ภารดร พงค์สวัสดิ์ : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่นโครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน

โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน  ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล


เยาวชนเด่น

ชื่อ ภารดร พงค์สวัสดิ์ ชื่อเล่น ซี

อายุ 18 การศึกษาชั้น ปวช.3 วิทยาลัยเทคนิคสตูลแผนกบัญชี



โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน น้องซีอธิบายให้พี่ฟังหน่อยว่า มาทำโครงการนี้ได้อย่างไร ให้แนะนำชื่อ อายุ แล้วก็เรียนอยู่ที่ไหน ชั้นอะไร

ชื่อนายภารดร พงค์สวัสดิ์ ชื่อเล่น ซี อายุ 18 ปี เรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล อยู่ชั้น ปวช. 3 แผนกบัญชี


ซีมาทำโครงการนี้ได้อย่างไร

ตอนแรกพวกผมลงพื้นที่ไปสำรวจว่าในชุมชน ประเด็นปัญหาอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำโครงการได้ เราพบพื้นที่นาลดน้อยลง เพราะคนเปลี่ยนพื้นที่ไปทำอย่างอื่น ก่อนนี้พวกผมเห็นอยู่ทุกวันแต่ไม่ได้คิดอะไร แต่เพราะปีที่แล้วพวกผมทำโครงการศึกษาและรวบรวมตำนานและประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรี เพื่อเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ชื่อพันธุ์ข้าวอัลฮัมปรากฏอยู่ในข้อมูลที่พวกเราศึกษา ทำให้รู้ว่าข้าวอัลฮัมอยู่กับชุมชนเรามานาน แต่เพราะคนในชุมชนปลูกข้าวอัลฮัมน้อยลง ข้าวอัลฮัมจึงค่อยๆ หายไป พวกผมเลยอยากทำโครงการเกี่ยวกับข้าวอัลฮัม เพื่อศึกษาองค์ความรู้ และเผยแพร่ถึงคุณลักษณะเฉพาะและคุณประโยชน์ของข้าวอัลฮัมให้คนทั่วไปได้รับรู้ ให้ข้าวอัลฮัมยังคงอยู่กับชุมชน


แสดงว่าซีทำโครงการมาสองปีแล้วใช่ไหม

ครับผม


แล้วปีแรก รู้จักโครงการรู้จักพี่ ๆ เขาได้อย่างไร ใครชวนมาทำโครงการ

พี่ชายมาขอให้มาอบรมกับเขาหน่อย ผมก็มา จากนั้นผมก็ทำมายาวเลย


พี่ชายเป็นพี่ข้างบ้านหรือว่าเป็นพี่ชายเราจริง ๆ

เป็นพี่ชายแท้ๆ (อัพดอล พงค์สวัสดิ์)


แล้วพี่ชาย เขารู้จักโครงการได้อย่างไร

พี่ชายเป็นสภาเด็กและเยาวชน แล้วก็ได้รับโครงการนี้มา


สภาเด็กและเยาวชนของ

กลุ่มสภาเยาวชนตำบลเกตรีครับ


พี่ชายอยู่ในสภาเด็กอยู่แล้ว เขาก็เลยมาชวนเรา

ครับผม


ตอนนั้นเราก็ไม่ได้รู้หรอก ว่าเขาจะชวนไปทำอะไร เขาบอกว่าไปฟังอบรมใช่ไหม

เขาบอกว่ามาอบรมเกี่ยวกับสื่อ แล้วผมมีความสนใจเกี่ยวกับสื่อ ก็เลยมา


สนใจเกี่ยวกับสื่อ เราสนใจอย่างไร

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมดูยูทูป เห็นว่าเป็นยูทูปเบอร์น่าจะรุ่ง เราสนใจเกี่ยวกับสื่อและรูปภาพ อยากถ่ายภาพ อยากสื่อสารให้คนได้รู้เกี่ยวกับวีดิโอและภาพถ่าย ช่วงนั้นในโครงการมีจัดอบรม ผมก็เลยมา


แล้วเรามีพื้นฐานความรู้ด้านนี้อยู่บ้างแล้วไหม เกี่ยวกับการทำภาพ การทำวีดิโอ

ไม่มีครับ


แล้วเราได้กลับไปอย่างที่ต้องการไหมในโครงการแรก

ได้เยอะครับ “จากคนที่น้ำไม่มี ก็มีเต็มแก้ว และยังเปิดรับอยู่ ตอนนี้น่าจะเป็นถังใบใหญ่แล้ว”


คือเราก็ขยายภาชนะ

ครับผม


ตอบดีนะ ขยายความให้พี่ฟังหน่อย ที่บอกว่าตั้งแต่โครงการแรก เราสนใจเรื่องสื่อและได้เรียนรู้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทักษะที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาแล้ว พี่ขอเจาะลงไปตรงเรื่องสื่อเหมือนที่ซีบอกก่อนว่าซีได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ซีได้เรียนรู้เรื่องอะไรไปแล้วบ้าง

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำคลิปวีดิโออย่างไรให้น่าสนใจ เรื่องมุมภาพมุมกล้อง แล้วพอทำสื่อจะมีเรื่องการตัดต่อวีดิโอเข้ามาด้วย เลยเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งหมด


แล้วทำคลิปวีดิโออย่างไรให้น่าสนใจ ไหนบอกพี่หน่อยซิ

หลักในการทำวิดีโอ มีเรื่องการวางสตอรีบอร์ด เป็นการวางแผนเล็ก ๆ ก่อนลงไปถ่ายทำ ถ้าจะทำเนื้อหาให้น่าสนใจ เราต้องเขียนสตอรีบอร์ดให้ดีมาก่อน พอเราเขียนมาดีจะเป็นแนวทางให้ถ่ายทำได้ดี ถ้าไม่เขียนสตอรีบอร์ด เราจะไม่รู้ว่าเรื่องเส้นเรื่องเป็นแบบไหน

เวลาทำงานผมเขียนสตอรีบอร์ดนำเสนอกลุ่มไปก่อนว่าเรื่องราวเป็นแบบนี้ ทุกคนสนใจไหม ถ้าไม่สนใจก็เปลี่ยนสตอรีบอร์ดใหม่ สตอรีบอร์ดจะทำให้เห็นภาพว่าจะถ่ายทำอย่างไร ตรงไหนบ้างถ่ายพื้นที่ตรงนี้ให้หมดไปเลย เราจะไม่เสียเวลาไปถ่ายตรงนั้นทีตรงนี้ที


ก็คือมันช่วยให้เห็นภาพ ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน แล้วมันช่วยกำหนดทิศทางให้เราทำงานง่ายขึ้นไหม ว่าพอเรามีสตอรีบอร์ดแล้ว ต้องถ่ายแบบนี้ ๆ เราจะไม่ได้ไปมั่ว ๆ อยู่

ใช่ครับ


เกี่ยวกับเรื่องสื่อมีอย่างอื่นอีกไหม

ผมไม่รู้ว่าเป็นทักษะหรือเปล่า แต่โครงการสร้างจิตสำนึกให้ผม ก่อนหน้านี้ผมเป็นบุคคลที่มีโลกส่วนตัวสูง แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อสังคมเลยสักอย่าง พอได้มาศึกษาค้นคว้าตำนานและประวัติศาสตร์ชุมชนทำให้รู้ว่า พื้นฐานตำบลเรา บ้านเรามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำให้เรารักและหวงแหนบ้านเกิด อยากช่วยเหลือชุมชนให้ดีขึ้น


ตั้งแต่ครั้งแรกเป็นโครงการประวัติศาสตร์ ซีคิดว่าจุดไหนที่เราเกิดจิตสำนึกขึ้นมาว่าอยากจะรักและหวงแหนความเป็นชุมชนของเรา

เริ่มตั้งแต่ที่ผมอบรมสื่อวิดีโอเสร็จ พี่ๆ ทีมงานให้การบ้านพวกผมกลับไปทำสื่อในชุมชนที่เกี่ยวกับโครงการ พวกผมก็กลับบ้านไป แล้วประชุมกันก่อน ตอนประชุมกัน พวกผมเป็นเด็กใหม่และเข้าไปในพื้นที่สภาด้วย ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการเลย แล้วก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่จะทำสื่อ เพราะทำสื่อก็ต้องมีข้อมูลก่อนว่าเราจะทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร พอผมไปรู้ข้อมูล เห็นพวกพี่ๆ ทำงานกัน เลยสนใจอยากทำโครงการ


คือเราสนใจอยากทำ แล้วพอเข้ามาร่วม ตอนนั้นเป็นเรื่องประวัติชุมชน ประวัติศาสตร์ ซึ่งมันดึงดูดใจเราเลยไหม ให้เรารู้สึกหวงแหนชุมชน

ครับ ในพื้นที่ที่ผมอยู่ ผมมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนอยู่แล้ว แต่รู้แค่ หมู่ที่ 3 ของบ้านตัวเอง แต่พอเราลงไปศึกษาทั้งตำบล ไปเจอผู้คนมากมาย มันรู้สึกดีที่ได้ไปลงพื้นที่


สะท้อนตัวเองให้พี่ฟังหน่อยว่า ก่อนมาทำโครงการ เรามองว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร เราใช้ชีวิตอย่างไร คิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร

เมื่อก่อนเป็นคนที่ทำอะไรรวดเร็ว ทำงานคนเดียว อยู่คนเดียว มีเพื่อนนะครับ แต่ก็ไม่ได้ไปไหนกับเพื่อน


ทำไม ! เราไม่ชอบ เรารำคาญคนอื่นรึเปล่า มันมีเหตุผลหรือเปล่า ว่าทำไมชอบอยู่คนเดียว

เราชอบด้วยและก็รำคาญคนอื่นด้วย รู้สึกว่าทำไมสิ่งที่พวกเขาทำกันมันขัดใจเราเหลือเกิน แต่เราก็ไม่ได้ไปพูดขัดขวางอะไรเขา รู้ว่าขัดใจตัวเองก็เก็บไว้ดีกว่า ไปอยู่คนเดียวดีกว่า ทำงานคนเดียวรวดเร็วสบายดี ไม่ได้ติดขัดอะไร


