พรรธิภา เยาว์ดำ : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธ์เเห่งขุนเขาบ้านตะเหมก

เด็กหญิงพรรธิภา เยาว์ดำ (น้ำฝน) อายุ 15 ปี

ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์)

ตำแหน่ง: รองหัวหน้าโครงการ

โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธ์เเห่งขุนเขาบ้านตะเหมก


­

ถาม ขอให้แนะนำตัว

ตอบ สวัสดีค่ะ หนูชื่อเด็กหญิงพรรธิภา เยาว์ดำ ชื่อเล่นน้ำฝนค่ะ อายุ 15 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 โรงเรียนเทศบาล 2 วัดกะพังสุรินทร์ ทำโครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์เเห่งขุนเขาบ้าน ตะเหมก ตำแหน่งรองหัวหน้าโครงการ


ถาม ขอให้เล่าถึงตัวเองก่อนที่เข้าร่วมโครงการนี้

ตอบ ก่อนหน้านี้หนูเรียนหนังสือ เวลาว่างหนูชอบอ่านหนังสือนิยาย ช่วยกิจกรรมหมู่บ้านเป็นบางครั้งคราว เช่น ปลูกป่า สร้างฝายมีชีวิต ช่วยกิจกรรมอาสาสมัครของหมู่บ้านเดือนละครั้ง เช่น ช่วยเก็บขยะ


ถาม เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของหมู่บ้านมานานเท่าไร เข้ามาทำได้อย่างไร

ตอบ ทำมาตั้งแต่ตอนอนุบาล เพราะว่าตอนนั้นตากับแม่ช่วยงานของหมู่บ้านอยู่แล้ว ที่บ้านของหนูทำต่อเนื่องกันมา สมัยตอนหนูเด็ก ๆ มีกิจกรรมปลูกป่าที่หมู่บ้านอยู่บ่อย ๆ ตาชวนหนูเข้าร่วม ตอนนั้นหนูอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร หนูไปช่วยตากับแม่ปลูกป่า ทำไปทำมา หนูรู้สึกสนุกและอยากทำต่อเนื่อง


ถาม ก่อนหน้านี้หนูเคยทำโครงการอะไรมาบ้าง

ตอบ โครงการนี้เป็นโครงการครั้งแรกที่ทำระยะยาว


ถาม ความเปลี่ยนแปลงของตัวเองก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ หนูมีการแสดงออกมากขึ้น กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น วางแผนงานเป็น กล้าเผชิญปัญหา กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อก่อนทำอะไรหนูจะกลัวว่าจะทำผิด กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงของหนู หนูคิดว่าหนูกล้าคิด กล้าพูดมากขึ้น เมื่อก่อนหนูเป็นคนขี้อายไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ หนูกลัวคนเยอะ มันทำให้หนูไม่มั่นใจในตัวเอง พอได้ทำโครงการนี้ หนูได้ประสบการณ์ที่มากขึ้น ตอนที่หนูได้ไปเข้าค่าย หนูต้องนำเสนอผลงานต่าง ๆ หนูได้พบปะผู้คนเยอะขึ้น หนูที่ฝึกนิสัยของตัวเอง ทำให้หนูเป็นคนที่กล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น เช่น เวลาที่หนูต้องนำเสนองานต่อหน้าผู้คนหรือในเวทีต่าง ๆ ทำให้หนูมีความมั่นใจมากขึ้น ความกลัวลดลง ตอนที่หนูพูดนำเสนอถึงหนูจะพูดผิด แต่ไม่มีใครว่าหนู ทำให้หนูกล้าพูด จากตัวเดิมที่หนูไม่กล้า

