อภิศักดิ์ ทัศนี : “การได้หาดกลับมา มีค่าเท่ากับปริญญาหนึ่งใบ”

อภิศักดิ์ ทัศนี: “การได้หาดกลับมา มีค่าเท่ากับปริญญาหนึ่งใบ”

­

  • 7 การเดินทางของ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี กับจุดเริ่มต้นเป็นนักเคลื่อนไหวปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็งบนหาดสมิหลาตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้น ม.5 ถึงวันนี้ น้ำนิ่งกลายเป็นคนทำงานภาคสังคมเต็มตัว และเป็นนักวิจัยในงานใหญ่อย่างสงขลา สมาร์ทซิตี้ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่เริ่มต้นจากรั้วมหาวิทยาลัยขยายสู่เมือง
  • วิธีคิดที่ชัดเจนของน้ำนิ่งคือ ‘การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความรู้ด้านสังคม’ หลายศาสตร์เข้ารวมกัน เขาไม่เชื่อเรื่องการเรียนทฤษฎีในมหาวิทยาลัยเพียงสายใดสายหนึ่ง แต่การเรียนรู้เพื่อทำงานกับสังคมคือสนามจริงที่อยู่ตรงหน้า ปะทะจริง ถกเถียงด้วยความรู้เพื่อหาข้อสรุปจริง เอาตัวเข้าไปคลุกเพื่อถามให้ชัดว่า ถ้าจะอยู่ตรงนี้ ต้องรู้อะไร เท่าไหน และหาความรู้ที่ว่าได้อย่างไร 

­

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี, อุบลวรรณ ปลื้มจิตร

ภาพ: เดชา เข็มทอง


     หากพูดถึง หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา หลายคนนึกถึงภาพทะเลสีสวยคู่วัฒนธรรมผสมผสานทั้งจีน ไทย และมุสลิม แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกัน หาดสมิหลากำลังเจอกับปัญหา ไม่สิ… ต้องเรียกว่าเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน

     ย้อนกลับไปราวปี 2543 กับการกัดเซาะชายหาดรุนแรง หน่วยงานรัฐแก้ไขด้วยการก่อสร้างโครงสร้างแข็งกันคลื่นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยิ่งซ้ำปัญหา ทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น

     หากค้นข้อมูลเกี่ยวกับข่าวข้างต้น ชื่อของ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี เป็นต้องขึ้นมาอันดับแรกๆ และหากคลิกคำค้นในหมวดรูปภาพ คุณอาจได้พบกับน้ำนิ่งตั้งแต่ครั้งใส่กางเกงนักเรียนสีน้ำเงินขณะอยู่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ไล่เรื่อยถึงภาพปัจจุบันที่เติบโตสูงใหญ่ประกอบบทความของงานเกี่ยวกับหาดและการพัฒนาสังคม

อภิศักดิ์ ทัศนี

     โครงการแรกที่น้ำนิ่งกับเพื่อนทำ คือโครงการ Beach for Life ศึกษาปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็งบนหาดสมิหลา บนฐานความร่วมมือของ ‘เยาวชน’ ในจังหวัด แม้ขณะนั้นเขาเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม.5 แต่ทำงานกับชายหาดจริงจังขนาดที่ว่ามีการ call for action หรือ ออกไปหาเครือข่ายร่วมกับเพื่อนและพี่จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 9 สถาบัน เพื่อร่วมศึกษาและธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 1 ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2557 เพื่อใช้สำหรับเปิดโอกาสให้คนสงขลามีส่วนร่วมในการดูแลหาดสมิหลา ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลา ทีมงานต้องลงพื้นที่จริงเพื่อรับฟังปัญหา รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานวัฒนธรรมของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ

     แม้ชื่อของน้ำนิ่งและโครงการ Beach for Life จะไม่ได้โด่งดังเป็นที่รับรู้ของคนทั้งประเทศจนหยุดยั้งการใช้โครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายหาดได้จริง แต่ความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้สร้างการตื่นตัว ความรู้สึกฮึกเหิม ส่งต่อความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรของพวกเขาให้คนในพื้นที่ สำคัญที่สุด เวลานั้นน้ำนิ่งสร้างพลังเยาวชนจังหวัดสงขลาได้จริง

     เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่เขายังทำงานอย่างต่อเนื่อง The Potential มีโอกาสพบน้ำนิ่งในวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังทำเวิร์คช็อปพัฒนาเยาวชนในพื้นที่โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา–ทำ อย่างที่เคยถูกปฏิบัติและฝึกครั้งเป็นนักเรียนชั้น ม.5

