พัฒนา “สมองวัยรุ่น” ด้วยโครงการจาก “โจทย์ชุมชน”
​หนึ่งในความน่าเป็นห่วงของสังคมไทยปัจจุบันคือ “เด็กและเยาวชน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม “วัยรุ่น” ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม เด็กบางคนที่มีโอกาสหรือพื้นฐานชีวิตแข็งแรงก็สามารถหลบหลีกและก้าวผ่านความสุ่มเสี่ยงได้ ขณะที่เด็กบางคนโชคร้ายหลงไปกับอบายมุข และสิ่งไม่ดี จนกลายเป็นผู้ก่อปัญหาสังคม

­

­

ทว่าปัญหาดังกล่าวใช่ว่าจะไม่มีทางออก วิธีหนึ่งที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกทางรอดคือ การส่งเสริมทักษะทางสมอง “Executive Function (EF)” ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักพิจารณาและไตร่ตรองเมื่อเจอสถานการณ์ไม่ดี หรือสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย สามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองให้อยู่ในวิถีชีวิตที่ดีงาม ไม่หุนหันพลันแล่น โดยการสร้าง EF ที่ดีควรเริ่มตั้งแต่เด็ก และทำอย่างสม่ำเสมอกระทั่งก้าวสู่วัยผู้ใหญ่

สำหรับกระบวนการพัฒนา EF สามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การออกกำลังกาย การเล่นเกมที่ต้องใช้สมาธิ การทำสมาธิ การฝึกลมหายใจ เครื่องมือฝึกด้วยคอมพิวเตอร์ หรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing)

­

­

­

­

รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับความรู้เรื่องการพัฒนาพลเมืองเยาวชน โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมือง เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (Active Citizen) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ว่า กระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ที่ให้เด็กได้ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน สังคมภายนอก มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น เพราะเมื่อเขากำลังจะเปลี่ยนจากวัยเด็กไปเป็นวัยผู้ใหญ่ สภาพแวดล้อมในบ้านไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมอีกต่อไป เพราะเด็กจะอยู่แต่กับตัวเอง คิดถึงแค่เป้าหมายของตัวเองแบบแคบๆ แต่ถ้าเราดึงเด็กออกมาทำงานกับชุมชนที่ไม่คุ้นชิน ด้วยโครงการที่ไม่เคยทำ ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้วงจรประสาทที่ใช้กำกับตัวเองไปสู่เป้าหมายว่าจะต้องทำอะไรให้เสร็จ ซึ่งถ้าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม สมองส่วนนี้จะไม่ถูกพัฒนา

­

­

­

­

การทำงานของสมองส่วนดังกล่าว คือทักษะ EF ที่เริ่มพัฒนาขึ้น ซึ่งนอกจากความสามารถในการควบคุมตัวเองแล้ว ยังทำให้เกิดคุณลักษณะดีๆ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตอีกด้วย ทั้งการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นทางความคิดและการใช้ชีวิต และการมีวินัย สามารถจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน รู้จักวางแผน จนทำเรื่องยากได้สำเร็จ สำหรับการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับวัยรุ่นคือการใช้ Project-Based Learning (PBL) ให้วัยรุ่นได้ทำโครงการที่มีโจทย์ปัญหาจากภายในชุมชนของตัวเอง (Community Project)

รศ.ดร.นวลจันทร์ ขยายความให้ฟังว่า กระบวนการที่ตั้งต้นด้วยการคิดปัญหามีความสำคัญมาก เพราะต้องคิดไตร่ตรองหลายประเด็น เช่น เราจะทำอะไร เกี่ยวกับชุมชนอย่างไร เด็กจะได้ประเมินศักยภาพของตัวเองว่าเขามีความรู้ในเรื่องที่จะทำหรือไม่ ถ้ารู้ว่ายังไม่พอ แล้วเขาต้องหาความรู้เพิ่มจากไหน เมื่อเขามีเป้าหมายชัดเจน เขาก็ประเมินอีกว่า ตัวเองไม่รู้อะไร แล้วต้องไปหาข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ค่อยๆ โยงใยเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เด็กได้มีการคิดในหลายๆ ขั้นตอน ได้ฝึกใช้สมองหลายส่วน โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่เราต้องการเน้นให้เด็กได้ฝึกใช้

­

­

­

­

ข้อดีของการทำโครงการจากโจทย์ปัญหาชุมชน จะทำให้วัยรุ่นได้พัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม (Social Brain) ที่ช่วยเสริมทักษะ EF ด้วย แต่โครงการแบบนี้ไม่สามารถปล่อยให้เด็กทำโดยลำพังได้ จำเป็นต้องมี “ผู้ใหญ่” เข้ามาช่วยหนุนเสริมด้วยการชวนคิดชวนคุย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นแก่เด็กในการไปค้นหาคำตอบ “ด้วยตัวเอง” จนเกิดการเรียนแบบ “รู้จริง” (Mastery Learning)

อาจารย์นวลจันทร์ กล่าวต่อว่า สังคมควรมีส่วนในการ “เปิดโอกาส” ให้เด็กกล้าคิดกล้าทำงานระดับใหญ่ๆ ในชุมชน โดยมีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองคอยชวนคิดชวนคุยและตั้งคำถามให้เด็กเกิดความชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร แล้วพวกเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำอะไรกับใคร ที่ไหน กระทั่งวางแผนลงมือทำจนเสร็จ ซึ่งเป็นการสนับสนุนเด็กที่ดีมาก และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เราเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กจากการพัฒนาของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม อันเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริม EF ของเด็กให้แข็งแรง คือเด็กจะมีความเป็นตัวตน รู้จักมุ่งมั่นทำงานจนสัมฤทธิ์ผล ซึ่งจริงๆ แล้วควรทำอย่างนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ระดับอนุบาลก็น่าจะทำโครงการลักษณะนี้ได้แค่ให้ทำเรื่องง่ายๆ ตามศักยภาพของเขา

­

­

­

­

การเรียนรู้จากการลงมือทำผ่านโครงการจากโจทย์ปัญหาชุมชน นอกจากช่วยพัฒนาสมอง ยังสร้างสำนึกการทำเพื่อส่วนรวมให้เกิดภายในตัวของเด็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเติบโตมาเป็นกำลังดูแลท้องถิ่นบ้านเกิด และเป็นพลเมืองของสังคมไทยที่มีคุณภาพต่อไป