The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 6
เยาวชนปลุกพลัง “ชาวสงขลา” รักษ์“หาดสมิหลา”

The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 6 เยาวชนรวมพลัง กระตุ้น “คนสงขลา” สนใจ ร่วมรักษ์ชายหาดสมิหลา หลังเยาวชนรวมกลุ่มเฝ้าระวังชายหาดกว่า 4 ปี จัดทำ “ข้อมูล” เชิงลึกรักษาหาดยั่งยืนทำได้อย่างไร?

สงขลาฟอรั่ม และกลุ่ม Beach For Life กลุ่มพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกันจัด The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 6 ขึ้น ภายในงาน ช่วงบ่าย ได้มีการรายงานผลการสำรวจ ติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมของพลเมืองสงขลา โดยทีมงานกลุ่ม Beach For Life และ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ณ ห้องประชุมสกายรูม โรงแรมวีว่า และช่วงค่ำ จัดนิทรรศการ ชุด “พลเมืองสงขลา กับ อนาคตหาดสมิหลา” ณ โรงสีแดง (หับ โห้ หิ้น) จ.สงขลา และวงเสนาในหัวข้อ “รักษาหาดทรายอย่างไรให้ยั่งยืน?” โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ การเติมทรายชายฝั่งและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับหาดทรายแก่คนสงขลา เพื่อเชื่อมโยงความรักความผูกพันของคนสงขลาที่มีต่อระบบนิเวศหาดสมิหลา และเพื่อนำเสนอผลงานของพลเมืองเยาวชนสงขลาในการอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

­


อาจารย์พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งใน 72โครงการ ซึ่งกลุ่มบีช ฟอร์ ไลฟ์ ได้ทำงานการศึกษาหาดสมิหลาทั้งระบบ แบบเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ซึ่งโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เน้นให้เด็กมีส่วนร่วมกับบ้านเกิดหรือชุมชนอย่างมีชีวิตจริง กระบวนการที่มีส่วนร่วมของเด็กที่จะมีต่อบ้านเกิดนั้น เกิดจากการเรียนรู้และปฏิบัติจริง โดยให้เด็กเลือกเองว่าเด็กอยากจะเปลี่ยนแปลงหรืออยากจะพัฒนาสิ่งใดในบ้านเกิของเขา สำหรับกลุ่มบีชฟอร์ไลฟ์ เขาเลือกหาดสมิหาเป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จากการปลูกฝังในเรื่องของจิตสำนึกพลเมืองและเรื่องการมีส่วนร่วม และได้นักวิชาการ คือ ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ที่มีความรู้ด้านทรัพยากรชายฝั่ง ได้ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติการจริงไปพร้อมๆ กับเด็กๆ กลุ่มนี้ฯ มาถึง 4 ปีแล้ว การทำงานเพื่อส่วนรวมไม่ได้ทำแค่ความรู้สึกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเหตุผลทางวิชาการ และมีประสบการณ์ทีเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ปฏิบัติจริงด้วย..

­

­

ซึ่งในวงการการศึกษาเราก็ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสได้สัมผัสกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คิดว่าโมเดลที่เด็กนำเสนอจะได้ขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆ ที่มีหาดทราย ชายทะเลอยู่ข้างบ้าน ประเทศไทยเรามีชายฝั่งอยู่เกือบ 3 พันกิโลเมตร มี 23 จังหวัดที่มีชายฝั่งและชายหาด แต่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับหาด คนไทยยังรู้น้อยมาก เราคิดว่าถ้าหน้ามรสุม หาดพัง ก็คงเอาเขื่อน เอาของแข็งมาลงเท่านั้น เราไม่มีทางเลือกอื่นเลย เพราะเรายังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น การเริ่มต้นของกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นการบุกเบิกและเป็นการสร้างสรรค์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลปกปักรักษาหาดทรายของประเทศไทยให้อยู่คู่กับประเทศไทยได้

­

­

­

เพราะปัญหาที่หาดสมิหลาเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความรุนแรงในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ มีความพยายามในการปกป้องชายหาดตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ในโครงการฯ นี้ ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนท้องถิ่น ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายหาด โดยมีพื้นที่ศึกษาตามแนวชายฝั่งระยะประมาณ 7.8 กิโลเมตร ด้านเหนือของแหลมสนอ่อน จรดโครงสร้างเขื่อนสันทรายและคลื่อนปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา แต่เยาวชนต้องมีองค์ความรู้ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ ซึ่งดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในฐานะที่ปรึกษา ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจวัดรูปตัดชายหาดอย่างง่าย มีราคาถูกและสามารถหาได้ในท้องถิ่น เพื่อให้อาสาสมัครที่เป็นเยาวชนสามารถเข้าใจและใช้งานได้อย่างถูกต้อง โดยดัดแปลงมาจากหลักการ Water Level Method

