ปลูกใจรักษ์โลกปี 2 “เปิดค่ายเติมเครื่องมือทำงานกับชุมชน” หนุนเยาวชนรักสิ่งแวดล้อมจากทั่วประเทศ ลงพื้นที่จริงดูการทำงานพื้นที่ตัวอย่าง“โรงกำจัดขยะอ่อนนุช คลองลัดมะยม บางปู”

เพื่อเติม “เครื่องมือทำงานกับชุมชน” ให้กับเยาวชนรักสิ่งแวดล้อมจากทั่วประเทศ ในโครงการปลูกใจรักษ์โลก ปี 2 จึงจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเติมเครื่องมือในการทำงานกับชุมชม และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับโครงการของตนเองต่อไป ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2557 ณ ศูนย์ฝึกอบรมวีเทรน กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เชื่อว่า เยาวชน มี "บทบาท" และ "มีพลัง" ในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงการปลูกใจรักษ์โลก ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งจัดโดยโครงการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน โดยมูลนิธิกองทุนไทย สนับสนุนทำให้เยาวชนได้รับการฝึกฝน หล่อหลอม ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม มีวิถีชีวิตที่ใส่ใจและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีแนวทางสำหรับลงมือปฏิบัติในการดูแลรักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กองทุนสิ่งแวดล้อม จึงเป็น "กลไกการพัฒนาเยาวชน" ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง (good citizen) ที่ใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม และมีบทบาทในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ ป่า ขยะ) ของชุมชน

จึงได้เกิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 : ค่าย “เสริมทักษะ เติมพลัง เรียนรู้ครึ่งโครงการ” 4 วัน 3 คืน ขึ้น มีเยาวชนจากทั่วประเทศที่มีจิตสำนึก “รักสิ่งแวดล้อม” จำนวน 84 คน จาก 21 โครงการ ได้มารวมกันเรียนรู้ “เครื่องมือในการทำงานกับชุมชน” เพื่อนำพัฒนาโครงการของตนต่อไป โดยมีพี่เลี้ยง นำทีมโดยมูลนิธิกองทุนไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรรักสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ 1.สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) 2.สมาคมป่าชุมชนอีสาน 3.กลุ่มไม้ขีดไฟ 4.กลุ่มหุ่นไล่กา 5.ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชน เพื่อคนกับป่า และ 6.นักวิชาการอิสระ ฯลฯ ซึ่งแต่ละองค์กรมีความสามารถที่แตกต่างกัน ได้นำเทคนิคและองค์ความรู้มาเติมเต็มให้เยาวชนที่เข้าค่ายในครั้งนี้ได้รับความรู้กลับบ้านกันไปอย่างเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว

สำหรับกิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม เยาวชนได้ทำความเข้าใจ “บทบาทของเยาวชนกับการทำงานร่วมกับชุมชน” การเรียนรู้เครื่องมือและเทคนิคการเก็บข้อมูล “ฟังเรื่องเล่า” การเรียนรู้ “การนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล” วันที่ 31 มีนาคม เยาวชนได้ลงพื้นที่เรียนรู้ระบบนิเวศดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น จ.สระบุรี ท่ามกลางอากาศร้อนและแล้งจัด มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ฐาน“พรางตา” นำสัตว์(ตัวการ์ตูนเล็กๆ) ชนิดต่างๆ ไปซ่อนตามต้นไม้และพื้นดิน ฐานสำรวจป่า(พี่เลี้ยงสอนการวัดต้นไม้ การทำข้อมูลพื้นป่า) ฐานสีสันจากพงไพร (พี่เลี้ยงให้น้องวาดภาพจากวัสดุธรรมชาติ) ฐานฝายและน้ำ (พี่เลี้ยงให้ความรู้เรื่องฝายและน้ำและลองให้น้องๆ ลงไปสัมผัสฝายจริงๆ) ฐานความงามเล็กๆ (พี่เลี้ยงใช้เฟรมกรอบเล็กวางไว้ตามต้นไม้ ดอกไม้ ฯลฯ และให้วาดรูปภาพในเฟรมที่ชื่นชอบ” กิจกรรมที่น้ำตกนี้ ได้แบ่งเยาวชนออกเป็นสองกลุ่ม ออกเดินไปตามฐานต่างๆ ลัดเลาะตามผืนป่าถึงน้ำตกที่แทบจะไม่มีน้ำ และให้น้องๆ ช่วยกันเรียนรู้และจดบันทึกสิ่งต่างๆ ไว้

