“อบต.พลับพลาไชย และอบต.หนองขาม” ร่วมเรียนรู้ เวทีเรียนรู้เพื่อพัฒนาโครงการวิจัย


"เวทีเรียนรู้เพื่อพัฒนาโครงการวิจัย" มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย วิธีการ ประโยชน์ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และวิธีพัฒนาโจทย์วิจัย ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีอบต.พลับพลาไชย และ อบต.หนองขาม ร่วมเรียนรู้ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2559 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี


นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าของพื้นที่ “เป้าหมายของการทำงานของเรา ทำอย่างไรให้คนในหมู่บ้านของเราน่าอยู่ งานวิจัยเป็นงานวิจัยเชิงลึก ทำให้ต้องหาอัตลักษณ์ให้ได้ ก่อนทำงานวิจัย วันนี้เป็นการถอดบทเรียน คุยแลกเปลี่ยนกัน ยินดีที่ทุกท่านมาที่นี่ ครั้งต่อไปได้จะได้แลกเปลี่ยน ในพื้นที่อบต.หนองขามบ้าง มาร่วมถอดบทเรียนและทำงานวิจัยร่วมกันให้โครงงานที่พวกเราทำประสบความสำเร็จทุกประการ”

­

­

"ชาวบ้านก็เป็นนักวิจัยได้ ทุกท่านมั่นใจได้และไม่ต้องตกใจทำไมต้องวิจัย ทุกคนคงมีคำถาม เรามาเรียนรู้กันวันนี้ สิ่งที่ผมชวนท่านทำ เป็นเรื่องที่ท่านทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ขอให้ทุกท่านเชื่อว่าทุกท่านทำงานวิจัยได้ผมเคยทำกับเด็กประถม เด็กประถมเขาวิจัยเรื่องดินสอหาย เด็กคนหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งโจทย์วิจัยว่าดินสอหายไปได้อย่างไร

ทำไมต้องทำเรื่องเด็ก เยาวชน เพราะท่านมีต้นทุนเรื่องเด็กและเยาวชน และผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากทำอย่างไรให้เด็กในบ้านเราเป็นเด็กดี เป็นคนดี แต่งานเด็กและเยาวชน สามารถเชื่อมไปได้อีกหลายเรื่อง.."คุณชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกว. กล่าวแนะนำงานวิจัย

­

­

 อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส. กล่าว “เราทำงานกับชุมชนมานาน เห็นว่าชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ไหน นายกปลัด พื้นที่มีใจพัฒนาบ้านเกิด เราจึงเข้ามาเสริมหนุน เราพร้อมทำสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของท่าน ขณะนี้เราได้ภาคีสนับสนุนภาคีวิจัย ได้มาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเรา”

­

 

­

ก่อนเริ่มเรียนรู้ “อ้วน - คำรณ นิ่มอนงค์” จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกว.ได้พาพี่ๆ จากสองพื้นที่ ทำสันทนาการ ทั้ง ปลาทู ปลาบู่, ปรบมือบวก-ลบ เลข,กิจกรรมวาดภาพเหมือนเพื่อน ฯลฯ ประมาณครึ่งชั่วโมง มีเสียงหัวเราะและสนุกสนาน

­


คุณชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ได้ชวนถอดบทเรียนกิจกรรมสันทนาการทันที คำถาม กระบวนการที่ทำสันทนาการกิจกรรมครึ่งชั่วโมง ได้อะไร หลายคนร่วมสะท้อน ...ทำให้หายเครียด ละลายพฤติกรรมให้ สร้างความคุ้นเคยให้เป็นกันเอง ไม่เคยรู้จักก็ได้รู้จักกันมากขึ้น ฯลฯ

คุณชิษณุวัฒน์ เฉลยเบื้องหลังแนวคิดการจัดกิจกรรมสันทนาการ “ทุกครั้งที่เล่นเกม เราไม่เล่นโปกฮา หยาบโลน เราทำสันทนาการเพื่อประโยชน์อะไร เหตุผลการสันทนาการเป็นการทำเรื่องสนุก ให้สอดแทรกเรื่องบางเรื่องที่มีสาระเข้าไปได้ กระบวนการพัฒนาเยาวชนเราสามารถทำได้ทุกช่วงตอน เด็กเขาจะซึมซับและนำเรื่องนี้กลับไปทำอีกในตอนโต และกิจกรรมที่ใช้ เราสามารถประเมินเด็กได้ ว่าเด็กเข้าใจเรื่องไหนอย่างไร เราสามารถออกแบบมีสาระโดยเขาไม่รู้สึกว่านี่คือสาระ ทำให้เขาซึมซับโดยไม่รู้ตัว และการจัดห้องก็สำคัญ การจัดเป็น classroom ทำให้มองไม่เห็นอารมณ์กัน การจัดเป็นวงกลมจะสร้างการเรียนรู้มากกว่า