­

­

­

กลุ่มเยาวชนกลุ่มบีฟ ฟอร์ ไลฟ์ ประกอบด้วย น.ส.พิชญา อักษรช (เป้),น.ส.เพรซเชิซ เอเบลเล อีเลคชุคภู (เกรซ) , น.ส.จันทิรา ศรีรักษ์ (บีม) ,นายชนิน วงบุดดา (เอฟ),น.ส.ธันวา สิทธิพันธุ์ (กำไล) ,นายอนากร ศรีดำ (ขลุ่ย) นายอารัช ขวัญเจริญ (รัช) และผู้ร่วมก่อตั้ง นายอภิศักดิ์ ทัศนี (น้ำนิ่ง) ในเวทีนี้ เยาวชน ได้ร่วมกันนำเสนอการผลสำรวจ ติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบ ประจำปี 2558 ได้ร่วมสะท้อนว่า...นายอภิศักดิ์ ทัศนี หรือ น้ำนิ่ง สะท้อนข้อมูลที่เยาวชนร่วมกันจัดเก็บมีประโยชน์อย่างไร “ข้อมูลที่ได้มา มีอยู่ ใครใช้อะไร อย่างไร ตรงไหน ถึงแม้จะยังไม่ใช่ข้อมูลที่เก็บตามหลักวิชา แต่ก็สามารถทำให้เราเห็นภาพได้ว่าถ้าต่อไปเราจะจัดโซนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณหาดสมิหลา - ชลาทัศน์ที่มีคนนั่งกินข้าว เล่นน้ำ ก่อกองทราย เราจะทำอะไรอย่างไรตรงนั้น เราจะจัดโซนอย่างไร หรือแม้กระทั่งพื้นที่แหลมสนอ่อนที่เป็นคนทอดแหตกปลา ไม่มีคนเข้าไปนั่งพักผ่อนมากนัก เราจะโซนนิ่งตรงนั้นให้มีการใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับพื้นที่ได้อย่างไรจากฐานข้อมูลที่เรามี อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นขั้นต่อไป เพราะการจัดโซนนิ่งมันก็มีประโยชน์ในการดูแลชายหาดสมิหลาของเรา”

­


น.ส.จันทิรา ศรีรักษ์ (บีม) น้องใหม่ล่าสุดร่วมสะท้อนการเรียนรู้ “เริ่มจากไปวัดชายหาด สิ่งที่ได้ จะได้ความรู้ เวลาที่เราขับรถผ่าน เราก็จะเห็นหาดที่มีคนไปเล่นน้ำตรงนั้นมันก็ยังใช้ได้อยู่ใช่ไหมคะ เราก็ไม่ได้มีความคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไร แต่พอเราได้ลงไปวัดหาดเอง ในมุมที่ไม่มีใครเห็น เช่น ป่าสน มันไม่เหมือนกับที่เราเห็นเลย ก็เลยได้รู้และก็มีจิตสำนึกว่านี่บ้านเราทำไมเราไม่เริ่มทำอะไรละ”


­

และในช่วงเย็นได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “รักษาหาดทรายอย่างไรให้ยั่งยืน” โดยจะมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1.ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 2 คุณสุภาพร มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ (EnLaw) 3.คุณวัลลภ หมัดโส๊ะ อาสาสมัคร ร่วมด้วยแกนนำเยาวชน 4.นายอภิศักดิ์ ทัศนี (น้ำนิ่ง) และ อลิสา บินดุส๊ะ (น้ำฝน) โดยมีนายบัญชร วิเชียรศรี (แมน)ดำเนินรายการ ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนาที่น่าสนใจ... อาทิ

คุณสุภาพร มาลัยลอย ร่วมสะท้อน.. “อยากจะร่วมกับคนในพื้นที่ภาคใต้ในการที่จะทำอย่างไร ที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาตินี้ไว้ให้มันอยู่สวยงาม และชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่สวยงามแบบอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ด้วย แล้วก็ไม่ใช่หยุดนิ่งเพียงแค่นั้น แต่การพัฒนาควรจะมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการที่ร่วมกันกำหนด และร่วมกันกำกับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้วย อันนี้ก็เป็นพลังหนึ่งที่เห็นพื้นที่ภาคตะวันออก และไม่อยากให้พื้นที่นี้ดำเนินการพัฒนาโดยซ้ำรอยภาคตะวันออก ให้เกิดผลกระทบแบบนั้นนะคะ

­


คุณอลิสา บินดุส๊ะ (ฝน) สะท้อนว่า “สำหรับฝนว่าจะทำอย่างไรให้หาดมันอยู่อย่างยั่งยืนได้ หนูคิดว่าเราต้องเข้ามาทำความเข้าใจมัน แล้วก็สิ่งที่มันเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่คิดว่าทุกคนทำได้ แล้วก็พอรู้เรื่องหาดแล้ว มันก็มีวิธีที่เราสามารถเข้าถึงได้ และฐานข้อมูลของหาดสมิหลา บีชฟอร์ไลฟ์ก็มีทำแล้ว คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ที่คิดว่าถ้าจะรักษาหาดให้มันยั่งยืนจริงๆ ก็คือว่าทำให้คนสงขลาเข้าใจว่าหาดมันมีระบบอย่างไร เข้าใจมัน และไม่เฉพาะแค่คนสงขลาอย่างเดียว เพราะว่าพอย้อนดูคนที่ทำลายชายหาดไป มันก็จะพูดไปถึงเรื่องระดับนโยบายที่เข้ามากระทำ แสดงว่านอกจากจะทำให้ประชาชนคนสงขลาเข้าใจแล้ว หน่วยงานราชการหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำความเข้าใจกับหาดด้วย ถ้าจะแก้อย่างยั่งยืนจริงๆ มันต้องมองต้องร่วมมือกันในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรม กฎหมาย หรือแม้แต่ชุมชนเองก็ต้องมาร่วมกันคิด และทำความเข้าใจกับชายหาด และวางแผนการแก้ปัญหามัน หนูคิดว่ามันถึงแก้ปัญหาเรื่องหาดนี้ได้อย่างยั่งยืน”