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างเรื่องของหนู คือ เรื่องของความพยายาม เมื่อก่อนถ้าหนูอยากให้งานสำเร็จ หนูจะเรียกเพื่อนหรือพี่เข้ามาช่วย พอหนูได้ไปเข้าค่ายและพี่ ๆ เขาจับให้เราแยกกลุ่ม ให้เราไปอยู่กับเพื่อนทีมอื่น ตอนนั้นไม่มีใครมาช่วยหนู หนูต้องช่วยเหลือตัวเอง หนูต้องพยายามทำงานของหนูให้สำเร็จให้ได้ ถ้าสมมุติว่าหนูไม่พยายาม หนูจะไม่มีงานไปส่งเหมือนที่เพื่อน ๆ ทีมอื่นที่เขาทำกัน ตอนนั้นเราไปเข้าค่ายที่ภูผายอด พวกเราต้องไปจับกลุ่มเพื่อทำนิทานและทำสตอรี่บอร์ด คนอื่นเขาทำกันได้แล้ว ถ้าหนูไม่พยายามหนูจะไม่มีงานส่งเหมือนคนอื่น คนอื่นเขาก้าวไปได้ไกลแล้ว แต่หนูยังอยู่ที่จุดเดิม หนูรู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้ ทั้งที่คนอื่นเขาทำได้ หนูถามตัวเองว่า “ทำไมเรายังทำไม่ได้” หนูบอกตัวเองว่า “หนูจะตั้งเป้าหมายให้ชัดก่อน” ถ้าหนูทำไม่ได้จริงๆ หนูจะเข้าหาคนอื่น โดยการที่หนูต้องไปทำความรู้จักกับคนอื่น เพื่อขอคำแนะนำและกลับมาทดลองทำ ถ้าหนูทำไม่ได้หนูจะถามเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆว่า “หนูทำตรงนี้ไม่ได้ หนูควรจะทำอย่างไรดี” สุดท้ายหนูตั้งใจและอดทนทำ หนูก็ทำได้

อีกเรื่องคือ ตอนที่เราต้องติดป้ายชื่อต้นไม้ ต้องเอาจริงเอาจังมาก เพราะว่าเราจะต้องตัดไม้ พ่นสี เขียนชื่อต้นไม้ พ่นสีเคลือบเงา ถึงจะมีหลายขั้นตอนและมีคนช่วย แต่ชื่อต้นไม้ที่เราหามามีจำนวนมาก เวลาที่เขียนชื่อต้นไม้ทุกครั้ง พวกเราต้องเอาจริงเอาจังทุกครั้ง ถึงมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ มาช่วย แต่หนูก็ต้องใช้ความพยายามด้วย


ถาม หลังจากที่หนูได้ใช้ความพยายามจนงานสำเร็จ หนูรู้สึกอย่างไร

ตอบ หนูรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ตัวเราก็ทำได้เหมือนกับคนอื่นเขา


ถาม การเรียนรู้ที่เป็นที่สุดในการทำโครงการนี้คือเรื่องอะไร

ตอบ การเข้าสังคมเพราะในแต่ละทีมจะมีคนที่แตกต่างกันไป มีความต่างในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม หนูต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนให้ได้ เช่น หนูนับถือศาสนาพุทธต้องปรับตัวให้เข้ากับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ตอนที่พวกเราไปเดินป่ามีเพื่อนที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย ช่วงนั้นเขาบวชต้องถือศีลอด เขาจะไม่ได้กินข้าว กินน้ำ และไม่ได้กลืนน้ำลาย ได้เรียนรู้ประเพณีของเขาว่าเป็นอย่างไร หนูจะต้องดูแลเพื่อน จัดอาหารว่างให้เขา ทำอาหารที่ไม่เป็นหมูเพราะว่าเพื่อนจะกินไม่ได้

อีกอย่างหนูต้องปรับนิสัยของตัวเอง เราต้องเข้าหาเพื่อนแทนที่จะให้เพื่อนเข้าหาเรา ต่างคนต่างต้องเข้าหากันซึ่งกันและกัน หนูจะเข้าไปแนะนำตัวเอง ชวนเพื่อนคุย ถามชื่อเพื่อน ว่าเขาชื่ออะไร มาจากที่ไหน แนะนำบ้านของเราให้เพื่อนฟัง ถามถึงบ้านของเขา บ้านเขาเป็นอย่างไร เราชวนเขามาเที่ยวบ้านเรา เขาก็ชวนเราไปเที่ยวบ้านเขา หนูต้องปรับเรื่องการวางตัวให้เข้ากับคนที่เราทำงานด้วย เพราะเขามีอายุที่แตกต่างจากเรา มีตั้งแต่คนอายุมาก คนวัยทำงาน วัยรุ่นและน้อง ๆ ตอนที่เราไปถามข้อมูลเรื่องควนดินดำกับผู้สูงอายุ หนูต้องมีมารยาท เพราะเขาอายุมากแล้ว เราจะไปพูดเล่นเหมือนกับเราเล่นกับเด็กไม่ได้ หนูต้องแนะนำตัวเอง ต้องเตรียมข้อมูลและเตรียมประเด็นที่จะไปถาม


ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการคืออะไร

ตอบ ปัญหาสำหรับหนูคือ หนูมาร่วมกิจกรรมไม่ครบ ตอนที่พี่ในทีมไปเยี่ยมชมโครงการต่างๆ หนูไม่มีโอกาสได้ไป เพราะว่าหนูติดเรียนพิเศษบ้าง หนูไม่ว่างบ้าง หนูแก้ปัญหาโดยถามพี่ ๆ ที่เขาได้ไป พี่แต่ละคนจะกลับมาเพื่อจับคู่กันเพื่อทำวิดีโอ หนูดูข้อมูลในวิดีโอของพี่ ๆ เวลาที่หนูไม่ได้ไปร่วมกิจกรรม หนูรู้สึกเสียดาย ถ้ามีโอกาสหนูอยากจะไปร่วมด้วยทุกครั้ง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาว่างไม่ตรงกัน ในกลุ่มของเรามีคนที่อยู่ต่างโรงเรียนกัน มีทั้งพี่ที่อยู่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับมัธยมปลายและน้องระดับชั้นประถม แต่ละคนจะมีเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน เวลาที่ลงไปหาข้อมูล บางครั้งพวกหนูตั้งคำถามไม่ถูก หนูรู้ว่าหนูอยากรู้อะไรแต่หนูตั้งคำถามไม่ถูก หนูจะถามและนำข้อมูลที่ได้ มาเรียบเรียงใหม่ พวกหนูปรึกษาพี่วรรณเรื่องการตั้งคำถาม เวลาหนูไปไหนพี่วรรณไปกับพวกหนูด้วย พี่วรรณให้คำแนะนำว่าต้องถามคำถามแบบไหน


ถาม ความยากที่สุดสำหรับการทำโครงการนี้คืออะไร

ตอบ ความแตกต่างของคนในทีม เช่น น้องที่อยู่ประถม น้องมีความอดทนน้อย เราต้องดูแลน้องเป็นพิเศษ ส่วนพี่ที่อยู่มหาวิทยาลัย เขาจะไม่ค่อยมีเวลาว่างมาช่วยพวกเรา พี่มัธยมปลายเขามีธุระ ต้องไปทำรายงาน เข้าค่ายจิตอาสา มีงานเยอะ ทำให้การทำงานของพวกเรายากลำบาก พวกหนูสร้างกลุ่มแชทขึ้นมา เวลาที่เรามีอะไร เราจะถามกันในกลุ่มแชท นัดหมายมาทำงานกันสื่อสารกันผ่านกลุ่มแชท พี่คนไหนไม่ได้อ่านข้อความ หนูจะเป็นคนโทรศัทพ์ตาม มีพี่บางคนที่สัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึง เราต้องส่งทีมไปรับพี่เขามา


ถาม ศักยภาพของตัวเองที่เพิ่มขึ้นมาจากการทำโครงการนี้คือเรื่องอะไร

ตอบ การวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน การทำงานร่วมกับคนอื่น การรับผิดชอบต่อตัวเอง ก่อนตอนที่หนูทำงานหนูวางแผนอยู่แล้ว แต่พอได้มาทำโครงการนี้ ทำให้แผนของเราชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าเราควรทำอะไรก่อนหลัง เราจะเห็นผลสำเร็จว่าออกมาแบบไหน เช่น ถ้าพวกหนูไปถามความรู้จากผู้รู้ในหมู่บ้าน หนูจะมาประชุมเพื่อปรึกษากันที่ศาลาของหมู่บ้านว่า เราจะไปถามใคร ไปถามตาเปี่ยมหรือไปถามยายแบบก่อนดี ถ้าตกลงกันได้แล้วว่าเราจะไปถามใคร เราจะมาช่วยกันตั้งคำถาม มีบางครั้งที่เรานึกคำถามออกตอนที่เราไปเจอผู้รู้ พอถามผู้รู้เสร็จ เราจะจดบันทึกและรวบรวมข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง เราจะนำข้อมูลที่ได้จากผู้รู้ทั้งสองคน มาเปรียบเทียบกันว่ายังมีส่วนไหนที่ข้อมูลยังไม่ครบ

หนูมีทักษะการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน เพิ่มขึ้น หนูได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ หนูนำประสบการณ์นั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันและในโรงเรียน เช่น หนูกล้าพูดต่อหน้าคนจำนวนเยอะ หนูได้นำเสนอข้อมูลและทำงานร่วมกันเป็นทีม หนูได้ภาษาพูดที่ชัดเจนขึ้น อาจมีพูดติดทองแดงบ้างแต่ก็น้อยลง หนูได้ทั้งคำศัพท์ สำเนียง พอเราพูดไป คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่ เราพูดมากขึ้น