วันที่ 1 เมษายน เยาวชนได้ลงศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ตัวอย่างพื่อ “เรียนรู้สถานการณ์ วิเคราะห์ปัญหา และเรียนรู้การจัดการ” และฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลจากสถานที่จริง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.“ชุมชนอ่อนนุช” กับปัญหาขยะกองโต ที่กลุ่มเยาวชนทำโครงการเกี่ยวกับขยะได้ลงไปดูการจัดการปัญหาในพื้นที่จริง ได้ความรู้และความประทับใจในบทบาทของปแกนนำในชุมชนเรื่องการจัดการขยะเป็นอย่างมาก 2. “คลองลัดมะยม” คนกลางน้ำลุกขึ้นดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชน พบกับลุงชวน (ผู้นำในการดูแลขยะในตลาดและคลอดลัดมะยม) ที่ได้เล่าเรื่องราวการอนุรักษ์และการรักษาคลองลัดมะยม ลุงชวนฝากข้อคิดกับเยาวชนว่า “ความรู้จำเป็นต้องมีในการพัฒนาทุกเรื่อง ไม่ได้ใช้แต่สามัญสำนึก ให้ฝึกฝนจะเกิดความเข้าใจปัญหา และเยาวชนที่เป็นแกนนำ ต้องเป็นผู้ที่ลงมือทำ มีความรู้มากกว่าคนอื่น และคิดแล้วทำทันที ถึงจะประสบผล” 3. “บางปู...พื้นที่ปลายน้ำ” กับปัญหาจากคนต้นน้ำและการพัฒนาเมือง ที่คิดว่าจะได้ชมระบบนิเวศน์แต่ไปเจอปัญหาขยะกองโตในแต่ละปีที่โดนซัดมาจากทะเล ในวันนี้เยาวชนได้ลงสัมผัสพื้นที่จริงและได้รวมกันจัดทำข้อมูลจากการลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การนำเสนอมีทั้งรูปแบบของละครและเพาเวอร์พอยท์ ได้เล่าปัญหาในแต่ละชุมชนให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ฟัง เป็นการ“วิเคราะห์ผลการลงพื้นที่” ซึ่งสร้างความเข้าใจในการลงพื้นที่ให้กับเพื่อนๆ กลุ่มอื่นเป็นอย่างมาก และตลอดระยะเวลาที่เข้าค่าย พี่เลี้ยงได้เปิดโอกาสให้น้องๆแต่ละกลุ่มได้ลองนำ “สันทนาการ” กันเอง ทำให้ได้เห็นรูปแบบของสันทนาการที่หลากหลาย และเยาวชนได้กล้าแสดงออกอีกด้วย

และวันสุดท้าย เยาวชนส่วนหนึ่งได้ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นจากการร่วมทำกิจกรรมในค่ายครั้งนี้ และจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

โครงการเยาวชนร่วมฟื้นฟูผืนป่า ม่อนต้นลาน (กลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิด จ.ลำปาง) กลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิด เยาวชนบ้านสาแพะ เห็นถึงความสำคัญผืนป่าสาแพะจึงร่วมใจกันอาสาร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าม่อนต้นลาน เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของม่อนต้นลานได้เผยว่า “ค่ายนี้ทำให้พวกเราได้เกิดการเรียนรู้มากค่ะ ชอบกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ กิจกรรม “พรางตา” ทำให้พวกเราได้ฝึกสังเกต และสามารถนำไปจัดค่ายกับน้องๆที่ชุมชนได้ และสันทนาการที่พวกเราจะลองไปทำดูค่ะ คิดว่าจะทำให้น้องๆ เกิดความชื่นชอบและได้ความรู้ใจค่ายกลับไปด้วย”

