ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ : โค้ชแห่งแม่กลอง ผู้ใช้สวน-แม่น้ำ-ชุมชนเป็นโรงเรียนรู้ตลอดชีวิต

โค้ชแห่งแม่กลอง ผู้ใช้สวน-แม่น้ำ-ชุมชนเป็นโรงเรียนรู้ตลอดชีวิต

­

­

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี, อุบลวรรณ ปลิ้มจิตร

ภาพ: The Potential

­

­

  •      สวน แม่น้ำ ชุมชน คือวัตถุดิบสำคัญที่ ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการ Active Citizen ของสมุทรสงครามและราชบุรี นำมาใช้ในห้องเรียนกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่แม่กลอง
  •     ตั้งต้นจากเรื่องใกล้ตัวที่เขาสนใจ คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านการทำโครงการ หรือ Project Based Learning แบบไร้การบังคับให้เลือกหัวข้อ โค้ชหรือพี่เลี้ยงทำหน้าที่เพียงกระตุ้นต่อม ‘เอ๊ะ’ ช่วยชี้แนะและพาให้เขาได้สัมผัสกับเรื่องราวในชุมชน
  •     หัวข้อทั้งหมดล้วนใกล้ตัว อย่าง น้ำขึ้นน้ำลง พระจันทร์ขึ้น หรือดวงอาทิตย์ตก เพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุดนี่แหละคือชีวิตในอนาคตของพวกเขา
  •     จากการได้ลงมือทำ ผลที่ตามมาคือ การเท่าทันปัญหาแบบมีเหตุมีผล คิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความซับซ้อนสูง

    

     หากพูดถึง องค์กรพัฒนาเอกชน (Non Government Organization-NGO) ที่ทำงานประเด็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและจังหวัดข้างเคียง ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หรือ ธเนศ ผู้บริหารโครงการ Active Citizen ของสมุทรสงครามและราชบุรี คือชื่อลำดับต้นๆ บนทำเนียบคนทำงาน ในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ด้วยวัตถุดิบในชุมชน ธเนศไม่ใช่แค่ ‘ครู’ นอกห้องเรียนของเด็กๆ แต่ในสายตาคนทำงาน เขาคือมือหนึ่งในการสร้างเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่และรู้ว่าจะทำให้เครือข่ายเหนียวแน่นได้อย่างไร

ชิษณุวัฒน์ศรีมณีขำ

     บ่ายวันอาทิตย์ริมแม่น้ำแม่กลอง The Potential ฉกตัวธเนศจากห้องเวิร์คช็อปเด็กๆ ในโครงการ Active Citizen ชวนคุยถึงวิธีคิดและการออกแบบโครงการที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พัฒนาตัวเองผ่านการทำโครงการ (Project Based Learning) เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ได้มีประสบการณ์จริงจากเรื่องใกล้ตัวในชุมชน และไม่ได้ล้าหลังดั่งภาพจำเวลาพูดถึง ‘การทำงานชุมชน’ เขาเชื่อว่านี่คือพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างทักษะชีวิตจากประสบการณ์จริง เป็นพื้นที่ติดอาวุธ ‘การคิดเชิงระบบ’ (Thinking Systems Thinking) ในเยาวชนอย่างได้ผล

     ก่อนจะว่ากันถึงตรงนั้น ธเนศเท้าความกลับไปราวปี 40 ท่ามกลางวิกฤติฟองสบู่ที่ทำให้เขาและคนจำนวนหนึ่งกลับบ้าน ธเนศคล้ายคนส่วนใหญ่ที่ออกจากแม่กลองเพื่อไปเรียนหนังสือในเมืองหลวง เมื่อกลับบ้านมาได้พบกับคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเยาวชน จับมือพาเขาทบทวนที่มาที่ไปในบ้านเกิดตัวเอง สิ่งที่เคยเป็นเรื่องธรรมดาอย่างรสชาติของน้ำที่แตกต่างตามช่วงเวลา (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) ไปจนถึงเหตุผลการล่มสลายของอาชีพชาวสวนในแม่กลอง ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แม้มีความรู้ได้ใบปริญญา แต่ไม่เคยมีช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับความรู้จากเรื่องใกล้ตัว

