“แซะ” เพื่อสร้าง “สำนึกพลเมือง”
การทำกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาเด็กในหลายๆ ครั้งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะกิจกรรมเหล่านั้นอาจไม่ได้มาจากความ “อยากทำ” ของตัวเด็ก แต่เกิดจากการจัดตั้งของผู้ใหญ่ แล้วให้เด็กเป็นเพียงผู้เข้าร่วม เด็กจึงขาดแรงจูงใจที่จะทำกิจกรรม ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการดึงเด็กและเยาวชนให้ก้าวมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์คือการที่ผู้ใหญ่เปิด “เปิดโอกาส” ให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

­

­

­

ดังเช่น โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ทำมากว่า 3 ปีแล้ว

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก กล่าวถึงปัญหาของเด็กในยุคปัจจุบันว่า “เด็กรุ่นใหม่หลายคนมีชีวิตที่ “เดินตามร่อง” คือ 6 โมงเช้าออกจากบ้านไปโรงเรียน 5 โมงเย็นกลับเข้าบ้าน วันหยุดไปเรียนพิเศษ ไม่ได้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนหรือสิ่งที่โรงเรียนให้ทำ ถ้าเราไม่ช่วยกัน “แซะ” ออกมา เขาอาจเติบโตขึ้นมาโดยขาดทักษะสำหรับดำเนินชีวิตในสังคม”

­

­

­

­

กระบวนการแซะเด็กออกจากร่องที่โครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เลือกทำ คือการ “เปิดพื้นที่” ให้เด็กทำโครงการจากโจทย์ของบ้านเกิด โดยลงไปศึกษาชุมชนให้รู้จักปัญหาและสิ่งดีๆ ที่มีในท้องถิ่น เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับชุมชน และตระหนักว่าตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนได้ขณะเดียวกันพี่เลี้ยงในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จะทำหน้าที่เป็น “โคช” คอยหนุนเสริมด้วยกิจกรรมและเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ เช่น การทำ “แผนที่ชุมชน” ทำให้เห็นภาพรวมของชุมชนได้อย่างครบถ้วน ให้เห็นกลุ่มเป้าหมายที่จะทำงานต่อได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง การทำ “Project Management” หรือการบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้เห็นสถานการณ์ของชุมชน ศักยภาพ องค์ความรู้ และปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ที่ชุมชนมีด้วย เพราะถ้าเด็กมีข้อมูลชุมชนเหล่านี้แล้ว จะสามารถหยิบมาวางแผนการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการต่อไปได้

นอกจากการทำหน้าที่โคชน้องแล้ว พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ยังประสานความร่วมมือจาก “พี่เลี้ยงชุมชน” ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนที่อยากมีส่วนส่งเสริมลูกหลานมาคอยช่วยแนะแนวทางให้น้องเวลาลงไปกิจกรรมจริงในชุมชนด้วย เพราะมองว่าการทำงานพัฒนาเด็ก จำเป็นต้องใช้การ “จับมือกัน” จากทุกฝ่ายรอบตัวเด็ก

­

­

­

­

นายคำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ยกตัวอย่างการทำงานของพี่เลี้ยงชุมชนให้ฟังว่า “พี่เลี้ยงชุมชนจะเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด ถ้าเข้าเข้าใจและขยับงานต่อได้ จะทำให้การทำงานของน้องลื่นไหล อย่าง อ.เรณุกา หนูวัฒนา และ อ.ธนพล อ่อนพุก จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ราชบุรี พี่เลี้ยงชุมชนของทีม Road safety ที่ทำเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนน ได้ใช้เวลาช่วงเย็นชวนเด็กมาพูดคุยเกี่ยวกับการทำโครงการเสมอ เด็กจึงมีพื้นที่ มีโอกาสประชุมกันบ่อย ขณะเดียวกันก็ทำให้ทางวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของโครงการของเด็ก แล้วเข้ามาสนับสนุนด้วย”

คำรณบอกต่อว่า สำหรับการประสานความร่วมมือขั้นต่อไปที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จะเคลื่อน คือการชวนผู้ปกครองของเด็กในโครงการ มาหนุนการทำกิจกรรมของลูก เพื่อสร้างพื้นที่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นคุณค่าของกันและกัน พ่อแม่เห็นในความสามารถของลูก ส่วนลูกก็ได้รับความช่วยเหลือในการประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น

­

­

­

­

เมื่อผู้ใหญ่ทุกฝ่ายในชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของการเข้ามาหนุนให้เด็กลงมือทำโครงการด้วยตัวเองบนโจทย์ของชุมชนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ความเต็มใจของเด็กในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่จะช่วยเสริมทักษะชีวิตและสำนึกความเป็นพลเมืองให้เขาต่อไป และนี่อาจเป็นหนึ่งในทางออกของการทำโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ยั่งยืน

­

­