การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้สมุนไพรในชุมชน ตำบลปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ปี 3

กระบวนการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กมีหลายวิธี หนึ่งการเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ทำงานรับใช้ชุมชนสังคม หรือที่เรียกว่า Community Project การได้ลงมือทำงานแก้ไขปัญหาให้ชุมชน นอกจากจะฝึกทักษะการทำงาน การแก้ปัญหา การคิด จนผลการเรียนดีขึ้นแล้ว ยังเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กได้อีกด้วย

เปิดโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลง

ผู้ใหญ่ชอบพูดเสมอว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” จริง ๆ ประเด็นนี้เป็น “สัจธรรม” ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะยังไงเด็กก็ต้องโต

แต่สิ่งที่น่าคิดต่อมาคือ เด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ (แบบไหน) ในวันข้างหน้าต่างหาก

ที่บ้านปงสนุก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เด็ก ๆ ในสายตาผู้ใหญ่คือ ไม่ค่อยเอาธุระ ไม่สนใจชุมชน วัน ๆ เอาแต่เที่ยวเล่น ทำตัวไร้ประโยชน์ สิ่งนั้นสะท้อนออกมาให้เห็นจาก “ขยะ” ที่เต็มถนน สกปรกรกรุงรัง และไม่มีใครสนใจที่จะเข้ามาจัดการ

ดรีม-ชัยวัฒน์ ธรรมไชย เยาวชนบ้านปงสนุก ซึ่งได้ยินคำ “จ่ม” (ด่า) ของผู้ใหญ่ จึงอาสาชวนเพื่อน ๆ ตั้งกลุ่มและทำโครงการขยะทองคำในปีแรกที่เข้าร่วมเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน ด้วยการหาเยาวชนอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมเก็บขยะ ร่วมกันคัดแยก บางส่วนก็เอาไปขาย ทั้งรณรงค์กับคนในชุมชน และคัดแยกภายในบ้านของเยาวชนเข้าร่วมโครงการ

ผลจากการทำโครงการปีแรกก็ “ลด” เสียงบ่นจากผู้ใหญ่ไปได้บ้าง ขณะเดียวกันเยาวชนก็มีกิจกรรมให้ทำอย่างต่อเนื่อง (คือการเก็บขยะ) และจากเด็ก ๆ วัยรุ่นที่อยู่กันกระจัดกระจาย อยู่บ้านเล่นเกมส์ดูทีวี ก็มี “กลุ่ม” ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้น เด็ก ๆ ยังรวมมือกับกลุ่ม อสม.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปงสนุกรณรงค์ให้ความรู้เยาวชนเรื่องเอดส์

ปีที่ 2 ดรีมและทีมจึงร่วมกันทำโครงการอีกครั้ง แต่เปลี่ยนโจทย์จากขยะมาเป็น “สมุนไพร” ภายใต้โครงการ หมอน้อยสมุนไพร

ทำโครงการ=พัฒนาศักยภาพ

ดรีม บอกว่า พวกเขาเคยเข้ากิจกรรมกับทีม อสม.ประจำหมู่บ้านทำเรื่องสุขภาพของชุมชน ภาพที่เห็นคือการเข้ามาของผู้ป่วยใน รพ.สต. หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำให้เกิดคำถามเล็ก ๆ ในใจว่า ถ้าเอาสมุนไพรในชุมชนเข้ามาช่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพได้ น่าจะทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นไม่มากก็น้อย และเมื่อบวกกับการเป็นแกนนำเยาวชนแห่งบ้านปงสนุก และต้องการที่จะสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มาสานต่อการทำงานเยาวชน เพราะดรีมจะต้องเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดลำปาง ซึ่งเขามองว่า การที่ตัวเองผ่านการโครงการร่วมกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่านจากโครงการในปีแรก พบว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่ได้รับสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเป็นแกนนำในการทำงาน รวมถึงการทำงานเป็นทีมที่สมาชิกในทีมสามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเป็นอิสระ

