ประมวล ดวงนิล: แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

บทสัมภาษณ์ แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

คุณประมวล ดวงนิล โคชพัฒนาเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ


ผู้สัมภาษณ์

รบกวนประมวลแนะนำชื่อ นามสกุล ตอนนี้ทำบทบาทอะไรในโครงการ

คุณประมวล

ผมชื่อประมวล ดวงนิล เป็นหัวหน้าโครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาเยาวชนด้วยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น


ผู้สัมภาษณ์

โครงการเยาวชนจังหวัดศรีษะเกษได้ทำมาแล้ว 3 ปีที่ผ่านมา

คุณประมวล

ใช่ ทำโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ทำมา 3 ปี


ผู้สัมภาษณ์

3 ปีที่ผ่านมา ประมวลได้บทเรียนหรือได้เห็นผลอะไรบ้างใน 3 ปีที่ผ่านมาที่ทำงาน

คุณประมวล

บทเรียนการทำงานเยาวชน 3 ปี จะเป็นบทเรียนของการทำงานพื้นที่ กระบวนการที่ใช้ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นชุดบทเรียนที่เราเคยถอดบทเรียนว่าการทำงานพื้นที่กับน้องๆ เยาวชนต้องมีรูปแบบวิธีการ หรือต้องมีการเชื่อมเครือข่ายกันอย่างไร สอง คือ การจัดโซนการเรียนรู้ร่วมกันของน้องๆ เยาวชนในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ทำเป็นโซนเพื่อสร้างกลไกในการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างกลไกในการเรียนรู้พื้นที่ด้วยกัน เรียนรู้ปัญหาในระดับโซนร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ด้วยกัน อันนี้เป็นกลไกระดับโซน ตอนนั้นเรามีการขยับในระดับโซน และมีการขยับระดับจังหวัดด้วย แต่มันมีเงื่อนไขหลายตัวในการขยับมาร่วมในระดับจังหวัด เพราะว่าจังหวัดศรีษะเกษค่อนข้างใหญ่และพื้นที่แต่ละโซนค่อนข้างห่างกัน การเดินทางมีค่าใช้จ่ายที่สูง ก็เลยเกิดช่องว่าง ทุนเราเองก็ไม่ค่อยจะมี Gap ตรงนี้ก็เลยทำให้น้องๆ เยาวชนของเราห่างกันไปเรื่อยๆ


ผู้สัมภาษณ์

ความสำคัญของการที่เราจัดโซน และแต่ละโซน ประมวลแยกโซนอย่างไร

คุณประมวล

ความสำคัญในการแยกก็คือเราใช้พื้นที่เลย อำเภอใกล้เคียง ชุมชนใกล้เคียงกันเลย ตอนที่เราทำเป็นโซนมี 3 โซน มีทางโซนห้วยเมืองใส ก็จะเป็นอำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมือง และอำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งรวมกัน 3 อำเภอ ซึ่งใช้พื้นที่อำเภอใกล้กัน ติดกัน การเดินทางไปมาหาสู่กันไม่ยาก แล้วก็มีโซนขุนหาร และโซนปรางค์กู่กับขุขันธ์ที่ใกล้กัน เป็น 3 โซน


ผู้สัมภาษณ์

พอเราทำเป็นโซนใน 3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้น กลไกสำคัญที่ยังอยู่กับเราถึงตอนนี้คืออะไร

คุณประมวล

กลไกสำคัญคือการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ที่เรายังมีอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ คือ เรื่องเครือข่ายพี่เลี้ยง เครือข่ายเด็กบางส่วนที่ยังอยู่ในชุมชน อันนี้เป็นกลไกที่ส่งผลมาจากที่เราทำงานในตอนนั้น มาจนถึงปีนี้ที่เราทำ เราก็ยังเชื่อมประสานไปถึงเครือข่ายที่ยังอยู่ในโซนนั้น ทั้งพี่เลี้ยง ทั้งเยาวชน ในการที่จะทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดในปีนี้อีก


ผู้สัมภาษณ์

เด็กส่วนใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง พอจบไปแล้ว ยังมีเด็กหลงเหลืออยู่ไหม เป็นอย่างไร