     การได้กลับบ้าน การมีผู้ใหญ่ในแม่กลองพาทบทวนสถานการณ์ตรงหน้า มีคนมาบอกถึงวิกฤติที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิดต่อไป ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองหนักๆ ว่า การศึกษาแบบไหนที่จะทำให้คนไม่เพิกเฉยกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน ทรัพยากรของแม่กลองทั้งธรรมชาติและคนจะเป็นอย่างไรหากไม่มีคนลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งที่เริ่มจากคนใน และอะไรคือตัวแปรที่จะทำให้สถานการณ์ที่ว่ามานี้ไม่เกิดหรือเกิดน้อยที่สุด

     คำตอบคือ …คน ต้องมีสักคนที่ลุกขึ้นมาทำงานกับทรัพยากรบุคคล กับเยาวชน อย่างน้อยๆ เขาอยากเป็นคนนั้น

    นั่นคือจุดตั้งต้นที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่แม่กลอง

    

สถานการณ์เยาวชนในแม่กลองช่วงเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ (ปี 2543) เป็นอย่างไร

     ต้องเล่าย้อนถึงวิกฤติแม่กลองที่ทำให้คนแม่กลองจำนวนหนึ่งเข้ากรุงเทพฯ รวมถึงพี่เข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตอน ม.3 คือวิกฤติน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เมื่อปี 2525 ทำให้อาชีพสวนตาล สวนผลไม้ สวนมะพร้าว มันล่มสลาย หลายคนเปลี่ยนอาชีพหรือออกไปทำงานในเมือง แต่ว่าตอนนี้ระบบนิเวศน้ำกลับเป็นปกติ แต่ถามว่าเราเข้าใจถึงวิกฤติน้ำในครั้งนั้นไหม ตอนนั้นเราไม่เข้าใจ

     น้ำเค็มเกิดจากการสร้างเขื่อนที่กาญจนบุรี ประกอบกับเหตุการณ์ภัยแล้งในช่วงนั้น น้ำที่เคยไหลมาดันน้ำเค็มไม่ให้เกินที่อัมพวาจึงไหลมาไม่ได้ น้ำเค็มทะลักเข้าไปในสวนทำให้อาชีพเกษตรกรขณะนั้นล่มสลาย แต่มันเป็นการเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลานั้น หลังเขื่อนเก็บน้ำได้แล้วมันก็กลับมาเหมือนเดิม แต่ระหว่างนั้นคนย้ายถิ่นฐาน คนเปลี่ยนวิธีคิดไปหมดแล้ว ตอนนั้นมันมีความคิดเกิดขึ้นกับชาวบ้านแล้วว่าต้องส่งลูกเรียนสูงๆ เพราะอาชีพเกษตรกรไปไม่รอด เลี้ยงตัวเองไม่ได้ อย่างบ้านพี่แม้จะพอมีฐานะและเลือกที่จะไม่ย้ายไปที่อื่น เราก็กลายเป็นคนที่มีหนี้สิน เสียที่ดินเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงพวกนี้

     ทีนี้ปัญหาพวกนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ใหญ่ เมื่อพ่อแม่ไปทำงานกรุงเทพฯ ทำงานที่โรงงานต่างจังหวัด ทิ้งเด็กไว้กับปู่ย่าตายาย ซึ่งเด็กก็ถูกส่งให้ไปเรียนหนังสือท่ามกลางปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ทุกคนไขว่คว้าอยากเรียนสูงๆ โดยละทิ้งภูมิปัญญา ละทิ้งเรื่องราวอาชีพเกษตรในท้องถิ่น พี่เองก็ถูกสอนเลยว่าต้องเรียนสูงๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาทำอาชีพแบบนี้ ฉะนั้นเด็กถูกปลูกฝังเรื่องนี้มาตลอด รถตู้เข้ากรุงเทพฯ เต็มหมดในวันเสาร์-อาทิตย์เพราะเด็กถูกส่งไปเรียนพิเศษในเมือง วัยรุ่นหรือวัยกลางคนในแม่กลองจะหายไปเพราะย้ายตัวเองไปอยู่ที่อื่นหมดเลย ที่เหลืออยู่เป็นคนแก่หรือวัยรุ่นวัยกลางคนที่อาจมีคุณภาพน้อย เพราะคนเก่งๆ ถูกส่งเข้าไปอยู่ในเมืองหมด เราเลยรู้สึกว่าเรื่องเด็กเยาวชน การดูแลฐานทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญมาก

