งานพัฒนาเด็กเยาวชนเปรียบเหมือน “โดมิโน” หากทำได้ดีจะช่วยให้ “สุขภาวะ” ชุมชนดีขึ้น

นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานตำหนัก อบต.หนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานในอบต.หนองอียอ ตนทำงานเป็นครูกศน. ที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอจอมพระ ทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปที่อยู่นอกระบบการศึกษา และคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียนในระบบ หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบล ครั้งแรกที่บรรจุคือตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและวางแผน ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตำหนักอบต.หนองอียอ

­­สำหรับเรื่องการทำงานกับเด็กและเยาวชนนั้น ตนมีความสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้ว เพราะมองเห็นว่าเด็กและเยาวชนเป็นส่วนที่ต้องพัฒนา เมื่อเด็กได้พัฒนาแล้วก็จะสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านต่างๆ ได้ เหมือนกับว่า“ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว”เป็นต้นว่า ถ้าเราทำในเรื่องของเด็กและเยาวชน พัฒนาในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ชุมชนก็จะดีตาม ส่วนในด้านสาธารณะสุขและสุขภาพ ถ้าเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีพื้นที่ให้เขาได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สุขภาพของเด็กดีขึ้น และสุขภาวะของครอบครัว ครอบครัวที่มีเด็กมีปัญหาก็จะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น และเรามองในเรื่องของการปกครองถ้าเด็กเยาวชนของเรามีคุณภาพ การทำงานในด้านการบริหารงานต่างๆ ก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เพราะเรามีตัวช่วยที่เป็นเด็กอยู่ในหมู่บ้านก็จะช่วยเราขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้ นอกจากนี้งานที่เราไม่ต้องไปทำโดยตรงให้พัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เหมือนกับเป็นโดมิโน ที่ไปกระทบด้านอื่นๆและจะทำให้การพัฒนาชุมชนในภาพรวมของเราอยู่ดีกินดี เป็นสุขภาวะที่ดีของชุมชน

นายสมเกียรติ เล่าต่อว่า ความรู้ที่ได้จากหลักสูตรนักถักทอเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวนั้นมีหลายอย่าง อย่างแรกคือเรื่องของแนวคิดการ ทำงานอย่างไรให้มีความสุข เนื่องจากบางทีเราทำงานอยู่กับกองเอกสารทุกวัน อาจเจอปัญหาความเครียดขึ้นมา ทั้งเรายังจัดการความเครียดไม่เป็นระบบ พอเราได้มาเรียนรู้หลักสูตรนี้ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เข้ามา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับงาน และสามารถทำให้งานไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการจัดระบบเอกสาร การจัดความคิดหรือว่าการจับประเด็นต่างๆ ในการจัดการกับชุมชน หลักสูตรนี้ทำให้เรามีความคิดเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นลำดับมากขึ้น และมีภาคีเครือข่ายที่มาช่วยหนุนเสริมเพิ่มขึ้น ในตำบลของเรามีเครือข่ายทั้งข้างในและข้างนอก ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่มาเชื่อมเหมือนกับว่าเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้งานของเราไปได้เร็วขึ้น เราก็ทำงานเบาลง อันนี้คือการเชื่อมเครือข่ายที่หลักสูตรนี้ได้ให้ความรู้และได้ฝึกปฏิบัติจริงๆ ซึ่งหลักสูตรนักถักทอฯไม่ใช่แค่อบรมห้องเรียนอย่างเดียวแต่ได้นำมาปฏิบัติจริงโดยการแลกเปลี่ยนกับเหล่านักถักทอด้วยกัน

“ตอนแรกที่ได้เข้ามาอบรมหลักสูตรนักถักทอฯ ยังไม่เข้าใจเนื้อหาในเรื่องของการจัดการความรู้ต่างๆ แต่พอเราได้ลงไปปฏิบัติทำให้รู้ว่าไม่ได้ยากอย่างคิดและมีความท้าทายกับตัวเอง โครงการนี้ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของเราคือ “สิ่งไหนที่เรายังไม่ได้ลงมือทำเราอย่าเพิ่งคิดว่ายาก” เพราะเมื่อเราลงมือปฏิบัติแล้วความยากง่ายก็ไม่สำคัญ ยิ่งปฏิบัติยิ่งเรียนรู้ก็จะง่ายขึ้นเอง และทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งนี้คือแนวคิดที่เราได้”

นายสมเกียรติ เล่าต่อว่า ตนอยากให้หลักสูตรนักถักทอฯมีรุ่นต่อๆไปเพื่อที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ของเราจะได้มีภาคีจากภายนอกมาช่วยในเรื่องของกระบวนการต่างๆทางวิชาการนอก จากที่เราได้จากองค์กรของเรา เพื่อให้ชุมชนของเรามีการพัฒนายิ่งขึ้น และก็ขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับ สรส.ที่มาช่วยให้เราได้เผยอีกมิติหนึ่งกับชุมชน