คุณประมวล

ตอนนี้ยังอยู่หลายคน มีบางส่วนที่ต้องขยับออกจากชุมชนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็ยังติดต่อสื่อสารกันอยู่ และจะมีน้องที่อยู่คือบางส่วนเข้าร่วมโครงการใหม่ บางส่วนก็ไม่ได้เข้าร่วม แต่เราก็ชวนมาเป็นพี่เลี้ยง มาเป็นสตาฟช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง แต่ละเวที มาเป็นผู้ช่วยสันทนาการ ช่วยลงกลุ่มย่อย ช่วยเป็น facilitator ช่วยสรุปบทเรียนในกลุ่มย่อย อันนี้จะเป็นทีมน้องๆ ที่ยังอยู่ แต่ไม่ได้ทำโครงการต่อ ก็จะพยายามดึงมาช่วย รวมทั้งพี่เลี้ยงด้วย พี่เลี้ยงที่ยังอยู่ ไม่ได้ต่อโครงการปีนี้ เราก็พยายามดึงมาช่วย ดึงมาเป็นที่ปรึกษาโครงการให้เราด้วย


ผู้สัมภาษณ์

การที่ประมวลชวนน้องที่เป็นแกนนำเยาวชนเดิมเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ ประมวลอยากเห็นภาพอะไร หรืออยากให้น้องได้อะไร

คุณประมวล

พอเด็กไม่มีเวทีตรงนี้ มันจะห่างเหินกับเรา จริงๆ มีหลายคนที่ไม่ได้มา จริงๆ เราประสานให้มาช่วยเวที แต่น้องบางคนส่วนมากเรียนมหาวิทยาลัย มีเรียนศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีเรียนครึ่งวัน ก็เลยได้น้องๆ ที่เรียนมัธยมที่วันเสาร์ อาทิตย์ เขาหยุดไปเลย เขาก็มาช่วยตรงนี้ จริงๆ เรามีน้องๆ เรียนที่ราชภัฏศรีษะเกษเยอะ แต่เคยชวนแล้วเขาติดภารกิจกัน ที่ ม.อุบล ก็มี แต่เขาติดเรียนติดสอบกัน


ผู้สัมภาษณ์

กระบวนการที่ทำให้เด็กเก่าของเรายังอยู่ ได้พัฒนาไปด้วย ประมวลก็เลยพยายามดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็เหมือน up skill จากเยาวชน แล้วเขาก็ต้องลองได้โค้ชเพื่อนใช่ไหม

คุณประมวล

ใช่

ผู้สัมภาษณ์

แล้วพอมาคอนเซ็ปต์ปีนี้ จากบทเรียนเก่า เราเห็นช่องทางบ้างที่เราอยากพัฒนาให้ดีขึ้น จนมาทำงานปีนี้

คุณประมวล

ผมยังเชื่อเหมือนเดิมว่าการทำงานที่ใช้พื้นที่ชุมชนตัวเองในการเรียนรู้มันพัฒนาคนได้จริง พัฒนาเด็กและเยาวชนได้จริง เขาอยากจะมีตัวตนขึ้นมาในชุมชนจริงๆ นี่คือสิ่งที่ผมเห็นมาตลอด 3 ปี 

คือ ถ้าเด็กที่อยู่ในชุมชน ใช้ชีวิตปกติก็คือไปเรียน กลับบ้าน ไปเรียน กลับบ้าน ทำงานช่วยพ่อแม่ ไปเรียน กลับบ้าน เด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยมีตัวตนในชุมชนเลย เป็นเด็กปกติ แต่เด็กที่มาทำงานกับเรา เขาจะมีบทบาทขึ้นมา มีพื้นที่ของเขาขึ้นมาในชุมชน ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ชุมชนให้การยอมรับ เข้ามาร่วม และเห็นตัวตนของเด็กๆ ว่าจริงๆ เด็กๆ เองก็มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาตัวเองและพัฒนาชุมชนได้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นมาตลอด


