ศึกษา“โมเดลการพัฒนาระดับตำบล” รองรับปฏิรูปท้องถิ่นครั้งใหม่ “นักถักทอชุมชน” เชื่อมร้อยเยาวชนเกิด “Active Citizen รักถิ่น”

แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น กำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมากว่าจะออกมาในรูปแบบใด ก่อนที่โมเดลการปฏิรูประดับประเทศจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ลองมาดูโมเดลการพัฒนาเยาวชนระดับตำบล ว่ามีวิธีการอย่างไร ผ่าน “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” ซึ่งถือว่าเป็น “เครื่องมือ” ในการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว ดำเนินการโดย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)นั้นได้ตอบโจทย์การปฏิรูปครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญถึงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของอบต.และชุมชน และเกิดตัวอย่างดีๆ ที่ท้องถิ่นจัดการตนเองได้ภายใต้บริบทที่ตนมี

­



เมื่อวันที่ 5-6 เมษายน 2558 ที่ผ่านมามีโครงการศึกษาดูงานในพื้นที่และจัดประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่ 1/2558 ของโครงการพัฒนาเยาวชนโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2:หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว ดำเนินการโดย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาสนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก จ.สุรินทร์ เพื่อร่วมศึกษา “โมเดลการพัฒนาระดับตำบล” จ.สุรินทร์ใน 4 พื้นที่ได้แก่ ทต.เมืองแก / อบต.หนองอียอ / อบต.หนองสนิท / อบต.เมืองลีง




โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเวทีได้แก่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ คุณนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษาองค์กรกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม (ฝ่าย 4) สกว. รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณวิลาสินี ดอนเงิน ฝ่ายติดตามเสริมสร้างศักยภาพภาคี แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) คุณสาริกา ตรีรัตนาพิทักษ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กรมกิจการเด็กและชุมชน คุณนิวัติ ภาตะนันท์ ผู้ตรวจราชการองค์การปกครองส่วน ฯลฯ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เป้าหมายนำร่องรุ่นที่ 1 จำนวน 12 ตำบลและรุ่นที่ 2 จำนวน 22 ตำบล รวม 34 ตำบล ใน 6 จังหวัด(จ.สุพรรณบุรี, จ.สมุทรสงคราม, จ.สิงห์บุรี,จ.อ่างทอง, จ.กระบี่, จ.นครศรีธรรมราช)



คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า “มูลนิธิสยามกัมมาจลมีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชน อบต.เป็นหน่วยงานสามารถที่จะสามารถทำงานพัฒนาเยาวชน เชื่อมร้อยหน่วยงานต่างๆ ในอบต.เข้ามาร่วมคิดและเข้ามาร่วมจัดการการพัฒนาเยาวชน อบต.เป็นรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีบทบาทในการพัฒนากำลังคนระดับตำบล เพราะฉะนั้นถ้าเราหนุนให้อบต.มีศักยภาพทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาทำแผนพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เลือดก็ไม่ไหลออก เยาวชนก็จะเข้าใจชุมชน อย่างน้อยเป็น Active Citizenเป็นพลเมืองของชุมชนเมื่อออกไปแล้วก็ยังมีสำนึกที่จะกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้ตำบล อย่างนี้เป็นต้น แนวคิดนี้เราจึงเข้าไปหนุนตำบลในการทำงานสิ่งที่เราพบก็คือตำบลก็มีแนวทางที่ถูกต้องไม่ทำงานคนเดียว ชวนโรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาเยาวชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็ก แม้กระทั่งเด็กเกเรก็ยังเข้ามาจับมือกับอบต.ในการทำงานพัฒนารุ่นน้องได้ ก็ทำให้เห็นว่าถ้าอบต.ลุกขึ้นมาทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาเยาวชน ในการที่จะพัฒนาเยาวชนให้ได้มันเป็นไปได้ โครงการนี้เข้าไปเชื่อมโยงกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เข้าไปทำงานกับโรงเรียน ครู ครูภมิปัญญา วัด และ หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกันคิดในการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาร่วมทำ โครงการร่วมกับผู้ใหญ่ นับว่าเยาวชนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชนและเมื่อเด็กเปลี่ยนผู้ใหญ่พร้อมที่จะให้โอกาส สิ่งที่เห็นจากทำงานของโครงการนี้ คือว่าเราไปค้นพบว่าอบต.จำนวนมากที่ไม่เข้าใจชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกลับไปศึกษาข้อมูลชุมชนมากขึ้น และโครงการต่างๆ ของเยาวชนที่เอากลับเข้ามาทำเป็นโครงการจากโจทย์ชุมชนจริง” 




คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ หัวหน้าโครงการฯ / ผู้อำนวยการสถาบัน สรส. มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา “ข้อค้นพบของปัญหาเด็กคือความล่มสลายของเบ้าหลอมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คนที่อยู่รอบตัวเด็กไม่ได้ทำหน้าที่ดูและเด็กเหมือนอดีต และการทำกิจกรรมกับเด็กเป็นครั้งๆ ไป เป็น event ไม่ต่อเนื่อง ยากที่จะพัฒนาเด็กได้จริง ไม่ได้ดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สรส.เห็นช่องว่างดังกล่าวจึงเข้าไปดึงการมีส่วนร่วม ถักทอความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ จากการวิเคราะห์พบว่าปัญหาคนทำงานในท้องถิ่น คือ ขาดการทำงานเป็นทีม ไม่ดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชน จึงเป็นที่มาของหลักสูตรนักถักทอชุมชน เน้น on the job training สรส. เป็น coach ในการเข้าไปทำงานมากกว่าใช้วิชาการเป็นตัวตั้ง และใช้วิธี Professional Learning Community (PLC) คือ ให้ลงไปทำงานแล้วกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วกลับไปทำงานต่อ เป็นการให้แนวคิดหลักการและเครื่องมือตามจังหวะการทำงานเป็นหลัก

เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ คือ ทำโครงงานจะพบว่าเด็ก ได้ฝึกทักษะอะไรบ้าง ได้เพิ่มพูนความรู้เรื่องอะไร ได้บ่มเพาะนิสัยอะไร ได้ปรับแนวคิดหรือจิตสำนึกอะไร นักถักทอมีวิธีคิดและการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีตัวอย่างการนำความรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ การนำกระบวนการไปถักทอในชุมชน ปลัดและนายกเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะเห็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์การทำงาน และจัดระบบการทำงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่น การหนุนเสริมให้เกิดฐานการเรียนรู้ของเยาวชนโดยใช้ทุนในหมู่บ้านซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี”

­

­


เทศบาลตำบลเมืองแก ในบทบาทของเทศบาลในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว” โดยคุณสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อ.เมือง จ.สุรินทร์ เผยว่า “ทต.เมืองแก ปฏิวัติการทำงานตั้งแต่ปี 2546 สำรวจตนเองพบว่ามีปัญหา ขาดวิธีทำ และคิดแยกส่วน ไม่ตั้งเป้าหมายร่วมกันกับโรงเรียนขาดเครื่องมือ/วิธีการที่เหมาะสม ขาดความเชื่อมั่นกับความสามารถในงาน ไม่เชื่อสิ่งที่ตนทำอยู่ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องของเยาวชน ติดสั่งการ ไม่เข้าชุมชน แต่ยังหาทางแก้ไม่ตกปี 2555 จึงเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ขยายผลจากนักถักทอชุมชน 4 คน เป็น 34 คนให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำบลมาเรียนรู้ เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผ่าน โครงงานกิน/กอด/เล่น/เล่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก 4 มิติ คือความรู้ ได้ฝึกทักษะ ลักษณะนิสัย ทัศนคติ ทต.เมืองแก ได้หนุนให้มี โรงเรียนคนท้อง โรงเรียน โรงเรียนครอบครัว (วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน วิชาการ) โรงเรียนชุมชน เพื่อครอบคลุมคนทุกช่วงวัยและบูรณาการคนทั้งตำบลร่วมกันคิด ร่วมกันทำ “ถ้าไม่ลงทุนเยาวชนในวันนี้ก็เท่ากับไม่ลงทุนสำหรับอนาคต” ปณิธานของทต.เมืองแก”

