อบต.หนองอียอปฏิรูปการทำงานบนฐานคิดใหม่ แก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนด้วยการดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนมา “สร้างพื้นที่การเรียนรู้” ร่วมกันในโรงเรียนครอบครัว ชี้แก้ปัญหาเด็กตีกันได้ดี

­

­


­

นายสามารถ ครองสัตย์ นายกอบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตำบลหนองอียอมีปัญหาวัยรุ่นตีกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในการจัดงานประเพณีต่างๆ ของตำบลสร้างความเสื่อมเสียและเอือมระอาแก่ผู้พบเห็น เป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ในสำนักงานฯ นำโดยนายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด ไปเรียนรู้อยู่กับ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นำทักษะความรู้มาจัดกระบวนการสร้างแกนนำเยาวชนขึ้นทั้ง 11 หมู่บ้านในตำบล โดย อบต.ได้สนับสนุนงบประมาณให้เด็กเยาวชนทำกิจกรรมร่วมกันหลากหลาย อาทิ การเกษตร กิจกรรมอาสา โดยเน้นที่กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนในตำบล จนพบว่าในช่วง 2 ปีหลังปัญหาเยาวชนตีกันลดน้อยลงไปมาก

­

­

นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ในสำนักงานปลัดได้พัฒนาทักษะความรู้เพิ่มขึ้นไปอีกขั้น โดยตนได้ชักชวนนักวิชาการศึกษา และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เข้าร่วมอบรมใน “หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว” กับ สรส.อีกครั้ง กระทั่งค้นพบหลักการทำงานชุมชนว่าแท้จริงแล้วต้องคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ในขณะเดียวกันคนทำงานในท้องถิ่นก็จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ในการทำงาน โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมที่ใจของชาวบ้านมากกว่าปริมาณที่ชาวบ้านมาเข้าร่วมประชุม เพราะเมื่อชาวบ้านเข้าใจ เห็นด้วย มีส่วนร่วมการทำงานของ อบต.ก็จะง่ายขึ้น อีกทั้งยังได้ภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นคนในชุมชนเองเข้ามาทำงานร่วมกันอีกด้วย

­

“หลังจากที่เรามีทั้งเยาวชนแกนนำ เราปรับหลักคิดในการทำงานชุมชนใหม่ นำทักษะความรู้ที่ได้จากหลักสูตรนักถักทอฯมาใช้ในการทำงาน ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ในสำนักปลัดก็แท็กทีมกันทำงานมากขึ้น เราคิดว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนต้องเอาผู้ใหญ่และคนทั้งชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะลำพังอบต.หรือเยาวชนแค่นี้ไม่สามารถดูแลเยาวชนได้สำเร็จ ผมเชื่อว่าชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ให้เด็กเยาวชนของเราได้”

­

­

สมเกียรติกล่าวต่อว่า โครงการโรงเรียนครอบครัวเปรียบเสมือนพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันของคนทุกรุ่น ทุกวัย ตำบลเรามี 11 หมู่บ้านเราก็ให้แกนนำเยาวชนเขาไปคิดไปคุยกันเองว่าอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาอะไร ก็ให้มาบอก อบต.จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้ เราพยายามหากิจกรรมให้เด็กๆ ทำทุกๆ สัปดาห์ เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ว่างไปทำเรื่องไร้สาระ ตอนเรียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ได้ใกล้ชิดกัน พูดคุยกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นก็กลับคืนมา ในขณะที่ฝ่ายแกนนำเยาวชนเองเขาก็พยายามคิดกิจกรรมอื่นๆ มาเสริมสร้างความสัมพันธ์ของวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็จัดกีฬาฟุตบอลลีกคัพ วัยรุ่นทั้งตำบลมาแข่งบอลกันเดี๋ยวนี้ไม่มีตีกันแล้ว

­

­

แฉล้ม เกตุใส อายุ 43 ปีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมาสอนเยาวชนทำบายศรีและจับผ้าจีบผ้า ว่า งานอย่างนี้ตนเองคิดไม่ถึงเช่นกันว่าเด็กผู้ชายเกเรเขาจะทำได้ พอมีกิจกรรมโรงเรียนครอบครัวก็เห็นว่าเด็กผู้ชายก็ทำได้ และมีความนิ่ง สงบ และเปิดใจเรียนรู้เป็นบรรยากาศของพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงมาเรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งตนไม่เคยเห็นบรรยากาศเช่นนี้มานานแล้ว ตนรู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกหลานในชุมชนกลับสนิทสนมรักกันมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็มีความสุข.

­

­

สมเกียรติ กล่าวต่อว่า วันนี้ “กระบวนการ” สร้างการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศทุกวัยในชุมชนหนองอียอปรากฏผลให้เห็นเป็นรูปธรรม ชัดเจน “กระบวนการ” สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กเยาวชนด้วยกันเองให้เกิดความแนบแน่นก็เริ่มเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ผ่านกิจกรรม “กีฬาสานสัมพันธ์” ที่จัดแข่งขันฟุตบอลชายและวอลเล่ย์บอลหญิงในลักษณะ “ลีกการแข่งขัน” ทำให้ทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เยาวชนหนองอียอไม่มีเวลาคิดทำเรื่องไร้สาระใดๆ อีกเลย นอกจากการเรียนและกีฬา

­



ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 เมษายน 2557 คลิกชมได้ ที่นี่

­