ผู้สัมภาษณ์

พอเราเห็นตรงนี้ มาปีนี้เราวางคอนเซ็ปต์ วางเป้าหมายของโครงการไว้อย่างไร

คุณประมวล

ปีนี้ด้วยตัวเงื่อนไขของทุน ด้วยกระบวนการที่เราวางไว้ด้วย ก็จะเป็นสเต็ปการศึกษาข้อมูลชุมชนอย่างละเอียด ลึกกว่าเดิม เป็นกระบวนการงานวิจัยอาจจะเกือบเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ และเรื่องการออกแบบเครื่องมือศึกษาชุมชน ศึกษาโจทย์วิจัยของตัวเองให้ลึกให้รู้จริง สามารถแก้ปัญหาได้จริง คอนเซ็ปต์ก็คือใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้แบบเต็ม


ผู้สัมภาษณ์

ตอนนี้เหมือนเน้นการวิจัยและเน้นการศึกษาชุมชนแบบเต็มรูปแบบ อยากให้ประมวลพูดถึงว่าการศึกษาชุมชนแบบเต็มรูปแบบที่เราใช้กับเด็กมันทำอย่างไร และมันดีอย่างไร

คุณประมวล

จริงๆ เรายังไม่มั่นใจกับผลที่เกิดขึ้นว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเพิ่งเริ่มการทำงานกับเด็ก แต่โดยตัวกระบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเอง เราก็มีชุดความรู้ที่ทำงานกับผู้ใหญ่จริงๆ คือ เราทำงานกับชุมชน ชุมชนพัฒนาขึ้นจริงๆ เป็นตัวคนที่พัฒนาขึ้นมาจริงๆ มาทำงานในชุมชน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ที่ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเป็นคนที่มีศักยภาพในการทำงาน มีโครงการที่เข้ามา มีการตั้งรับ หรือมีการใช้ข้อมูล ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างสูง นี่คือที่เราผ่านประสบการณ์มาจากผู้ใหญ่


ผู้สัมภาษณ์

ตอนนี้เราเน้นการใช้กระบวนการวิจัยมากขึ้น เราต้องเอามาใช้กับเด็ก ประมวลมีวิธีการปรับอย่างไร หรือต้องออกแบบอย่างไรที่จะทำให้เด็กสามารถใช้เครื่องมือวิจัยในการศึกษาข้อมูลชุมชนได้

คุณประมวล

ตอนนี้พยายามสรรหาเกม เอาเกมเข้ามาเชื่อมการเรียนรู้ร่วมวิธีการแบบนี้ มันมีบางตัวที่เป็นตัวเนื้อหาที่ตายตัวอยู่ แต่เราจะใช้เกมมานำเข้า เกมตัวนี้จะต้องช่วยกันอย่างไร ต้องทำอย่างไร บทเรียนจะออกมาแบบนี้ แล้วเราก็เชื่อมไปสู่เนื้อหาต่อไป


ผู้สัมภาษณ์

เกมมันดีอย่างไร เพราะเรารู้สึกว่าการใช้เกมมาช่วยจะทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น

คุณประมวล

ผมมองว่าตัวเกมมีเงื่อนไขในการสร้างการเรียนรู้ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์จริง ชีวิตจริงของคนที่เจอ ทำให้เด็กเห็นว่าจริงๆ เงื่อนไขในเกมที่วางไว้มันสอดคล้องกับชีวิตจริงของเขา แล้วเขาจะหาทางออกกันอย่างไร เรื่องแค่นี้ในเกมเราทำได้ ทำไมในชีวิตจริงเราจึงหลีกเลี่ยง โมโห โกรธ หรือโวยวาย แต่ในเกมพอเจอปัญหาเราพยายามหาทางออก แต่ชีวิตจริงเราเจอปัญหา เราไม่พยายามหาทางออก


