Active Citizen ภาคตะวันตกรวมพลังทำเพื่อถิ่นเกิด

ผ่านพ้นไปอย่างมีพลังเรียบร้อยแล้ว สำหรับงาน “ปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตก” จาก โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก (ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ของสสส.) ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม สำหรับมหกรรมแห่งการเรียนรู้ครั้งที่ 1 นี้เยาวชนจากภาคตะวันตก ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี จำนวน 20 กลุ่ม ได้มานำเสนอโครงการชุมชนที่ตนเองได้เรียนรู้จากการลงมือทำเพื่อชุมชนถิ่นเกิดให้แก่บุคคลทั่วไปได้ชมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ว่าสามารถมาช่วยผู้ใหญ่ในการสืบสานวัฒนธรรม สิ่งดีๆ ในภาคตะวันตกให้ดำรงอยู่สืบไป บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานกับฐานการเรียนรู้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตก การแสดงละคร การแสดงฉ่อย การแสดงวงดนตรี วงเสวนาเยาวชน หัวข้อ “Change” โดยเหล่าเยาวชนร่วมคิดร่วมกันทำในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการสะท้อนมุมคิดโดยผู้ใหญ่ใจดี อาทิ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับฯลฯ โดยมีนายพิสิฐ เสือสมิง นายกองค์การบริหารส่วนจ.สมุทรสงคราม เป็นประธาน มีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา

­



นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลและสสส. ตระหนักว่าเยาวชนคือรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประเทศ และการพัฒนาเยาวชนให้มีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีทักษะชีวิตนั้นมูลนิธิและสสส.มีความเชื่อว่าเยาวชนจะเติบโตและมีคุณลักษณะดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการการเรียนรู้จากการลงมือทำ ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของชุมชน โครงการเพื่อชุมชน (Community Project) เป็นเครื่องมือและกระบวนการที่ทำให้เยาวชนรู้จักตนเอง รู้จักชุมชน สามารถเข้าใจบริบทและปัญหาของชุมชนและเชื่อมโยงได้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จนเกิดความรู้สึกรักบ้านเกิดและมีพลังอยากลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อชุมชน พร้อมกันนี้ได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และสร้างลักษณะนิสัยที่ดีได้ มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงให้การสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ระดับจังหวัด (Area Based)ที่มีความเหมาะสมในการเป็นกลไกทำบทบาท Coaching พัฒนาเยาวชน มี 4 พื้นที่เป้าหมาย ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จ.สงขลา จ.น่าน จ.ศรีสะเกษและ จ.สมุทรสงคราม ภารกิจที่จะทำร่วมกันต่อไปคือการเชื่อมองค์กรภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเยาวชนให้มารวมกันเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนให้เป็น Active Citizen กระจายออกไปให้เต็มบ้านเมืองนั่นเอง”


รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีพันธมิตรร่วมงานกว่า 15 องค์กรสถาบันการศึกษากว่า 55 สถาบัน และมีเยาวชนเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการกว่า 5,000 คน ซึ่งมีโครงการอยู่ทั่วประเทศ และเป็นโครงการที่หลากหลายทั้งการส่งเสริมเยาวชนสู่การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ การร่วมสร้างชุมชนด้วยแนวเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ เป็นต้น เพราะเราเชื่อว่าพลังของเยาวชน พลเมืองสร้างสรรค์(Active Citizen) คือพลังที่แข็งแรงซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นที่เข้มแข็งต่อไป

­



ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หรือ “ธเนศ” หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า “การศึกษาแยกเด็กออกจากชุมชน โครงการฯ นี้มาช่วยอุดช่องโหว่ว เป็นบทเรียน ประสบการณ์ เรียนรู้ท้องถิ่น ทำให้เด็กรักและอยากยู่กับท้องถิ่น เมื่อเด็กพัฒนาประสิทธิการเรียนรู้เพิ่มขึ้นการเรียนของเด็กก็ดีขึ้นด้วย เช่นเด็กไม่ค่อยชอบเล่นหนังสือ พอผ่านโครงการฯ เราก็กลับไปขยันเรียนมากขึ้น เราเชื่อว่าการเรียนรู้ท้องถิ่น หรือการเรียนรู้ภูมิปัญญา เด็กจะได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ สดๆ มากกว่าที่เขาเรียนอยู่ในห้องเรียน และมีผู้คน มีชุมชน มีพ่อแม่ที่คอยอุ้มชูให้คำแนะนำตลอดเวลา เห็นการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน ทำให้เด็กรู้สึกว่าชุมชนไม่ได้ว่างเปล่าเหมือนก่อน แต่ว่าชุมชนมีคุณค่าที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรอีกหลายด้าน หนึ่งปีที่ผ่านมา เด็กไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซนต์ผ่านโครงการนี้ เติบโตและเข้าใจคำว่าสำนึกพลเมือง คำว่าพลเมืองเด็กเข้าใจจากการปฏิบัติ เขาเข้าใจแบบลึกซึ้งไม่ใช่แค่ท่องจำเราก็เห็นว่าการเรียนรู้ท้องถิ่นทำให้เด็กมีวินัยมีความรับผิดชอบและมีสำนึกรักท้องถิ่นมากขึ้น 