­

นอกจากสถานการณ์ทรัพยากรคนรุ่นใหม่ในแม่กลองที่ส่อแววไม่สู้ดี มีเหตุผลอื่นอีกหรือเปล่าที่สะกิดให้คุณให้ความสำคัญกับงานพัฒนาเยาวชน

    ตอนนั้นมีโครงการหนึ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่’ โดย อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ (อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรและนักเขียนบทความอิสระ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเมืองและพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม) ลงมาทำงานเรื่องชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ แม่กลอง มีวีดิทัศน์เรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนชีวิตส่วนตัวของเรามาก คือพูดถึงการมองแม่กลอง พูดถึงอาชีพในแม่กลองว่าเป็นอาชีพที่เด็กไม่ได้สนใจแล้ว ทำให้เราตั้งคำถามว่า ที่เด็กไม่สนใจเพราะเขาไม่รู้รึเปล่า ไม่รู้เหมือนที่เราไม่รู้ตอนย้ายออกไปเรียนที่กรุงเทพฯ เราไม่รู้ว่าบ้านเรามีคุณค่าอะไร โครงการนี้ทำให้พี่รู้สึกว่า “ไม่รู้ล่ะ แต่ฉันต้องทำงานให้เยาวชนรู้เรื่องพวกนี้” ปลูกฝังให้เขารักบ้านเกิด ให้เข้าใจว่าบ้านเกิดมีดีอะไร

­

วิธีคิดที่อยากให้เด็กเข้าใจบริบทชุมชนและเห็นคุณค่า นำมาซึ่งการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างไร

     สมัยยังทำโครงการเยาวชนรักแม่กลอง เราพาเด็กเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำและสร้างเครือข่ายของกลุ่มให้เข้มแข็ง แต่พอทำไปได้ระยะหนึ่งกลุ่มเยาวชนรักแม่กลองก็ซบเซา เพราะเป็นธรรมดาที่เมื่อเด็กโตขึ้นก็ต้องออกไปเรียนต่อในเมืองหรือไปทำงานข้างนอก เลยทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าหากอยากให้กิจกรรมมันดำเนินอย่างต่อเนื่อง ถ้าอยากสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกทางสังคมติดตัวเขาไปตลอดไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนนั้นต้องทำยังไง จนมาเจอ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ในโครงการ Active Citizen ที่สนใจทำงานเยาวชนในประเด็นชุมชน เลยเป็นที่มาของการออกแบบโครงการทั้งหมด คือเป็นความสนใจส่วนตัวและของโครงการด้วย

     วิธีการออกแบบคือ ให้เยาวชนเลือกเรื่องที่ตัวเองสนใจมาทำโครงการ ออกแบบให้เด็กเรียนรู้บ้านเกิดและท้องถิ่นตัวเอง การเรียนรู้คือการต้องลงไปสัมภาษณ์ ไปพูดคุย ทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ในชุมชน การเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นก็ต้องเป็นเรื่องที่เขาสนใจ ไม่บังคับว่าเขาต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ นึกถึงตัวเราเอง เรื่องที่เราไม่สนใจเราก็ไม่ใส่ใจ แต่เรื่องที่เราสนใจก็จะมุ่งมั่นใส่ใจทำ เหน็ดเหนื่อยเท่าไรก็อยากจะทำ เขาใช้เวลา 3-4 เดือนทำโครงการ และจะมีทีมโค้ชเป็นพี่เลี้ยงให้

