ธัญวรินทร์ หวังดี : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย

นายธัญวรินทร์ หวังดี (นาน) อายุ 22 ปี

เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลนาเกลือ (กศน.)

ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ  โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

­­

ถาม ขอให้แนะนำตัวเองและโครงการที่ทำ

ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนายธัญวรินทร์ หวังดี ชื่อเล่นนาน ค่ะ อายุ 22 ปี เรียนอยู่ที่ กศน. ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายค่ะ ปัจจุบันช่วยแม่ขายของ ทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย ตำแหน่งหัวหน้าโครงการ


ถาม ก่อนเข้าร่วมโครงการ เคยทำงานเกี่ยวกับเยาวชนหรือชุมชนมาก่อนไหม

ตอบ ไม่เคยทำมาก่อน โครงการนี้เป็นโครงการแรก


ถาม ขอให้พูดถึงตัวเอง (ภูมิหลังเยาวชนในแง่มุมต่าง ๆ)

ตอบ เมื่อ 4-5 ปี ก่อนหน้านี้ นานเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าแสดงออก มีโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่กับตัวเอง ตอนนั้นติดนิยายออนไลน์ ไม่คิดจะทำอะไรอยู่แต่ในบ้าน นานไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนเรียนนอกระบบเลยไม่ค่อยมีเพื่อน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีเพื่อนคนหนึ่ง เขาพาเราเข้าสังคมมากขึ้น ทำให้เรากล้าพูดกล้าคิด การแสดงออกมากขึ้น ตัวเราค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองจนถึงทุกวันนี้


ถาม ในช่วงเวลานั้น อะไรทำให้เราไม่อยากคบเพื่อน อยากอยู่คนเดียวมากกว่า

ตอบ ตอนนั้นเราโดนล้อ ถูกบูลลี่มาตลอด รู้สึกเก็บกด ทำให้มีปมในชีวิตมาตลอด ชอบเก็บตัว ไม่อยากจะไปเจอใคร ไม่กล้าออกสังคม เมื่อก่อนจะโดนล้อว่า “อีอ้วน ไอ้กระเทย” ถูกล้อมาตลอด ตอนเด็ก ๆ เราไม่อยากไปสุงสิงกับใคร คิดว่าเราอยู่คนเดียวได้


ถาม ทำไมถึงตัดสินใจมาเข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ ตอนแรก นานได้แสดงละครสั้นของพี่ ๆ สก.สว. รุ่นใหญ่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของหมู่บ้าน หลังจากนั้นจ๊ะแหวน (พี่เลี้ยงในโครงการ) จึงชวนเข้ามาร่วมโครงการ เราปรึกษากับพี่เลี้ยงและน้อง ๆ ว่าจะทำโครงการอะไรดี จนได้มาทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย ช่วงเวลานั้นว่างพอดี เราคิดว่าตัวเราน่าจะทำได้ เรารู้สึกสนุกกับการทำโครงการ


ถาม ขอให้เล่าความเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ ตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ตอบ ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นคุณที่มี Ego (อัตตา) สูง ถ้าใครพูดอะไรมา เรารู้สึกต่อต้านอยู่ภายในตลอด แต่เราไม่ได้พูดออกไป เป็นคนหัวร้อน ยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตัวเอง พอได้มาทำโครงการนี้ เราได้ปรับเปลี่ยนตัวเองในหลายเรื่อง เรายอมลดอัตตาของตัวเองลง เราเริ่มฟังความคิดเห็นของคนอื่น

ถ้าเป็นแต่ก่อนสมัยที่หัวร้อนบ่อย ๆ เราคงทะเลาะกับน้อง ๆ ในโครงการทุกวัน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองตอนที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ในค่ายอบรมครั้งที่ 1 - 3 สิ่งที่เปลี่ยนคือ ทัศนคติที่มีต่อตัวเองและสังคม เรากล้าพูด กล้าคิด กล้าทำมากขึ้น เราคิดว่า พอโตขึ้นเราเลือกเสพสื่อในโซเชียลที่พัฒนาความคิดของเรา เรามารู้จักกับ Page หนึ่ง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ การพูดสร้างแรงเพื่อบันดาลใจ เราติดตามทุกคลิปที่เขาทำออกมา เรานั่งดูอยู่ประมาณ 30 คลิป ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเอง จากคนที่ไม่กล้าแสดงออก รู้สึกมีปมด้อย ไม่มั่นใจในตัวเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเอง

เราเลือกเสพสื่อที่มีประโยชน์ต่อตัวเรา มีคำพูดหนึ่งที่เราจำได้ดี คือ “เราจะไม่มีปมด้อย ถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่มีปมด้อย” ทำให้เราฉุกคิดได้ว่าทำไมเราต้องกังวล เอาความคิดของคนอื่นมาทำให้ตัวเราไม่สบายใจ ตอนนี้เรายังคงติดตามการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากนักพูดอีกหลาย ๆ คน เมื่อก่อนถ้าเรารู้ว่ามีคนเกลียดเรา ความคิดของเราจะต่อต้าน ถ้าเกลียดเรามา เราก็เกลียดกลับ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป ถ้ารู้ว่ามีคนเกลียด เราจะถามตัวเราเองหาเหตุผล ทำไมเขาถึงเกลียดเรา อะไรในตัวเราทำให้เขาเกลียด เวลาที่เราโตขึ้นมีวุฒิภาวะมากขึ้น อะไรที่ไม่ดีเราก็ควรจะทิ้งไป


ถาม หลังจากที่ทำโครงการนี้ ตัวเรามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอบ เราเริ่มมีวุฒิภาวะขึ้นตอนที่เข้าร่วมโครงการ เรามีความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไป เกิดขึ้นในการเข้าค่ายอบรมครั้งที่ 2 เราได้ข้อคิดจากการเล่นเกมและการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ตอนที่ทำกิจกรรมตามล่าความฝัน ในกิจกรรมเขาจะให้เราจับกลุ่ม โดยที่คนในกลุ่มต้องคล้องแขนกัน ให้คนในกลุ่มเดินตามหาความฝันที่เราซ่อนเอาไว้ สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนั้น คือ ถ้าความฝันนั้นได้มาง่าย อาจจะไม่ใช่ความฝันที่เราอยากทำจริง ๆ

เราได้รับแรงบันดาลใจจากการทำกิจกรรม และได้ข้อคิดดี ๆ จากอีกหลายกิจกรรม คำพูดจากพี่ ๆ หลายคน ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อสังคม เช่น ปัญหาของคนในกลุ่มเป็นเรื่องช่วงวัยที่แตกต่างกัน น้องที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มอายุ 12 ปี ส่วนหนูอายุ 22 ปี เราห่างกันถึง 10 ปี ตอนแรกน้องไม่กล้าพูด เราแทบไม่เห็นความคิดของน้องเขา เราไม่เห็นน้องเขาในสายตา เรารู้สึกว่าเขาไม่กล้าแสดงออก พอเราได้เข้าค่าย เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้อง เขาเริ่มพูด เริ่มกล้ามากขึ้น ทำให้มุมมองที่เรามีต่อน้องเปลี่ยนไป เราไม่ควรตัดสินน้องเขาจากครั้งแรกที่เราเห็น ตอนหลังเราเริ่มเปิดใจรับฟังน้องมากขึ้น เป็นผู้ฟังที่ดี มีครั้งหนึ่งน้องศร มาปรึกษาปัญหาส่วนตัว จากแต่ก่อนแค่ฟังแล้วจบไป แต่ตอนนี้เรารับฟังปัญหาของเขา เราฟังเขาให้จบ ไม่พูดแทรก หลังจากที่ฟังจบ เราช่วยเสนอความคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา ซึ่งสุดแล้วแต่ตัวเขาจะนำไปใช้หรือไม่ใช้

การเปลี่ยนอีกอย่างคือ เรื่องทักษะการพูด เมื่อก่อนเป็นคนพูดเรื่อยเปื่อยจับประเด็นอะไรไม่ได้ ตอนนี้จับประเด็นได้ดีขึ้น รู้ว่าตัวเองจะพูดเรื่องอะไรเรากล้าพูด กล้านำเสนอมากขึ้น มุมมองที่ต่อชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน จากเด็กที่เก็บตัว ไม่เคยสนใจอะไรรอบข้างหรือชุมชนตัวเอง ตอนทำโครงการมีช่วงที่เราลงทะเลไปหาหอย นั่งเรือไปหาหอยข้างนอกหมู่บ้าน พอเราได้ลงไปสัมผัสของจริง เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว เราได้รับความสนุก ท้าทายจากการไปหาหอย ตัวเราและน้องหลายคนก็รู้สึกเหมือนกัน