ตอนนี้อายุเท่าไรแล้วนะ

18 แล้วครับ


เวลารำคาญคนอื่นพอจะนึกออกไหม ว่าเรารำคาญคนอื่นเรื่องอะไร

รำคาญที่ว่า”เขารู้แล้วก็ยังถาม”


อันนี้หมายถึงอะไร ผู้ใหญ่ เฉพาะเพื่อน หรือทั่วไป

ทั้งหมดเลย


ยกตัวอย่างเหตุการณ์ได้ไหม

ถ้าเพื่อนในโรงเรียนเขาถามผมว่า “เห้ย ! ซี การบ้านทำหน้าไหน แล้วทำอย่างไร ผมก็บอกว่า ครูบอกแล้วในแชทให้ไปดูเอาเอง”


เออ ๆ ก็น่ารำคาญอยู่ พี่ก็รำคาญแหละ แบบนี้ ไม่อ่านกันเหรอ

รำคาญเสียงรอบข้างด้วย ถ้าเสียงดังก็รับไม่ได้


ตัวจริงของซีเป็นเด็กซ่า เด็กเรียน หรือเด็กกิจกรรม เรานิยามตัวเองว่าอย่างไร

ก่อนหน้านี้เป็นเด็กเรียน แต่ก็มีเถลไถลบ้าง แต่ก็เรียน


เถลไถลไปทำอะไร

เถลไถล อันนี้ทำผิดกับตัวเองครับ คนอื่นอาจจะไม่ได้ร้ายแรงสำหรับเรื่องนี้ แต่สำหรับผมมันร้ายแรงมาก คือผมโดดเรียนแล้วไปเล่นเกม


อันนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ตามมาตรฐานเราละ แต่คนอื่นอาจจะเฉย ๆ ใช่ไหม

ครับผม


กี่ครั้ง ครั้งเดียว คืออย่างไร ตอนนั้นติดเกมอะไรอะ

หลายครั้งอยู่ครับ ติดเกมคอมพิวเตอร์ เป็นเกมวิ่ง Tales Runner


มันเป็นอย่างไร อธิบายนิดหนึ่ง พี่อยากรู้จักด้วย

มันเป็นเกมวิ่งแข่งครับ ผมเป็นนักวิ่งของโรงเรียนด้วย ชอบวิ่ง ก็เลยเข้าไปเล่นด้วย ในเกมที่ผมโดดเรียนไปเล่น ผมก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีครับ เกมมันต้องออนไลน์ให้เยอะ ๆ ถึงจะเก่ง ผมก็เอาวะ โดดเรียนสักวัน แล้วก็ไปออนไลน์ให้มันเยอะ ๆ


ถ้าเรามองในแง่ดี เราเป็นคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจไหม เราอยากสำเร็จในเกม แต่ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรก็ไม่โอเค อะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่โอเค แม่รู้ได้ไง

แม่เสียใจ ผมก็ไม่โอเค แม่บอกว่าส่งให้ไปเรียน ทำไมไปเล่นเกม ตอนนั้นที่โรงเรียนมีงานก่อสร้างอยู่ พ่อเลี้ยงทำงานก่อสร้างที่นั่น เขาไม่เห็นผมในโรงเรียน แล้วเขาก็บอกกับแม่ว่าไม่เห็นผมที่โรงเรียน แม่ไปสืบมาแล้วก็รู้ว่าผมไม่ได้ไปโรงเรียน


แล้วตอนนั้นเราโกรธเขาไหมที่ไปฟ้อง

ไม่ครับผม


อันนั้นก็คือคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวเรา เชื่อมโยงมาตั้งแต่โครงการแรก โครงการที่สองของปีนี้ โครงการข้าวอัลฮัม เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร มีความหมายเฉพาะไหม

มีครับผม เป็นภาษามลายู มาจากคำว่าอัลฮัมดุลิลละห์ แปลว่า การขอบคุณพระเจ้า


เป็นข้าวเฉพาะถิ่นของบ้านเราหรือเป็นอย่างไร เล่าเรื่องข้าวให้พี่ฟังหน่อย ว่ามันสำคัญอย่างไร

มีประวัติความเป็นมาอยู่ 2 แบบ จากที่ผมไปสืบค้นคว้าประวัติมา ประวัติแรกคือ คนบ้านเกตรีเมื่อก่อนรับจ้างทำนาที่ประเทศมาเลเซีย และนำเมล็ดข้าวอัลฮัมกลับมาจากประเทศมาเลเซีย มาปลูกที่บ้าน เพราะเห็นว่าเพาะปลูกที่มาเลเซียแล้วเติบโตดี ส่วนประวัติอีกด้านหนึ่ง บอกว่า พันธุ์ข้าวชนิดนี้ มาจากจังหวัดสตูลอยู่กับรัฐไทรบุรี สมัยนั้นอยู่ร่วมกับมาเลเซียอยู่แล้ว ยังไม่ได้แยกกัน หมายความว่า เดิมทีข้าวอัลฮัมอยู่ตำบลเกตรีอยู่แล้ว แต่ข้าวยังไม่มีชื่อ ยังไม่มีการระบุสายพันธุ์ มีชาวนาที่เป็นเจ้าของไร่นา เห็นว่าข้าวออกรวงสวย ออกรวงเยอะ มีน้ำหนัก เขาเป็นคนมุสลิม เขาก็เลยกล่าว อัลฮัมดุลิลละห์ ขอบคุณพระเจ้าที่ข้าวนี้ให้ผลผลิตดี มีคนที่อยู่ข้างหลังเขาได้ยินว่าอัลฮัม เขาก็บอกว่าข้าวนี้ชื่ออัลฮัมดุลิลละห์ เลยเป็นที่มาของชื่อและเป็นที่มาของข้าว ตอนนี้เขาสืบค้นอยู่ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ มันมาจากมาเลเซียหรืออยู่ที่เกตรีอยู่แล้ว


เขานี่คือใคร ที่กำลังสืบค้นกันอยู่

ทางรัฐบาล


ส่วนตัวซีเชื่ออันไหนมากกว่า ถ้าจากประสบการณ์หรือความรู้สึก

ผมเชื่อทั้งสองเลย มันมีความน่าเชื่อถือทั้งคู่ แต่ก่อนเราเป็นรัฐไทรบุรี เป็นมาเลเซียอยู่แล้ว เป็นไปได้ที่ข้าวจะอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ประเทศไทยปลูกข้าวส่งออกได้ ข้าวท้องถิ่นแถบภาคใต้ก็เป็นข้าวพันธุ์ดี ผมจึงคิดว่าน่าจะปลูกข้าวอยู่แล้วมาแต่เดิม


แล้วข้าวอัลฮัมเราเคยกินไหม

ไม่เคย


ไม่เคย แล้วตอนนี้มีอยู่ไหม

มีอยู่ครับ แต่ผมไม่ค่อยได้กิน ที่บ้านไม่ได้ทำนา


เราได้สอบถามไหมว่า จุดเด่นของข้าวคืออะไร รสชาติดีไหม

จากการสอบถาม ข้าวอัลฮัมมีรสชาติหวานมัน จากที่ทางกลุ่มศึกษามา ข้าวอัลฮัมเป็นข้าวที่มี “อะไมโลส” หรือ ความหนาแน่นของแป้งสูงถึง 25% ยิ่งอะไมโลสสูงมากเท่าไร ข้าวก็ยิ่งแข็งมากเท่านั้น ข้าวอัลฮัมเลยเป็นข้าวเนื้อแข็ง รสชาติหวานมันถ้าเทียบกับข้าวหอมมะลิอมิโลสต่างกัน 12%


พี่ย้อนกลับไปนิดหนึ่ง ก่อนหน้าที่พี่ชายจะชวนมาทำโครงการ เราเคยทำโครงการอะไรแบบนี้มาก่อนไหม เกี่ยวกับการทำงานที่ลงพื้นที่ชุมชน เกี่ยวข้องกับคนอื่น

ไม่ครับผม


แล้วเราชอบทำอะไรในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่นับเรื่องเกมที่เล่าไปแล้ว

ก็ดูซีรีส์เกาหลี ชอบหลายเรื่อง


เอาเรื่องเด่น ๆ มาให้พี่สัก 3 ชื่อ

ถ้าในปัจจุบันก็มี Crash Landing on You (ปักหมุดรักฉุกเฉิน), รักไหมนะเลขาคิม และ While You Were Sleeping


คือเรื่องที่ชอบเป็นพิเศษจะมีเกมและซีรีส์เกาหลี เราก็ดู ชอบวงอะไร

ติดตามพวกเคป๊อป ( K-pop ) , BTS ด้วย


ผู้หญิงไม่ชอบเหรอ

ชอบหลายวงครับ ที่ชอบที่สุด BTS


Blackpink ไม่ชอบเหรอ

ชอบครับ แต่ไม่เท่า BTS


เป้าหมายของโครงการข้าวอัลฮัม คืออะไร

โครงการแบ่งเป็นสองช่วง งวดที่หนึ่งกับงวดที่สอง งวดที่หนึ่ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอัลฮัม มุ่งเน้นว่าที่ข้าวหายไปเพราะราคาผลผลิตตกต่ำ ถ้าราคาสูงขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว ชาวนาน่าจะเห็นคุณค่าของข้าวแล้วหันมาปลูกข้าวเยอะขึ้น หลังงวดแรกเป็นช่วงที่เราค้นคว้าหาข้อมูล พวกผมได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวมาพอสมควร พวกผมตระหนักว่าก่อนที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่สิ่งใด เราควรศึกษาเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งให้ดีก่อน เป้าหมายในงวดที่สองจึงเป็นเรื่องการศึกษาข้าวอัลฮัม ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมามีข้อมูลอยู่แล้ว รวมถึงวงจรชีวิตของข้าว คุณค่าสารอาหารของข้าว


คือศึกษาลงลึกลงไปอีกเกี่ยวกับข้าวอัลฮัม ตอนค้นคว้าหาข้อมูล ซีเล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าทำอะไรกันบ้าง

พวกเราลงไปหาปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับข้าวอัลฮัม เพราะปลูกข้าวอัลฮัมมายี่สิบกว่าปีแล้ว พวกผมไปถามข้อมูลว่าปลูกข้าวอย่างไร ดูแลอย่างไร ข้าวมีดีอย่างไร หลังจากที่ไปถามปราชญ์ชาวบ้านแล้ว ปราชญ์บอกว่า เดี๋ยวนี้สาเหตุหนึ่งที่คนไม่นิยมปลูกข้าวอัลฮัม เพราะว่าข้าวแข็ง เนื่องจากมีอมิโลสสูง ประกอบกับมีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ ในหมู่บ้าน ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมคือข้าวหอมปทุมแทน ทำให้พื้นที่นาบ้านเราไม่ได้มีแต่ข้าวอัลฮัม แต่มีข้าวอื่น ๆ มาแทรกแซง ด้วยความอยากรู้ในโครงการพวกผมเลยลงพื้นที่ไปนับจำนวนนาที่ปลูกข้าวอัลฮัมจริง ๆ


ลงพื้นที่นับที่นาข้าวอัลฮัม ได้ผลออกมาว่า

ผมอาจไม่แน่ชัดในข้อมูลนิดหน่อย เพราะว่าเป็นตัวเลข ต้องอธิบายก่อนว่า นาเป็นผืนสี่เหลี่ยมใช่ไหมครับ หนึ่งผืนสี่เหลี่ยม บ้านผมเขาเรียกว่า “หนึ่งบิ้ง” แต่ในพื้นที่นั้นหนึ่งบิ้งอาจจะพื้นที่ใหญ่เล็ก บางบิ้งอาจจะหนึ่งไร่พอดี บางบิ้งอาจจะน้อยกว่าหรือเยอะกว่านั้น แต่พวกผมนับออกมาเป็นบิ้ง พื้นที่นาทั้งหมดตำบลเกตรีมีทั้งหมด 700 บิ้ง ที่ทำนาอยู่400 บิ้ง ที่ไม่ทำ 300 บิ้ง ที่ไม่ทำคือทิ้งร้างไว้ หรือเปลี่ยนแปรสภาพเป็นอย่างอื่น


เปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น เช่น เปลี่ยนเป็นอะไรบ้าง

เปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม สวนยางครับ ขุดบ่อเลี้ยงปลา


แล้วเรารู้ได้อย่างไร ว่ามันเคยเป็นนา เพราะว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว

เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ไปเล่นในพื้นที่นา เลยมีความจำเกี่ยวกับพื้นที่นาเยอะ เมื่อก่อนมองไปด้านไหนก็เห็นแต่พื้นที่นา แต่ตอนนี้คือมีสวนปาล์ม สวนยาง มีบ่อ มีบ้านขึ้นมา


แล้วใน 400 บิ้ง ที่ทำนา เป็นข้าวอัลฮัมกี่จุด

ประมาณ 300 บิ้ง ที่มีจำนวนเยอะขึ้นมาเพราะปราชญ์ที่พวกเราไปถามข้อมูล เขาก็รักข้าวอัลฮัม เลยทำโครงการสนับสนุนเกษตรกรให้มาปลูกข้าวอัลฮัม มีคนในชุมชนมาเข้าร่วมโครงการ เลยมีคนทำนาข้าวอัลฮัมเยอะในปีนั้น


หมายถึงว่าเขาทำมาก่อนแล้ว ก่อนโครงการเรา หรือว่าพร้อม ๆ กับโครงการเรา

เขาทำมาก่อน 1 ปีครับ


ปราชญ์เป็นใคร อายุเท่าไรแล้ว

ชื่อ ตำเฉ็ม (บูกาเส็ม กรมเมือง) อายุประมาณ 60 กว่าปีแล้ว


แล้วพวกเรารู้จักคุณตาได้อย่างไร

พี่เลี้ยงเป็นสมาชิกศูนย์เรียนรู้ตำบล เขาพอมีเส้นสายรู้จักผู้รู้อยู่บ้าง พี่เลี้ยงแนะนำว่ามีคนนี้ สามารถไปหาข้อมูลได้ พวกผมก็ไปหา ปราชญ์ที่พวกผมไปหาไม่ได้มีแค่คนนี้คนเดียว ผมไปหา 2-3 คน มะหะหมุด หลีนิ่ง (โกบ)


พี่เลี้ยงพวกเราชื่ออะไรนะ

ชื่อ ราด้า


พี่เลี้ยงเข้ามาช่วยในส่วนไหนบ้าง เวลาทำงานด้วยกัน

พี่เลี้ยงจะช่วยเหลาประเด็น เช่น เราไปถามข้อมูลมาและได้ข้อมูลมาแล้ว กลับมาประชุมสรุปงานกัน แลกเปลี่ยให้พี่เลี้ยงฟัง พี่เลี้ยงจะมีคำถาม “ข้อมูลที่ได้มามันชัดหรือยัง แค่นี้พอหรือเปล่า ควรไปถามอีกไหม” เขาจะคอยดักและคัดกรองให้ครับ


พี่อยากให้ซีช่วยเรียงลำดับสิ่งที่พวกเราทำให้หน่อย แล้วเดี๋ยวพี่จะถามเข้าไปในแต่ละขั้นตอนอีกที นึกออกไหม ในโครงการนี้เราทำอะไรบ้าง เริ่มจากตั้งโจทย์โครงการ แล้วก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูล แล้วมีอะไรอีก

ก่อนทำโครงการ พวกผมได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนก่อน แล้วกลับมาประชุมเสนอกันว่าจะทำโครงการประเด็นไหน หลังจากเลือกประเด็นได้แล้ว เราก็ลงไปหาข้อมูลอีก เพื่อเอามาเขียนเป็นโครงการ หลังจากได้ข้อมูลเขียนโครงการ พวกผมก็ไปผ่าตัดโครงการว่าสิ่งไหนที่พวกผมขาด สิ่งไหนที่พวกผมยังไม่มี สิ่งไหนที่พวกผมมีพอแล้ว เพื่อให้ภาพการทำโครงการชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นพวกผมก็ไปนำเสนอ เสร็จแล้วกลับมาทำโครงการ ในช่วงแรก พวกผมลงพื้นที่อย่างเดียว หาข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด มีค้นหาในอินเทอร์เน็ต ไปถามปราชญ์ชาวบ้าน ลงพื้นที่สำรวจเอง และไปเกษตรอำเภอเพื่อไปขอข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นา

พวกผมได้ไปศึกษาดูงาน เพราะในตอนแรกพวกเราต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ จากข้าวอัลฮัมเลยไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงและศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุง จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดไปเขียนโครงการในงวดที่สองต่อ พวกผมเปลี่ยนเป้าหมายมาศึกษาเกี่ยวกับข้าวอัลฮัม จึงได้กำหนดกิจกรรม 4 กิจกรรมหลัก คือ นานอกนา พวกผมปลูกข้าวในกระถาง เพราะช่วงที่ทำโครงการไม่ใช่ฤดูกาลเพาะปลูกเลยไม่สามารถลงพื้นที่นาได้ จึงทดลองปลูกข้าวในกระถาง เพื่อศึกษาเกี่ยวกับระยะการเจริญเติบโตของข้าว จุดประสงค์ของพวกเรา คือ ต้องการฝึกว่าการทำนา ดูแลข้าวต้องมีกระบวนการอย่างไรบ้าง วงจรข้างแต่ละระยะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การเช็คสภาพข้าว เช็คสภาพน้ำ

กิจกรรมที่สอง คือ กิจกรรมแผนที่นา พวกผมลงไปสำรวจแปลงนาในชุมชน พบว่าพื้นที่นาลดลง พวกผมอยากใช้แผนที่นาเป็นสื่อกระตุ้น สร้างจิตสำนึก ทำให้คนที่มีนาฉุกคิดได้ว่านาที่ว่างอยู่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ อย่างที่สามก็คือ การทำผลิตภัณฑ์จากข้าว พวกผมยังไม่ทิ้งความตั้งใจเดิมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอัลฮัม ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ข้าวเป็นของรับประทาน แต่เรามีความเชื่อที่ว่าข้าวไม่ใช่แค่ข้าว ข้าวไม่ใช่แค่ต้องกินอย่างเดียว สามารถทำอย่างอื่นได้ แต่ในขั้นตอนแรกยังไม่สามารถเข้าไปในกระบวนการวิจัยหรือทดลองได้มากกว่าที่ทำแล้ว จึงได้ลงมือทำเฉพาะส่วนที่เป็นขนมและเป็นของรับประทานก่อน สี่ เกี่ยวกับสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนได้รู้จักและรู้ถึงคุณประโยชน์ของข้าวอัลฮัมมากขึ้น


สื่อประชาสัมพันธ์ทำออกมาในรูปแบบไหนบ้าง

มีทั้งหมดเลย มีวิดีโอ โปสเตอร์ และโพสต์ในโซเชียลมีเดียด้วย


แล้วเราเอาไปเผยแพร่ที่ไหน

เอาไปเผยแพร่ในเพจครับ “ เพจเด็กขี้สงสัย ”


เด็กขี้สงสัย ตอนนี้ยังอัปเดตกันอยู่ไหม

ตอนนี้ใช่ไหมครับ ตอนนี้ในเพจอาจอัปเดตไม่ถี่เหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีอัปเดตที่เฟซบุ๊กส่วนบุคคลอยู่


หลังจากสื่อประชาสัมพันธ์ มีทำอย่างอื่นอีกไหม

มีถอดบทเรียนโครงการ และนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการซึ่งได้จัดไปในเดือนมิถุนายน


โครงการพวกเราทำหลายอย่างเลย หน้าที่ของซีในทีมทำอะไร

ผมเป็นประธานของโครงการครับ


ประธานต้องทำอะไรบ้าง

ผมเป็นประธานผมทำทุกอย่างเลยครับ อยู่ในทุกงาน ทุกที่ที่มีงานครับจะมีผมด้วย คอยสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้สมาชิกทั้งหมด


สนับสนุนและอำนวยความสะดวก แล้วในทีมเราแบ่งงานกันทำไหม

ในทีมมีแบ่งครับ


เราแบ่งกันตามอะไร ความสมัครใจ ความถนัด หรืออะไร

แบ่งตามความสนใจ อย่างแรกกำหนดมาว่า 5 ตำแหน่งแกนนำโครงการ มีประธาน รองประธาน เลขาฯ เหรัญญิก และประสานงาน หรือประชาสัมพันธ์ จะมี 5 ตำแหน่งหลักไว้ก่อนครับ แต่ละคนสมัครใจอยากเรียนรู้ตำแหน่งนั้น อยากลองดูในตำแหน่งนั้น เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้เท่า ๆ กัน ใครอยากเรียนรู้อะไร ให้มาทำ

แล้วจะมีคณะทำงานมาช่วยอีก ผมใช้หลักการว่าถ้าคุณอยากทำงานนี้ก็ทำ ถ้าคุณอยากเปลี่ยนก็บอก คนอื่นที่อยากเรียนรู้ในหน้าที่ของคุณ เขาจะมาทำแทน แต่ในทุกหน้าที่จะมีหัวหน้าหลักรับผิดชอบงานอยู่ เพื่อจัดการงาน ถ้างานนี้คนนี้ไม่มีอะไรทำก็ต้องจัดสรรแบ่งงานให้ทำ เช่น เขาอาจมีหน้าที่งานอย่างอื่น แต่ครั้งนั้นไม่มีงานตามหน้าที่ของเขา เขาถูกแจกงานให้ทำหน้าที่ถ่ายรูป เขาก็จะรู้ตัวเองว่าต้องถ่ายรูปนะ


รวม ๆ แล้วเหมือนที่ซีบอกพี่มีประมาณ 10 คนหลัก ๆ

ครับ


แล้วการได้มาซึ่งตำแหน่งประธาน เลือกกันมาได้อย่างไร

ผมเสนอตัวเอง ผมประกาศในการประชุมตอนนัดเจอกันที่ศูนย์กลางของเครือข่ายเยาวชน ตอนปีหนึ่งหลังจากจบโครงการมีช่วงหนึ่งที่พวกเราห่างหายกันไป วันนั้นนัดทานข้าวเย็นกัน พูดคุยกันว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง จะเริ่มทำโครงการในปีที่สองแล้วนะ มีแผนอะไรอย่างไรไหม มีคนถามว่า วันนี้มาทำไม ผมก็บอกว่า วันนี้ผมจะมาประกาศตัว ผมจะเป็นประธานโครงการปีที่สอง แล้วเขาก็ปรบมือกัน


เราคิดมาก่อนแล้วไหม ว่าเราจะพูด หรือสถานการณ์ทำให้เรารู้สึกอยากจะประกาศตัวเอง หรือว่าอย่างไร

ผมคิดมาก่อนแล้วว่าผมอยากทำโครงการต่อ เพราะในช่วงว่างจากการทำโครงการปรกประมาณหนึ่งเดือน ผมรู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป ผมคิดกับตัวเองว่า ถ้าไม่มีโครงการผมคงกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เลยตัดสินใจประกาศกร้าว แบกรับหน้าที่ไปเลย เหมือนเป็นการกระตุ้นตัวเอง


ทำไมถึงรับว่าจะเป็นประธาน

เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาเมื่อปีที่แล้ว รุ่นพี่จากสภาเยาวชนรับโครงการเข้ามาช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเป็นช่วงปลายภาคเรียน พี่ๆ เรียนจบมัธยมปลายแล้วจะไปเรียนต่อ หลังจากเดือนสิงหาคมไม่มีใครในชุมชนแล้ว เหลือพี่ผมคนเดียวที่ไม่ได้ไปเรียนต่างจังหวัด ยังเรียนอยู่ละแวกบ้าน ทำให้ผมต้องเข้ามาช่วยงานพี่ นั่นคือเหตุผลที่พี่ชวนผมมาช่วย

ในระหว่างหนึ่งเดือนที่จบโครงการงวดที่หนึ่งไปในปีแรก ผมรู้สึกเสียดายถ้าไม่มีใครมาทำต่อ แล้วจะไม่มีโอกาสให้ได้เรียนรู้แบบนี้อีก ผมเลยรับหน้าที่ทำต่อเอง


พี่ของซีชื่ออะไร

ชื่อ อัฟดอน


แล้วตอนนี้พี่ทำอะไรอยู่ พี่อยู่ในกลุ่มด้วยไหม

พี่อยู่ด้านนอกครับ


ในทีมงานหลักมีพี่ชายรวมอยู่ด้วยไหม

ในทีมงานหลัก ไม่ครับผม ถ้าในทีมงานของผม


พี่อยากรู้ว่าในโครงการปีที่สอง มีทีมจากปีแรกเหลือมากี่คน

ไม่มีครับ


ไม่มี มีแต่ซีเหรอ

พี่ชายผมขยับจากแกนนำไปเป็นที่ปรึกษาเพราะเขามีประสบการณ์ในการทำโครงการมาก่อน ได้เขามาเป็นที่ปรึกษาดีกว่าเพราะคนอื่นๆ ในทีมยังไม่เคยมีประสบการณ์เลย ผมคิดว่าการส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต้องเป็นแบบนี้ มีพี่มาคอยช่วย


ซีไปหาทีมงานกันอย่างไร

ตอนทำโครงการปีที่หนึ่ง พวกผมจัดค่าย ให้ความรู้เพื่อนๆ น้องๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชื่อค่ายเล่าขานตำนานเกตรี เป็นกิจกรรมที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุก และทักษะการทำงานร่วมกัน ทีมงานที่มาร่วมโครงการในปีที่สองเป็นเพื่อนสมัยเด็กจากค่าย ค่ายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากมาทำโครงการบ้าง


ซีบอกว่าเราลงพื้นที่ก่อนที่จะเขียนโจทย์โครงการใช่ไหม ทำไมเราต้องลงพื้นที่ก่อน จริง ๆ เราก็เหมือนเราได้ข้อมูลเชื่อมโยงมาจากปีแรกประมาณหนึ่งแล้ว เราน่าจะพอรู้แล้วไหมว่าเราอยากทำอะไร หรือว่าเราคิดอย่างไรกัน

อย่างแรก พี่ๆ บอกให้ลงพื้นที่หาประเด็น หาเรื่องที่อยากทำ พวกผมลงไปมอง รู้สึกว่าทำไมไม่มีอะไรที่อยากทำเลย พี่ผมพูดในที่ประชุม “เรามองข้ามอะไรไปไหม เรามีของดีอะไรอยู่หรือเปล่า อย่ามองแต่ปัญหาให้มองที่ของดี ” พวกผมก็คิดว่าจากปีที่แล้ว พวกผมมีความรู้เกี่ยวกับข้าวอัลฮัม ตอนเป็นเด็กได้ยินชื่อข้าวนี้มาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วว่าเป็นของดีของตำบล เพราะว่าตำบลของพวกผมส่งออกข้าวอัลฮัมไปให้โรงพยาบาลสตูล เขาบอกว่าอย่ามองข้ามอะไรแบบนี้ ในตอนที่ลงพื้นที่ก็ประจวบเหมาะพอดี พวกผมไปเจอปัญหาพื้นที่ปลูกข้าวอัลฮัมลดลง เป็นประเด็นที่ทั้งปัญหาทั้งของดี ในกลุ่มเลยสนับสนุนและผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่


ตรงชุดข้อมูลครั้งแรกที่เรารู้ พวกเราไปถามใคร หรือเราไปหาข้อมูลมาอย่างไร ว่าตำบลเราส่งข้าวไปให้โรงพยาบาลสตูลนะ ตอนนี้ข้าวมันลดลงนะ เรารู้มาได้อย่างไร

อันนี้ผมก็ถามจากบังเฉ็ม คนที่ให้ข้อมูลหลัก เขาทำงานโรงสีข้าว และเป็นคนส่งออกข้าวไปขายเอง เขาบอกว่า ข้าวอัลฮัมของเรานะ ส่งให้โรงพยาบาล ส่งให้ผู้ป่วย ลองคิดดูสิว่าดีขนาดไหน เขาพูดอยากให้เราเห็นคุณค่าของข้าว แล้วพวกผมภูมิใจด้วย


แล้วเริ่มต้นบังคนนี้ใครรู้จัก พี่เลี้ยงเรา หรือว่าอย่างไร

พี่เลี้ยงรู้จัก


พี่เลี้ยงแนะนำแล้วเราก็ได้ไปคุยกับบังเขา

ครับผม


มาขั้นตอนที่สอง เราได้โจทย์แล้ว เราก็ลงพื้นที่อีก ทีนี้หาข้อมูลเยอะเลยที่บอกว่าหาข้อมูลอินเทอร์เน็ต สัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน สำรวจเอง ไปเกษตรอำเภอ เล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าขั้นตอนนี้พวกเราวางแผนกันอย่างไร แล้วพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยอย่างไรบ้าง คือก่อนที่เราจะคิดว่าต้องไปเก็บข้อมูลทั้งหมดนี้ เราวางแผนกันอย่างไร

โครงการพวกผมใช้กระบวนการ 3R คือ รีเสิร์ช รีวิว รีคอนเซปชวล Review คือการทบทวนข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ค้นหาในอินเทอร์เน็ต หนังสือ เอกสาร แล้วก็ลองถามว่าใครพอมีเอกสารเกี่ยวกับข้าวหรือเกี่ยวกับนาในบ้าน นึกไปที่เกษตรอำเภอก็ไปกัน แล้วกระบวนการ Research คือค้นคว้าหาข้อมูลที่มันอยู่ในตัวบุคคลหรืออยู่ในพื้นที่ เลยได้ลงไปสัมภาษณ์คนทำนา ปราชญ์ชาวบ้าน ลงไปสำรวจพื้นที่เอง และไปศึกษาดูงานครับ ส่วน Reconceptual คือการสรุปรวบยอด นำข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน แล้วสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลเท็จข้อมูลไหนเป็นข้อมูลจริงให้กับชุมชน