“โครงการปีแรกทำให้ผมได้ทักษะค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนการทำงาน เพราะเมื่อก่อนอยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่มีการวางแผน ไม่มีการสรุปงานหรือถอดบทเรียน พอมาปีที่ 2 เลยอยากสร้างน้อง ๆ รุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานแทน เพราะในชุมชนปงสนุกยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการเยาวชนจิตอาสาเข้ามาทำงาน” ดรีม กล่าวถึงเป้าหมายของตัวเอง และความฝันที่ต้องการพัฒนาชุนชนตัวเอง และเมื่อบวกกับการที่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม อสม.ในหมู่บ้านทำเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของกลุ่มเยาวชนปงสนุก และได้มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นด้วยการสอบถามเด็ก ๆ ในชุมชนเกี่ยวกับความรู้ด้านสมุนไพรก็พบว่า เยาวชนในหมู่บ้านไม่ค่อยรู้จักพวกสมุนไพร บางคนรู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่ามีสรรพคุณอย่างไร

“เราคิดว่าน่าจะทำเรื่องนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับชุมชน และตัวเยาวชนเองด้วย” ซึ่งประโยชน์ที่ดรีม กล่าวถึง คือ ชุมชนจะกลับมาเห็นความสำคัญกับการใช้สมุนไพรในครัวเรือนมากขึ้น ขณะที่เยาวชนเองก็จะรู้ว่า สมุนไพรที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ปลูกอยู่ริมรั้วบ้านนั้นมีประโยชน์ และสำคัญอย่างไร ขณะเดียวกันจะเอามาใช้แบบไหนได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้ข้อสรุปของโครงการหมอน้อยสมุนไพร น้อง ๆ มีการถกเถียงกันพอสมควร เพราะเงื่อนไขโครงการต้องเป็น “โจทย์” ที่มาจากการระดมความเห็นของสมาชิกภายในกลุ่ม

“ประชุมวันแรกก็ยังไม่ได้ตกลงอะไรกันครับ ก็ให้แต่ละคนคิดว่าอะไรที่มันน่าสนใจเราก็ เราก็ถอดบทเรียนกันดูว่า จุดดี จุดด้อยของชุมชนเรามีอะไรบ้าง จากนั้นก็ดูว่า ความสามารถของเราจะไปทำกิจกรรมตรงไหนได้บ้าง” เวฟ-พงศ์วิวัฒน์ ปัญญาอินทร์ แกนนำทีม เยาวชนบ้านปงสนุกอธิบาย

ซึ่งข้อสรุปของน้องๆ คือมองเห็นว่าจุดเด่นของชุมชน คือ มีสมุนไพรในชุมชนโดยเฉพาะตามรั้วบ้านและหัวไร่ปลายนา มีผู้นำที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมทางสังคม มีกลุ่มเด็กที่มีจิตอาสาอยากทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ส่วนที่เป็นจุดด้อย น้อง ๆ มองว่า ชุมชนยังเป็นจุดเสี่ยงเรื่องของยาเสพติด เยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าแสดงออก

“เราเลยคิดว่าจะใช้เรื่องสมุนไพรมาเป็นกิจกรรมการทำงานของเด็กและเยาวชน เพราะ รพ.สต.ที่เราเข้าร่วมกับผู้ใหญ่ก็มีผู้รู้ ที่จะมาให้ความรู้ด้านสมุนไพรกับเด็ก ๆ ได้ และคนส่วนใหญ่ก็อยากทำเรื่องนี้” คือเหตุผลที่เยาวชนบ้านปงสนุกเลื่อกที่จะทำโครงการหมอน้อยสมุนไพรในปีที่ 2 ของการเข้าร่วมในโครงการ

หมอน้อยสมุนไพร...ใกล้ตัว

คำว่า “หมอน้อยสมุนไพร” น้อง ๆ ได้ให้นิยามไว้ว่า เป็นกลุ่มเด็ก ๆ ที่มีความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรของชุมชน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน ความหมายนี้ยังรวมถึงการเข้าใจในเรื่องของการปลูก การดูแล และการให้คำแนะนำระหว่างสมาชิกด้วยกันในทีม และการที่จะไปถึงความหมายที่น้อง ๆ นิยามไว้นั้น กระบวนการทำงานเริ่มต้นที่ การทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า โครงการนี้คาดหวังในเรื่องอะไรบ้าง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ “รู้จักสมุนไพรและใช้เป็น”