     แม้การพูดคุยครั้งนี้คล้ายการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบทั่วไป แต่ระหว่างทางของบทสนทนากลับเป็นประโยชน์ เห็นวิธีคิด การทำงาน และการเติบโตของคนคนหนึ่งบนฐานการทำงานพัฒนาชุมชนว่าถูก ‘ก่อร่าง’ จนเติบโตขึ้นและมี ‘วิธีคิด’ ต่องานของพวกเขาอย่างไร 

­

ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง

     ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม และผู้ประสานงานโครงการ Beach for Life เฉพาะที่สงขลาฟอรั่ม เราทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา (The Young Citizen) กับทางมูลนิธิสยามกัมมาจล อีกหนึ่งโครงการเป็นงานวิจัยของสงขลาฟอรั่มเอง ทำประเด็น inclusive cities คือพยายามดึงภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเมือง

            อภิศักดิ์ ทัศนี2

­

คุณเพิ่งเรียนจบโปรแกรมการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้

­

     เพราะตอนนั้น (ปี 55) โครงการเกี่ยวกับชายหาดที่ทำอยู่ยังไม่จบ คิดว่าคงใช้เวลาอีกนานเลยอยากเรียนใกล้บ้านเข้าไว้ ตอนนั้นเราได้ทุนไปเรียนที่จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล แต่ไม่ไป

­

จากมุมคนนอก ถ้าเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาฯ ดูจะตรงสายกับโครงการ Beach for Life ที่ทำอยู่ แถมได้ทุนเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาพัฒนาชุมชนที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน


     ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่า แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ใช้ input กับคน แต่หน้างานที่ปฏิบัติจริง สิ่งที่ใช้คือกระบวนการทางสังคมแทบทั้งหมดเลย เช่น ทำให้คนมีความรู้ทำยังไง? ทำให้ชาวบ้านมานั่งคุยกัน มีส่วนร่วม ทำให้คนคิดต่างเขาคิดเหมือน การจัดการเรื่องความขัดแย้ง ทั้งหมดนี้ทำยังไง? พวกนี้คือความรู้ทางสังคมศาสตร์ทั้งหมดเลย

     แชร์อย่างนี้ว่า เราเคยทำโครงงานวิจัยวิทยาศาสตร์เรื่องสารก่อมะเร็งในระบบผลิตน้ำประปา ได้รางวัลด้วยนะ แต่หลังจากนั้นงานวิจัยเราตั้งหิ้งเลย จบงานวิจัยแล้วก็จบไป ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่โปรเจ็คต์ที่ทำแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต้องทำกับชุมชน สำหรับเรา ความรู้สายสังคมจำเป็นมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การเรียนเรื่องกระบวนการทำงานกับชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เราอยากทำความเข้าใจ เลยรู้สึกว่าสาขาพัฒนาชุมชนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

อภิศักดิ์ ทัศนี3


ความเข้าใจที่ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความรู้ด้านสังคม’ ได้มาตอนไหน เพราะเข้าใจว่าตอนตัดสินใจเรียนต่อ คุณยังอยู่ชั้นมัธยมอยู่เลย

     ผมว่ามันมาช่วงตอนทำธรรมนูญเยาวชนฯ นะ โดยเฉพาะช่วงหลังลงสำรวจชุมชนคลองแดน (อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา) นั่งคุยกับชาวบ้านที่คลองแดนตอนปีแรก เรารู้สึกกับมันเยอะ เห็นเลยว่าคลองแดนเป็นชุมชนที่เขาสร้างกติกาชุมชนและทำอะไรได้เยอะมาก เขาไม่เห็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อะไรเลย หรือตอนเราลงชุมชนเก้าเส้ง (อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา) ก็รู้สึกว่าการลงไปคุยกับชุมชนมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่า โครงสร้างแข็งคืออะไรแล้วเขาจะฟัง นึกออกไหม? เลยรู้สึกว่าเราน่าจะเรียนอะไรที่เกี่ยวกับพวกนี้

     ตอนที่คิดว่าจะเรียนอะไรต่อ เรามองหลายสาขามาก เช่น สาขาสันติศึกษา แต่ว่าเปิดเฉพาะปริญญาโท แต่เอาจริงๆ ตอนนั้นมันไม่ได้คิดถึงขนาดนี้หรอกนะฮะ คิดแค่ว่าประหยัดค่าเทอม ขอเรียนใกล้บ้าน เรียนแล้วต้องมีเวลาเยอะๆ เพราะจะทำเรื่องหาดต่อ ซึ่งมันต้องใช้เวลา ต้องโดดเรียนมาทำงานได้ เพราะถ้าทำแค่เสาร์-อาทิตย์ไม่พอแน่ๆ

­

เด็ก ม.5 คนนั้น ไม่ได้มองสิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่โครงการฯ ในแง่พื้นที่ทดลองหรือฝึกวิชาของเยาวชน?


