เรื่องวุ่น ๆ ... ของวัยรุ่นกับสมอง
ปัจจุบันปัญหาของวัยรุ่นในสังคมไทยรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคมเมือง ประกอบกับวัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจริญเติบโตมีความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ทำให้วัยรุ่นประสบปัญหามากมาย เช่น ปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาความรุนแรง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ “เกิดอะไรขึ้นกับสังคม แล้วเราจะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร???”


โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้ความสนใจกับเยาวชนทุกกลุ่มทั้งเด็กในระบบ นอกระบบ รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่ก้าวพลาดจากศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นำเสนอโครงการร่วมกับครูและพนักงานคุมประพฤติ ทำให้เยาวชนได้มองเห็นคุณค่าของตนเองในผลงานที่ร่วมทำและร่วมเรียนรู้กับเยาวชนอื่นๆอย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน

โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นหนึ่งโครงการที่ให้โอกาสเด็กก้าวพลาดได้มาทำกิจกรรม ทำให้เขาได้จดจ่ออยู่กับการสานตะกร้า แตกยอดความรู้จากพื้นฐานของการสานไปสู่การคิดออกแบบลายใหม่ ๆ ฝึกให้เขานิ่งขึ้น ยกระดับจิตใจของตัวเองขึ้น ระบบสมองได้รับการพัฒนา ทั้งเรื่องของความจำ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น การจัดการการวางแผน ทำให้ในอนาคตข้างหน้าเมื่อพวกเขาก้าวเท้าออกจากศูนย์ฝึกแล้ว สิ่งเหล่านี่จะช่วยให้เขารู้จักการยับยั้งช่างใจ รู้จักวางแผน คิดรอบครอบมากขึ้นและทำให้พวกเขาไม่ต้องเข้ามาอยู่ในสภาวะแบบนี้อีกต่อไป

­


นายศรัณย์พร แก่นทอง หรือ “จักร” แกนนำเยาวชนโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา คือตัวอย่างของเยาวชนที่ก้าวพลาดเพราะฮอร์โมนวัยรุ่นกำลังพลุ่งพล่าน จนทำให้เขาขาดการยับยั้งชั่งใจไปชั่วขณะ เมื่อมีโอกาสให้เขาได้กลับมาเริ่มต้นใหม่จักรจึงขอให้โอกาสในครั้งนี้ให้คุ้มที่สุดด้วยการเข้าร่วมโครงการฯ 

­

“โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ฝึกให้ผมสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นจากเดิมเป็นคนอารมณ์ร้อน ตอนนี้อารมณ์เย็นลง ฟังก่อนคิด คิดก่อนทำ ถ้าไม่มีโครงการนี้ ไม่มีครูเขี้ยว ที่ให้โอกาสได้เข้าร่วมโครงการ ทุกวันนี้ผมอาจจะไม่มีวันนี้ จากที่ผมนั่งสานแค่ให้ออกมาสวยแต่ผมนั่งสานแล้วนึกถึงอนาคตมากขึ้น ว่าเราสานแล้วเราออกไปแล้วเราจะทำอะไร มันเปลี่ยนวิธีคิดเราไปจากเด็กที่ไม่คิดอะไรเลยไร้สาระไปวัน ๆ กลับมาคิดวางแผน นึกถึงอนาคตของตัวเองมากขึ้น ” จักรกล่าว

­

­

­

ปัจจุบันจักรออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยอยู่ที่ร้านขายสีทาบ้านในตัวเมืองสงขลา ถึงแม้ว่าจักรจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่เขายังคงมาช่วยงานกับทางศูนย์ฝึกอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งทีมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เพราะได้รับโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ ทำให้จักรมีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เปลี่ยนความคิดทำให้คิดถึงคนอื่นมากขึ้น มีจิตอาสาอยากที่จะช่วยผู้อื่น จากที่เคยเป็นคนทำก่อนคิด ทำให้เขาคิดก่อนทำมากขึ้น เรียนรู้ที่จะกล้าปฏิเสธ นี่คือสิ่งที่เขาได้ติดตัวกลับไปนอกจากทักษะทางด้านฝีมือแต่มันคือเรื่องของระบบความคิดที่เขาได้รับการพัฒนาขึ้นผ่านการเข้าร่วมโครงการ

­

­

นางพรรณิภา โสติพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา กล่าวว่า “โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีอายุระหว่าง 12-24 ปี ซึ่งเรามองว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่สมองมีความมหัศจรรย์ที่สุด ทางสงขลาฟอรั่มจึงถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในปีนี้ สมองวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีระบบของการสร้างสรรค์ได้ตลอด ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในการเปลี่ยนแปลงของสมอง จะมีระบบที่เปรียบเสมือนผู้ร้ายที่ทำให้เด็กพลุ่งพล่านโมโหร้าย ใช้อารมณ์ ขาดการยับยั้งช่างใจ ถ้าเราเสริมศักยภาพในเรื่องของ Executive Functions (EF) ให้กับเขาในช่วงวัยนี้ได้ จะทำให้เขาเรียนรู้การยับยั้งชั่งใจ การคิดวางแผนผ่านโครงการที่เขาลงมือทำ ”

ในขณะที่ครูเขี้ยว หรือ นายประชิด ตรงจิต ที่ปรึกษาโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ก็ได้นำโครงการฯเข้าไปบรรจุอยู่ในชั้นเรียนของทางศูนย์ฝึกโดยใช้ชื่อว่า “ห้องเรียนสานสายใย” เพราะหวังว่าห้องเรียนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับให้เยาวชนที่ก้าวพลาดได้มาเข้าร่วมปรับเปลี่ยนวิธีคิด และมีทักษะอาชีพติดตัวไปเมื่อวันหนึ่งเยาวชนต้องก้าวออกจากรั้วกำแพงนี้ไป “ผมเป็นที่ปรึกษาของโครงการ ผมบอกเด็กว่าการที่เขาได้เข้ามาอยู่ในโครงการสานสายใย ถามว่าดีหรือไม่ดีครูไม่สามารถที่จะบอกได้แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ เรื่องของระบบวิธีการคิด ความรับผิดชอบ การเอาใจใส่การเรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดจะมีครบในโครงการสานสายใย ตั้งแต่ในเรื่องของทักษะการทำงาน การทำงานเป็นทีม ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน” ครูเขี้ยวกล่าว

­

­

โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราเห็นว่า ในสภาวะที่สมองของวัยรุ่นกำลังวุ่น ๆ อยู่กับการพัฒนาอยู่นั้น หากเราในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กสามารถหยิบฉวยช่วงเวลานี้และจัดการกับการเติบโตของสมองได้เปลี่ยนพลังลบให้กลายเป็นพลังบวก ดึงพลังจากสมองมาใช้ในทางที่ถูกต้องได้ เพราะสมองวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีระบบของการสร้างสรรค์ได้ตลอด ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระบบสมองก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยลง