เพราะมีนาจึงมีข้าว เพราะมีปลาจึงมีคน : เวทีสัญจร “สึนามิ” ฟังเรื่องเล่าจากปากชาวบ้าน

เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้างหมูย่างรสเลิศถิ่นกำเนิดยางพารา
เด่นสง่าดอกศรีตรังปะการังใต้ทะเลเสน่ห์หาดทรายงามน้ำตกสวยตระการตา
                                                                        คำขวัญจังหวัดตรัง

เพราะมีเป้าหมาย “เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน” จึงเห็นกระบวนการทำงานของโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ : ระยะที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และการดูแลของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีความ “เข้มข้น” เพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยล่าสุดได้มีการจัดเวทีสัญจรเกิดขึ้นที่ จังหวัดตรัง มีพื้นที่ดำเนินการ 2 อำเภอ 4 ชุมชน ได้แก่ อ.กันตัง บ้านหาดยาว-เจ้าไหม และคลองชีล้อม อ.ปะเหลียน บ้านแหลม/บ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร และ บ้านในทอน จากทั้งหมด 11 โครงการใน 3 จังหวัด (ตรัง สตูล ระนอง) เมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา

เวทีสัญจร คือ เวทีที่ทำให้เห็นบริบทชาวบ้านได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยมี “ผู้ทรงคุณวุฒิ” อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล , ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานมูลนิธิสถาบันเพื่อท้องถิ่น,รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร,นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล พร้อมทั้ง รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล และรศ.ดร.พีระพงศ์ พีฆะสกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงไปสังเกตุการณ์และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
ต่อชุมชน

พื้นที่ทั้ง 4 ชุมชน ต่างเลือก “โจทย์” ในการทำงานที่มีความแตกต่างกัน เริ่มที่ “บ้านในทอน” เลือกโจทย์ “การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนบนวิถีชุมชน” สำหรับ“บ้านหาดยาว-เจ้าไหม” เลือกโจทย์ “การพัฒนากระบวนการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกของกลุ่มสตรี” ชุมชน “บ้านคลองชีล้อม” เลือกโจทย์ “การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและการสร้างจิตสำนึกรักทรัพยากรแก่คนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” และที่ “บ้านทุ่งแหลม/บ้านทุ่ง-เกาะสุกร” เลือกโจทย์ “ชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร”

สำหรับเวทีสัญจรในครั้งนี้ จากที่ชาวบ้านได้นำเสนอทำให้เกิดเห็นภาพการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในครั้งนี้ ที่มีโครงการฯ เข้ามาหนุนทำให้เกิดกลไกเห็นภาพรวมๆ คล้ายๆ กันคือการรวมกลุ่มเพื่อทำงานจากไฟล์บังคับแต่กลับทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในชุมชนอย่างไม่รู้ตัว การเห็นปัญหาในชุมชนตนเองและหาทางแก้ไขปัญหา การดึงคนในชุมชนหรือองค์กรในชุมชนเข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น การทำงานอย่างแข็งขันของทีม และสุดท้ายความพยายามในการดึง “เยาวชน”ในท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้งานกับผู้ใหญ่ ภาพเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นลางๆ ที่ 4 ชุมชน

“บ้านในทอน” ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน มีจุดเด่นที่นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้าน “การเลี้ยงปูดำ” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงการฯ และก่อให้เกิดการสร้างอาชีพท้องถิ่นที่เกิดความยั่งยืน พร้อมๆ ไปกับการดูแลปัญหาป่าชายเลน แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นแต่ก็เริ่มเห็นความหวัง