แล้วใครอีกนะ

คนที่พวกผมไปค้นคว้าประวัติด้วย เขาชื่อโต๊ะดาหวา และก็โต๊ะอิหม่าม


คนกลุ่มนี้พวกเรารู้จักได้อย่างไร พี่เลี้ยงแนะนำ หรือเขาแนะนำต่อ ๆ กันไป ไปถามคนนั้นด้วยสิ คนนี้ด้วยสิ

ปราชญ์แนะนำต่อกันมา และมีบางคนที่เป็นผู้รู้มาตั้งแต่โครงการแรก คือโต๊ะดาหวาและโต๊ะอิหม่าม เป็นบุคคลประวัติศาสตร์ครับ เราเลยไปถามว่าข้าวอัลฮัมเป็นอย่างไร เพราะเขาก็ทำนาด้วย


ในข้อมูลทั้งหมดที่ตัวซีเองและเพื่อน ๆ ได้ไปลงเก็บข้อมูลมา มีเรื่องอะไรที่ตัวเราประทับใจมากที่สุด ที่เรารู้สึกอยากเล่า ถ้ามีคนมาคุยเรื่องข้าว เราอยากเล่าเรื่องนี้เลย

เรื่องที่ผมอยากเล่าคือ คุณสมบัติของข้าว คุณประโยชน์ พวกผมได้ไปดูประโยชน์ของข้าว ไปดูข้าวอื่น ๆ ด้วย อย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี ก็ได้ไปดูแล้วเปรียบเทียบ พบว่าข้าวอัลฮัมดีกว่าครับ ผมอยากนำเสนอว่าข้าวบ้านผมดีอย่างไร


ดีกว่าในแง่อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น สารอาหาร พวกนี้เราบันทึกไว้ไหม

คุณค่าทางโภชนาการ บันทึกไว้ครับผม


เดี๋ยวอันนั้นพี่จะถามไปแล้วกัน เรื่องประโยชน์ของข้าว ที่เราประทับใจ

พวกผมประทับใจ เรื่องการทำนาด้วยครับ ในกิจกรรมนานอกนา พวกเราต้องไปขุดดินจากพื้นที่นามาใช้ปลูกข้าว และสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดจากการทำโครงการ คือ ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงฤดูกาลทำนา แล้วพวกผมได้ทำนากันจริง ๆ แล้ว บนผืนนาร้างของพี่เลี้ยงที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก เป็นการทำนาครั้งแรกในชีวิตของพวกเราทั้งกลุ่ม ทั้งสิบคนเลย

พี่ราด้าเห็นว่าพวกผมทำโครงการเกี่ยวกับข้าว พวกผมพูดตั้งแต่วางแผนแรกๆ ว่าต้องได้ทำนานะ แต่ช่วงเริ่มต้นทำโครงการไม่ใช่ฤดูทำนา พี่ราด้าบอกว่ามีนาร้างอยู่ ตอนที่ไปนับก็ได้นับที่นาของแกด้วย แกรู้สึกไม่ดี เพราะพวกเราทำโครงการเกี่ยวกับข้าวแล้วทำไมนาของเราถึงยังร้างอยู่ พอได้มาเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ พี่ราด้าก็ต้องการเปลี่ยนพื้นที่นาตรงนั้นให้เป็นพื้นที่นาจริง ๆ เลยร่วมมือกันทำ


อันนี้คือเดือนกันยายน เราทำกันเดือนอะไร

เดือนสิงหาคม วันที่ 14 – 16


นาของราด้าถูกไหม

ครับผม


แล้วในกิจกรรมนี้เราชวนใครมากันบ้าง

ชวนคนทำนา พี่ ป้า น้า อา ชวนมาทั้งหมดเลย ชวนเครือข่ายเยาวชนของเราไปด้วย และเยาวชนจากที่อื่น บางคนรู้ข้าวจากการประชาสัมพันธ์ของเราทางเฟสบุค เขาก็อยากมาช่วย


มากันคร่าว ๆ สักกี่คน

ประมาณ 20 – 30 คน


แล้วเราประกาศชวนคนมาอย่างไร

คือพวกผมมีเฟซบุ๊ก คนโพสต์หลัก ๆ ก็คือ ก๊ะราด้า ซึ่งเขาชอบโพสต์เฟซบุ๊กอยู่แล้ว เวลาทำกิจกรรมอะไร จะโพสต์ให้พวกเราทั้งหมดเลย แล้วมีเพื่อนหรือรุ่นน้องที่ติดตามติดต่อมา น่าสนุกจัง ไปด้วยได้ไหม แต่ไม่ได้มีมาทีเดียวสามสิบคนแล้วยืนกันเต็มท้องนา ไม่ใช่แบบนั้น แต่ละมาในช่วงเวลาที่ตัวเองว่าง มาช่วยตรงนี้แป๊บหนึ่ง บางคนอยู่ในช่วงถอนกล้า ขนกล้า ล้างกล้า หรืออยู่ในช่วงดำนาเลย แล้วแต่จังหวะที่มาถึง เป็นช่วง ๆ ไป


เราอยู่กันตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง

วันที่เราดำนา เราอยู่กันตั้งแต่หกโมงเช้า แต่ตอนนั้นคนยังน้อยอยู่ จะมีแต่พวกกลุ่มผู้นำกลุ่มผมที่เป็นแกนนำ อยู่จนถึงห้าโมงครับ เพราะว่าตอนห้าโมงเขาส่งข้อความมาว่าดำเสร็จแล้ว แต่ตอนนั้นผมขอตัวก่อน ผมว่างถึงบ่ายสามโมง


14 15 16 เฉลี่ยแล้วตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง

วันที่ถอนกล้าจะแบ่งเป็นสองวัน วันถอนกล้าวันแรกวันที่ 14 โดยประมาณ พวกผมถอนตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงหกโมงครึ่ง และวันที่สองคือถอนตั้งแต่เช้าถึงเย็นเลย ตั้งแต่เจ็ดโมงจนถึงเที่ยง แล้วก็พัก แล้วก็มาบ่ายสามโมงแล้วก็ถอนถึงหกโมง แล้ววันที่ดำนาพวกผมอยู่ที่นาเลยครับ


ส่วนใหญ่ที่มากันหลาย ๆ คนที่มากันคือวันที่สิบหกหรือเปล่า วันที่ดำนา

ครับผม


สี่กิจกรรมที่พวกเราคิด ช่วยกันคิดอย่างไรว่า ต้องทำกิจกรรมพวกนี้ มีใครแนะนำไหม หรือว่าใครเป็นคนเสนอไอเดีย

ไอเดียมีคนเสนอ ตอนแรกพวกผมวางแผนแล้วว่าต้องทำนา แต่ระยะโครงการไม่ได้อยู่ในช่วงฤดูกาล พวกผมคิดว่างั้นก็ทำไม่ได้สิแบบนี้ บังเชษฐ์มาจุดประกายว่า “จะปลูกข้าว ทำไมต้องปลูกในนา” พวกผมคิดว่า ไม่ต้องปลูกในนาก็ได้ เรามีความตั้งใจแค่ศึกษา เราไม่จำเป็นต้องปลูกในนา เราปลูกในกระถางแล้วศึกษาจากในกระถางแบบนี้


ซีเล่าให้พี่ฟังอีกทีว่า เวลาเราศึกษาในกระถาง เราต้องดูอะไรบ้าง

ดูลักษณะการเจริญเติบโต ศึกษาช่วงให้น้ำและการใส่ปุ๋ย


แล้วเราบันทึกมาแล้ว เราได้ไปเปรียบเทียบหรือเช็คข้อมูลกับคนทำนาจริง ๆ ไหม ว่ามันตรงกันหรือเปล่า

อันนี้ยังไม่ได้ไปเปรียบเทียบครับผม


เรามีปลูกข้าวในกระถาง มีแผนที่นา อันนี้ใครเป็นคนแนะอีก

แผนที่นาไม่มีครับผม เป็นความคิดของผม คือเนื่องจากงวดแรก ๆ พวกผมลงไปสำรวจ แล้วก็อุตส่าห์ลงไปดูนาจริง ๆ ลงไปนับจริง ๆ เลยวาดแผนที่ออกมาดูกันเอง เลยคิดว่า ทำไมเราไม่ทำต่อให้ได้เห็นประจักษ์ไปเลยเป็นแผนผังผืนนาของตำบลเกตรี เพื่อจะได้เห็นชัดๆ ว่า พื้นที่นากำลังหายไปจริง ๆ นะ


เราก็จะได้เห็นภาพ ตอนนี้แผนที่นาเราเอาไปไว้ไหน

แผนที่นายังเป็นกระดาษอยู่ คือพวกผมวางแผนว่าแผนที่นาของพวกผมจะเป็นแผนที่นาแบบดิจิทัล


เราไปได้ตัวอย่างมาจากไหนเหรอ เห็นในแอป เห็นในอะไร

ผมมีอยู่ในหัวอยู่แล้ว ประจวบเหมาะพอดีที่เห็นว่ามันมีอยู่พอดี มีตัวอย่างให้เพื่อนได้รู้ว่าที่เราคิดเป็นแบบนี้นะ ผมคิดว่าเป็นแผนที่นาของตำบลเกตรี ถ้ากดดูก็จะมีข้อมูลขึ้นมา พวกผมมีความตั้งใจว่าจะลงไปสอบถามแล้วก็สำรวจข้อมูลว่าในพื้นที่นาว่านาแต่ละผืนเป็นของใคร เขาปลูกข้าวอะไร แล้วเขานำข้าวไปส่งไปขาย ทำกินเองหรือเอาไปแปรรูปไหม เก็บไว้เป็นข้อมูลด้วย เก็บไว้เป็นดิจิทัล สามารถอัปเดตได้ มันไม่ต้องมานั่งวาดแผนที่ใหม่