­

­

­

จากนั้นได้มีการแบ่งเป็นสองห้องย่อย ห้องย่อยที่ 1 เรียนรู้โมเดลประเทศ โดยอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ โดยมีผู้บริหาร ทีมนักถักทอชุมชน ทีมเจ้าหน้าที่ และผู้นำชุมชน หมู่ที่ 7 จาก อบต.พลับพลาไชย เพื่อให้บุคลากรหมู่ที่ 7 ได้เตรียมตัวในการตั้งโมเดลประเทศ โดยปูพื้นฐานทำไมต้องเรียนรู้โมเดลประเทศ และขั้นตอนการขับเคลื่อนงาน

“ปัญหาต่างๆ แก้ไม่ได้เพราะไม่รู้ รู้ไม่พอทำอย่างไรให้ชาวบ้านเขาได้รู้ ทางสรส. สกว. จึงมีเครื่องมือมาช่วย คืองานวิจัย ผมได้นำเครื่องมือการจัดการความรู้ คือวิธีการทำให้ให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด”

­

­

และห้องย่อยที่ 2 หัวข้อ “การพัฒนาเด็กและเยาวชน” โดยคุณชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ทำกระบวนการฝึกฟังและพูด โดยใช้กิจกรรม Check in แลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน

“ถ้าเข้ากระบวนการแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง ทุกท่านจะได้ฝึกการฟังและพูด เป็นระบบคือฟัง –แลกเปลี่ยน- แสดงความคิดเห็น เพราะการพูดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล คือหัวใจหนึ่งของการทำงานวิจัย และกระบวนการในวันนี้ เราจะมาเรียนรู้เรื่องเดียวกัน คือเรื่องพัฒนาเด็กและเยาวชน เราต้องเช็คสถานภาพก่อนว่าเป็นอย่างไรจะเห็นว่าไม่ว่าท่านอยู่ในสถานภาพไหน (เจ้าหน้าที่อบต ชาวบ้าน ฯลฯ) ทุกท่านล้วนเกี่ยวข้องกับเด็กไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

“งานวิจัยคือกระบวนการค้นหาความจริง กระบวนการวิจัยต้องฟังเยอะ วิจัยคือการค้นหาความจริงในพื้นที่ ความจริงที่จะนำไปแก้ปัญหามีเรื่องอะไรบ้าง ผมต้องฝึกฟัง และฝึกพูด ให้ทุกท่าน ทั้งสองเรื่องนี้จะต้องถูกฝึกตลอด 20 เดือน”

­


กิจกรรมเตรียมความพร้อม (Check in) (เวลา30 นาที) แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ๆ ประมาณ 6 คน คละพื้นที่ กติกา ฟัง และพูดทุกคน หากพูดแทรก โจทย์ : 1.เช้านี้รู้สึกอย่างไร 2.บอกเล่าความภาคภูมิใจหรือสิ่งดีๆ ที่ได้จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนในช่วงที่ผ่านมา ฝึกพูด –ฟัง : กติกา ใครต้องการพูดให้หยิบปากกาขึ้นมาและเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เมื่อเล่าเสร็จให้วางปากกาและพูดว่า Check in แล้วครับ/ค่ะ

จากนั้นได้ถอดบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรม Check in สะท้อนการเรียนรู้ อาทิ มีความสุขจากการฟังกิจกรรมดีๆ ที่เพื่อนทำ /รับรู้ความรู้สึก/ความประทับใจจากการทำงานของเพื่อน /ได้เรียนรู้อะไรจากการฟังเพื่อน ได้รับรู้ว่าการทำงานต้องมีใจ เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเมื่อได้รับเลือกมาก็ต้องทำหน้าที่นั้นแม้จะมีภารกิจล้นตัว

กิจกรรมที่สอง: ประเด็นชวนคิด (เวลา 10 นาที) 1.ที่ผ่านมาท่านพบปัญหาอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 2.ท่านมีวิธีการในการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร 3.ผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น 4.เวลาทำเรื่องเด็กจะทำได้โดยตรงและโดยอ้อม

­

­

ช่วงบ่าย ทีมกระบวนกรได้ชวนผู้เข้าร่วมคิด โดยการตั้งคำถาม “นึกถึงงานวิจัย นึกถึงอะไรกัน?” แต่ละกลุ่ม ระดมความคิดและร่วมกันตอบ ได้แก่ นึกถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหา / นึกถึงคำถามและรูปแบบคำถาม / นึกถึงทำเรื่องอะไร เป้าหมาย เครื่องมือ ทฤษฏี ตอบการทำวิจัย และปัญหาและกระบวนการ