“ผมอยากจะให้ทุกคนรู้ว่าที่ชุมชนของเรามีสมุนไพรอะไรบ้าง มีคุณสมบัติอย่างไร การปลูก ทำอย่างไร รวมถึงการแปรรูปสมุนไพร” เวฟ อธิบายเป้าหมายที่ซ่อนอยู่หลังจบโครงการ

และนอกจากเด็ก ๆ จะต้องเข้าใจเป้าหมายของตัวเองว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร ในฐานะแกนนำอย่างดรีม ที่มองเป้าหมายอีกอย่างคือ การสร้างความเข้าใจกับผู้ใหญ่ เพราะหากผู้ใหญ่เข้าใจในกิจกรรมที่เยาวชนทำ การส่งเสริมและสนับสนุนก็จะตามมา

“ถ้าเราไม่บอกให้ชุมชนรู้ เขาก็ไม่เข้าใจว่าพวกเราทำอะไรกันอยู่ เราอยากให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่พวกเราทำ เรามีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้น ทำไมต้องมาทำอย่างนี้ ตรงนี้ได้จากประสบการณ์การทำโครงการในปีแรกที่เราไม่มีกิจกรรมทำความเข้าใจกับชุมชนโดยกลุ่มเยาวชน มีเฉพาะผมคนเดียวที่ไปพูดทำความเข้าใจ และพอเราจัดกิจกรรมที่เป็นทางการ กลุ่มชาวบ้านก็เห็นด้วย ว่ากิจกรรมที่พวกเราทำเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะอยากจะให้เยาวชนกล้าแสดงออก และทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน” ดรีมกล่าว และบอกอีกว่า นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจกับช้าวบ้าน ยังใช้เวทีนี้สอบถามคนในชุมชนด้วยว่าเขาเห็นด้วยกับกิจกรรมของพวกเขาหรือไม่ ในวันนั้นผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็เห็นด้วยกับกิจกรรมของพวกเราครับ แล้วก็พร้อมที่จะส่งเสริมกิจกรรมของพวกเรา” ดรีม กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เรียนรู้จากสมุนไพร

หลังจบเวทีทำความเข้าใจกันเอง และทำความเข้าใจกับชุมชน กลุ่มแกนนำเยาวชนปงสนุกที่ประกอบด้วย ดรีม เวฟ บอส-กีรเดช สุริยศ อ้อม-ชุติวรรณ ธิอินโต กลอย-ณัฐธิดา ทิพวงค์ วิ-วิจิตรา คำกลาง วุ้น-นภัสวรรณ จันต๊ะวงค์ และ พราว-สิรีธร จันทร์บูรณ์ จึงได้ออกแบบกิจกรรม ให้กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการกว่า 20 คนได้ลงไปศึกษาและทำความรู้จักสมุนไพร เพื่อฝึกให้กลุ่มเยาวชนบ้านปงสนุกรู้จักการทำงานเป็นทีมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ และป้า ๆ น้า ๆ ที่โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพตำบล และเหนือสิ่งอื่นได กิจกรรมที่ทำโดยเฉพาะการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้านสมุนไพรจะทำให้น้อง ๆ ได้เทคนิคการตั้งคำถาม และการบันทึกข้อมูลเช่นกัน

“เราอยากให้น้อง ๆ รู้จักสมุนไพรก่อนครับว่าสมุนไพรในชุมชนเรามีอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีคุณสมบัตินำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง และถ้าทุกคนรู้จัก และเข้าใจแล้ว คิดว่าจะนำไปใช้ในครัวเรือนของตัวเองได้อย่างไร นี่คือ 3 ข้อหลัก ๆ ที่เราและที่ปรึกษาของ รพ.สต.ร่วมกันออกแบบ จากนั้นก็จะแบ่งให้น้อง ๆ ลงไปเก็บข้อมูล”

ซึ่งในขั้นตอนการเก็บข้อมูลเรื่องสมุนไพร น้อง ๆ จะลงไปสำรวจตามบ้านในชุมชน บันทึกภาพ เก็บข้อมูลด้านคุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์จากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน โดยมีเงื่อนไขคือทุกคนต้องทำความรู้จักสมุนไพรกันมาคนละ 2 ชนิด จากนั้นก็นำมาเสนอให้กับสมาชิกในที่เหลือได้รู้จักว่าสมุนไพรทีมีอยู่ในชุมชนนั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละชนิดคุณสมบัติอย่างไร

แต่แค่ “รู้จัก” ยังจะไม่สามารถเข้าถึงคุณสมบัติที่แท้จริงของสมุนไพร แกนนำเยาวชนจึงให้น้อง ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการได้ทดลองแปรรูปสมุนไพรแต่ละชนิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเลือกทำเป็นถุงหอมดับกลิ่น และ ลูกประคบแก้ปวด เนื่องจากทำง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.เป็นวิทยากรในการสอนทำ หลังทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มีการนำออกไปจำหน่ายให้ชุมชนได้ลองใช้

ซึ่งน้อง ๆ ทีมหมอน้อยสมุนไพรบอกว่า คนในชุมชนชอบ เพราะมีกลิ่นหอม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเรียนและระยะเวลาการทำโครงการ การทำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดจึงไม่ต่อเนื่อง

โลกใบใหม่ของการเรียนรู้

“หมอน้อยสมุนไพร” นำเด็ก ๆ ในชุมชนออกมาเรียนรู้ “สมุนไพรท้องถิ่น” เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในครัวเรือน รวมทั้งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เด็ก ๆ รู้จักชนิดของสมุนไพร และการนำไปใช้ประโยชน์ และในส่วนของชุมชน ชาวบ้านเริ่มเห็นความตั้งใจของกลุ่มเยาวชนมากขึ้น

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ “การเรียนรู้” ของน้องในโครงการ คือ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกิจกรรม ทำงานด้านการรณรงค์เรื่องเอดส์กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ รพ.สต. แต่ที่ผ่านมาเป็นงานอีเวนท์ เน้นรณงรงค์ ไม่มีแผน ไม่มีกระบวนการ ไม่มีถอดบทเรียน ทั้ง ดรีม เวฟ อ้อม วิ และ พราว ต่างพูดตรงกันว่า การเข้าร่วมในโครงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนเพราะเกรด และคะแนนดีขึ้น

สำหรับดรีมแกนนำคนสำคัญของทีมที่เปรยออกว่าอยากจะหยุดทำกิจกรรม เพราะโครงการในปีแรกเขาคาดหวังเรื่องการเข้ามาสนับสนุนของผู้ใหญ่ในชุมชนไว้ค่อนข้างสูง

“ก็อยากจะเลิกทำ แต่ว่าเลิกไม่ได้ขับมันเลิกยาก เพราะว่ากิจกรรมนี้ผมก็ค่อนข้างที่จะชอบครับ ถ้าสิ่งไหนที่มันยังไม่ดีผมก็จะหาแนวทางหรือเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนกิจกรรมใหม่ อย่างเช่น โครงการในปีแรก เราประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนค่อนข้างน้อย ปีนี้จึงทำเป็นเวทีนำเสนอแนวทางการทำงานให้ผู้ใหญ่ได้ทราบ โดยให้น้อง ๆ ในทีมช่วยกันนำเสนอ ผลตอบรับก็ออกมาดีทำให้มีกำลังใจมากขึ้น”

ความมุ่งมันตั้งใจของดรีม จึงส่งผ่านไปยังสมาชิกในทีม เพราะน้อง ๆ ที่เหลือยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเท่าที่กำลังและเวลาเอื้ออำนวย ส่วนดรีม ในช่วงวันหยุดและช่วงปิดเทอมจะมาช่วยน้อง ๆ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างไม่ขาด

ในวันนี้เสี่ยงบ่นของผู้ใหญ่ก็เงียบลง และมีเสียงชื่นชมยินดีเข้ามาแทนที่


โครงการหมอน้อยสมุนไพร

ที่ปรึกษาโครงการ :

ทีมงาน :

  • ชัยวัฒน์ ธรรมไชย 
  • พงศ์วิวัฒน์ ปัญญาอินทร์
  • กีรเดช สุริยศ 
  • ชุติวรรณ ธิอินโต
  • ณัฐธิดา ทิพวงค์ 
  • วิจิตรา คำกลาง
  • นภัสวรรณ จันต๊ะวงค์ 
  • สิรีธร จันทร์บูรณ์