­

หน้าที่สำคัญของโค้ชคืออะไร ทำไมการเรียนรู้ลักษณะนี้ต้องมีโค้ช

การทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และทำงานในชุมชนจนสำเร็จและเกิดการเรียนรู้นั้น หัวใจสำคัญคือต้องมีคนคอยกระตุ้น ตั้งคำถาม ให้โอกาส และคอยแนะนำ ให้เขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในชุมชน สำคัญคือการได้ลงมือทำ ได้สัมผัสกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเองตามความสนใจของเขา


    เนื่องจากเด็กๆ ส่วนใหญ่เติบโตมากับการอยู่ในห้องเรียนมากกว่าการได้สัมผัสเรื่องราวในชุมชน เขาอาจยังไม่มีมุมมองและยังไม่เล็งเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เหมือนเราเป็นคนทำหน้าที่กระตุ้นต่อม ‘เอ๊ะ’ ช่วยชี้แนะและนำพาให้เขาได้สัมผัสกับเรื่องราวในชุมชน เราเรียกคนคนนี้ว่า ‘โค้ช’ หรือพี่เลี้ยง และโค้ชก็อาจมีได้ในหลายๆ ระดับด้วย

โค้ชแห่งแม่กลอง

­

หน้าที่สำคัญของโค้ชคืออะไร ทำไมการเรียนรู้ลักษณะนี้ต้องมีโค้ช

     การทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และทำงานในชุมชนจนสำเร็จและเกิดการเรียนรู้นั้น หัวใจสำคัญคือต้องมีคนคอยกระตุ้น ตั้งคำถาม ให้โอกาส และคอยแนะนำ ให้เขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในชุมชน สำคัญคือการได้ลงมือทำ ได้สัมผัสกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเองตามความสนใจของเขา

แต่ภายใต้กระบวนการวิจัยในปีนี้ เราเริ่มที่การตั้งโจทย์ปัญหาก่อน กระตุ้นต่อม ‘เอ๊ะ’ ให้โตขึ้น หลังจากนั้นเขาจะต้องค้นหาวิธีการเพื่อหาข้อมูลและต้องออกแบบกระบวนการวิจัย ออกแบบวิธีการลงไปเก็บข้อมูล ออกแบบวิธีการลงไปพูดคุย เอาข้อมูลไปวิเคราะห์เสียก่อนแล้วจึงค่อยบอกว่าจะแก้ปัญหาหรือหาทางออกกับเรื่องนี้ยังไง

­


ทำไมปีนี้จึงเน้นใช้เครื่องมือวิจัยให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

     เพราะงานวิจัยเป็นเครื่องมือที่เห็นผล เท่าทันปัญหาแบบมีเหตุมีผล และในสังคมยุคใหม่ที่เราต้องการคนที่มีทักษะศตวรรษที่ 21 ที่ต้องคิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความซับซ้อนสูง ถ้าเขาไม่มีข้อมูลรอบด้าน ไม่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบหรือวิธีชั้นสูง เขาจะอยู่ยาก เพราะจะเห็นแค่ปรากฏการณ์แต่ขาดเหตุขาดผล เครื่องมือวิจัยไม่ได้ถูกใช้แค่นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก แต่ใช้กับงานวิจัยในชาวบ้านและในเยาวชน ทำให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีเหตุมีผล คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น มีวิจารณญาณในการตัดสินใจทางเลือกทางออกในการใช้ชีวิตในสังคมที่มันซับซ้อนตรงนี้ได้

­

เวลาได้ยินคำว่าทำงานชุมชน หลายคนติดภาพการทำงานที่ล้าหลัง เด็กที่อยู่ในชุมชนต้องไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกแน่ๆ แต่ฟังกระบวนการแล้วตรงกับเรื่องการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และทักษะที่เด็กได้ในสมัยใหม่เลย

