กว่า 30 องค์กรสังคมขานรับ งานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” ร่วมสร้าง “ Active Youth”
องค์กรภาคสังคมด้านเยาวชนระดับประเทศกว่า 30 ภาคีเครือข่ายตอบรับงานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” พร้อมขยายผลสู่การปฏิบัติ ร่วมสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Youth “มูลนิธิเพื่อคนไทย” อาสาเป็นกลไกเชื่อมต่อภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดผลจริง ชี้ผลวิจัยสะท้อนต้นทุนด้านบวก 3 ใน 4 ของเด็กไทยยังยึดโยงกับครอบครัว นักพัฒนา-นักวิชาการเชื่อมั่นเด็กมีศักยภาพ “ครอบครัว-สังคม” ควรทำความเข้าใจและให้โอกาส

­

วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสิทธิเด็กสากล ( Universal Children's Day) ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ทุกคนในโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น, การมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและมีส่วนร่วมในสังคม 


วันเดียวกันนี้ สืบเนื่องจากผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” มูลนิธิเพื่อคนไทยได้จัดงานสัมมนา “เข้าใจ..เด็กไทยวันนี้ ร่วมเปลี่ยนอนาคตสังคม" ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรที่ทำงานด้านพัฒนาเยาวชนกว่า 30 ภาคีเครือข่าย โดยเนื้อหางานประกอบด้วย เวทีความคิด "เสียงเยาวชนไทยที่ใครๆ ต้องฟัง" วิทยากร นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นางสาววิยะกาญจน์ ประวิทย์สกุล เยาวชนจากงานวิจัย

­

­

ต่อด้วยการสนทนาหัวข้อ "ผลวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 : จากเสียงสะท้อนของเด็กสู่แรงบันดาลใจร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง" วิทยากร ได้แก่ นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม GLab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ, นางจุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) นางประภาภัทร นิยม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ดำเนินรายการโดย นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

­


นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” เปิดเผยถึงงานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” ว่า เป็นกลไกการรับฟังเสียงสะท้อนคนไทยเพื่อให้สาธารณชนผู้สนใจสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสังคม และเพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง มูลนิธิฯ จึงจัดเวทีนี้ขึ้น โดยได้รับการตอบรับจากภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนจำนวนกว่า 30 องค์กร ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ต่างแสดงความสนใจที่จะนำผลวิจัยไปใช้ในการออกแบบโครงการด้านเด็กและเยาวชนในแผนการทำงานปี 2558 ทั้งระดับองค์กรและระดับข้ามเครือข่าย

­

­

“ผลวิจัยนี้สะท้อนเสียงของเด็กไทยในประเด็นที่หลากหลาย ขณะเดียวกันงานวันนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้ใหญ่ว่าพร้อมจะรับฟังและให้โอกาสเด็ก อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ยังคาดหวังว่าจะมีภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคีที่มาในวันนี้ นำผลวิจัยนี้ไปใช้ในงานพัฒนาเยาวชน เพราะนั่นเท่ากับได้ช่วยสร้างอนาคตให้ประเทศชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นระบบการศึกษา,ครอบครัว,คุณธรรมและการมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของเยาวชน ที่ล้วนเป็นข้อเท็จจริงสำคัญหลายแง่มุม น่าศึกษาอย่างยิ่ง”

ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยยังกล่าวอีกว่า ด้วยคุณค่าหลักของมูลนิธิเพื่อคนไทยที่เน้นสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขและเชื่อว่าคนไทยเท่านั้นที่ทำให้เมืองไทยน่าอยู่ มูลนิธิฯ จึงอาสาเป็นกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อทรัพยากรด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เครือข่าย ความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนาเยาวชน ให้มีผลในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ จะนำผลวิจัยนี้ไปขยายผลในด้านการสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Youth ร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ โดยจะเริ่มเห็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในปี 2558

เกี่ยวกับงานวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 แม้ตัวเลขผลวิจัยจะระบุว่า ร้อยละ 97 คิดว่าตัวเองยังเด็กเกินไปที่จะแก้ปัญหาสังคม แต่ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยเชื่อว่าเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะช่วยสังคมได้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ สำคัญคือครอบครัวและสังคมจะต้องช่วยกัน สอดรับกับผลวิจัยที่สะท้อนว่า 3 ใน 4 ของเด็กไทยยังยึดโยงกับครอบครัวและให้ความสำคัญกับความกตัญญู นั่นย่อมเท่ากับว่า สังคมไทยยังมีความหวังในตัวเด็ก เช่นเดียวกับนักวิชาการและนักพัฒนาที่เป็นวิทยากรในงานสัมมนานี้ ต่างให้ความเห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตัวเองและสังคม เหนืออื่นใด สังคมและครอบครัวต้องให้โอกาสและทำความเข้าใจ โดยยอมรับเด็กตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปในวันนี้ด้วย จึงจะสามารถลดช่องว่างของทัศนคติด้านลบระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ในสังคมไทยได้

สำหรับองค์กรภาคสังคมที่มาร่วมงาน ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิสยามกัมมาจล, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สภาการศึกษาคาธอลิก (ประเทศไทย), มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย, สภาองค์การเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ, ทีดีอาร์ไอ, มูลนิธิปิดทองหลังพระ, สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ, เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา, สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม, มูลนิธิไทยพีบีเอส, มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย, กลุ่มปลาดาวเครือข่ายเยาวชนโลก, กลุ่มยูไรท์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย, กลุ่มเยาวชนสยามอารยะ, มูลนิธิยุวพัฒน์, สถาบันเช้นจ์ฟิวชั่นฯ, อา-ชีพ, คลับ21ไทยแลนด์, อาเซียน ลีดเดอร์ชิป อะเคดามี, มูลนิธิธรรมดี, มูลนิธิหัวใจอาสา, กลุ่ม ซ.โซ่อาสา, Food 4 Good,สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน, บลจ.บัวหลวง, บจ.ดีซี คอนซัลแทนท์ แอนด์มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์, บจ.ไอ เอ็ดดูเคชั่นโซน, บจ.โลกแห่งแบบ, บจ.เลิร์น คอร์ป, บจ.โอเพ่นดรีม, บจ.โตโยต้า ลีสซิ่ง ฯลฯ

อนึ่ง งานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” ดำเนินการโดย บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำของโลก มีสาขากว่า 110 ประเทศ ภายใต้การดำเนินงานวิจัยตามมาตรฐานสูงสุดระดับสากล ได้สำรวจความคิดเห็นเยาวชนไทยที่มีอายุ 15-24 ปีจำนวน 4,000 คนทั่วประเทศโดยเก็บข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้สนใจสามารถติดตามศึกษาผลวิจัยฉบับเต็มได้ที่ www.khonthaifoundation.org