ไม่ได้มองเป็นแค่โครงการ ฝันของเราคือทำให้คนมีความรู้เรื่องชายหาด อยากให้หาดกลับมาเหมือนเดิม ตั้งใจไว้ว่าทำแล้วมันต้องเห็นผล ไม่อยากทำแค่ให้ได้คำตอบแต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

­

     เหมือนตอนทำวิจัยสารก่อมะเร็งในระบบผลิตน้ำประปา ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเลย ขนน้ำเองอะไรเอง แล้วมันก็ตั้งหิ้งเป็นเอกสารอยู่ตรงนั้น

     มันอาจจะไม่ได้คิดชัดขนาดนี้ตั้งแต่ทีแรกนะ แต่มีคนช่วยทำให้เราคิดชัดขึ้นเยอะมาก อย่างเช่นป้าหนู (พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม) อาจารย์สมปรารถนา (สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อาจารย์สมบูรณ์ (ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) และพี่ๆ หลายคน 

­

เล่าบรรยากาศตอนนั้นให้ฟังได้ไหมคะ ว่าเด็ก ม.ปลาย คนหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศแบบไหน จึงมีความคิดเข้มข้นขนาดนี้


     จริงๆ ช่วงนั้น เรื่องชายหาดที่มันเข้มข้นในตัวเองด้วยนะ มีช่วงสถานการณ์ว่าจะวางกระสอบทรายหรือไม่ มีเรื่องข้อเสนอเรื่องเติมทราย ป้าหนูเองก็เชิญคนมาร่วมพูดคุยกันบนเวทีบ่อยมากและเราก็ไปร่วมแทบทุกเวทีเลย อาจารย์สมบูรณ์ อาจารย์สมปรารถนาก็ให้ความรู้เราเยอะมาก รู้สึกเลยว่า โห… ทำไมทั้งชีวิตมันมีแต่เรื่องชายหาดขนาดนี้

     ที่พีคสุดคือเหตุการณ์ลุงพีระ (พีระ ตันติเศรณี)* โดนยิง ก็เป็นจุดที่ทำให้รู้สึก ‘เอ๊ะ’ ว่าจะไปต่อหรือหยุดดี สุดท้ายเราก็ไปต่อเพราะเพื่อนยังไปต่อ หลายเรื่องมากๆ ประกอบกัน และเราเองก็เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามอง มันเลยรู้สึกว่าเราต้องทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สงขลาฟอรั่มเองก็ทำกระบวนการกับเราอย่างเข้มข้น เวลาพี่ตั้งคำถามกับเรา เราก็รู้สึกว่ามันจะต่างจากคนอื่นมากเลย

­

อภิศักดิ์ ทัศนี4

คำถามแบบไหน?

­

     เราฝันอยากเห็นอะไร? การทำธรรมนูญจะมีอิมแพคอะไร? หรือการที่อาจารย์มาให้ไอเดียว่าต่างประเทศเขาทำ beach monitoring กันแล้วนะ แล้วของเรานี่จะยังไง? คือมันมีการตั้งคำถามเพื่อให้คิดต่อ และเสนอตัวอย่างให้เห็น ทั้งหมดมันคือกระบวนการทำให้เราชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่

­

พูดได้ไหมว่า ข้อเสนอทุนเรียนต่อในวันนั้นจึงไม่ได้สำคัญแล้ว เพราะเราเองมีความรู้ในมือ และชัดเจนด้วยว่า เราอยากรู้อะไร ต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติม

­

     เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปเรียนสาขาเฉพาะ เช่น ตอนนี้คนมักจะบอกว่า “น้ำนิ่งควรเรียนกฎหมายนะ เพราะว่าเข้าใจกฎหมายเยอะมากเลย เข้าใจนโยบายสังคม นโยบายสาธารณะ” แต่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนเลย เพราะเราเรียนรู้ระหว่างทางได้ตลอด

     เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้กฎหมายแพ่งเพราะเราไม่ได้ใช้กฎหมายแพ่ง เราใช้กฎหมายปกครอง เราเรียนรู้เรื่องสิทธิมากกว่าที่จะไปเรียนรู้กฎหมายทั้งหมด เราเลยรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนให้ลึก เรียนให้ลึกหมายความว่าเรียนให้เข้าใจหลายๆ เรื่อง แต่ว่าเรียนสักเรื่องหนึ่งให้มันลึก เรียนเรื่องสิทธิก็ให้มันลึกเรื่องนี้ไปเลย

    อย่างการพัฒนาชุมชน ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับชุมชนแท้ๆ เลย เรื่องมานุษยวิทยา สังคมวิทยา เราก็ไม่ได้สนใจ เราสนใจตัวกระบวนการ สนใจเรื่องเครื่องมือที่จะเอามา apply กับงาน สนใจเรื่องการจัดวงคุยกับคนเพื่อให้คนได้คุยกันอย่างทั่วถึงมากกว่าที่จะไปสนใจทฤษฎีทางสังคมอย่างเดียว เราเลยรู้สึกว่าเรื่องเรียนมันไม่ได้เป็นเรื่องหลัก

­

และความเป็นจริงในสาขาวิชาเท่าที่เรียนมา การเรียนในห้องไม่ได้ตอบโจทย์ความรู้ที่เราจะเอาไปใช้ได้เลยเพราะมันเรียนแค่หลักการ แต่ถ้าเราได้ลงมือทำจนเข้าใจหลักการ มันจะไปได้หมดเลย

­

     เช่น เข้าใจเรื่องหลักการพัฒนาชุมชน เรื่องปรัชญาพัฒนาชุมชน เรื่องมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค เขาจะพัฒนาได้เมื่อได้รับโอกาส ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ เราก็จะทำงานได้โดยที่มีแก่นแกนของเราอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเครื่องมือเจ็ดชิ้น อันนั้นมันหาเอาตอนไหนก็ได้ เรารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมด ตัวที่เอามาทำงานต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นแก่นแกนของมหาวิทยาลัย แก่นแกนที่อาจารย์บอกชัดขึ้น

­

อภิศักดิ์ ทัศนี5

การได้มีพื้นที่การเรียนรู้แบบนั้น หมายถึงการทำโครงการนอกห้องเรียน ณ อายุเท่านั้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของคุณไหม?

­

     เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนนะ เพราะก่อนหน้านั้นผมทำโครงการกับชุมชนอยู่ก่อนก็จริง แต่มันไม่ได้เป็นพื้นที่ให้เราได้ลองอย่างเป็นพื้นที่ของเราจริงๆ แต่โครงการฯ นี้มีพื้นที่ให้เราได้ลอง มีงบให้ มีพี่เลี้ยงให้ มีคนคอยทำให้มันชัดขึ้น และมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พอทำจริงเห็นความล้มเหลวกับความสำเร็จ ไอ้ความล้มเหลวมันถูกใช้เป็นตัวตั้งและท้าทายเราต่อ ปีนี้ยังทำไม่สำเร็จ ปีหน้าจะไปต่อไหม? ขณะที่ก่อนหน้านั้น เราไม่เคยมานั่งทำอะไรแบบนี้ ทำเสร็จแล้วก็แล้วไป

     อีกอันที่ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือหนังสือเรื่อง การเมืองภาคพลเมือง ที่ป้าหนูยื่นให้ช่วงทำธรรมนูญเยาวชนฯ หนังสือเล่มนี้บอกอะไรหลายอย่างถึงเรื่องการลงมือทำของคนเพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนที่ตัวเองอยู่ เลยรู้สึกว่าการกระทำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มันมีทางนะ เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าต้องทำเอง ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ได้ ต้องทำให้มันชัดนะ แล้วองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เรื่องงบ พี่เลี้ยง เรื่องความรู้ที่ได้จากนักวิชาการ มันเป็นจุดที่มาซัพพอร์ตทำให้เราทำมาอย่างต่อเนื่อง

­

เราเคยถูกตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของสิ่งที่ทำด้วยหรือเปล่า แปลกใจว่าทำไมเด็กคนหนึ่งถึงอินเรื่องเมือง ชุมชน สังคม ไม่ค่อยพูดเรื่องของ ‘ฉัน’ สงสัยว่ากระบวนการโค้ช ตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของสิ่งที่เราทำด้วยไหม


