รัตนา ชูแสง : บทบาทการหนุนเสริมการทำงานให้กับกลุ่มเยาวชนท่าชนะ

รัตนา ชูแสง (อี๊ด) จบครุศาสตร์บัณฑิต สาขาจิตวิทยาแนะแนว จากราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี

­

พี่อี๊ดเล่าถึงบทบาท การหนุนเสริมการทำงานให้กับกลุ่มเยาวชนท่าชนะว่า “แรกเริ่มเข้ามาทำโครงการร่วมกับครูและเยาวชน ในเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น โดยใช้ฐานทรัพยากรในการออกแบบเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก และครูภูมิปัญญา มีส่วนช่วยหนุนเสริมให้ในส่วนของการถอดบทเรียนและสรุปข้อมูล กิจกรรมและการทำงาน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการทำงาน เป้าหมายที่วางไว้กับกิจกรรมออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งในโครงการนี้ก็เช่นกันก็จะใช้กระบวนการชวนเด็กๆ คิดวิเคราะห์ หาข้อสรุปร่วมกันก่อนออกแบบกิจกรรม และสรุปบทเรียนการทำงานแต่ละครั้งเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันต่อ ส่วนใหญ่จะใช้ทิ้งประเด็นคำถามให้เด็กๆ ได้คิด ตัดสินใจร่วมกัน ก็มีบ้างที่ช่วยประสานความร่วมมือกับครูภูมิปัญญา”


พี่อี๊ดยังเล่าถึงพัฒนาการของน้องๆ ที่ได้ทำกิจกรรมด้วยว่า “จากครั้งแรกที่ไปนำเสนอโครงการ เด็กๆ ไม่มีความรู้อะไรเลยเพราะรุ่นพี่เป็นคนเขียนโครงการ แล้วในช่วงนำเสนอรุ่นพี่ติดสอบ ทำให้รุ่นนี้ต้องมาแทนซึ่งเมื่อกรรมการถามเด็กๆ จึงตอบอะไรไม่ได้เลยทำให้เด็กๆ ต้องกลับมาทำการบ้านมากขึ้น และจากการมาร่วมกับโครงการยิ่งทำให้เด็กๆ มีใจมากขึ้น ช่วยเสริมศักยภาพด้านต่างๆ และจากการได้ไปเจอ ไปแลกเปลี่ยนเพื่อนๆ ทีมอื่นๆ ก็เหมือนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ความสนใจชัดขึ้น กระบวนการการทำงานกับน้อง กระบวนการกลุ่มมีมากขึ้น รู้จักวางแผนงานมากขึ้น ซึ่งบางช่วงเพื่อนอาจจะไม่ว่างก็วางแผนจัดการได้ ก่อนทำงานมีการคุยกันมากขึ้น ทำงานเสร็จมีการสรุปงาน มองหาข้อผิดพลาดและทางแก้ เรื่องของการประสานงานกับคนในชุมชนดีขึ้นโดยเด็กสามารถเป็นผู้ประสานงานได้เอง เด็กๆ สามารถเอาหนังสือไปขอความร่วมมือกับผู้ใหญ่ในชุมชน ไปประสานงานนัดหมายกับครูภูมิปัญญาเรื่องการลงไปใช้สถานที่ ตลอดจนลงไปเตรียมสถานที่โดยที่พี่ๆ ไม่ต้องไปดู แล้วกลับมามีการสื่อสารว่าได้ดำเนินการไปแล้ว ทำอะไรไปแล้วบ้างผ่านทาง facebook ซึ่งเป็นตัวช่วยในการประสานงานกับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเดิมการประสานงานเหล่านี้จะเป็นส่วนหน้าที่ของครูหรือไม่ก็พี่เลี้ยงเป็นผู้ประสานงานให้ เด็กๆ รุ่นนี้ยังต้องเสริมในเรื่องกระบวนการออกแบบกิจกรรมและการทำสื่อให้น่าสนใจ เด็กกลุ่มนี้สนใจการถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลต่างๆ ให้รุ่นน้อง ดังนั้นเขาต้องรู้ว่า ทำอย่างไรให้เรื่องที่เขาต้องการเล่านั้นน่าสนใจ และเข้ากับวัย ต้องถือว่าโครงการ ปลูกใจรักษ์โลกเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ได้มีปฏิบัติการจริง นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนที่ทำหลักสูตรจากครูในชุมชน ทำให้เด็กๆ มีฐานการทำงานในชุมนุมชัดเจนขึ้น ได้เอาความรู้ที่ได้จากโครงการไปเผยแพร่กับกลุ่มเพื่อนๆ ในชุมนุมได้เป็นอย่างดี”