมชนท้องถิ่นของเรา โดยร่วมกันสำรวจ และคิดวิเคราะห์ โดยค่อยๆ ให้โจทย์ ตั้งคำถาม "ยั่วให้คิด" ว่า 


"ชุมชนของเรามีต้นทุนสิ่งดีดีอะไร เราสังเกตเห็นอะไรในชุมชนของเราบ้าง?"
"ต้นทุนในชุมชนของเรา มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนอย่างไร?"



★ยุให้ลงมือทำ★


    


● มาถึงช่วงที่สำคัญมากของวัน หลังจากพาน้องๆ เรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกในภาพรวมแล้ว พี่เลี้ยงไม่รีรอที่จะชวนน้องๆ กลับมามองชุมชนของเรา และยุให้น้องๆ แต่ละกลุ่มได้ทบทวนศักยภาพตน และค้นหาความสนใจ ว่าพลังเยาวชนจะสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนของเราได้บ้าง


"เราคิดว่า เราสนใจอะไร จากสิ่งที่เราเห็นในชุมชนของเรา ทั้งต้นทุนสิ่งดีดี และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น?"
"เราอยากลุกขึ้นมาทำเรื่องอะไร เพื่อชุมชนของเรา?"
"เราคิดว่าสิ่งที่เราลงมือทำนั้น ใครจะได้ประโยชน์? ได้ประโยชน์อย่างไร?"



แบ่งปันประสบการณ์


● พร้อมทั้งจัดตลาดนัดโครงการ ที่ให้น้องๆ ได้ฝึกตั้งคำถาม และไปร่วมเรียนรู้ว่าเพื่อนต่างกลุ่ม สนใจอะไร มีศักยภาพอะไร และจะลุกขึ้นมาทำโครงการอะไรเพื่อชุมชนของเขา และทำอย่างไร โดยให้ตั้งคำถามกันเอง พูดคุยฝึกนำเสนอโครงการด้วยตัวเอง

การออกแบบการเรียนรู้แบบ active learning เพียง 1 วัน ที่พี่เลี้ยง หรือ coach ผู้ใหญ่ที่มีหัวใจความเป็นพลเมือง สนใจพลังของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม กว่า 15 คน ได้ "ยั่วให้คิด ยุให้ลงมือทำ" กระตุ้นพลังพลเมือง ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีพลังศักยภาพ ของการเรียนรู้ที่ถูกซ่อนอยู่" เพียงให้โอกาส จัดกระบวนการยั่วคิด และเปิดพื้นที่ให้ได้ลงมือทำ และแสดงศักยภาพออกมา... 2 วันนี้ ได้เห็นเยาวชนกว่า 20 กลุ่ม ได้เสนอโครงการเพื่อชุมชน community project ที่พร้อมจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ social lab ของพวกเขา เพื่อบ่มเพาะทักษะ และความคิด ที่เกิดขึ้นจากการ "ลงมือทำจริง" และแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน

ได้แต่หวังว่า ไฟแห่งความคิดดีเช่นนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้น้องๆ ทุกกลุ่ม ได้ค้นพบศักยภาพภายในตน และเป็นพลังสร้างสรรค์ชุมชนเข้มแข็งของน้องๆ ต่อไป