เรามองเห็นทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวทุกวันจนชิน เราไม่เห็นคุณค่า จนเรามารู้ข้อมูลที่มาที่ไปของทรัพยากรในชุมชน ทำให้เราเห็นคุณค่าและความหมายจากสิ่งที่เรามีชัดเจนมากขึ้น การมีอยู่ของทรัพยากรรอบหมู่บ้าน ต้องแลกมาด้วยความเสียสละของคนในหมู่บ้าน พวกเขาต้องต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่มาทำโรงเผาถ่านในหมู่บ้าน กว่าจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็น ป่าโกงกาง 1,000 กว่าไร่ ชายหาดสวยงามที่มีหญ้าทะเลอาศัยอยู่ พอเราได้สืบค้นข้อมูล เราเห็นประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน เข้าใจมันอย่างลึกซึ้งขึ้น เรารู้สึกผูกพัน รักและหวงแหนทรัพยากรในหมู่บ้านของเรา


ถาม ขอให้เล่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

ตอบ เรากล้าที่จะสงสัย กล้าถาม กล้าค้นคว้าศึกษาหาข้อมูล เปลี่ยนมุมมองความคิดในการทำงาน การทำงานย่อมมีอุปสรรคปัญหา อย่างเรื่องของเวลาที่ไม่ตรงกัน การทำงานเป็นกลุ่มไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว เราต้องแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนในกลุ่ม พี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา ผู้รู้ในชุมชน เราต้องหาข้อมูลจากหลายที่ กว่าจะเป็นโครงการนี้ เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราต้องคิดเมนูอาหารใหม่ ๆ ที่ทำจากหอย นำหอยที่มีมาแปรรูปทำอะไรได้บ้าง เราออกแบบกิจกรรมให้ดูน่าสนใจ มีปฏิทินหอยและแผนผังน้ำขึ้นน้ำลงสำหรับการหาหอย โมเดลต่าง ๆ หนังสั้นที่เราคิดและทำขึ้นมาเอง แต่ก่อนหนูเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่เคยลงมือทำจริง แต่โครงการนี้เปิดโอกาสให้หนูได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทำมันออกมา


ถาม การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของเราคืออะไร

ตอบ ความกล้าแสดงออก เกิดขึ้นจากตอนนำเสนอโครงการครั้งแรก เราเป็นคนที่อายุเยอะที่สุดในกลุ่ม ไม่มีน้องคนไหนในกลุ่มที่กล้าแสดงออกเลย เวลานั้นเราต้องผลักดันความเป็นผู้นำในตัวออกมา ทุกคนในกลุ่มต้องพึ่งเรา รู้สึกกดดัน เหมือนว่าตัวเราต้องเป็นความหวังของกลุ่ม กังวลว่าจะมีคนหัวเราะ ตอนที่เรานำเสนอโครงการ จากเดิมที่เป็นคนไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่ เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพูดของตัวเอง วางแผนเนื้อหาในการพูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจ เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ รู้สึกว่าการนำเสนอครั้งแรก ตัวเราทำได้ดี ทำให้เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง มีความพร้อมที่จะนำเสนอในครั้งต่อ ๆ ไป


ถาม ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ เรื่องเวลา คนในกลุ่มไม่มีเวลาตรงกัน จากเดิมที่คิดว่าว่างและสามารถแบ่งเวลาได้ พอเรามาทำโครงการ เราถึงรู้ว่าเราต้องมีเวลาให้กับการทำงาน การหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล เราเป็นหัวหน้ากลุ่มต้องรับผิดชอบเรื่องข้อมูล เราต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน ปัญหาที่สองคือ เรื่องทัศนคติของคนในชุมชน ผู้ใหญ่บางคนในชุมชนมีความคิดที่ต่อต้านเรา เวลาที่เราไปถามหาข้อมูล เขาจะถามกลับมาว่า พวกเราจะทำได้ไหม มีความอดทนพอหรือเปล่า เขาไม่ค่อยเต็มใจที่จะให้ข้อมูลกับเรา พวกเราแก้ไขปัญหานี้โดยการ ตามตื้อทุกวัน พยายามเข้าไปพูดคุยกับเขา ถามจนกว่าจะได้ข้อมูลมา เราอยากทำให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจจริง ทำจริง สุดท้ายเขาให้ข้อมูลทั้งหมด เขายังบอกพวกเราด้วยว่า “ถ้ามีอะไรให้มาถามได้นะ”