ผู้สัมภาษณ์

เอาเกมมาเชื่อมกับสถานการณ์ในชีวิตจริงของเด็กเพื่อให้มันง่ายขึ้น

คุณประมวล

ใช่

ผู้สัมภาษณ์

ณ เวทีนี้เป็นเวทีครั้งที่เท่าไหร่แล้ว

คุณประมวล

ถ้าเป็นเวทีใหญ่ที่เด็กๆ รวมตัวกันก็เป็นครั้งที่ 2


ผู้สัมภาษณ์

ครั้งที่ 2 แล้วก่อนหน้านั้น เรามีวิธีการเติมอย่างไรให้น้องได้โจทย์บ้าง

คุณประมวล

เรื่องการได้โจทย์ เราลงพื้นที่กลุ่มละ 2 – 3 ครั้งจึงได้โจทย์ ครั้งแรกไปหาคนก่อน ไปดู ไปคุย ฟอร์มทีมกันขึ้นมา เราประสานพื้นที่ ประสานกลุ่มเด็ก พร้อมกับลงไปคุย ทีมเรามีใครบ้าง ครั้งที่ 2 จึงจะไปคุยวิเคราะห์ชุมชนตัวเอง ครั้งที่ 2 เราจะให้น้องเตรียมข้อมูลชุมชนตัวเองที่มีอยู่มาก่อน ไปถามข้อมูลเบื้องต้นจากผู้รู้ หรือกลุ่มเยาวชนเขาเองมาก่อน แล้วก็มาวิเคราะห์กันในครั้งที่ 2 บางทีมก็ชัดเจนตั้งแต่เวทีที่ 2 แต่บางทีมกว่าจะชัดเจนก็ล่วงไปสู่เวทีที่ 3


ผู้สัมภาษณ์

เครื่องมือที่เราให้ไปวิเคราะห์ชุมชนคืออะไรในตอนนั้น

คุณประมวล

เครื่องมือต้นไม้ปัญหาที่เราใช้ ทำให้เห็นปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ ที่แตกลงรายละเอียดว่าปัญหานี้มีสาเหตุอะไรและส่งผลกระทบอะไร ใช้กระบวนการแบบระดมปัญหาที่มีในชุมชนทั้งเด็กทั้งอะไร แล้วก็ตัวปัญหาจะทำให้น้องๆ เห็นภาพรวมของปัญหา แล้วเขาจะหยิบ จะเล่นประเด็นไหน ซึ่งจับประเด็นได้ถูกและสามารถจะเชื่อมโยงการแก้ปัญหาในชุมชนได้ด้วย และประเด็นที่เขาจับจะอยู่ภายใต้ศักยภาพ เพราะเขาจะประเมินศักยภาพเขาแล้วว่าจุดนี้เขาทำได้


ผู้สัมภาษณ์

เหมือนว่าเวทีช่วงนั้น พอน้องได้โจทย์แล้วก็ชวนน้องคิดวิเคราะห์ให้ได้ทักษะตรงนี้ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เกมต่างๆ ก็เริ่มมาใช้ด้วยไหมในตอนนั้น

คุณประมวล

ส่วนมากถ้าลงพื้นที่ในชุมชน เราไม่ค่อยใช้กระบวนการเกม เราใช้เช็คอิน เช็คเอ้าท์ ส่วนมากเป็นการนั่งคุยกันปกติ ไม่ค่อยได้เล่นเกมกัน คนน้อย เราจะเน้นให้น้องๆ ได้พูดคุย ได้แชร์กันมากกว่า ไม่ค่อยใช้เกม ทุกคนต้องได้พูดในเวที ไม่เหมือนเวทีใหญ่ที่ทำยาก แต่เวทีเล็ก เด็กแค่ 5 – 15 คน เรานั่งคุยกันเป็นวงกลมเลย ทุกคนได้คุย ได้ถาม ลงลึกได้ ถ้าเราลงพื้นที่จะเป็นการพูดคุยที่ลงลึก


ผู้สัมภาษณ์

ทีนี้น้องๆ ได้โจทย์มาแล้ว เหมือนเวทีที่แล้วน้องๆ มานำเสนอ เรามีวิธีการอย่างไรที่โค้ชน้องๆ ว่าข้อมูลที่เขาเก็บมาได้ทั้งหมด เขาจะต้องมานำเสนอและสื่อสารให้คณะกรรมการเข้าใจ หรือคนอื่นเข้าใจ เรามีวิธีการอย่างไร