­

­


อบต.หนองอียอ “บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในการพัฒนาแกนนำเยาวชนรุ่นต่อรุ่นผ่านความร่วมมือของโรงเรียนและการทำโครงงาน” โดยคุณสมเกียรติ สาระ เผยว่า “สถานการณ์ในปี 2553 ของเด็ก เยาวชนในอบต.คือการจับกลุ่มไม่สร้างสรรค์ เช่น ตีไก่ชน ทะเลาะวิวาท ปลีกตัวไม่สนใจชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบข้าง หนีเรียนสาเหตุเกิดจาก ติดเกม การใช้สื่อไม่สร้างสรรค์ชาวบ้านอาชีพหลัก ทำนา เมื่อทำนาเสร็จไปทำงานตจว. ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว อบต ทำงานไม่บูรณาการกับชุมชน แนวคิดเยาวชนมีพลังและเวลา น่าจะสามารถเชื่อมกับกลุ่มอื่นๆ ได้ เช่น ครอบครัว ทุกภาคส่วนอยากให้คณะกรรมการเข้มแข็ง จึงเชื่อมต่อ ทั้งบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) และปราชญ์ ทรัพยากรต่างๆ เช่น แหล่งน้ำ ที่ดิน ภาคี อาทิ ยุวโพธิชน สรส. สสส. กศน . มหาพิชาลัยชุมชนท้องถิ่นปี 2556 ปราชญ์ชุมชนให้เด็กได้สืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีครูและครูภูมิปัญญาช่วยกันขับเคลื่อน พอเข้ามาในหลักสูตรนักถักทอชุมชน ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของ “การวิเคราะห์ภาคีเครือข่าย” และ“การประสานงาน” หลังเยาวชนเข้าค่ายยุวโพธิชน 21 วัน สร้างจิตสำนึกให้เด็กรักถิ่นฐาน กล้าแสดงออก คิดวิเคราะห์เป็น ทำดีในชุมชน หลังค่าย แกนนำเยาวชนมาทำกิจกรรมต่อกับรุ่นน้อง เพื่อสืบทอด โดยทำเป็นโครงงานปั้นดินเป็นดาว ผลเด็กมีความประพฤติดีขึ้นเกิดการพัฒนาอาชีพ สร้างผู้ประกอบการสังคม ชุมชนมีสุขภาพดีจากที่ได้บริโภคผักปลอดสาร โรงเรียนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น"

