พลังการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

เยาวชนสงขลาร่วมแสดง “พลังการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” ให้ชุมชน สังคม ได้เห็นศักยภาพตนเองในงานเทศกาลการเรียนรู้ “สงขลาส่องแสงครั้งที่ 3” มีเยาวชน 18 โครงการ ชูประเด็นสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์วัฒนธรรม การจัดการขยะ และคุณภาพชีวิตทั้งเด็กและผู้สูงวัย ผลจากการลงมือทำทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในเมืองสงขลา เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา




สงขลาฟอรั่ม จัดงานเทศกาลการเรียนรู้ “สงขลาส่องแสงครั้งที่ 3” ในธีม“พลังการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Lerning by Doing)”ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปี 3 สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีร่วมด้วยคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร คุณรังษี รัตนปราการ ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โนรา ดีเก ฮูลู และการนำโครงการผ่านการแสดงหนังตะลุง การแสดงละคร ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมากณ หอประชุม 1 ม.ราชภัฏสงขลา จ.สงขลา

­



นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า “สำหรับโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่การเรียนรู้จากประเด็น สภาพปัญหาที่เยาวชนสนใจ ลุกขึ้นมาคิด และลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการแปลี่ยนแปลงโดยร่วมมือกันทำงานเป็นทีมอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนเชื่อมโยงกับเรื่องจริง สถานการณ์จริง เกิดจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชน สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนนำผลงานมานำเสนอและสื่อสารต่อสาธารณะ และมีธีมคือพลังการเรียนรู้จากการลงมือทำหมายถึงการเดินทางตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของโครงการฯ นี้ มาถึงความเชื่อมั่นแล้วว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อสร้างจิตสำนึกพลเมืองเป็นการศึกษาทางลัดที่ทำได้จริง การศึกษาที่สร้างจิตสำนึกพลเมืองสร้างแบบบรรยายไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในส่วนนี้ต้องขยายเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนมี 4 ขั้นตอนได้แก่ 1.กระบวนการพัฒนาโครงการของเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติในรูปแบบวงกลมของการสะท้อนกลับและนำเสนอ 2.กระบวนการ Coaching พี่เลี้ยงที่ปรึกษา หรือ โค้ช ที่มีบทบาทสำคัญในการฝังเรื่องทักษะชีวิต (ทักษะชีวิต 5 ด้าน 1.ด้านการคิด วิเคราะห์วิจารณ์ คิดสร้างสรรค์ตัดสินใจและเชื่อมโยง 2.ด้านตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่น ความภูมิใจในตน 3.ด้านการจัดการอารมณ์และความเครียด 4.ด้านการสื่อสารสาธารณะอย่างมีพลัง 5.ด้านการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง)เพื่อสร้างความเข้มแข็งของทีม การค้นหาคุณค่างานที่ทำเชื่อมโยงกับส่วนร่วม จิตสำนึกพลเมืองฯลฯ 3.กระบวนการพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง มุ่งเน้นให้เยาวชนเชื่อมโยงความคิดจากงานที่ทำไปสู่เรื่องจริง สถานการณ์จริงของสังคม 4.กระบวนการสรุปบทเรียนและสื่อสารกับสาธารณะ จัดเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้เชิงพื้นที่ เชิงประเด็น พบว่าเมื่อเยาวชนผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นนี้แล้วเด็กเขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เด็กบางกลุ่มสามารถจะเชื่อมโยงกับชุมชนได้ บางกลุ่มเชื่อมโยงตัวเขากับเพื่อน บางกลุ่มเชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชนได้ คิดสัก 50 % ปีนี้ที่เห็นชัดคือกลุ่มป่าเสม็ดเขาเชื่อมโยงกับชุมชน โรงเรียน โมเดลที่อ.ควนเนียงน่าจะเป็นโมเดล ตัวอย่าง เด็กยังมองว่าชุมชนคือโรงเรียน

