​มมส.เดินหน้าถอดบทเรียนความสำเร็จ "โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง" เขตภาคอีสานตอนบน


       เพื่อเป็นการติดตามความก้าวหน้าและสรุปผลงานความสำเร็จในโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งดำเนินการมาจนถึงระยะสุดท้ายและจะสิ้นสุดลงปลายปี 2557 นี้


       คณะทำงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม ในฐานะผู้ประสานงานการขับเคลื่อนเขตภาคอีสานตอนบนในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้จัด เวทีถอดบทเรียนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถาบันการศึกษา พื้นที่อีสานตอนบน ขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 พ.ค.2557 ณ จ.ขอนแก่น โดยมีผู้บริหารและครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียงจากโรงเรียนเครือข่ายภาคอีสานตอนบน 21 โรงเรียน รวมจำนวนกว่า 50 ท่านเข้าร่วมกระบวนการ

­

       ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม ผู้ประสานงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการถอดบทเรียนครูแกนนำของแต่ละโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่รายวิชาเพื่อปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงให้แก่นักเรียน, การถอดบทเรียนภาพรวมกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของแต่โรงเรียน, และการถอดบทเรียนความสำเร็จของโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาในฐานะพี่เลี้ยงขับเคลื่อนขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่าย ขณะที่โรงเรียนเครือข่ายที่ต้องการเข้ารับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ในรอบหน้าจะมีการร่วมกันวางแผนเพื่อรับการหนุนเสริมและพัฒนาศักยภาพจากทีมงานขับเคลื่อนฯ เพื่อพร้อมรับการประเมินต่อไป


       คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า แม้มูลนิธิสยามกัมมาจลจะค่อยๆ ถอนตัวจากบทบาทการหนุนเสริมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในปลายปีนี้แล้วก็ตาม แต่เชื่อว่า ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ และสถานศึกษาพอเพียง จะสามารถขับเคลื่อนขยายผลต่อไปได้ เพราะต่างมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในเนื้อในตัวในระดับหนึ่งแล้ว


       ทั้งนี้ ภายหลังจากเปิดเวทีในช่วงเช้า ดร.ฤทธิไกร ได้ใช้ กระบวนการถอดบทเรียน 9 ขั้นตอน เพื่อให้ครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียงแต่ละท่านได้ทบทวนและถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่รายวิชาของตนเอง จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มย่อยตามรายวิชาเพื่อให้ครูแกนนำร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน ก่อนคัดเลือกตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจมานำเสนอในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วงใหญ่ พร้อมรับฟังข้อแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยตลอด 2 วันของกระบวนการยังรวมไปถึงการบรรยายให้ความรู้เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจ และการชี้แจง ตอบข้อซักถามที่มาจากผู้เข้าร่วมกระบวนการ เพื่อให้การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงเขตภาคอีสานตอนบนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  

­