โครงการ 'ต่อกล้าให้เติบใหญ่' เวทีต่อยอดผลงานไอทีเด็กไทย

                                               

          

                 มีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถและศักยภาพด้านไอที ได้สร้างสรรค์ผลงานเด่น ๆ ออกมาอย่างมากมาย แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจนสามารถพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์จริงได้


                ทาง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) จึงร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ (เนคเทค) จัดทำโครงการ “ต่อกล้าให้ เติบใหญ่” เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อ ยอดผลงานไปสู่การใช้งานจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคม


               นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางเนคเทคได้จัดโครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 15 ซึ่งมูลนิธิสยามกัมมาจล พบว่า ผลงานของเยาวชนที่ได้ รับรางวัลในแต่ละปี หลายโครงการเป็นนวัตกรรม หากได้รับการพัฒนาไปสู่การใช้ได้จริง จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อสังคมรวมถึงเจ้าของผลงานเอง ที่อาจจะต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์ จนพัฒนาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้ จึงร่วมมือจัดทำโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ขึ้น เพื่อให้การสนับสนุน “ทุนต่อยอด” การพัฒนาผลงานไปสู่ การใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการสนับสนุนเจ้า ของผลงานเข้าร่วมแข่งขันในเวทีนานาชาติ


               ทั้งนี้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับ การสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และการบ่มเพาะธุรกิจจากเนคเทค โดยจะมีเวลาในการพัฒนาผลงานเป็นระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือน พร้อมมีพี่เลี้ยงติดตามให้คำแนะนำ เพื่อให้ ผลงานของเยาวชนทั้ง 7 ผลงาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง


               สำหรับผลงานทั้ง 7 ผลงาน ประกอบด้วย 

              1. เกมมหัศจรรย์อาณาจักรแมลง เป็นเกมจัดทัพวางแผนการรบในรูปแบบ 3ดี บนโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้เล่นได้ฝึกการคิด วิเคราะห์ ไหวพริบ และการวางแผน โดยจะพัฒนาเกมให้น่าสนใจและเพิ่มตัวละคร ฉากในการเล่น พร้อมเพิ่มระดับความยากเพื่อให้มีโอกาสในการขายเกม เพื่อจูงใจให้ผู้เล่นซื้อเกมอย่างต่อเนื่อง และจะพัฒนาระบบเกมให้สามารถแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์กได้


               2. แอพพลิเคชั่นคาร์บอนคุง ไลฟ์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นออนไลน์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำลองชีวิตประจำวันของมนุษย์ในการบริโภคสินค้าที่ทำให้เกิดคาร์บอนฯ ทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมไปพร้อม ๆ กับได้รับข้อมูลความรู้ในการใช้คาร์บอนฯ นำไปสู่การลดใช้ โดยจะพัฒนาเกม นี้ให้รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ พร้อม นำข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องปริมาณการผลิตคาร์บอนฯจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันจากองค์กรสิ่งแวดล้อมไทยมาใช้ในเกมเพื่อสอดแทรกความรู้เรื่องการลดคาร์บอนฯ และนำผลงานไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริงและขายผ่านกูเกิล เพลย์ สโตร์


               3. โปรแกรมฝึกการคัดลายมือภาษาไทย “กอไก่ ไรเดอร์” ให้ฝึกฝนการคัดลายมือภาษาไทยบนแท็บเล็ต ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยมีรูปแบบคล้ายเกม พัฒนาโปรแกรมให้ผู้ใช้สามารถฝึกเขียนพยัญชนะตั้งแต่ ก–ฮ เหมาะกับการเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เห็นความสำคัญจึงเข้าร่วมต่อยอดโครงการนี้ด้วย ซึ่งหากโปรแกรมพัฒนาแล้วเสร็จจะเผยแพร่ให้ใช้งานฟรีผ่านกูเกิล เพลย์ สโตร์ ต่อไป


                4. เฟสบิส (facebiz) เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถร่วมมือทำการค้า ทำกิจกรรมออนไลน์ ติดต่อสื่อสาร เลือกซื้อสินค้าผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ขายส่งกับคู่ค้า และขายปลีกกับลูกค้า เน้นธุรกิจท่องเที่ยว โดยผู้พัฒนามีแผนจะพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม และเปิดตัวให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ใช้งานได้จริงในเดือน เม.ย.


                5. ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ เป็นเครื่องมือตรวจวัดน้ำหนักแรงกดบริเวณฝ่าเท้า เพื่อใช้กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของเท้าผิดปกติ ให้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาได้อย่างถูกต้อง โดยผู้พัฒนาผลงานมีแผนต่อยอดด้วยการให้โรงพยาบาลแพร่เป็นตัวแทนจำหน่ายไปยังศูนย์คลินิกผู้ป่วยโรคเบาหวานของโรงพยาบาลในเครือเพื่อวิเคราะห์ฝ่าเท้าของผู้ป่วย และร่วมกับ Hush and Puppies พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์แผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับลูกค้าจำนวน 10 สาขา โดยมีศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจฯ รับเป็นที่ปรึกษาในการทำแผนธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


                                                                       

                6. แอนิเมเตอร์ โปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ ซึ่งผู้พัฒนามีแผนต่อยอดงาน ด้วยการพัฒนารูปภาพพื้นฐานสำหรับให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น และพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อขยายผลไปสู่นักออก แบบมือสมัครเล่นและผู้ใช้งานทั่วไป และสุดท้าย


                7. ไอออร์เดอร์ (Iorder) ระบบจดรายการสั่งสินค้าอัจฉริยะเพื่อองค์กรธุรกิจท้องถิ่น ผู้พัฒนาผลงานมีแผนพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการไอโอเอส ที่ใช้ได้จริง และให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน พร้อมทั้งสามารถจดจำรายการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าเดิมได้


                 ถือเป็น 7 ผลงานด้านไอทีที่น่าสนใจ ซึ่งนอกเหนือจากทุนสนับสนุนแล้ว สิ่งสำคัญที่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้รับก็คือ คำแนะนำจากผู้เชี่ยว ชาญทั้งในส่วนของความรู้ด้านเทคนิค และมุมมองต่อการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักย ภาพด้านไอทีของเยาวชนไทยให้สามารถแข่งขันและทัดเทียมกับนานาชาติได้ต่อไป.



                        

.

ขอขอบคุณ : เดลินิวส์

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันที่ 7 มกราคม 2557 หน้า : First Section/ไอที-วิทยาการ คอลัมน์: ฉลาดสุดๆ