คุณประมวล

หลังจากได้โจทย์ จะมีเวทีที่เราจัดอีกรอบหนึ่งคือตัวเขียนโครงการ คือ มีกรอกข้อมูลว่าเราจะเขียนโครงการอะไรบ้าง มีกรอกประมาณ 15 ข้อ เราจะแตกงบประมาณออกมา จะเป็นการฝึกเขียน ฝึกวิเคราะห์ไปด้วย หลังจากที่เราให้วิเคราะห์เห็นโจทย์บางตัว แค่ได้โจทย์ ได้เรื่องเท่านั้น แล้วก็ค่อยมาเขียนว่าถ้าเราจะเขียนให้เป็นโครงการวิจัย เราจะเขียนอย่างไร อันนี้ค่อนข้างยาก และทำอย่างไรจึงจะให้น้องๆ รู้ว่าไปนำเสนอ ซึ่งมัน

คือกระบวนการตายตัวของการเสนอขอทุนวิจัยว่าการขอทุน ของบประมาณโครงการวิจัย ต้องผ่านเวทีพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ เราจึงจะของบประมาณลงมาได้ ต้องผ่านการพิจารณาของผู้ทรงก่อน ซึ่งเราก็คุยกับเด็กๆ ตั้งแต่ต้น เราก็เตรียมการกัน บางพื้นที่มีเวลาหน่อย แต่บางพื้นที่มีเวลาเตรียมอาทิตย์เดียว จัดเวทีอาทิตย์นี้ อาทิตย์หน้าพิจารณาโครงการ ก็มีเวลาเตรียมกันน้อย


ผู้สัมภาษณ์

พอหลังจากเขาได้มีโอกาสนำเสนอคณะกรรมการ จนมาถึงเวทีนี้ที่เป็นเวทีเติม จริงๆ แล้วเวทีนี้ประมวลมีเป้าหมายว่าอย่างไร

คุณประมวล

จริงๆ เวทีนี้มีเป้าหมายใหญ่ๆ คือ พอน้องๆ ได้งบประมาณมา น้องๆ ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล จริงๆ เวทีนี้เป้าแรกคือให้น้องๆ สามารถมีตัวกรอบในการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ได้ ใช้เครื่องมือเป็น นี่คือเป้าแรก เป้าที่ 2 คือเรื่องการสื่อสาร เพราะจากบทเรียนการทำงาน 3 ปี การสื่อสารสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องทำโครงการจนจบแล้วค่อยมาทำวิดิโอชิ้นหนึ่งนำเสนอว่าเราทำแบบนี้ ได้ผลแบบนี้ ผมคิดว่ามันไม่ทัน ถ้ายุคสมัยปัจจุบันไม่ทันจริงๆ คนอยากรู้ตลอดว่าเราเคลื่อนไหวอะไร อย่างเพจเรา ถ้าน้องๆ สื่อสารตลอด เพจก็จะมีการสื่อสารตลอด กลายเป็นช่องทางสื่อสารช่วยในระดับจังหวัด ซึ่งปีนี้จากการทำงาน 3 ปี เราจะเจอเครือข่ายค่อนข้างเยอะในระดับจังหวัด การประชาสัมพันธ์ตรงนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะนำเสนองานในเด็ก งานของเด็ก งานพัฒนาเด็กให้จังหวัดได้รับรู้ผ่านโลกออนไลน์


ผู้สัมภาษณ์

นอกจากนี้มีอะไรอีกไหม มีเรื่องที่ทำให้เขารู้ว่าจะนำเงินไปบริหารจัดการอย่างไร มีเรื่องการสื่อสาร