“บ้านหาดยาว-เจ้าไหม” อ.กันตัง เพราะมีกลุ่มสตรีที่มีความเข้มแข็งอย่าง นางหย๊ะ มาดตุด เป็นประธานกลุ่ม ทำให้ดึง “พ่อบ้าน” เข้ามามีส่วนร่วม การทำแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเป็นอาชีพ แม้โจทย์นี้จะมีปัญหาระหว่างทาง การเข็ดขยาดจากการรวมกลุ่มและล้มหายตายจากเป็นจำนวนมากของชุมชนนี้ แต่ในที่สุดกลุ่มก็พยายามพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการมี “ปลา” ในทะเล เป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้เกิด “คน” ในชุมชนมารวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ปัญหาเรื่อง “คน” จะยังแก้ไม่ตก แต่คำพูดของ “นางหย๊ะ” ที่สะท้อนออกมาทำให้เห็นถึงความพยายามว่า “แม้จะไม่มีใครทำ ดิฉันก็ขอทำและสู้ให้โครงการฯ นี้อยู่ต่อไปและสำเร็จให้ได้ในที่สุด”

บ้านคลองชีล้อม อ.กันตัง กำลังปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่หันมาอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชน การรวมพลังในครั้งนี้ เกิดจากปัญหาที่ป่าชายเลนถูกทำลายและกำลังส่งผลกระทบกับอาชีพของคนในชุมชนส่วนหนึ่ง โดยไปเริ่มที่เยาวชนซึ่งเป็นความหวังสำหรับทุกชุมชน ดูแล้วจะเป็นเรื่องยากไป แต่ก็เห็นความพยายามในการทำงาน

บ้านทุ่งแหลม/บ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร “เกาะสุกร” คือเกาะที่ไม่มีหมูสักตัว แต่กลับมีความโดดเด่นเรื่องการทำนา - เลี้ยงควาย ใครมาเยือนที่นี่ต้องแปลกใจกันเป็นแถว ๆ คำบอกเล่าของแกนนำชุมชน “นางสาวรัตนา ไชยมล” หรือจ๊ะหนา และชาวบ้าน เล่าว่าโครงการฯ นี้ทำให้เกิดการดึงกลุ่มคนทำนาดั้งเดิมที่เลิกทำไปแล้วให้กลับมาทำนาใหม่ มีนัยยะเพื่อรักษาผืนดินและสร้างความมั่นคงด้านทางด้านอาหาร ทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาวนา มีการทดลองทำนาอินทรีย์,ทดลองทำเมล็ดพันธ์ข้าวและผลิตปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ภายใต้การท่องเที่ยวและนายทุนที่กำลังกว้านซื้อที่ดินบนเกาะอย่างเป็นกราฟสูงโต่ง คำบอกเล่าของเด็กๆ ที่สะท้อนเสียงจากพ่อแม่ที่มีอาชีพทำชาวนา “รักการทำนา ไม่มีเงินก็อยู่ได้เพราะมีข้าวให้กิน” สะท้อนแนวคิดวิถีชีวิตการทำนาบนเกาะนี้มีความสำคัญมาก และที่ชาวบ้านรวมกันสะท้อนคือความวิตกกังวลการสืบทอดผืนนานี้ในรุ่นลูกรุ่นหลานนั่นเอง การแข่งขันระหว่างโลกยุคใหม่กับโลกยุคเก่าที่ กำลังต่อสู้กันอย่างเข้มข้น “ชาวนา” ที่นี่เลือกรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งด้วย “กองทุนชาวนา” ที่เป็นความหวังลึกๆ จะต่ออาชีพนี้ให้ยั่งยืนบนเกาะต่อไป

ซึ่งมีเสียงสะท้อนภาพรวมจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่ช่วยกันชี้แนะ และชวนให้แต่ละพื้นที่คิดต่อ เรื่องการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง การรู้จักใช้ข้อมูลจะทำให้ชุมชนสามารถเคลื่อนงานต่อไปได้ โดยต้องการเห็นแต่ละชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้กระบวนการของโครงการฯ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังแนะนำให้หาที่ปรึกษาอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สามารถทำงานเชิงวิจัยร่วมกับชาวบ้านได้

เพราะมีนาจึงมี “ข้าว” เพราะมีปลาจึงมี “คน” จึงเป็นบทสรุปของการลงเวทีสัญจรในครั้งนี้ สำหรับเวทีสัญจรครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่จ.ระนอง วันที่ 14 – 15 มีนาคม 2557