    เราอาจเห็นว่าคนในชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา ทำอะไรเหมือนเดิม แต่ลืมไปว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง อยู่กับเทคโนโลยีที่ต้องเรียกว่าคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเอาจริงๆ เราเรียนรู้กับเรื่องภายนอก ละเลยการเรียนรู้เรื่องพื้นฐานที่เขาเองเดินผ่านไปมาทุกวัน น้ำขึ้นน้ำลง พระจันทร์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก งานวิจัยให้คนเข้าไปหาความจริงที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด และสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุดนี่แหละคือชีวิตในอนาคตของเขา

อยากให้ขยายภาพความเชื่อมโยงระหว่างการทำโครงการในชุมชน กับ ทักษะที่จะเกิดกับเด็กๆ

    เวลาเด็กไปคุยกับชาวบ้าน ถ้าเด็กไม่มีทักษะตั้งคำถาม ไม่มีวิธีคิด ฟังไปก็ได้แค่รับรู้ ภายใต้โครงการ Active Citizen เราฝึกให้เด็กตั้งโจทย์ เด็กต้อง ‘เอ๊ะ’ ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นแล้วลงไปหาคำตอบ ลงไปอยู่กับความจริงในพื้นที่

    มากกว่านั้นคือเมื่อเด็กลงไปหาผู้ใหญ่ เขาจะได้ฝึกอยู่กับคนที่แตกต่างหลากหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติกับคน ความสัมพันธ์ต่อเทคโนโลยีที่เด็กจะเอาไปใช้ในการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เขาจะไปเผชิญ เรากำลังพาเด็กไปเผชิญสิ่งที่เขาไม่เคยเจอในห้องเรียน นี่คือทักษะชีวิต ปัจจุบันเด็กไม่มีทักษะชีวิตเพราะมีคนวางเส้นทางให้เขาเดินหมดเลย เขาไม่เคยผ่านความท้าทาย ผ่านความยากลำบาก แต่โครงการ Active Citizen ที่เรากำลังทำผ่านงานวิจัยพาเขาผ่านความท้าทาย ทำให้เขาอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขาเปิดโลกกว้างไม่ใช่อยู่ในตำราอย่างเดียว ทำให้เขา ‘เอ๊ะ’ และ ‘อ๋อ… มันเป็นแบบนี้นี่เอง’ ด้วยตัวเอง

โค้โค้ชแห่งแม่กลอง

­

ความท้าทายหนึ่งของโครงการคือการทำงานกับเด็กๆ ที่ไม่ได้มีแต้มต่อทางสังคม อยากให้ช่วยขยายภาพเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนรู้ในโครงการ

     ด้วยพ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ทำสวน ออกไปทำงานข้างนอก ค่าใช้จ่ายในชีวิตมันเยอะ ฉะนั้นเขาต้องปากกัดตีนถีบ พ่อแม่ทำอาชีพเดียวไม่พอ นอกจากทำสวนก็ต้องออกไปทำงานข้างนอกด้วย ขณะเดียวกันเด็กในชุมชนก็ต่างคนต่างอยู่ อยู่กับทีวี คอมพิวเตอร์ เงิน เวลาเด็กอยู่ในชุมชน ภาพคือเช้าไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน บางทีไม่ได้เจอพ่อแม่เพราะออกไปทำงาน กลับถึงบ้านเด็กก็หลับไปแล้ว มิติความสัมพันธ์แบบนี้ในสมุทรสงครามมีปัญหาเยอะมาก ขณะเดียวกันเรายังมีปัญหาเรื่องครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งมีความแตกต่างทางอายุอยู่ เด็กกับผู้ใหญ่อาจเรียนรู้คนละยุค เลยทำให้มันมีปัญหาในมิติพวกนี้