คุณชิษณุวัฒน์ ร่วมสะท้อน...“งานวิจัยมีรูปแบบการทำหลายแบบ สิ่งที่ควรระมัดระวังให้มากๆ ในการทำงานครั้งนี้ เราทำงานร่วมกับเด็ก ผู้นำชุมชน ชุมชน เราไม่ได้เริ่มทำวิธีแบบที่นำมาจากนักวิชาการ เรานำความเชื่อที่เราเชื่อว่าชาวบ้านทำงานวิจัยได้ การศึกษาสูงเท่าไร ยิ่งมีกรอบมากเท่านั้น อย่าเอาทฤษฏีมาใส่ ภายใต้วิธีคิดงานวิจัยท้องถิ่น อาศัยพื้นที่ท้องถิ่นชุมชน เราจะเข้าหาความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง การทำงานครั้งนี้คือการค้นหาความจริงในพื้นที่”

เพื่อสร้างความใจเกี่ยวกับงานวิจัยชาวบ้าน ทางทีมสกว. จึงให้ผู้เข้าร่วมได้ชมวิดีทัศน์ การดำเนินงานของงานวิจัยชาวบ้านที่เห็นเป็นรูปธรรม จากนั้นจึงถอดบทเรียน

­

  • ·การแก้ไขปัญหาโดยคนในชุมน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด โดยมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน
  • ·งานวิจัยชุมชนเป็นงานที่ไม่ต้องรอให้จบโครงการ แต่เป็นการเรียนรู้ระหว่างทำ
  • ·กระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
  • ·ความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างการทำวิจัย (ความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนและผู้ปกครอง)
  • ·งานวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก
  • ·เห็นการพูดคุยของคนในชุมชนที่นำไปสู่การตั้งโจทย์ปัญหา การเก็บข้อมูล การสรุปข้อมูล และการวางแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

­

ช่วงสุดท้าย “ก้าวต่อไปกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการทำงานกับเด็กและเยาวชนในแต่ละพื้นที่” กระบวนกร ให้สองพื้นที่รวมกลุ่มกัน และร่วมกันระดมความคิดเห็นในพื้นที่ 4 โจทย์

­

โจทย์ข้อ 1 อยากเห็นเด็กและเยาวชนบ้านตนเอง เป็นอย่างไร?

อบต.หนองขาม อยากเห็นเด็กและเยาวชน มีความสุข มีคุณธรรม ร่างกายแข็งแรง และรักชาติ

อบต.พลับพลาไชย อยากเห็นเด็กและเยาวชน มีความกตัญญู คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รับผิดชอบต่อสังคม และตนเอง เป็นเด็กดีและเด็กเก่ง

­

ข้อ 2 ใครบ้างที่ท่านคิดว่าต้องมาร่วมกันดูแลเด็กและเยาวชน อบต.หนองขาม เด็ก เยาวชน (เป็นการสร้างแกนนำเยาวชน) หลวงพ่อ ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (รพ.สต.) อบต.พลับพลาไชย คิดว่าผู้ที่จะมาร่วมกันผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่ใจดี (คนในชุมชนมีจิตอาสาเพื่อช่วยชุมชน) อบต. (สนับสนุนเจ้าหน้าที่ งบประมาณ

­

ข้อ 3 สิ่งดีๆ ในบ้านเรา (ทุน) อะไรในบ้านเราที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้และจะส่งผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน

อบต.หนองขาม ชูของดีได้แก่ โครงการอบต. ที่สนับสนุนเด็กและเยาวชน / การสื่อสารในชุมชน ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เช่น การใช้การสื่อสารผ่านโซเชียล / ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้าไหม การจักสาน การตัดอ้อย /

อบต.พลับพลาไชย ชูของดีบ้านตนเองได้แก่ แหล่งเรียนรู้ ด้านอาชีพ ธรรมชาติ (ป่าชุมชน) รีสอร์ท / ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง ปราชญ์ชุมชน สมุนไพร กี่กระตุก ผ้าโบราณ นวดจับเส้น / แหล่งท่องเที่ยว เช่น ศูนย์เพาะเลี้ยง

­

ข้อ 4 วิธีการพัฒนาศักยภาพเด็ก ทำอะไรบ้าง มีโครงการอะไรบ้าง เกณฑ์การเลือกกิจกรรม มีความต่อเนื่อง / เปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก /เกิดการมีส่วนร่วม

­

AAR

- ยังเบลอๆ ยังไม่เข้าใจเรื่องงานวิจัยมากนัก แต่อย่างไร ก็อยากจะช่วยชุมชน ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป

                                             --------------------------------------------

­

ติดตามชมกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการได้ที่ https://goo.gl/lEzrs1