     จริงๆ ชีวิตผมก็มีเรื่องฉันนะ ฉันจะเที่ยว ฉันจะนู่นนี่นั่น แต่เรื่องฉันมันอิ่มพอดีแล้ว รู้สึกว่าเรามีแรงที่จะทำเพื่อเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องหาดก็คือเรื่อง ‘ฉันฝันอยากจะเห็น’ นะ เหมือนฝันว่าเราจะเรียนจบปริญญาน่ะครับ

­

    แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าการเรียนจบปริญญามีค่าสำหรับผม แต่ถ้าหาดมันกลับมา มันโคตรมีค่าเลยนะ การได้หาดกลับคืนก็เหมือนเราได้ปริญญาใบนึง และมันตอบสนองความท้าทายบางอย่างในตัวเองเหมือนกัน

­

อภิศักดิ์ ทัศนี6

                                       

­

     อย่างช่วงนี้ผมทำเรื่องเมือง ป้าหนูจะถามว่าเมืองเป็นยังไง เราเห็นอะไรบ้างที่ไม่โอเค? ซึ่ง มันมีหลายเรื่องมากเลยนะที่เราไม่โอเคแต่เราไม่มีโอกาสได้ลงมือทำ ชีวิตเราต้องอยู่กับเรื่องพวกนี้นะ เราเห็นความเฮงซวย ความไม่พอใจบางอย่างที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมัน และเราก็ทนไม่ได้ที่จะเห็นมันเป็นอย่างนั้น เวลาคนบอกว่าทำเพื่อส่วนรวม ผมรู้สึกว่าจริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนรวม ‘จ๋า’ ขนาดนั้น จริงๆ มันคือเรื่องส่วนตัวนี่แหละเพราะเราอยู่ในสังคมนี้

­

เข้าใจว่าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้จากการปฏิบัติมาพอสมควร พอไปเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง


     เป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่ชอบกิจกรรมมหาวิทยาลัยเลย เพราะกิจกรรมมหาวิทยาลัยมันกดทับเราสุดๆ ช่วงแรกผมเข้านะเพราะอยากรู้ว่ามันคืออะไรจะได้ไม่วิจารณ์อย่างคนไม่รู้ แต่พอหมดเทอมแรกก็ไม่เข้าอีกเลย ทำอารยะขัดขืน แล้วหลังจากนั้นก็โดนแกล้งตลอดแต่ก็ยืนหยัดได้ อาจเพราะสงขลาฟอรั่มสอนให้เราเป็นคนไม่สยบยอมน่ะ

     เราทำเรื่องความเป็นพลเมือง อะไรที่มันไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง เราจะไม่สยบยอม แต่เราจะมีวิธีของเราที่จะพิสูจน์ว่ามันคืออะไร ถ้าให้ผมไปคลาน ให้ผมไปลอกคลองดีกว่า ถ้าผมต้องโดนพี่ว้าก ให้ผมไปตัดต้นไม้ แต่งอาคาร กวาดขยะ อะไรแบบนี้จะดีกว่า

     กับเรื่องการเรียนในห้อง ผมเรียนพัฒนาชุมชน คลองแดนเป็นชุมชนหนึ่งที่ถูกยกตัวอย่างบ่อยมากในข้อสอบ ซึ่งการที่เรามาคลุกอยู่กับสงขลาฟอรั่ม เราเห็นอยู่ว่าชุมชนคลองแดนเป็นยังไง ข้อสอบถามว่า ‘ชุมชนเข้มแข็งคืออะไร ให้ยกตัวอย่าง’ ‘กระบวนการมีส่วนร่วมคืออะไร และจะสร้างการมีส่วนร่วมได้ยังไง’ โห… ชิลมากฮะ เราเข้าใจอยู่แล้วว่าชุมชนเข้มแข็งคืออะไร เห็นภาพอยู่ว่าคลองแดนคือชุมชนเข้มแข็งได้เพราะอะไร เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม เราลองผิดลองถูกจากงานเราอยู่แล้ว รู้ว่าบทเรียนมันคืออะไร เชื่อมทฤษฎีไปสู่เรื่องราวของสังคม จากเรื่องราวของสังคมกลับมาสู่เรื่องงานของเรา

­

เรียกว่าเป็นการสรุปการทำงานของตัวเองลงข้อสอบกันเลยทีเดียว

     ใช่ฮะ (ยิ้ม)

