หาดทรายหายไปไหน??...สู่คำตอบ“สำนึกพลเมือง”
วิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพและ กระบวนการในเชิงพฤติกรรมของประชากร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของปัจเจก สู่การมีจิตสำนึกพลเมืองในบริบทประชาสังคม เป็นตัวอธิบายการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นวิธีจัดการที่ยั่งยืนโดยภาคประชาชน ซึ่งควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากขึ้น

หากแต่กระบวนการส่งเสริม “สำนึกพลเมือง” ลำพังปล่อยให้เป็นบทบาทของครูในโรงเรียน ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจไม่เพียงพอ... นั่นหมายความว่า...ทุกภาคส่วนของสังคมควรช่วยกันคนละไม้คนมือ...เพราะ “เด็กในวันนี้...ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า”นี่คือ “ข้อเท็จจริง” 

ขณะที่ “ข้อเท็จจริง” ต่อมาคือ “กระบวนการ” พัฒนาเด็ก และเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้เด็กโตไปเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ แต่โตแบบแยกส่วน และมีไม่น้อยที่ยังสนใจ “เรื่องตัวเอง” เหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ “ตัวเยาวชน” หากอยู่ที่ตัวกระบวนการ และ “วิธีการ” ที่ไม่ได้บ่มเพาะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสนใจเรื่องอื่น ๆ นอกจากเนื้อหาทางวิชาการในห้องเรียน

­

­

“การเรียนรู้ในห้องเรียน และการอบรมในครอบครัวเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ” ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร์ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชณ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนไปสู่ความเป็น Active Citizen กล่าวบนฐานความเชื่อที่ว่า หากเยาวชนได้มีโอกาสทำงานเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ชุมชน สิ่งนี้จะช่วยทำให้เด็กเยาวชน และคนหนุ่มคนสาวได้ประสบการณ์ชีวิต เกิดความเข้าใจในชุมชนตนเอง และค่อย ๆ เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองเข้าถึงชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ และในท้ายที่สุด คนหนุ่มสาวก็จะลุกขึ้นมาเอาธุระและใส่ใจเรื่องของบ้านเมือง

ทั้งนี้ การสร้างสำนึกพลเมืองจะเกิดขึ้นได้นั้น มีปัจจัยประกอบหลายประการ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของ “ความเชื่อ” ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและพัฒนายกระดับได้” ประการต่อมาคือหาทฤษฏีมาทดสอบ ทดลองและพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์พัฒนาได้จริง

­

­

และความเชื่อดังกล่าว ได้ทำการทดลอง พิสูจน์ผล จนเกิดความสำเร็จแล้วที่จังหวัดสงขลา โดยสงขลาฟอรั่มที่ถือว่าเป็น active citizen รุ่นใหญ่ ที่มีใจอยากทำงานกับเยาวชน อยากเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีสำนึกความเป็นพลเมืองรักท้องถิ่น ทำงานเพื่อท้องถิ่น

“มูลนิธิฯ พบว่า กระบวนการนี้ได้ผลดี เพราะนอกจากจะทำให้เด็กเยาวชนและคนหนุ่มสาวได้มีโอกาสทำงานเพื่อบ้านเกิดของตัวเองแล้ว ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชนก็ได้รับการเอาใจใส่ และคลี่คลายลงได้ ที่สำคัญคือ โครงการนี้ยังเป็น “เครื่องมือ” ในการร้อยคนให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่ง “สำนึกความเป็นพลเมือง” จะเกิดขึ้นตรงนี้”

พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า จากการดำเนินงานตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ๆ ส่วนมากรักดี แต่พวกเขาแค่ไม่มีโอกาส ไม่มีคนหนุน และไม่มีคนให้คำปรึกษา