     พอไปโรงเรียน การเรียนรู้ในปัจจุบัน เด็กอาจจะไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้มีทักษะที่เราว่ามา ครูเองก็ติดเงื่อนไขต้องสอนให้ครบตามเวลา สอนตามหลักสูตร มันก็ไม่มีคนฝึกทักษะชีวิตให้เด็ก ฉะนั้นการที่เด็กเข้ามาสู่กระบวนการที่เราทำ Active Citizen เลยทำให้เด็กกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าสัก 50 เปอร์เซ็นในโครงการเลยก็ได้ที่มีคาแรคเตอร์ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออก มีภาวะของความกังวล กลัว สับสน หรือคนที่เป็นพี่เลี้ยงเองก็ยังไม่ได้ถูกฝึกให้เข้าใจบริบทสังคมใหม่ แรกๆ เด็กก็จะไม่อยากทำโครงการ ภาระเรื่องเรียนก็เยอะ บางคนมีปัญหาส่วนตัว เด็กที่โตหน่อยก็ต้องไปทำงานหารายได้พิเศษวันเสาร์อาทิตย์ คนดูแลโครงการจึงต้องทำมากกว่าการหาเด็ก

­

ด้วยกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน และทำงานกับเด็กที่อาจไม่พร้อมอย่างที่คุณอธิบาย พบการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

    จากบทเรียน 3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเลยว่าถ้าเด็กผ่านกระบวนการที่เข้มข้นต่อเนื่องและมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ มีพี่เลี้ยงที่เข้าใจ เขามีทักษะการคิดแก้ปัญหา ไม่อ่อนแอ สู้ การเรียนดีขึ้น รับผิดชอบ มีวินัย อะไรพวกนี้มาหมดเลย ขณะเดียวกันมันส่งผลต่อการเรียนด้วยนะ คุณครูตกใจมากบอกว่าที่ผ่านมาเด็กคนนี้ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน แต่พอผ่านโครงการกลับพบว่าเขาเรียนดีขึ้น มีวินัยมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ครูเบาใจขึ้น

     เรียกได้ไหมว่าการทำงานในลักษณะนี้คือการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) วิธีหนึ่ง อยากให้ช่วยขยายความคำว่า ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ และอธิบายว่าโครงการทำหน้าที่นี้ได้อย่างไร

     ปัจจุบันเด็กๆ ส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาที่มาพร้อมกับโลกยุคใหม่ สังคมเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจที่บีบรัดครอบครัว ทำให้ครอบครัวต้องใช้เวลาเพื่อการหาเลี้ยงชีพ ชุมชนต่างคนต่างอยู่ ผิดกับสภาพการณ์จากอดีตที่ครอบครัวเป็นพื้นฐานในการสร้างและพัฒนาการให้เด็ก รวมถึงการที่คนในชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญในการดูแลเด็ก จากเงื่อนไขนี้เองจึงต้องมีการผลักดันให้เกิดกลไกเข้ามาช่วยปกป้อง คุ้มครองเด็ก ซึ่งเราเรียกกลไกนี้ว่า ‘กลไกคุ้มครองทางสังคม’ หลายครั้งเรามองปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น พอไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเราก็ให้ทุน เด็กมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเราก็เอาเขาไปเข้าค่าย ไปฝึกอบรม และเอาทุนให้เขา แต่ลืมไปว่ากลไกการปกป้องคุ้มครองทางสังคมมันต้องสร้างตั้งแต่ตอนที่เด็กเกิดมา ต้องมีกระบวนการปกป้องตั้งแต่ต้นทาง หมายถึงการทำให้คนในสังคมชุมชน พ่อแม่ คนในครอบครัว หน่วยงานต่างๆ ให้เขาเข้าใจว่าการปกป้องคุ้มครองเด็กมีกระบวนการอย่างไร