คุณประมวล

เป้าหลักๆ ของเวทีก็คือเด็กๆ ต้องได้ตรงนี้ แต่เรื่องอื่นที่เติมเข้ามาก็คือมันเป็นการฝึก แต่จำเป็นต้องลงไปตามในพื้นที่อีกทีหนึ่ง จากเวทีนี้ คิดว่าเด็กๆ ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ทำได้จริง อาจจะต้องลงไปเติมข้อมูลกันในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งเรื่องแผนปฏิบัติการที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่น้องพอเข้าใจและวางกรอบได้ค่อนข้างดี และยังเหลือแผนอีกระดับหนึ่ง ที่เราคิดว่าทางทีม node ทีมเจ้าหน้าที่เราต้องไปตาม เพราะว่ามันต้องใช้วิธีการนั่งคุยแบบลงลึก เพราะว่าอยู่เวทีใหญ่แบบนี้ คนเราไม่พอกับน้อง น้องเป็น 10 กลุ่ม เรามีคนแค่ 4 – 5 คนก็ไม่ไหวกัน ก็เลยมองว่าถ้าอย่างนั้น เราจะใช้กระบวนการคุยเชิงลึก เจาะให้ลึก ต้องลงไปคุยในพื้นที่เฉพาะกลุ่มเลย คิดว่าจะได้ลงลึกในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นที่เขาจะไปเก็บข้อมูล อันไหนได้ไม่ได้ ก็ต้องคุยกันยาวในพื้นที่


ผู้สัมภาษณ์

เราทำงานเยาวชนกันมาเยอะ แต่ก็ยังต้องมีการปรับ ไหนจะมีเรื่องเครื่องมือวิจัยที่ต้องมีการปรับให้ง่ายสำหรับเด็กอีก ทีนี้ 5 ปีแล้วที่ผ่านมา ปีนี้เราปีที่ 5 แล้ว เพราะเรามาเริ่มทำงานพร้อมๆ กันตอนเริ่มต้นปีที่ 1 ทีนี้หัวใจสำคัญในการทำงานกับเด็กของประมวลคืออะไร

คุณประมวล

หัวใจสำคัญ เรามองว่าเด็กคือพลังการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หมายถึง เราเชื่อว่าเยาวชน ถ้าเราสร้างเยาวชนตอนนี้ เขาก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนงานพัฒนาทั้งชุมชน ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศในอนาคต ถ้าเราปลูกฝังในตอนนี้ได้ก็เชื่อว่าเด็กจะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้แน่นอน


ผู้สัมภาษณ์

ประมวลมองว่าถ้าเราดูแลเด็กดี เขาก็จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตได้

คุณประมวล

ใช่

ผู้สัมภาษณ์

แล้วตัวประมวลเอง คำถามสุดท้าย มีภาพฝันอะไรในการทำโครงการในปีนี้ไหม มีภาพฝันว่าอยากเห็นเด็กของเราเป็นอย่างไร น้องๆ ที่เราโค้ชไป

คุณประมวล

ภาพฝันของผม คือ ไม่ได้มองผลสำเร็จของโครงการ จริงๆ ผมมองข้ามด้วยซ้ำว่าเด็กจะทำงานในพื้นที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ อันนี้ผมค่อนข้างจะไม่ให้ความสำคัญ 

ผมฝันว่าเด็กๆ ที่เข้ามาในโครงการจะเป็นเด็กที่เติบโต มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ คิดแบบท้าทาย ต่อสู้กับความกลัว เป็นคนที่เหมือนที่เราคุยกัน คือ เป็นเด็กที่ยอมรับความแตกต่าง คิดเชิงบวก มีความมานะอดทน ความเพียรพยายามในการทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ได้คิดจะล้มเลิกไป แต่ไม่สำเร็จก็เรียนรู้จากการที่ไม่สำเร็จ 

ถ้าสำเร็จก็เรียนรู้บทเรียนจากการสำเร็จว่าทำอย่างไร สิ่งที่พวกเราคิดเราเชื่อมาตลอด คือเด็กต้องเป็นประมาณนี้ ไม่ได้คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จสมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่ความฝันของผมก็คือเด็กที่ถูกพัฒนาศักยภาพขึ้นมา พัฒนาระบบ มีมุมมองที่ดี มีความคิดที่ดี มีจิตอาสาที่ทำกิจกรรมกับชุมชนสังคมตัวเอง และประเทศชาติตัวเอง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนสังคมประเทศในอนาคต 


สัมภาษณ์ ณ ตุลาคม 2562