ศักยภาพที่เพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือหนูสามารถใช้สื่อไอทีให้เกิดประโยชน์ เมื่อก่อนตอนใช้สื่อไอทีหนูจะใช้เล่น Facebook Line พอหนูเข้ามาร่วมโครงการหนูได้ใช้โทรศัพท์เพื่ออัดวิดีโอ ตัดต่อทำคลิปวิดีโอเพื่อนำเสนองาน ตอนนี้หนูทำสื่อได้เอง แต่อาจยังไม่คล่อง ต้องปรึกษาพี่วรรณและพี่ ๆ ในทีม


ถาม สิ่งที่หนูได้ทำในโครงการนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดหรือความรู้สึกที่มีต่อชุนอย่างไร

ตอบ หนูรู้สึกภูมิใจในหมู่บ้านตัวเอง หนูภูมิใจในทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และป่าต้นน้ำของชุมชนที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอีกหลายสาย หนูได้รู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของชุมชนและวัฒนธรรม เช่น การนำสุ่มมาสานเป็นเสื่อ และทำเป็นนาง (ชนาง) ที่เขาเอาไปดักจับกุ้งกับปลา หนูเห็นความสำคัญของควนดินดำมากขึ้น ควนดินดำเป็นป่าต้นน้ำและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด พวกหนูมีส่วนร่วมในการพัฒนาช่วยเหลือชุมชนและหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านของเราเจริญก้าวหน้ามากขึ้น


ถาม อยากพัฒนาหมู่บ้านในเรื่องอะไร

ตอบ อยากให้หมู่บ้านของหนูเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว พื้นที่อื่นเขามีทรัพยากรที่สมบูรณ์และมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวมากมาย บ้านของหนูมีทรัพยากรที่สมบูรณ์เหมือนกัน แต่ทำไมไม่มีคนมาเที่ยว หนูอยากทำโครงการอนุรักษ์ป่า นำเยาวชนที่เกเรไปบ้าง ติดเกมบ้าง มาร่วมทำโครงการ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ดีกว่าเล่นเกม


ถาม ในอนาคตข้างหน้า ถ้าเราโตขึ้นอยากทำอะไร

ตอบ หนูอยากเป็นทหารเรือ ทหารเรือเท่ห์ดี อีกอย่างหนูอยากทำงานเกี่ยวกับกรมป่าไม้ เพราะว่าหมู่บ้านของเราอยู่ในละแวกป่า ถ้าหนูเรียนจบไป หนูจะได้กลับมาทำงานที่หมู่บ้านของเรา หนูคิดว่าหมู่บ้านของเราห่างไกลจากในเมือง คนที่เข้ามาจะบ่นว่า “ทำไมไกลจังเลย” หนูอยากพัฒนาหมู่บ้านของเราให้พัฒนากว่านี้ เวลาที่มีคนในเมืองถามหนูว่า “เป็นคนที่ไหน” พอหนูตอบว่า “เป็นคนบ้าน ตะเหมก” เขาจะถามว่า “อยู่ตรงไหน” ไม่มีคนรู้จัก หรือคนที่รู้จักเขาจะบอกว่า “เป็นคนที่อยู่ในเขาทุรกันดาร” หนูอยากพัฒนาหมู่บ้านของเราให้เป็นที่น่าสนใจ ให้เขารู้จัก ไม่ว่าไกลแค่ไหนก็อยากจะมา

ถาม ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากการทำโครงการนี้ ช่วยส่งเสริมอาชีพที่เราฝันไว้อย่างไร

ตอบ หนูว่าช่วย ตอนนี้ที่บ้านของหนูทำโฮมสเตย์ในหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่ไม่มีท่องเที่ยวมา หนูจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำโครงการนี้ ไปพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ และทำความฝันของหนูให้สำเร็จ เช่น การผลิตสื่อวิดีโอ เพราะว่าตอนเช้าบรรยากาศของหมู่บ้านหนูดีมาก หนูตื่นแต่เช้ามาถ่ายทำคลิปวิดีโอ ตัดต่อคลิปและนำไปลงใน Facebook เพื่อทำให้คนมาสนใจหมู่บ้านมากขึ้น คนที่มาดูจะได้เห็นหมอกและภูเขาซึ่งเป็นบรรยากาศที่สวยงาม