แล้วอย่างนี้เราต้องไปศึกษาข้อมูลเพิ่มอีกเกี่ยวกับการทำดิจิทัลถูกไหม

พี่ชายผม เรียนคอมพิวเตอร์ เขาเขียนเว็บเขียนโปรแกรมได้


ในครั้งนั้นเราไปทำแผนที่นาเก็บข้อมูลมาแล้วถูกไหม

เก็บข้อมูลมาส่วนหนึ่ง ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ดีครับ


แผนที่นา เราตั้งใจว่าจะเก็บเพิ่มเป็นระยะ ๆ ถูกไหม เราจะอัปเดต ถ้าถามตอนนี้เราได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

ในความคิดของผม ผมลงเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดไปที่การเขียนโค้ด การเขียนโปรแกรมมากกว่า ถ้าคิดตอนนี้ก็น่าจะอยู่ที่ 25%


เราไม่ได้แค่พูดถึงที่เขียนมือ เราพูดถึงโปรแกรมไปเลย แต่ตัวข้อมูลพื้นฐาน เราคิดว่าในตอนนี้เราได้แล้วใช่ไหม

ครับผม ต้องมีลงไปเช็คข้อมูลอยู่ ในตอนที่พวกผมเก็บข้อมูลแผนที่ ลงไปสำรวจว่านามีอยู่ตรงไหนเป็นช่วงแรกๆ ของโครงการ พอผมมาดูงวดที่สอง คือนาหลายผืนก็เปลี่ยนไป บางจุดเปลี่ยนไปเป็นสวนปาล์มสวนยางไปแล้ว ผมต้องมาเช็คมาดูแล้วก็อัปเดตข้อมูลใหม่ด้วย ในขั้นตอนสุดท้ายวางแผนว่าเช็คข้อมูลแล้วก็ทำเป็นแผนที่ไปเลย แล้วก็คอยดูในทุก ๆ ปี


งานมันก็มีความละเอียด แล้วเหมือนที่ซีบอกว่าต้องคอยดูทุก ๆ ปี ซึ่งถ้าพูดถึงในทีมงานของเรา ทำงานด้วยกันแล้วโอเคไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

โอเคครับผม คือร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ทำให้พวกเราเข้ากันได้ดี เข้าอกเข้าใจกัน เวลาผมขอช่วยขอร้องเพื่อนๆ จะช่วย เพราะรู้ว่าผมก็มีหลายงาน ผมเองก็เหนื่อย คนอื่นๆ ก็เหนื่อย เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน


ร่วมทุกข์ร่วมสุข แสดงว่าเวลาทำงานมันก็เราต้องเจออะไรมาเยอะเนอะ

ครับผม


มีเรื่องอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แล้วเราหนักใจบ้างไหม

งวดที่หนึ่งในช่วงการนำเสนอข้อมูลและหาข้อมูล พอเราสืบค้นไป ก็ไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้มาถูกต้องไหม หรือว่าแค่นี้พอหรือยัง หนักใจนิดหน่อย เพราะแต่ละคนติดเรียนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทุกคนมีภารกิจของตัวเองอยู่ เป็นช่วงที่พอนัดลงพื้นที่มักมีคำตอบมาว่าวันนี้ไม่ว่างนะ แต่ละครั้งมีไปกันประมาณ 2-3 คน แต่ก็ติดตามงาน ผมเข้าใจว่าถ้าว่างทุกคนก็เต็มที่กับงาน พอถึงช่วงการนำเสนอ ซึ่งเราต้องแม่นในข้อมูลแล้ว ต้องนำข้อมูลมาทำเป็นสื่อ วาดหรือเขียนสิ่งที่เรารู้ทั้งหมด ลงไปในแผนภาพเพื่อนำเสนอสิ่งที่เราทำกันมา มันเป็นช่วงที่ลังเลว่าข้อมูลคอนเฟิร์มหรือยัง ต้องมาตรวจสอบอีก วิ่งวุ่นกันหมดเลย ดีงานผ่านมาได้ด้วยดี


คือข้อมูลพวกนี้เราทำเองรู้เอง ถ้ามันผิดไปก็ไม่มีใครรู้ แต่เท่าที่ซีเล่า ซีจริงจังมาก ว่าข้อมูลมันต้องแม่นต้องชัวร์ งมีใครมากำกับเราอีกที หรือเป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำให้ชัวร์

ไม่เชิงว่ากำกับ มันเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในอยู่แล้ว ผมทำงานกับราด้า ราด้าเป็นพี่เลี้ยง ราด้าชอบตั้งคำถามกับพวกเรา ในงวดแรกพวกผมนัดประชุมกันร้อยสิบกว่าครั้ง เยอะมาก ทุกคืนที่มาประชุมกัน พี่ราด้าถามว่ามาประชุมวันนี้ได้อะไรบ้าง ตอนนี้เป็นอย่างไร ข้อมูลไปถึงไหนแล้ว แกถามกรอกหูจนเรายังคิดว่าจะถามอะไรนักหนา จนมาถึงวันที่ต้องนำเสนอ ข้อมูลต้องเป๊ะ เราก็กลัวว่าถ้าพี่ราด้าถามว่าการทำนาทำกันอย่างไร เราต้องตอบให้ได้ แล้วข้อมูลก็ต้องถูกต้องและเป๊ะที่สุด ดังนั้นพวกเราต้องทบทวนคำตอบ ต้องตอบพี่ราด้าให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็เท่ากับตอบคนในหมู่บ้านไม่ได้ การถามของพี่ราด้าเป็นการถามเพื่อให้พวกผมได้คิดและมั่นใจในสิ่งที่พวกผมทำ เขาหวังดีครับ


ซีบอกว่าบางทีเราก็ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้พอหรือยัง เราปรึกษาใคร หรือเราคิดตัดสินใจกันเอง หรือปรึกษาพี่ราด้า

ปรึกษาที่ราด้าแล้วคุยกับบังเชษฐ์ เพราะว่าเขาลงพื้นที่บ่อย ผมก็พบเขาบ่อยด้วย ผมเป็นทีมเครือข่ายเยาวชนด้วย ก็ได้มาเจอพี่เขาบ่อย เวลาเจอเขาผมก็ถาม


พี่อยากให้ซีช่วยขมวดตรงขั้นตอนที่ซีพูดมาแล้ว เชื่อมโยงกับ 3R มันมีรีเสิร์ช รีวิว รีคอนเซปชวล แล้วเมื่อกี้ซีก็พูดถึงพี่ราด้าว่าเขามารีวิวเราบ่อย แกมาชวนเราทบทวนข้อมูล ตรงนี้คือตัวซีเองคิดว่าเครื่องมือตรงนี้มีประโยชน์ไหม พอเข้าใจไหมว่าเครื่องมือพวกนี้เขามีมาให้เราเพื่ออะไร

ผมคิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการค้นหาข้อมูลได้ดีที่สุด อาจเป็นเพราะว่าผมเคยใช้แค่เครื่องมือนี้ก็ได้ แต่ผมคิดว่าอันนี้มันดีที่สุด มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยครับ เราไม่ได้แค่มานั่งค้นคว้าในอินเทอร์เน็ต เราต้องลงพื้นที่ไปถามผู้คนไปพบผู้คนจริง ๆ ไปสัมผัสพื้นที่จริง แล้วหลังจากที่เราสัมผัสเรามีข้อมูล เราก็ต้องคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลที่เราหามาถูกต้องไหม มีอะไรเพิ่มเติมไหม ในเวทีของชุมชนครับ


รีคอนเซปชวลคืออะไรนะ ในทางปฏิบัติเราต้องทำอะไรนะ

เป็นการจัดเวทีนำเสนอข้อมูลที่เราได้มาให้กับปราชญ์ชาวบ้าน เช่น เราถามปราชญ์ชาวบ้านมา 4-5 คน วันนั้นก็เชิญเขามานั่งล้อมวงคุยกันว่า นี่คือข้อมูลที่เราไปหามา ถูกไหม มีอะไรอยากเพิ่มไหม มีอะไรที่ขัดแย้งกัน เราจะได้ไปทบทวนและหาข้อมูลมาเพิ่ม


เมื่อมีเครื่องมือนี้ เราคิดว่ามันทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้นไหม

ผมว่าง่ายครับ มันยังดีกว่าเราไม่มีเครื่องมืออะไรเลย แล้วเราไปค้นหากันลอย ๆ แต่อาจจะวุ่นวายหน่อย เหมือนพวกผมที่ค้นหาข้อมูลกันวุ่นวายมาก


เพราะว่าพี่ราด้ามารีวิวตลอดใช่ไหม ถึงข้อไหนละ ข้อสามกิจกรรมที่ทำผลิตภัณฑ์ อันนี้คือเราทำขนม ขนมอะไรอะ

เป็นขนมดอกจอก


อันนี้เขาทำอย่างไร เอาข้าวมาทำแป้งเหรอ

เอาข้าวมาทำแป้งเอง “มันคงไม่มีแป้งข้าวมาทำ เราต้องย้อนกระบวนการไปใหม่ เริ่มตั้งแต่เอาข้าวมาแล้วผลิตแป้งเอง” อันที่จริงพวกผมไหน ๆ ก็ทำขนมแล้ว อยากทำให้มันดั้งเดิมมากที่สุด คือใช้เครื่องที่โม่แป้ง แต่จริง ๆ มันก็ปั่นได้


แล้วเราไปเอาเครื่องโม่แป้งมาจากไหนกัน

เป็นของญาติของพี่เลี้ยงครับ เขาเห็นอยู่ว่ามี ไม่ได้ใช้ พวกผมก็เลยไปขอมาใช้


ตรงกิจกรรมนี้เราจัดขึ้นมาคืออย่างไร วางแผนว่าเป็นวันหนึ่งสำหรับจัดกิจกรรมโดยเฉพาะ หรือวางไว้อย่างไร

เป็นวันหนึ่งที่เราจะจัดกิจกรรมนี้ครับ


แล้วเราชวนใครมาทำกิจกรรมบ้าง คือใคร

ผู้ให้ข้อมูลผู้ที่ชำนาญในการทำขนม หวาฉะ - นางฉะ พรหมาด เชิญเขามาดูว่าเราทำถูกไหม การผสมส่วนผสม ให้เขามาช่วยดู