“หน้าที่เราคือต้องเปิดโอกาสให้เด็ก เพราะฉะนั้นโครงการที่ส่งเข้ามาเกือบทุกโครงการ เราจะไม่คัดออกแม้แต่โครงการเดียว กรณีโครงการไหนยังไม่เข้าเกณฑ์ เราก็จะส่งพี่เลี้ยงลงไปชวนคุย ตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะทำ และเมื่อน้อง ๆ เข้าใจ และเห็นว่านี่คือ“โอกาส”ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง ก็จะรวมกลุ่มกัน เขียนข้อเสนอโครงการเข้ามา เล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วแต่มุมมองของแต่ละทีม และโครงการที่เสนอเข้ามาพี่ ๆ คณะทำงานของแต่ละพื้นที่...จะอ่านด้วยความตั้งใจ เพื่อทำความเข้าใจ “ความฝัน” ของน้อง ๆ ทุกโครงการ”

­

­

และฝันของ “น้ำนิ่ง” อภิศักดิ์ ทัศนีย์ ก็คงคล้ายๆ กับ ฝันของ “น้ำฝน” อลิสา บินดุส๊ะ ที่อยากเห็นหาดทรายที่เขาผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็กกลับมาสวยงามเช่นเดิม ที่ทำโครงการ Beach For Life และ Low Long Beach กับสงขลาฟอรั่ม

เป็นเวลานับปีที่น้ำนิ่งเดินเล่นบนหาดสมิหลา เพื่อพักผ่อนอิริยาบถ และเขาไม่เคยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง...กระทั่งวันหนึ่งเริ่มเห็นว่า ผืนทรายที่เคยเดินย่ำ มันหดหายไป พร้อม ๆ กับเห็นสิ่งแปลกปลอมบนชายหาด นั่นคือ โครงสร้างแข็ง ทั้งกระสอบทรายและหินขนาดใหญ่ที่วางเรียงรายกองทับกันอยู่

“เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกี่ยวกันไหม....ก็เริ่มไปศึกษาข้อมูลทำให้รู้ว่า กระสอบทรายที่วางอยู่ที่เราเรียกว่าโครงสร้างแข็งมีผลอย่างมากต่อการทำลายหาดทราย”

แต่สิ่งที่น้ำนิ่งให้ความสนใจขณะนั้นกลับไม่ใช่ “ชายหาด” แต่เป็นพวกแพลงก์ตอนเล็ก ๆ ในทะเล หรือ Micro Biology

“ตอนนั้นมีการเก็บข้อมูลโครงการ “การกัดเซาะทรายหาดต่อประชากรแพลงก์ตอน” เป็นโครงการวิจัยของ YSC หรือโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition) ผมชอบพวกสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เลยไปช่วยเขาส่องกล้องนับแพลงก์ตอน...เราได้ความรู้จากการเขียนรายงานจาก YSC โดยเฉพาะเรื่องการเขียนรายงาน 5 บท ตอนนั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น”

­

­

ถึงกระนั้นก็ตาม ความรู้เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งก็ยังไม่ทำให้ “น้ำนิ่ง” เห็นว่าจะนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างไร…กระทั่งมีโอกาสเข้าอบรมกับสงขลาฟอรั่มอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งบางกอกฟอรั่ม เป็นวิทยากร

“อาจารย์ชวนคุยเรื่องรากเหง้าของจังหวัดสงขลา แล้วก็ให้ทำผังเครือญาติ บังเอิญลิงค์ไปลิงค์มา ก็พบว่าบรรพบุรุษเราเคยร่วมจัดตั้งศาลเจ้าเมือง ก็รู้สึกอิน เพราะเราสนุกกับทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ เลยรู้สึกว่าอยากรักษามันไว้ และผมเห็นว่า เมืองสงขลาเราโชคดีที่บรรพบุรุษเราเลือกพื้นที่ได้ถูกต้อง มีทั้งป่า ทั้งทะเล ภูเขา เราจึงอยากจะปกป้องไว้ให้คงอยู่ให้สวยงามเหมือนเดิม”

หลังเรียนรู้เรื่องการกัดเซาะ และเห็นความเป็นมาของรากเหง้าตัวเอง น้ำนิ่งสนใจโครงการ “พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา” จึงรวมเพื่อน 5 คนแล้วก็เขียนโครงการเสนอไป

และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา นักเรียนชั้น ม.5 ซึ่งเรียนสายวิทย์ฯ และอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งมีชีวิตแห่งท้องทะเล ก็เบนเข็มทิศตัวเองจาก “นักชีววิทยาทางทะเล” ไปเป็น “นักพัฒนา” ด้วยการเข้าไปศึกษาวิชา “พัฒนาชุมชน” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

­

­

ส่วน “น้ำฝน” อลิสา บินดุส๊ะ จากเด็กที่สงสัยว่า “หาด” หายไปไหน และพยายามค้นหาคำตอบด้วยตัวเองและพบว่า เอาเข้าจริง “การหายไปของหาดทราย” ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติดังที่ข้อมูลในคอมพิวเตอร์บอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าร่วมกับเพื่อนๆ Beach For Life ทำให้ “น้ำฝน” เปลี่ยนเป้าหมายการดำเนินชีวิตก็ไม่น่าจะผิดนัก

จากเด็กนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด กลายเป็นคนที่มายืนถือไมค์หรือโทรโข่งนำกระบวนการน้อง ๆ รุ่น 2 และรุ่น 3 เพื่อการฟื้นฟูแนวหาด บางจังหวะต้องเดินทางไกลเพื่อเข้าคอร์สอบรม “ผู้นำแห่งอนาคต” เพื่อนำทักษะความรู้ มาถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ เพื่อน ๆ ในการทำงานเกี่ยวกับชายหาด

นั่นหมายความว่า น้ำฝนในวันนี้ ไปไกลกว่าเด็กมหาวิทยาลัยที่เรียนระดับปริญญาตรีและเพื่อน ๆ ของเธอ เพราะนอกจากการเรียนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยหวังว่าจะนำความรู้ทางกฏหมาย มาปกป้องและพิทักษ์หาดทราย ซึ่งต่อมาก็มี “ธรรมนูญหาด” ที่เยาวชนสงขลา และเครือข่ายร่วมกันจัดทำขึ้นมา และการทำธรรมนูญหาดนี้เอง ทำให้น้ำฝนค้นพบสาขาวิชาที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี

“พอร่วมกันทำโครงการ ทำให้รู้ว่าเรายังไม่มีกฎหมายปกป้องหาดทรายโดยตรง จึงตัดสินใจเข้าไปเรียนกฏหมายที่ มอ. ก่อนนี้ไม่รู้จักเลยว่านิติศาสตร์คืออะไร ไม่สนใจด้วยว่าจะเรียนกฎหมาย ไม่สนใจเลยที่บ้านก็ไม่ชอบด้วย ตอนเรียน ม.5 ได้เรียนวิชากฎหมายเบื้องต้น ค่อนข้างที่จะสนุก พอมาทำเรื่องธรรมนูญหาดก็เลยทำให้ตัดสินใจเรียนวิชากฏหมายไม่ยาก”

­

­

อย่างไรก็ตาม Beach For Life และ Law Long Beach เป็นโครงการเล็ก ๆ ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะหาคำตอบว่า “ทรายหายไปไหน” และเส้นทางของการตามหาทรายได้ก่อให้เกิด “ความรู้” มากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนา “คนรุ่นใหม่” เพราะนอกจากแกนนำ “รุ่นแรก” ที่ถูกฝึกฝนจาก “สงขลาฟอรั่ม” อย่างเข้มข้นแล้ว ยังมีน้องๆแกนนำรุ่น 2 ตามมา ยังคงเดินไปบนเส้นทางสายงานพัฒนาที่มารับช่วงต่อจากรุ่นพี่

สำหรับชาวสงขลา แม้ว่าจะสูญเสียหาดสมิหลาที่สวยงามซึ่งเคยเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตา แต่สิ่งที่ได้กลับมาในวันนี้คือ “คนรุ่นใหม่” ที่สนใจเรื่องบ้านเกิดเมืองนอน ในการเดินหน้า หาประสบการณ์ ความรู้ และเครือข่ายอื่นๆ เพื่อที่จะมาร่วมกันปกป้องรักษาแผ่นดินถิ่นเกิดของพวกเขานั่นเอง.///