     หลายครอบครัวดูแลเด็กโดยการให้วัตถุ ให้เงิน ให้ความรู้ในแง่การส่งไปเรียน แต่ไม่เคยให้ความสัมพันธ์ ความเอาใจใส่ดูแล ไม่เข้าใจว่าที่แท้เด็กต้องการอะไรกันแน่ จริงๆ วัตถุอาจไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการ แต่เด็กอยากได้คนที่ดูแลเอาใจใส่ ให้คำแนะนำ เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นคนคอยให้คำแนะนำ แต่กลไกแบบนี้มันอยู่ตรงไหน? ถ้าครอบครัวทำได้ไม่ดีพอ มันจะมีกลไกอื่นไหม เช่น คนในชุมชน อบต. หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาที่เข้าใจเรื่องนี้ และไม่ใช่ทำกันเป็นส่วนๆ แต่ต้องทำแบบเข้าใจร่วมกัน ฉะนั้นโครงการที่เราจะทำ เรากำลังจะหากลไกการปกป้องคุ้มครองทางสังคมไม่ใช่บอกว่านี่เป็นหน้าที่บ้านพักเด็ก นี่เป็นหน้าที่ อบต. ต้องทำสภาเด็ก ส่วนนี้คือหน้าที่ผู้ปกครอง นี่คือหน้าที่ครู และทั้งหมดทำแยกส่วนกัน ไม่ใช่

­

ทำไมงานพัฒนาเด็ก ไม่ได้พัฒนาเด็กอย่างเดียวแต่ต้องทำงานกับพี่เลี้ยง ครู คนในชุมชน อบต. ด้วย

     โครงการมาแล้วก็ไป ประเด็นคือ ถ้าเราสร้างแกนนำชุมชน สร้างเจ้าหน้าที่ อบต. สร้างครู สร้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เข้าใจเรื่องแบบนี้ร่วมกัน ทำยังไงให้เขาทำแบบนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการก็ได้แต่ทำในชีวิตประจำวัน ต้องมีเวที มีการประชุม มีการมาพูดคุยกันถึงสถานการณ์แล้วออกแบบร่วมกัน ที่ผ่านมาคณะกรรมการคุ้มครองเด็กประชุมกันแค่เพื่อดูงบประมาณ แต่ไม่ได้คิดว่าขณะนี้สถานการณ์เด็กเป็นยังไงและจะมีกระบวนการเพื่อทำงานอย่างไร สิ่งที่เราทำคือ เราจะสร้างคนเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นทีมเพื่อทำเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กจริงๆ

     กระบวนการคือต้องเอาพี่เลี้ยงมาอยู่กับเด็ก เรียนรู้กับเด็ก พัฒนาเด็กไปพร้อมกัน เราทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ แต่ต้องสร้างปัจจัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ เราทำต่อเนื่องปีสองปี พอโครงการจบ แล้วเด็กกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาและเดินต่อ มันจะเกิดความยั่งยืน แต่ถ้าโครงการมาปีสองปีแล้วหยุดมันก็ไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าเราเซ็ตระบบแบบนี้ได้และทำอย่างต่อเนื่อง มันจะมีกลไกแบบนี้ทั้งในหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ในอนาคตพี่ว่ากลไกพวกนี้ต้องเกิดต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างให้เขามาดูว่า กลไกปกป้องคุ้มครองเด็กที่เป็นระบบ มันต้องแบบนี้ แยกส่วนไม่ได้

­

จากความตั้งใจแค่อยากทำงานเยาวชนให้เห็นคุณค่าองค์ความรู้ใกล้ตัวที่บ้านเกิด ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ใช่อย่างที่ตั้งใจไว้ไหม เดินมาไกลเกินความตั้งใจของตัวเองหรือเปล่า

     ไม่เกินความคาดหมายนะ เป้าหมายของพี่คือวันหนึ่งต้องมีคนรุ่นใหม่ที่ถึงจะไม่ได้อยู่กับเรา ไม่ได้ทำงานกับเรา แต่เขาก็ถูกติดตั้งความคิดนี้ในชีวิต วันหนึ่งที่เขาต้องเผชิญอะไรบางอย่าง เขาจะเผชิญมันได้อย่างมั่นใจ ขณะเดียวกัน ถ้าบ้านเมืองนี้มีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ คนเหล่านี้พร้อมจะมาช่วย มาดูแล เราอาจพัฒนาเด็กได้ปีหนึ่งแค่ร้อยคน แต่เราเชื่อว่าหนึ่งร้อยคนที่มาทำ จะสร้างคนต่อไปอีกเป็นพันๆ

­

ดูบทความต้นฉบับ