โครงการฮอมแฮงฮักป่าซาง กลุ่มเยาวชนฟรีด้อมโปรเจคเชียงราย จ.เชียงราย “ชอบฐานความงามเล็กๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจกับธรรมชาติรอบตัว แต่พอพี่ๆ เขาเอากรอบไปวางไว้ทำให้ดูสวยขึ้นมา และฐานหนึ่งคือ สีสันจากพงไพร วาดภาพใบไม้และใช้สีจากธรรมชาติรอบๆตัว เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย หาได้จากรอบตัวเรา คิดว่าจะไปใช้กับกิจกรรมค่ายของพวกเรา”

โครงการจิ๋วมหัศจรรย์ สร้างบ้านในฝัน ชุมชนปลอดขยะ กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดอนหนองโจน จ.ร้อยเอ็ด “ชอบกิจกรรมลวดไฟฟ้า ทำให้มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ตามที่ดี คิดว่าจะนำไปเล่นในค่ายต่อไปครับ”

โครงการลดมลพิษพลิกฟื้นชีวิตดิน ปี 2 กลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน จ.มหาสารคาม ศึกษาเรื่องดิน กลุ่มแสน “ได้สันทนาการ ความสนุกสนานของค่าย จะได้นำไปจัดค่ายในเยาวชนในวันที่ 12-13 พ.ค. นี้ ได้แรงบันดาลใจจากพี่ที่ชุมชนอ่อนนุช วิธีการทำงานของพี่ที่ค่อยๆ ทำขึ้นมา แม้ยังไม่สำเร็จแต่ก็จะทำจะนำไปใช้กับตัวเองและโครงการของตน”

โครงการปลูกต้นกล้าพัฒนาป่าชายเลน(กลุ่มเยาวชนรักษ์คลองบางสน จ.ชุมพร) อนุรักษ์ป่าชายเลน“ได้วิธีคิด ได้กระบวนการทำงาน สามารถนำไปรับใช้กับโครงการได้ ได้วิธีการเก็บข้อมูลที่ทำได้ลึกขึ้นกว่าเดิม”

โครงการปลูกใจ..เมล็ดพันธุ์รักษ์โลกปี 2 กลุ่มเยาวชนพงลีแป สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ฟื้นฟูน้ำตกฉัตรวารินให้กลับมามีสภาพสะอาดเป็นแหล่งต้นน้ำที่คนทั้งอำเภอสุไหงปาดีใช้อุปโภคบริโภคค่อไป

“กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร” เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้สอนให้น้องๆ ได้ทบทวนโครงการของตนเอง “การเข้าค่าย 3-4 วันนี้ ก็เหมือนกับการหายใจเข้า หายใจออก 1-3 วันหายใจเข้า วันสุดท้าย หายใจออก นั่นคือกิจกรรมวันสุดท้ายที่ ผมได้ชวนให้น้องๆ ได้ทบทวนโครงการของตัวเองบนฟลิปชาร์ต เพื่อทำเป็นข้อมูลเก็บเอาไว้ว่ามีอะไรที่ทำไปแล้วบ้าง และอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ระยะเวลาที่เหลือจะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทันไหม เพื่อให้น้องๆ ได้ทบทวนงานของตัวเองครับ และหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้น้องๆ ได้ความรู้ เครื่องมือกลับไปทำโครงการเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ”

“รัตนติกา เพชรทองมา” เจ้าหน้าที่มูลนิธิกองทุนไทย เผยว่า“ในวันสุดท้ายเราจะมาเฉลยว่าในการเข้าค่ายครั้งนี้เราต้องการเสริมอะไรให้กับเยาวชนบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนและสามารถนำกลับไปพัฒนาโครงการของตนต่อได้ ทุกกิจกรรมในค่ายนี้สามารถนำเชื่อมโยงกับโครงการของตนเองได้ มีการให้ฝึกนำเสนอ สื่อสาร ในประเด็นหลักต่างๆ หวังว่าน้องๆ จะได้กิจกรรมต่างๆ ในค่าย นำไปประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการของตัวเองต่อไป”

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของค่ายในครั้งนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลและมูลนิธิกองทุนไทย หวังว่า “เยาวชน” ทั้ง 21 โครงการ จะสามารถนำ “เครื่องมือ” ต่างๆ ไปพัฒนาโครงการของตนเองให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

­