แต่ละคนชื่อสะกดยากมากเลย แล้วเรารู้จักคนนี้ได้อย่างไร

เป็นย่าของรองประธานโครงการ


ตอนที่เราคิดว่าต้องมีกิจกรรมข้อสามด้วย เราคิดกันอย่างไรในกลุ่ม

กิจกรรมผลิตภัณฑ์ คือพวกผมคิดมาตั้งแต่งวดแรกแล้ว แต่ก็คิดว่าเราศึกษาข้อมูลแล้ว เราทำไปด้วยได้ไหม หัดทำผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าไปด้วยได้ไหม ก็เลยใส่เข้ามาในการทำผลิตภัณฑ์ด้วย


แล้วมันออกมาเป็นขนมดอกจอกได้อย่างไร

เราดึงศักยภาพข้าวอัลฮัม เป็นข้าวที่มีอมิโลสสูง ข้าวที่มีแป้งสูงจะแข็ง พวกผมคิดว่าถ้านำไปทำขนมที่จำเป็นต้องอาศัยความกรอบถึงจะอร่อย น่าจะเข้ากัน เลยทำเป็นขนมดอกจอก


แล้วมันโอเคไหม

ดีมากครับ


เราได้ทำเทียบแป้งไหม แป้งทำขนมธรรมดา แป้งข้าวอัลฮัม

ยังไม่ได้เทียบเลย ตอนนั้นยังไม่ได้คิด คิดแค่ว่าทำ แต่กลับไปน่าจะลอง


อันที่สี่สื่อประชาสัมพันธ์ เราแบ่งงานกันอย่างไรอีก

อันนี้เรามีข้อมูล ก็ไม่อยากเก็บไว้กับตัวเอง ต้องเผยแพร่ให้คนอื่นรับรู้ด้วย เราแบ่งหน้าที่กันคือพวกผมมีคนที่มีหัวสร้างสรรค์ที่สุด เขาตามเทรนด์ทุกอันเลย ผมเลยให้เขามาคุมฝ่ายประชาสัมพันธ์ เขาก็จะครีเอตว่าเพจควรออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร ส่วนข้อมูลพวกผมเป็นคนเตรียมเอาไปให้เขา แล้วเขาก็จะจัดการต่อเอง


ถอดบทเรียนโครงการ อันนี้มีใครมาร่วมบ้าง

มีแค่พวกผมที่ทำโครงการ แล้วก็มีพวกบังเชษฐ์มาถอดให้


เราถอดบทเรียนแล้วเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เล่าให้พี่ฟังหน่อย

เนื่องจากผมเป็นประธานและสนิทกับทุกคน ผมรู้และเข้าใจทุกคนมากขึ้น ก่อนหน้านี้สองปี ผมไม่ได้สนใจคนอื่น ๆ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงทำแบบนี้ พอผมได้ขึ้นมาเป็นประธาน เวลาเพื่อนพูดอะไร เราฟัง เพราะหน้าที่เราต้องฟังคนอื่น การฟังทำให้ผมเข้าใจเพื่อนมากขึ้น


เราคิดว่าประโยชน์ของการถอดบทเรียนคืออะไร

ผมคิดว่ามันเป็นการย้อนมองตัวเอง ว่าเราเติบโตขึ้นมากแค่ไหน วันหนึ่งเรามองคนมาไม่รู้กี่คน คือเรามองแต่ด้านหน้า เราไม่ได้มองตัวเอง การถอดบทเรียนคือการย้อนมองตัวเอง แล้วก็พอเราย้อนมองตัวเองแล้ว สะท้อนตัวเองแล้ว พวกผมโชคดีที่มีพี่ที่คอยสะท้อนให้พวกผมตลอด จากวันแรกที่เข้ามาไม่ใช่แบบนี้ น้องเปลี่ยนไปนะ


ซีถอดบทเรียนตัวเองให้พี่ฟังหน่อย ว่าเราทำโครงการเสร็จไปสองปีแล้ว ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เท่าที่ผมมองได้นะ ผมคิดว่าผมมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ผมไม่ได้เปิดใจ แต่พอมาอยู่ที่นี่ ผมเปิดใจให้กับทุกอย่าง พอเปิดใจก็จะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น สิ่งที่ผมอยากสะท้อนตัวเองก็คือเข้าใจคนอื่นมากขึ้น


เราคิดว่าอะไรในโครงการที่ทำให้คนที่มีโลกส่วนตัวสูงอย่างเรา กลายเป็นคนที่พบปะคนได้เยอะแยะขนาดนี้ ถ้าเราบอกว่าเมื่อก่อนเราแทบไม่ค่อยสุงสิงกับใครเลย จับพลัดจับผลูเราก็เข้ามาทำโครงการ ตอนนี้กลายเป็นประธานกลุ่มด้วย แล้วต้องเจอคนเยอะ ไม่ใช่แค่เด็กด้วยนะ ผู้ใหญ่เยอะแยะไปหมดเลย

พอเราอยู่คนเดียว เรารับอะไรมาก็แบกทุกอย่างไว้คนเดียว เราไปเจออะไรมาขัดใจในสิ่งนี้ เก็บไว้คนเดียว “เวลามันมีกระจกสะท้อนแค่ใบเดียว มันจะเป็นมุมมองเราแค่มุมมองเดียว” พอเราไปเจอคนข้างนอก ในตอนปีแรก ผมได้ไปเจอคนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องตำนานคือเขามีอายุมากแล้ว ผมไปเจอก็รู้สึกดีเหมือนมันดูดพลังลบออกไปทั้งหมดเลย มีแต่พลังบวก เวลาเขาพูด เขาก็ดีใจที่ได้เล่าให้เราฟัง เราก็ดีใจที่เขาเล่าให้เราฟัง คือมันเป็นการแบ่งปันกัน แล้วผมก็ชอบในตรงนั้น ชอบการแบ่งปัน


เรื่องการจัดการอารมณ์เราเปลี่ยนแปลงไหม

ผมคิดว่าเรื่องอารมณ์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน สุดท้ายเราก็ยังกลับมาที่เดิม ลึก ๆ ผมยังเป็นคนที่เก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง ไม่ได้จัดการอะไรเป็นพิเศษ


เดิมทีเป็นคนอารมณ์ร้อนไหม หรือว่าไม่ได้เป็น

ผมไม่แน่ใจ อาจจะเป็นบางที น่าจะไม่อารมณ์ร้อน แต่หัวร้อนมากกว่า


แล้วเรามีวิธีควบคุมตัวเองไหม เราต้องทำงานกับคนอื่น เวลาเราหัวร้อนก็จะเป็นปัญหา มีไหมที่หลุด ๆ

ผมไม่ได้หลุดหัวร้อนกับคนอื่น แต่ผมจะหลุดแบบเหมือนคนใส่หน้ากาก หน้ากากนี้จะไม่โชว์สิ่งนี้ให้คนอื่นได้เห็น หน้ากากนี้จะโชว์สิ่งนี้ให้คนอื่นได้เห็น “ อย่างที่คนญี่ปุ่นพูดว่าพวกเรามีสามหน้ากาก หน้ากากแรกคือหน้ากากที่โชว์ให้สังคมเห็น หน้ากากที่สองคือโชว์ให้เพื่อนพ่อแม่คนรู้จักของเราเห็น หน้ากากที่สามคือโชว์ให้ตัวเองเห็น” คือถ้าผมหัวร้อน ผมจะไม่โชว์ให้คนอื่นเห็น ผมจะโชว์แต่หน้ากากที่สอง ให้เพื่อนด้วยกัน ไม่เยอะนะ เพื่อนผมมีแค่สามสี่คน เวลาพูดกันมีหยอกล้ออะไรแบบนี้มีหัวร้อนกันบ้าง แต่ไม่ได้ร้ายแรงอะไรขนาดนั้น


แล้วมีความสามารถอะไรไหม ที่เราเพิ่งค้นพบว่าเราทำได้ดีหลังจากที่ทำโครงการนี้

อันนี้ผมอาจจะไม่ได้ค้นพบด้วยตัวเองนะ แต่มีคนอื่นบอกผมมา คือเขาบอกว่าผมเข้ากับคนอื่นได้ดี เป็นที่รักของทุกคน อยู่ที่ไหนก็รอด จะมีคนรักคนเอ็นดูอะไรแบบนี้


คือเราบอกว่าเราเป็นคนโลกส่วนตัวสูง แล้วพอคนอื่นสะท้อนให้เราฟังแบบนี้ เรารู้สึกอย่างไร

รู้สึกดี ไหนพูดอีกซิ เหมือนเขาชมเรา เนื่องจากเราอาจจะเป็นคนที่ลบมาก ๆ พอมาเจออะไรแบบนี้มันก็รู้สึกดี


ที่ซีว่าลบมาก ๆ เราก็รู้ว่าคนอื่นมองเราว่าลบเหรอ คนอื่นมองเราว่าอย่างไร

เช่น เพื่อนที่โรงเรียน จะมองว่าผมไม่เข้ากับใคร ไม่เอาอะไรด้วย


เหมือนเป็นคนที่เข้าหายาก ไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งด้วยเหรอ

ใช่ครับ เพื่อนที่โรงเรียนผมมีอยู่สี่คน ในห้องมีทั้งหมดยี่สิบแปดคน ที่อยู่กับผมก็สี่คน ก็ยังไม่ได้เป็นเพื่อนที่สนิทนะครับ เพื่อนสนิทมีอยู่สามคน


ตอนนี้เปลี่ยนไปไหม เรารู้สึกว่าเพื่อนกล้าเข้าหาเรามากขึ้นไหม หรือว่าอย่างไร

สำหรับเพื่อนที่โรงเรียน ยังไม่ได้รู้สึกเปลี่ยนไป เขาก็ยังไม่เข้าหาผมอยู่ดี อาจเพราะผมเป็นแบบนี้มานานเกินไป อยู่ด้วยกันมาสามปีแล้วเพิ่งจะมาเปลี่ยนเอาตอนนี้ เขาก็คงจะกลัวสองปีที่ผ่านมา