ถาม รู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นี้

ตอบ ภูมิใจในความอดทนของตัวเองและกลุ่ม ถ้าเราเปลี่ยนคนแล้วเลือกไปถามคนอื่นแทนมันจะไม่เกิดความภาคภูมิใจถึงทุกวันนี้ เรามีความอดทนเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็น


ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

ตอบ ความไม่รับผิดชอบของสมาชิกในกลุ่มและตัวนานเอง เราแบ่งงานกันอย่างชัดเจนว่าใครทำอะไร เช่น วันจันทร์เรานัดกันเพื่อรวบรวมข้อมูล แต่วันจันทร์มีคนเพิ่งเริ่มหาข้อมูล ทั้งที่เราให้เวลามานานแล้ว เอาปัญหานี้มาพูดในที่ประชุม ถ้าใครที่ไม่อยากรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองก็ขอให้บอกกลุ่ม เราจะให้คนทั้งกลุ่มไปหาข้อมูลแทนคนนั้น หลังจากที่เราทำแบบนั้น เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องคนนั้น นานเห็นน้องเขาตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น พยายามส่งงานให้ทันเพื่อน ๆ กลุ่มของเราไม่ค่อยตรงต่อเวลา

เราเอาเรื่องนี้มาพูดในที่ประชุม พี่นิด พี่แก้ว เขาให้พวกเรามาเขียนข้อดี ข้อเสียของตัวเราเอง ซึ่งข้อเสียของสมาชิกในกลุ่มที่เขียนต้องการคือเรื่องการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนรู้ข้อเสียของตัวเองเราสามารถนำมาพูดได้ ร่วมกันหาวิธีแก้ไข พี่เลี้ยงช่วยเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ สมมุติว่านัด 8 โมงเช้า พี่เลี้ยงจะนัด ล่วงหน้า 1 ชั่วโมง เพราะเขารู้ว่าพวกเรามาไม่ตรงเวลา หลังจากนั้นเวลาที่ต้องไปเข้าค่ายอบรบ นานจะเป็นคนกระตุ้นน้อง ๆ นานต้องทำอะไรให้เสร็จก่อนคนอื่น เพื่อจะไปตามน้อง ๆ เราต้องเป็นตัวอย่างให้น้องเห็นว่าเราตรงต่อเวลา นานอาจจะมีช่วงที่ไม่ตรงต่อเวลาบ้าง แต่นานพยายามมาตรงต่อเวลาให้มากที่สุด


ถาม เวลาที่เกิดปัญหาปรึกษาพี่เลี้ยงเรื่องอะไร

ตอบ ข้อมูลบางอย่างที่เราไม่เข้าใจหรือยังขาดหายไป พี่เลี้ยงจะช่วยชี้แนะแหล่งข้อมูลเพิ่มให้ บางเรื่องถ้าพี่เลี้ยงไม่รู้ พี่เลี้ยงจะไปปรึกษาหัวหน้า รพ.สต. หรือผู้ใหญ่บ้านแล้วกลับมาบอกพวกเรา


ถาม รู้สึกอย่างไรกับการทำงานของพี่เลี้ยงในกลุ่ม

ตอบ รู้สึกผูกพัน ในช่วงแรกรู้สึกไม่ค่อยให้ใจกับเขาเท่าไร แต่ตอนนี้เราปรึกษาเขาได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องโครงการ เรื่องปัญหาภายในกลุ่ม หรือเรื่องส่วนตัว


ถาม พี่เลี้ยงทำอย่างไรถึงทำให้ตัวเรายอมเปิดใจ

ตอบ คิดว่าเป็นความผูกพัน เราได้ทำงานร่วมกันหลายครั้ง เราเห็นข้อดีของเขา พี่เลี้ยงเขารับฟังเรา ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกับเราได้ เขามอบความจริงใจ ทำให้เราเปิดใจและรู้สึกไว้ใจเขา เขาเป็นห่วงสมาชิกทุกคนในกลุ่ม