ในปีสองเราจะมีความเข้มข้นมากขึ้น กระบวนการจะเชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตของเด็กมากขึ้นว่าเขาอยู่ในชุมชนเขาต้องดูแลเรื่องจัดการน้ำ คุณภาพน้ำ เพิ่มเนื้อหาเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชนมากขึ้น สำหรับปี 2 จะรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 25 กลุ่ม โดย 5 กลุ่มมาจากความร่วมมือกับม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ที่จะส่งนักศึกษามาร่วมเรียนรู้ชุมชนด้วย”

­



นายชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ (นัท) อายุ 17 ปี เยาวชนแกนนำจากโครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าว ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ว่า“การทำโครงการฯ ทำให้มีความสุขแม้ว่าบางครั้งมันจะเหนื่อย มันก็เป็นการเหนื่อยที่มีความสุข เราได้เรียนรู้ ได้พบเจอคนเราได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้ทำ ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำ ได้เรียนรู้จริง อยากบอกเพื่อนๆ ว่าควรจะได้โอกาสลงมาทำกิจกรรมแบบนี้ จากที่เราได้เรียนรู้ต่างๆ นานา ถ้าหากหมดคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ สิ่งดีๆ เช่น น้ำตาลมะพร้าว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็อาจจะหายไป ถ้าเราไม่สืบทอด ถ้าเราไม่ทำต่อ มันอาจเป็นแค่ตำนาน พอเราอายุ 5060 ลูกหลานมาถามเราจะตอบเขาว่าอย่างไร ว่าน้ำตาลมะพร้าวเป็นอย่างไร แล้วผมตอบไม่ได้ เพราะมันเหลือแค่เพียงชื่อ ในตำนาน ก็เป็นความรู้สึกผิดอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้สืบทอดให้มันอยู่มาอยู่ถึงรุ่นเขาได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนเราต้องลงมือทำ เราต้องทำจริง เราต้องทำให้ตรงนี้สำคัญขึ้นมาให้ได้ อย่างน้อยๆ เป็นการจุดประกายความคิดให้เขาหันมาสนใจ ถ้าทุกคนไม่ได้ลงไปสัมผัสจริงก็อาจจะคิดว่าไม่หายไปไหนหรอกมันยังอยู่ แต่ถ้าเขาได้ลงมาสัมผัสจริงเขาถึงจะรู้ว่าสถานการณ์มันลดลงถึงไหนแล้ว ถ้าเราไม่เข้าไปช่วยไม่เป็นคนหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียง อนาคตข้างหน้าน้ำตาลมะพร้าวก็จะเป็นแค่ตำนานก็ได้ ลงไปเรียนรู้เองจะเกิดบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในใจเขาเอง ถึงตอนเขาจะลงไปเขาไม่ได้มีจิตสำนึกอะไรในใจ แต่พอเขาได้ลงไปทำ เรียนรู้จริงก็อาจจะเกิดจิตสำนึกเหมือนกับที่ผมก็เกิดขึ้นมาแล้วครับ

­­

ถึงแม้จะเป็นเพียงเริ่มต้นในปีแรก แต่ “ACTIVE CITIZEN ภาคตะวันตก” ก็แสดงพลังให้ผู้ใหญ่ได้อุ่นใจว่าจะมีเด็กรุ่นนี้มาช่วยสานต่อศิลปวัฒนธรรม มาดูแลบ้านตัวเองต่อจากรุ่นตนอย่างแน่นอน สำหรับเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.maeklongvijai.org และที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

 

หัวข้อข่าว :

เปิดพื้นที่วัยโจ๋ชูวิถีภาคตะวันตก

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบเช้า) แค่แบ่งพื้นที่ให้เด็กก็ได้ “พลเมืองเกรดเอ”

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558

 

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบบ่าย) แค่แบ่งพื้นที่ให้เด็กก็ได้ “พลเมืองเกรดเอ”

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558