“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 เปิดรับสมัครเด็กเก่ง IT ต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่ “การใช้จริง”

เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วสำหรับ โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” โครงการต่อยอดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของเยาวชนจาก “เวทีการประกวด” สู่ “การใช้งานจริง” ทั้งในภาคการค้าและการรับใช้สังคม โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)





คุณรัตนา กิติกร ผู้จัดการโครงการสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลความสำเร็จของโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 1 และ 2 ว่า ในโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" มูลนิธิสยามกัมมาจลได้ทำงานร่วมกันกับเนคเทคเพื่อร่วมกันมองว่าทำอย่างไรให้ผลงานของเยาวชนสามารถพัฒนาและก้าวไปสู่ความสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริง ก็รู้สึกดีใจที่เห็นผลงานของน้องๆ ทำสำเร็จออกมา แต่มากไปกว่าความดีใจตรงนั้นคือประโยชน์ที่สังคมได้รับจากผลงานที่น้องๆ พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะประโยชน์ที่เกิดกับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มผู้ป่วยและผู้พิการที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพง แต่เมื่อน้องๆ พัฒนาขึ้นมาเองได้ ราคาก็ถูกลง การเข้าถึงผู้ป่วยก็มีมากขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้น โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเยาวชนส่งผลงานในลักษณะดังกล่าวสมัครเข้าร่วมต่อยอดพัฒนาในโครงการฯ ด้วยกันหลายชิ้น อาทิ ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าเพื่อการวินิจฉัยโรค และแอพพลิเคชั่นเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

"สุดยอดของการคิด หรือนักสร้างสรรค์ IT ต่างๆ สุดท้ายมันก็คือว่าผลงานนั้นๆ มันถึงมือผู้ใช้หรือเปล่า และเขาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ไหม อันนี้ก็คิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้เด็กๆ ของเราพัฒนาตรงนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ให้แก่คนในสังคม และไม่เพียงแค่ในบ้านเราเท่านั้น เราอาจเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ในโลกนี้ได้ใช้ร่วมกันด้วย"
คุณรัตนา กล่าว





ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ยังอยู่ที่น้องๆ เยาวชนที่ผ่านโครงการฯ จะเป็นผู้ “คิดเป็น” สามารถใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เขาเรียนอยู่มาใช้แก้ปัญหาที่พบเจอในบริบทของตัวเองหรือทำให้ปัญหาเบาบางลง อันไหนที่ไม่มีความรู้ก็หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้น อีกจุดหนึ่งคือเยาวชนสามารถฝึกปรือพัฒนาผลงานออกมาเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ รวมถึงการเปิดใจเยาวชนให้รับฟังข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากคนอื่นเพื่อปรับปรุงผลงาน และสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจผลงานของตัวเอง ส่วนตัวเชื่อว่าเยาวชนไทยมีความสามารถด้าน IT ไม่แพ้ชาติใด หากได้รับโอกาสและการหนุนเสริม เช่นโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นี้ถือเป็นจุดเริ่มของเยาวชนในการพัฒนาตนเอง ที่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว การพัฒนาต่อไปก็สามารถทำได้ง่าย

สำหรับไฮไลต์สำคัญของโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 3 ยังคงอยู่ที่การสนับสนุนการต่อยอดพัฒนาผลงานด้านโปรแกรมซอต์ฟแวร์คอมพิวเตอร์ของเยาวชน โดยคัดเลือกผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 10 - 15 ผลงาน จากผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายในมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 (The Fourteenth Thailand IT Contest Festival 2015) เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณต่อยอดพัฒนาผลงานโครงการละ 50,000 บาท, โอกาสการเข้าสู่กระบวนการหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งทางด้าน IT ด้านธุรกิจ และด้านการบริหารจัดการโครงการต่อเนื่องจนกว่าผลงานจะถึงมือผู้ใช้ รวมทั้งโอกาสพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และการสนับสนุนให้เข้าร่วมการแข่งขันในเวทีนานาชาติ





ด้านเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (อู๋) เยาวชนในโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 1 เจ้าของผลงาน “ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าเพื่อการวินิจฉัยโรค” สะท้อนสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ว่าการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เขามีโอกาสพัฒนาเครื่องวิเคราะห์ฝ่าเท้าสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจนสำเร็จ ทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศราคาเครื่องละ 300,000-1,000,000 บาท ขณะที่เครื่องที่ผลิตเองมีต้นทุนเพียง 25,000-100,000 บาท ปัจจุบันระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าเพื่อการวินิจฉัยโรคได้รับการขยายผลใช้แล้วในโรงพยาบาลกว่า 17 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลสามร้อยยอดโรงพยาบาลดอกคำใต้ โรงพยาบาลปง โรงพยาบาลจุน โรงพยาบาลเชียงคำ โรงพยาบาลเชียงม่วน โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร โรงพยาบาลแม่จริม โรงพยาบาลศรีนคร โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลหนองบัวระเหว โดยแต่ละโรงพยาบาลจะใช้สำหรับคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานวันละ 50-100 คนต่อวัน

"ความจริงผมมีงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ได้ทำเรื่องนี้เป็นงานหลัก แต่เมื่อได้สัมผัสกับผู้ป่วยเบาหวานที่โรงพยาบาล ผมได้เรียนรู้ว่าคนที่มีปัญหาเรื่องเท้า เขาอยู่กับความทุกข์ งานที่เราทำถ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเขาได้ เราก็อยากทำ ซึ่งสิ่งนี้เป็นแรงผลักที่ทำให้ทำงานตรงนี้ได้"
นักพัฒนารุ่นเยาว์กล่าว




ส่วนเสียงสะท้อนจากน้องๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดพัฒนาผลงานในโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 2 ก็กล่าวถึงประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปในทิศทางเดียวกัน นางสาวพัชรินทร์ รัศมีธงชัย (พัช), นางสาวธนกาญจน์ พีระธรณิศร์ (นิ้ง) และ นางสาวพิชชาพร ลิขิตปัญจมานนท์ (เจแปน) โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เจ้าของผลงาน Jack find the treasure โปรแกรมสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยทำให้การเรียนภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องสนุก สะท้อนว่า "ตอนแรกโปรแกรมของเราเพิ่งห้อยป้ายรางวัลที่ 1 NSC มาหมาดๆ กำลังมั่นใจเลยว่าโปรแกรมฉันเจ๋งนะ ได้รางวัลที่ 1 ระดับประเทศมาแล้วนะ! แต่พอผ่านค่ายอบรมในโครงการต่อกล้าฯ รอบแรกถึงกับต้องมานั่งทบทวนใหม่เลยว่า ไอ้ที่เราพัฒนามาเกือบครึ่งปี ได้รางวัล มันเป็นอะไรที่สร้างมาเพื่ออยู่บนหิ้ง เก็บใส่กล่องซีดีไว้บนชั้น หรือมันจะช่วยเด็กได้จริงๆ กันแน่" จากแรงผลักดันนี้จึงทำให้ทั้ง 3 พัฒนาผลงาน Jack find the treasure ให้กลายเป็นชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด



นายภูวเดช สันธนาภิรมย์ (เมฆ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายธราธร หลวงอินตา (เท็น) และนายศรัณย์ภัทร ฝั้นแก้ว (โฟล์ค) โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เจ้าของผลงาน Monmon Dash เกมมอญซ่อนผ้าบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต สะท้อนว่า "การทำผลงานประกวด กับทำให้คนอื่นเล่นจริงมันต่างกันมาก สมัยที่เราทำงานแข่ง กลุ่มเป้าหมายของเรามีแค่คณะกรรมการที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ เราก็พยายามดูแค่ว่าคณะกรรมการเขาชอบแบบไหนแล้วก็ทำให้ตรงใจเขา แต่พอมาถึงการต้องออกสู่ตลาดจริงๆ ผู้ใช้มีความหลากหลายมาก เราจะเอาความคิดตัวเองใส่เข้าไปอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมานั่งสำรวจจริงๆ ว่าแบบไหนได้รับความนิยม แบบไหนคนไม่ชอบ ต้องใส่ใจคอยดูว่าถ้าเขาเล่นแบบนี้ เขาเจอแบบนี้ เขาจะชอบหรือเปล่า คือเราต้องศึกษามากกว่าเกมที่เราส่งประกวดครับ ถ้าผมไม่เข้าโครงการฯ ผมอาจจะจมอยู่แค่การแข่งก็ได้ ไม่เคยคิดเรื่องการลงตลาดจริง แต่โครงการฯ ทำให้เราได้วิธีการและแนวทาง และเกิดความเชื่อมั่นว่าเราทำมันได้นะ ไม่ใช่แค่ฝัน ถือว่ามาไกลเยอะมากครับ"



สุดท้ายที่ นายธนวุฒิ อนันต์พิริยะกุล (จั๊ม) และ นายณัฐณพัชร์ กวิพรรธน์ (ฮาร์พ) บัณฑิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ BRIGHT! สะท้อนว่า "โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ นอกจากเน้นที่การพัฒนาผลงานโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต่อยอดไปถึงการที่จะพัฒนาผลงานให้เป็น Product รวมถึงการวางแผนในเชิงธุรกิจที่จะนำ Product ของเราไปสู่ผู้ใช้งานจริง ทำอย่างไร Product ของเราจะไปอยู่ในมือผู้ใช้งาน แล้วเขาสามารถใช้งานได้ ตรงนี้คือกุญแจสำคัญที่เราได้เรียนรู้มา ซึ่งช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น"

­

เยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.comและสมัครเข้าร่วมโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 3 ได้ที่บูธโครงการฯ ภายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 18 - 20 มีนาคม 2558 ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา กรุงเทพฯ

­

ชม : วรรคทองการเรียนรู้ของเยาวชนในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2

­


­

­­­­­­­­เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 เปิดรับสมัครเด็กเก่ง IT ต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่ “การใช้จริง”

ขอขอบคุณเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 เปิดรับสมัครเด็กเก่ง IT ต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่ “การใช้จริง”

ขอขอบคุณเว็บไซต์ ryt9.com ประจำวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 เปิดรับสมัครเด็กเก่ง IT ต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่ “การใช้จริง”

ขอขอบคุณเว็บไซต์ thaipr.net ประจำวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบเช้า) ต่อยอดซอฟต์แวร์

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบบ่าย) ต่อยอดซอฟต์แวร์

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2558