­

ตอนนี้เรียนจบแล้ว แล้วก็มีเวลาทำงานตามความตั้งใจอย่างเต็มที่ ‘สาแก่ใจ’ แล้วไหม

     ถ้าไม่นับการทำงานตอนเป็นน้องในโครงการ ก็ทำงานมาปีนี้ เป็นปีที่ห้าที่หกแล้วนะ จากน้องกลายมาเป็นผู้ช่วย เป็นพี่ เป็นโค้ช ตอนนี้กลายมาเป็นคนที่ต้องดูทั้งหมดรวมถึงงานวิจัยด้วย ถึงสงขลาฟอรั่มจะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่เราก็รู้สึกว่าเติบโต ทั้งตัวงาน ทั้งวิธีคิดมาเรื่อยๆ มันก็ ‘สาแก่ใจ’ นะ แต่ก็ยังรู้สึกว่า ‘ไม่จบ’ ยังมีความฝันอยากถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาเป็นงานเขียนดีๆ อยู่อีก 

­

             อภิศักดิ์ ทัศนี7

­

คิดว่าหลักใหญ่ใจความ ในการเติบโตของมนุษย์ ของเยาวชนคนหนึ่งที่มีจิตสำนึกพลเมืองแบบนี้ มันมาจากอะไรบ้าง

­

     โอกาสในการพัฒนาคนมันมีหลายเรื่องมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น ป้าหนูเชื่อในตัวผม แม่เชื่อในตัวผม ว่าผมเรียนรู้ลงมือทำและเติบโตได้ มันคือหัวใจของกองไฟ คือจุดที่สว่างที่สุดของกองไฟ ถ้าเชื่อเรื่องนี้แล้ว ทุกอย่างจะโชติช่วงหมดเลย

     ซึ่งถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราย่อมให้โอกาสเขาไปเรียนรู้ ผมได้รับโอกาสเยอะมากเลยนะ ทั้งที่บางเรื่องทำแล้วมันต้องพลาดแน่ๆ แต่ก็ยังได้รับโอกาส แม้จะพลาดนะ แต่โค้ชค่อยๆ เอามาตี ทำให้ค่อยๆ โต เม็ดเงินก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเดินไปได้อย่างราบรื่นนะ แต่มันก็ไม่ควรโปรยหว่านให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ต้องเจอปัญหาบ้าง เพื่อให้ได้คิดและเรียนรู้

     แล้วก็เอื้อเฟื้อความสะดวกให้เขา โยนหนังสือดีๆ ไปให้เขา ตั้งคำถามคมๆ ให้เขา สร้างแรงเสียดทานบ้างเล็กน้อยให้เขา มันจะได้รู้สึกว่าระหว่างทางไม่ได้สบายเกินไป หรือถ้าให้มันลำบากเกินไปมันก็หมดพลังที่จะทำ คือมันต้องมีทั้งแรงเสียดและก็มีน้ำมันคอยหล่อลื่น และถ้าทุกคนได้โอกาสแบบนี้ มันจะเกิดคนที่เติบโตงอกงามอีกเยอะมากเลย

     ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สงขลาฟอรั่มทำคือ กลับมาทบทวนว่าอะไรคือจุดบกพร่องและความสำเร็จที่มันเกิดขึ้น จุดบกพร่องคือความท้าทายไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่จะจมปลักอยู่ตลอดแล้วก็กักขังตัวเองว่าฉันทำไม่ได้แล้ว แต่มันคือความท้าทายที่จะก้าวต่อเมื่อฉันได้รับโอกาส 

อภิศักดิ์ ทัศนี8

     ถ้ามันเกิดแบบนี้ขึ้นกับเด็กทุกคนนะ มันจะเกิดสิ่งสร้างสรรค์อีกเยอะมากเลย เหมือนผมที่สร้างสรรค์อะไรได้เยอะมากเลย แล้วเราก็ภูมิใจที่เราได้สร้างสรรค์เรื่องหาดและเรื่องต่างๆ เพราะเราได้รับโอกาสแบบนี้

     *พีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา ถูกยิงเสียชีวิตด้วยอาวุธสงครามกลางเมืองสงขลา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จากเหตุความขัดแย้งโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาบริเวณหาดแหลมสนอ่อน เนื่องจากเกรงว่าการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และนายพีระมีเจตนาต้องการอนุรักษ์ป่าสนผืนสุดท้ายกลางเมืองสงขลาไว้ 

อ้างอิง:

ปัญหาการกัดเซาะ

Beach for Life

ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่