ถาม สำหรับตัวเราเรื่องที่ยากที่สุดในการทำโครงการคืออะไร

ตอบ ข้อมูลบางอย่างที่เรายังไม่สามารถหาได้หรืออยากหาเพิ่ม เช่น ความเป็นมาของชุมชนบ้านมดตะนอย หรือข้อมูลเรื่องความเป็นอยู่ของหอยซึ่งไม่สามารถหาข้อมูลได้จากชาวบ้านหรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเราได้ข้อมูลตรงนี้ จะช่วยสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้น เราพยายามค้นคว้าเรื่องนี้ต่อไป


ถาม คุณสมบัติในตัวเองที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ หลายอย่าง การพูด การสื่อสารพัฒนามากขึ้น เรียบเรียงคำพูด จับประเด็นได้ดีขึ้น คุณสมบัติที่พัฒนาคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เวลาที่เราเสนอกิจกรรม เราใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น กิจกรรมทำอาหาร เราจัดกิจกรรมประกวดทำอาหารโดยใช้หอยเป็นวัตถุดิบหลัก เราสามารถประยุกต์วิธีการทำอาหารแนวใหม่ เราได้ค้นพบคุณสมบัติเรื่องการฟังการรับฟังที่ไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ เราฟังแล้วจับใจความได้ สามารถนำสิ่งที่ได้จากการฟังมาปรับใช้กับชีวิตได้ ขณะที่ฟังเราไม่พูดแทรก และไม่ตัดสินคนอื่น


ถาม การเปิดใจรับฟังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฟัง มีประโยชน์อย่างไรกับตัวเรา

ตอบ จากที่เมื่อก่อนฟังผ่าน ๆ แต่ตอนนี้เวลาที่ฟัง เราสามารถนำข้อดี หรือ ความรู้ที่ได้จากการฟังมาปรับใช้ได้ ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนถ้าเขาบอกให้เราหาข้อมูล เราจะไปหาข้อมูลโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าหาข้อมูลอะไร กับใคร เราแบ่งหน้าที่กับหน้างานไม่มีการวางแผน แต่พอเราตั้งใจฟัง ทำให้เรารู้วิธีการในการทำงาน เรารู้จักการวางแผนว่าเราจะหาข้อมูลอะไรกับใคร


ถาม รู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ตอบ รู้สึกภูมิใจที่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ดีใจที่ตอบรับและเลือกมาเข้าร่วมโครงการนี้ เราเห็นพัฒนาการของตัวเองหลายอย่างจากการเข้าค่ายและการทำโครงการ รู้สึกว่าตัวเรามีความสามารถ จากแต่ก่อนที่ตัดสินตัวเองว่าตัวเราไม่ได้ ตอนนี้ภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง


ถาม อนาคตข้างหน้าอยากทำอะไร

ตอบ อยากเปิดร้านอาหารและตัวเองเป็นเชฟในร้าน


ถาม คิดว่าคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยสนับสนุนการเป็นเชฟและเจ้าของร้านอาหารอย่างไร

ตอบ ความอดทนต่อแรงกดดันที่เราต้องเผชิญ การวางแผน การรับฟังข้อติชมของลูกค้า ความคิดสร้างสรรค์ในการทำอาหาร


ถาม วางแผนเพื่อต่อยอดโครงการนี้อย่างไร

ตอบ อยากเรากิจกรรม หอยบ้านฉันผักหวานบ้านเธอ อยากฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนให้กลับมา คนที่อยู่ติดทะเล จะนำปลามาแลกกับผักจากคนที่อยู่ในสวน เรานำของที่มีอยู่ในหมู่บ้านของเรามาแลกกัน เราเห็นเพื่อนในโครงการอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขา เขาปลูกผักสด ส่วนบ้านของเราอยู่ติดทะเล เรามีอาหารทะเลสด ๆ เราน่าจะมาร่วมกันทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้


ถาม รู้สึกอย่างไรกับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในลักษณะนี้

ตอบ รู้สึกดี ตอนนี้เราพบวิถีชีวิตแบบนี้ได้น้อยลง รู้สึกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย บ้านใครมีอะไรดีเราก็เอามาแลกกัน ผักบางชนิดเป็นผักท้องถิ่นเราหากินได้ยาก ในตลาดไม่มีขาย เราสามารถนำของที่เรามีไปแลกกับเขาได้ เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งปันของคนในชุมชนและต่างชุมชน