เสียงตอบรับจากชุมชนที่มีต่อโครงการของเราเป็นอย่างไรบ้าง

เขาบอกว่าดีที่พวกผมได้มาทำต่อ เขาก็พูดว่า “คนสมัยนี้ไม่มาทำนากันหรอก” โชคดีที่มีพวกผมมาทำ ซึ่งยังเป็นเด็กเป็นวัยรุ่นอยู่ ยังสนใจเรื่องนี้ แล้วก็ตั้งใจดี ชุมชนพร้อมสนับสนุนในทุกด้านทุกอย่าง


เท่ากับโครงการเราไม่มีปัญหากับคนในชุมชน มีไหมแบบคนไม่เห็นด้วย หรือพูดทำลายน้ำใจมีไหม

ยังไม่มีครับ


ให้เราสรุป ทั้งหมดที่เราทำมาชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เราทำ

ตอนนี้ชุมชนอาจจะยังไม่ได้อะไร แต่สิ่งที่ชุมชนได้คือตัวพวกผมเอง อย่างน้อยก็มีพวกผมแล้วสิบคนที่เห็นคุณค่าของข้าวอัลฮัมและศึกษา เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับข้าว แต่สิ่งที่ให้เห็นเป็นประจักษ์ ตอนนี้ชุมชนยังไม่ได้


ที่ซีบอกว่าได้ เขาได้อะไร ขยายความให้พี่หน่อย อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นพวกเราทำ เป็นเด็กรุ่นใหม่ทำกิจกรรม

ใช่ครับ


มีอีกไหม ตอนนี้เราทำงานคือในกลุ่มเราเป็นหลัก เรามีพี่เลี้ยง แล้วก็มีทีมบังเชษฐ์ เราได้รู้จักผู้เฒ่าผู้แก่ผู้รู้ในชุมชน แล้วผู้ปกครองเราสนับสนุนไหม

ผู้ปกครองบางคนสนับสนุน บางคนก็ไม่ได้สนับสนุน บางคนก็ไม่ยุ่งด้วย พวกผมประชุมกันบ่อยมาก (ร้อยกว่าครั้ง) เวลาประชุมตอนกลางคืน เขาคงคิดเหมือนกันว่าเด็กพวกนี้ไปทำอะไรกันทุกคืน มันไปเล่นอะไรกัน ผู้ปกครองบางคนไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่มายุ่งวุ่นวายอะไร ถ้าผู้ปกครองคนไหนสนับสนุนก็มาเต็มที่เลย อยากได้อะไรไหม เหมือนตอนที่พวกผมทำป้ายผ้า พวกผมต้องเย็บผ้า เอาไปให้ผู้ปกครองท่านหนึ่งเย็บ เขาก็เย็บให้ฟรี สนับสนุนเต็มที่


ป้ายผ้าเอาไปทำอะไร

ป้ายผ้า ตอนนั้นพวกผมนำเสนอโครงการ ต้องใช้สื่อในการนำเสนอประกอบด้วย ถ้าพวกผมไปพูด ดูแค่หน้า ผมคิดว่าดูไม่น่าสนใจ เลยทำป้ายผ้าไปเป็นสื่อสร้างสรรค์


พวกเราประชุมกันตรงศาลาใช่ไหม ตอนกลางคืน เราคิดว่าเขามองว่าเรามามั่วสุมไหม ก่อนหน้านี้เขาอาจจะมองว่าเรามามั่วสุม แต่เขาเห็นว่าเราทำกิจกรรม เขาก็มองเปลี่ยนไปหรือเปล่า

ใช่ครับ ที่ตรงนั้นก็มีบ้านคนอื่นด้วย จะรำคาญคนข้างบ้านหน่อย เวลาพวกผมประชุมก็เสียงดัง เพราะพวกผมไม่มีที่หลักแหล่ง ยังไม่มีพื้นที่ของตัวเอง แต่สำหรับชุมชนที่มองว่าพวกผมไปมั่วสุม ผมคิดว่าอาจมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่คิดแบบนั้น พี่ราด้าทำงานด้านนี้มาเยอะ เขาก็คงไว้ใจว่าอย่างน้อยก็อยู่กับราด้า ได้บารมีพี่เลี้ยงคุ้มครอง


หลังจากจบโครงการ เรานำเสนอโครงการไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน อันนี้จัดเวทีอย่างไร

จัดเวทีนำเสนอข้อมูลที่ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลาหนึ่งปี


นำเสนอให้ใคร

บังเชษฐ์ วางแผนไว้จัดเป็นงานมหกรรมของเยาวชน ในปีที่หนึ่งจัดที่โรงเรียนอนุบาลสตูล จัดงานใหญ่ เชิญผู้ว่า เชิญนายก อบจ. ไปดู แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้ บังเชษฐ์ยืนยันว่าอยากจัดให้มันเป็นงานมหกรรมออนไลน์ ไลฟ์สด นำเสนอข้อมูลที่พวกผมไปหามาได้ เลยมีเวทีมหกรรมเยาวชนไลฟ์ทางเพจสตูลแอคทีฟซิติเซนครับ มีทั้ง 14 หมู่บ้าน


ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นการนำเสนอออนไลน์ เราอาจจะไม่ได้ใกล้ชิดกัน แต่เรารู้สึกอย่างไร ที่ได้นำเสนอข้อมูลที่ทำมาหนึ่งปี

ผมดูแล้ว feedback ย้อนกลับตัวเอง หลังจากที่ผมดูสิบสี่หมู่บ้าน พวกผมเป็นบ้านแรกที่ได้นำเสนอ พอไปดูย้อนหลัง รูปแบบการนำเสนอของพวกผมเป็นวิชาการมากเลย ดูเครียดๆ พูดแล้วก็เครียด แต่ตอนนำเสนอก็รู้สึกดี ตื่นเต้น พวกผมนำเสนอ 3 ชั่วโมงแต่เวลาผ่านไปไวมาก


ข้อมูลแน่นนะ

เขาบอกว่าข้อมูลเยอะ แล้วเขากังวลว่าพวกผมจะนำเสนอกันอย่างไร


เดี๋ยวพี่ไปย้อนดูว่านำเสนออะไรบ้าง แล้วเราคิดว่าจะทำอะไรต่ออีกไหม

ตอนนี้ทำไปแล้วคือทำนา จะทำต่อคือแผนที่ อยากให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เพราะว่าตอนนี้นาลดลงไปเรื่อย ๆ อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึง ทำแผนที่ แล้วก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย สำหรับพวกผมเรื่องสื่อสารไม่มีอะไรยุ่งยาก รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ให้คนอื่นได้เห็น เราก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว


ในอนาคตความคาดหวังของเราคือให้คนมาปลูกข้าวชนิดนี้มากขึ้นใช่ไหม

ใช่ครับ สิ่งที่ตั้งความหวังไว้อย่างมากก็คือตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ข้าว


หน้าตาของศูนย์อยากให้มีอะไรบ้าง เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง

ความฝันของพวกเราคือการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ข้าวไม่มีหลังคา ถ้าอยากมาเรียนรู้ มาดู คุณต้องลงพื้นที่นา คุณต้องพร้อมสกปรก คุณต้องพร้อมเกลือกโคลนไปกับเรา


เชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ให้มาฟังข้อมูลใช่ไหม

ใช่ครับผม


อันนี้เรามองไหมว่า จะเก็บค่าเข้าชม ให้ชุมชนมีรายได้ด้วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เหมือนเวิร์กชอป คล้าย ๆ เวิร์กชอปหรือเปล่า

ยังไม่ได้คิดรายละเอียดครับ แต่ในภาพฝันที่วางไว้คือ ตอนนี้เราทำโครงการมาเข้าปีที่ 4 แล้ว สี่ปีหลังจากนี้ตั้งใจว่าจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาให้ได้ พวกเราได้ศึกษาข้อมูลเก็บไว้ว่าจะทำอะไร อย่างไรบ้าง


แล้วเราจะเปิดที่ไหน เป็นพื้นที่ของใคร

เป็นพื้นที่นาน้อยของราด้า ตอนนี้เป็นความฝันของเขาด้วยเหมือนกัน เขาอยากสร้างบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ พวกผมคิดว่าถ้าผมจะทำพิพิธภัณฑ์ข้าวก็ทำที่เขาเลย


ความฝันของตัวซีเอง มองอนาคตตัวเองอย่างไร อยากทำอะไร อันนี้ไม่เกี่ยวกับโครงการแล้วนะ หรือตอนนี้เรามีความฝันที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำในโครงการแล้วหรือเปล่า

ถ้าเป็นความฝันที่มันเชื่อมโยงกับโครงการ มีอย่างหนึ่งที่ผมคิดไว้ ผมมีความฝันอยากเป็นผู้ให้โอกาสเหมือนบังเชษฐ์ ให้โอกาสกับน้อง ๆ ต่อให้อยู่ที่ไหน ผมคิดว่าการให้เป็นเรื่องที่ผมอยากทำ


ตอนนี้เราวางแผนเรื่องการเรียน ทิศทางเราวางแผนอย่างไร อยากเรียนอะไรเพื่อจะไปเป็นอะไร

ตอนนี้ผมเรียนบัญชีปีสามแล้ว จะจบแล้ว ในแผนที่ผมวางไว้คือไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วก็ออกมาทำบัญชี คงทำงานเยาวชนเป็นงานอดิเรก


แล้วส่วนตัวอยากจะพัฒนาทักษะอะไร หรือเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมไหม สำหรับตัวเอง

ผมอยากพัฒนาตัวเองให้เหมือนราด้า เขาเป็นคนชอบถาม เป็นคนที่ขี้สงสัยแล้วก็ถามเยอะ ตามชื่อเพจครับ พวกผมก็ขี้สงสัยแต่ไม่เท่าราด้า เพราะราด้าถามเยอะมาก แล้วก็พวกผมต้องตอบคำถามของเขา ผมก็อยากเป็นให้ได้เหมือนเขา