อบต.เมืองลีง “บทบาทของ อบต. กับการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง” โดย คุณประเสริฐ สุขจิต นายก อบต. เผยว่า “ได้เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน รุ่น 1 มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเด็กและเยาวชนแกนนำในพื้นที่ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสเยาวชนในหลายพื้นที่ พบว่าเยาวชนมีศักยภาพทั้งในส่วนสร้างสรรค์และทำลาย ทำอย่างไรจะกระตุ้นส่วนที่สร้างสรรค์มาพัฒนาประเทศชาติให้ได้มากสุด เด็กในโรงเรียนทั้งกลุ่มเรียนดีและเรียนไม่ทันเพื่อน จะมีศักยภาพต่างกัน คือ เรียนดีแต่ไม่มีจิตอาสา กลุ่มเสี่ยงเรียนไม่ดีแต่ทำกิจกรรมได้ดีกว่าเด็กเก่ง มีศักยภาพศิลปะ ดนตรี กีฬา โดดเด่น แต่โรงเรียนไม่ได้ใช้โอกาสพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ มองเด็กว่าไม่ได้เรื่อง จึงสนใจเด็กกลุ่มนี้ พาเข้าค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน 21 วัน เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง และนำกิจกรรมไปขยายผลต่อรุ่นพี่และเด็กนอกระบบ จากการขยายผลแกนนำรุ่น 1 สู่รุ่น 2 เด็กโรงเรียนเมืองลีงวิทยา ห้อง ม.4/2 เด็กทั้งห้อง 28 คนเป็นกลุ่มเสี่ยง ได้ไปคุยกับครูว่าจะทำอย่างไรไม่เป็นการผลักเด็กออกจากโรงเรียน จึงจัดค่าย 3 วัน ให้น้องสำรวจตนเองสำรวจชุมชนโดยผ่านการทำโครงงาน ผลที่เกิดขึ้นเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองในทางที่ดีขึ้น โรงเรียนยอมรับในเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น แผนที่จะดำเนินต่อไป ต้องมีเวทีสรุปติดตามและประเมินผลต่อไป”

­

­

อบต.หนองสนิท “บทบาทการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชุมชนท้องถิ่น” คุณจินตนา แกล้วกล้า หัวหน้าสำนักงานปลัดอบต.เผยว่า “เป้าหมายของอบต.ต้องการ ให้เด็กเป็นเด็กดีของพ่อแม่และชุมชน มีจิตอาสา มีความคิดที่ดีขึ้น คิดเชิงบวกในการทำงานเป็นทีม มีทักษะทั้งพูด อ่านเขียนดีขึ้น ทักษะการจัดการจากการคิดและทำงานร่วมกัน มีคุณลักษณะพึงประสงค์ จึงดึงผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วม ทั้งโรงเรียน ชุมชนปีแรกพบว่า ผู้ใหญ่ภูมิใจลูกหลาน เปิดใจรับ และเข้าใจมากขึ้น เปิดเวทีให้มากขึ้น มอบหมายงานที่ทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิด กลไกต่างๆ เข้าใจและทำงาน ปี 2 ได้บทเรียนจากปีแรก พบว่า มีจุดอ่อนในการทำกิจกรรม ขาดทักษะพาน้องทำกิจกรรม จึงทำค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชนและพี่เลี้ยง โดยสยามกัมมาจล สรส. ยุวโพธิชน เป็นค่ายที่เสริมทักษะให้น้องๆ และพี่เลี้ยงได้อย่างดี มีการสำรวจชุมชเพื่อเป็นฐานข้อมูลทำโครงงาน แต่ละภาคส่วนมาคิดร่วมกันว่าจะทำโครงงานอะไร น้องๆ เลือกเรียนรู้หลายๆ กิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชน พี่เลี้ยงจัดให้เหมาะสมกับปฏิทินของชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเป็นแกนนำเยาวชนของหมู่บ้าน พ่อแม่ไว้วางใจลูก ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญและเป็นกำลังสำคัญในการทำกิจกรรม ปัญหาการทะเลาะวิวาทหายไป ก้าวต่อไป คัดเลือกแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาน้องๆ ให้ได้มีทักษะชีวิตพึงมี พึงเป็น มีแผนทำกิจกรรมกับน้องช่วงปิดเทอมส่งเสริมพัฒนาโครงงานที่น้องทำอยู่ให้เป็นอาชีพ ขยายการพัฒนาโครงการในศูนย์เด็กเล็ก”


นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการทำงานท้องถิ่นที่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานจนสามารถที่จะตอบโจทย์ชุมชนได้อย่างแท้จริง..


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

ศึกษา“โมเดลการพัฒนาระดับตำบล” รองรับปฏิรูปท้องถิ่นครั้งใหม่

ขอขอบคุณเว็บไซต์ eduzones.com ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2558