­



คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นจากที่มูลนิธิฯ ต้องหาหน่วยงานที่สนใจเกี่ยวกับการสร้างพลเมือง สงขลาฟอรั่มเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เรื่องที่จะทำงานเกี่ยวกับพลังเยาวชน เราก็เข้ามาหนุนสงขลาฟอรั่มทำงานด้านนี้ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและขยายตัวมากขึ้น เป็นความร่วมมือของมูลนิธิสยามกัมมาจลและสสส.ที่ผ่านมาทำให้กระบวนการเยาวชนคึกคักมากขึ้น คือคนรุ่นใหม่เริ่มใส่ใจในบ้านเมืองเมืองนอนของตัวเองมากขึ้นและน้องๆส่งเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น สิ่งที่เราภูมิใจก็คือว่าเห็นรุ่นพี่กลับเข้ามาดูแลรุ่นน้องและก็เกิดเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าเข้ามาเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของจ.สงขลา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วก็อยากจะสื่อรวามไปที่จังหวัดอื่นถ้าเราใส่ใจคนรุ่นใหม่ของเราให้เขามีโอกาสเข้ามาร่วมรับผิดชอบบ้านตัวเองเริ่มตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เริ่มที่ จ.สงขลา เพราะจังหวัดสงขลามีองค์ประกอบครบ มีคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นพลเมืองที่เรียกว่า Active Citizenรุ่นอาวุโสก็มาใส่ใจให้คนรุ่นใหม่มาใส่ใจบ้านเมือง ยังมีหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย 4- 5 ที่จะเข้ามาจับมือกัน และจ.สงขลาในส่วน AEC ถือว่าเป็นจังหวัดที่ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของ AEC ฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากทีเดียว สงขลาก็เป็นคนที่จะเริ่มต้นและคิดว่าเกิดความสำเร็จมากทีเดียว โครงการแบบนี้ก็ขยายผลไปสู่หัวเมืองต่างๆ อีกหลายจังหวัด โครงการแบบนี้เราไม่ได้หนุนตลอดไป เราให้หน่ออ่อนกลไกจังหวัดสงขลาเข้มแข็งขึ้นจากนั้นคนสงขลาและหน่วยงานในสงขลาเองจะต้องร่วมกันที่ทำให้กลไกที่เป็นหน่ออ่อนแบบนี้เข้มแข็งมากขึ้น สสส.และมูลนิธิสยามกัมมาจลก็จะอยู่เป็นเพื่อนกับชาวสงขลาอีกสองปี หลังจากนี้เราก็คิดว่ากลไกแบบนี้จะเข้มแข็งขึ้นก็เป็นหน้าที่ของคนสงขลาที่จะดูแลและคิดว่ากลไกแบบนี้สำคัญไหมกับเยาวชนในบ้านในเมืองของตนเองและช่วยกันดูแลต่อไปนะค่ะ และอยากฝากถึงเยาวชนว่าเมื่อเยาวชนเองเมื่อผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชน น้องๆ ก็เห็นแล้วว่าพลังเยาวชนร่วมสร้างบ้านเมืองได้ ก็อยากจะให้น้องๆ มีกำลังใจต่อไป ที่เข้ามาทำโครงการแล้วเกิดความสำเร็จเมื่อเข้ามาทำโครงการแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครมาสนับสนุนเราต่อ การเป็นพลเมืองทำได้ทุกวันและทำต่อไปได้หวังว่าทุกคนก็จะเป็นพลังที่สำคัญในการที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองของตัวเองและอยากส่งต่อไปที่จังหวัดต่างๆ ว่าถ้าสงขลาทำดีทำไมบ้านเราทำไม่ได้”




พลังเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจากโครงการนี้จะสร้างสำนึกพลเมืองได้อย่างไร แกนนำเยาวชนบางส่วนมีคำตอบให้.... มีน - ศิริวรรณ มาแซ เยาวชนแกนนำโครงการสร้างความสุขสู่ชุมชน บอกว่า"ตอนแรกกลุ่มเราก็ไม่ได้มีความเป็นพลเมืองอะไรมากมาย แต่ว่าด้วยวิชาที่ต้องเรียนลงไปศึกษาชุมชน อาจารย์บังคับให้ไปทำ ตอนแรกทำเพราะอยากได้คะแนน แต่พอเราทำแล้วรู้ว่ามันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเขาว่าถ้าเราเป็นเหมือนเขาที่ไม่มีอะไรเราจะรู้สึกอย่างไร ตรงนี้ทำให้มันเข้าไปอยู่ในจิตใจว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้วเพื่อพวกเขา อยากให้เขาได้รับอะไรดีๆ ขึ้นมา ความคิดเล็กๆ แบบนี้ที่พอทำไปแล้วมันก็เกิดความสุขขึ้น"




ป้อ-นายจิตติกรณ์ บัวเพชร เยาวชนแกนนำโครงการตะลุงพันธุ์ใหม่ สานใจเยาวชนกลุ่มนายหนังพลเมือง "ผมเล่นหนังตะลุงเป็นอยู่คนเดียว กลุ่มผมเล่นไม่เป็น ดูไม่เป็น หลังทำโครงการนี้ได้เห็นถึงเบื้องหลังการเล่นหนังตะลุง ผมภูมิใจผมสามารถสร้างคนที่ดูหนังตะลุงเป็นอีก 4 คน ตอนเข้าโครงการแรกๆ ผมไม่เข้าใจคำว่าพลเมืองคืออะไร แต่พอทำโครงการนี้้แล้วทำให้ผมเข้าใจคำว่าพลเมืองมากขึ้นว่าคำว่าพลเมืองมีแบบบังคับด้วยกฏหมาย เช่น การไปเลือกตั้ง และจารีตประเพณีคือการดูแลบุพการี พ่อแม่ ผู้มีพระคุณ เราต้องตอบแทน แต่ที่ไม่เห็นเป็นรูปธรรมต้องบังคับจากใจเรา สิ่งนี้ง่ายๆ ทำอะไรก็ได้ ไม่เบียดเบียนใคร ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน เราไม่เดือนร้อนนั่นคือหน้าที่พลเมือง”

­



เยาวชนแกนนำตัวแทนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จ.สงขลา บอกว่า"สะท้อนจากชีวิตของผม ผมคิดว่าตัวผมเป็นพลเมืองที่แย่มาก ที่ผมได้ทำผิดพลาดและได้เข้ามาที่นี่เมื่อผมมารู้จักโครงการสานสายใย ฝึกให้ตัวผมได้คิดอะไรมากมาย ทำให้ใจเย็น มีสมาธิ เห็นคุณค่าความเป็นพลเมืองตอนที่มาได้ทำโครงการนี้ ตอนที่เริ่มทำโครงการคิดว่าแค่อยากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แต่พอทำไปๆ เกิดสมาธิทำให้มานั่งคิดย้อนอดีตว่าไม่มีใครห่วงเรามากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่สอนให้เราเป็นคนดี ผิดที่ผมไม่เชื่อฟังพ่อแม่เอง แล้วก็คิดทบทวนอยากจะกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้าน ผมมีคุณค่าที่กลับออกไปแล้วมีอาชีพเสริม สอนจากรุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง ผมพ้นโทษออกไปก็จะไปสอนน้องๆ ว่าสังคมในนี้ลำบากมาก ต่อไปผมจะเป็นคนดี” วันนี้ พลังเยาวชนสงขลาได้ส่องแสงให้สังคมไทยได้รับรู้แล้วว่า พลังเล็กๆ ของพลเมืองเยาวชนพร้อมที่จะยืนหยัดปกป้องบ้านเกิดด้วยมือของตนเอง #ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้



  

หัวข้อข่าว :

'สงขลาส่องแสง' ครั้งที่ 3 เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ขอขอบคุณหนังสือไทยโพสต์ ประจำวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2558

  

หัวข้อข่าว :

(กรอบเช้า) พลังเยาวชนสงขลาเรียนรู้และลงมือทำ

ขอขอบคุณหนังสือข่่าวสด ประจำวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2558

 

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบบ่าย) พลังเยาวชนสงขลาเรียนรู้และลงมือทำ

ขอขอบคุณหนังสือข่่าวสด ประจำวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2558