ปลุก “ยักษ์” เด็กภาคตะวันตกรักบ้านเกิด

“นับวันคนรุ่นเก่าก็อ่อนแรงลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่สร้างคนรุ่นใหม่แล้ว ชุมชนสังคมจะอยู่อย่างไร”


ภาพหมู่เยาวชนในโครงการปีที่ 1

­


นี่คือคำพูดของ ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หรือ “ธเนศ” หัวหน้าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ โดยสะท้อนแนวคิดที่ว่า "เยาวชน" คืออนาคตของชาติ ซึ่งสามารถทำให้ประโยคข้างต้นนี้เป็นจริงได้โดยการที่ผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ ให้โอกาสตลอดจนแรงสนับสนุนให้พวกเขาพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ และเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีผ่านการลงมือทำ ล่าสุดเสร็จสิ้นโครงการปีแรกไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการใช้ “กระบวนการพัฒนาเยาวชน” ได้ส่งผลให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มี “สำนึกความเป็นพลเมือง” (Active Citizen) กว่า 100 คนใน 4 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นพลังขับเคลื่อนชุมชน

­



ชิษนุวัฒน์ เล่าว่า ในปีแรกมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนทั้งสิ้น 20 โครงการ ในภาพรวมเด็กๆ สนใจประเด็นการเรียนรู้ ภูมิปัญญา อาชีพ และฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยตลอดระยะเวลาโครงการ ทีมพี่เลี้ยงได้เติมกระบวนการเรียนรู้เรื่องสำนึกความเป็นพลเมืองและการเรียนรู้ท้องถิ่นผ่านการเวิร์คช็อปทั้งหมด 5 ครั้ง 1.เยาวชนนับหนึ่ง สร้างสำนึกปลุกพลเมือง - เรียนรู้เรื่องความเป็นพลเมือง ภูมินิเวศน์ภาคตะวันตก วิเคราะห์ทุนฐานและโครงการที่อยากทำ, 2.เยาวชนนับสอง ยั่วให้คิด ยุให้ทำ - พัฒนาโครงการให้ชัดเจน ดำเนินการได้จริงในระยะเวลา ศักยภาพ และงบประมาณที่จำกัด, 3.เยาวชนนับสาม หยั่งรากพลเมือง - เติมทักษะการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) การเก็บข้อมูล ตอกย้ำสำนึกความเป็นพลเมือง, 4.เยาวชนนับสี่ Check Point พลเมือง- สรุปบทเรียนครึ่งโครงการ ตอกย้ำเรื่องสำนึกความเป็นพลเมือง, และ 5. เยาวชนนับห้า Citizen Network – นำเสนอผลการดำเนินโครงการ รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เติมทักษะการคิดเชิงระบบ (System Thinking) และสานพลังสร้างเครือข่ายเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

­

กิจกรรมฟื้นฟูน้ำตกบ่อหวี

­

ร่วมพัฒนาสูตรอาหารและโรงเรือนสำหรับแพะ

­

สมาชิกโครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน

­

สมาชิกโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะใน ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี


“เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดตัวเอง เขาก็จะเกิดความรักความหวงแหนพื้นที่ รู้ว่าจะต้องจัดการตัวเองอย่างไรเพื่ออยู่ในความเปลี่ยนแปลงได้ ทำอย่างไรจะหยุดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ และนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ในเชิงบวก เขาต้องรู้สิทธิ์ รู้หน้าที่ รู้ความรับผิดชอบที่ตัวเองควรมีต่อสังคม ไม่ใช่เรียนแล้วเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่สังคม - สิ่งแวดล้อม ไปไม่รอด” ชิษนุวัฒน์ กล่าว

­

สมาชิกโครงการ ท.ษ.ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ

­

สมาชิกโครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี อย่างมีส่วนร่วม

­

สมาชิกโครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งฯ ลงเก็บข้อมูลสถานการณ์จริงในพื้นที่

­

สมาชิกโครงการศึกษาสถานการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาของน้ำตกบ่อหวี

­


สำหรับการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา หัวหน้าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มองว่าทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กว่ามีความรักและรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเอาธุระต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในจังหวัด ในโรงเรียน หรือในชุมชนตัวเอง สอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ที่โครงการคาดหวังไว้ คือ 1.รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง 2.รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง 3.ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 4.คิดเชื่อมโยงเรื่องใกล้ตัวและมองโลกเชิงระบบได้ 5.มีความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง เข้าใจประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง 6.ร่วมคิดร่วมทำอะไรเพื่อชุมชนหรือจังหวัดของตน 7.เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของจังหวัด 8.มีทักษะการบริหารจัดการโครงการ 9.มีทักษะการเก็บบันทึกข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงการ และ 10.มีทักษะการสกัดเนื้อหาและสื่อสารผ่านสื่อ / นำเสนออย่างสร้างสรรค์




ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในด้านสำนึกความเป็นพลเมือง (Active Citizen) ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน น้องมิ้นท์ นางสาวปิยวรรณ อินทะนิน โครงการ ท.ษ.ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ โรงเรียนเทพมงคลรังษี จ.กาญจนบุรี กับโครงการคัดแยกขยะ รณรงค์รักษาความสะอาดในโรงเรียน และขยายผลให้ความรู้แก่น้องๆ ต่างโรงเรียน เล่าว่า การทำโครงการทำให้ต้องปรับเปลี่ยนนิสัยตัวเอง จากเมื่อก่อนมีขยะอยู่ในมือก็จะโยนทิ้งข้างทางเลย แต่พอทำโครงการแล้วก็ย้อนคิดว่าที่ผ่านมาเราแนะนำคนอื่นให้รักษาความสะอาด ตัวเองก็น่าจะทำด้วย เมื่อมีขยะอยู่ในมือก็ควรเก็บไว้ก่อนแล้วนำไปทิ้งลงถังขยะทีหลัง

“รู้สึกภูมิใจค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอื่นเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งการคัดแยกขยะ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ต้องกลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไมที่ผ่านมาเราถึงไม่ทำกัน" น้องมิ้นท์สะท้อน

­


น้องโอ นายศุภกร กุลที โครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะใน ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แบ่งปันประสบการณ์จิตอาสาว่าได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในชุมชนข้างวิทยาลัยพัฒนาสูตรอาหารและโรงเรือนให้มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย ทำให้แพะมีสุขภาพดีขึ้น มีอัตราการตายน้อยลง ขณะที่ตัวเองยังเลิกใช้เวลาไปกับสิ่งไม่มีประโยชน์ด้วย

“แต่เดิมพวกผมมักหมดเงินและเวลาไปกับการเข้าร้านเกม แต่เมื่อได้ทำโครงการแล้วก็ทำให้เปลี่ยนวิธีการใช้เวลาไป เลิกเล่นเกมแล้วเอาเวลาว่างไปช่วยเกษตรกรแทน ถึงจะเหนื่อยมากในแต่ละวันแต่ก็รู้สึกดี และได้รับความสุขกลับมา” น้องโอเล่า

­


น้องอ้น นายนริศ เลิศวุฒิวิไล โครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กับการพลิกฟื้นสนามกีฬารกร้างให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง บอกว่าการทำโครงการช่วยให้เลิกพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการซิ่งรถ รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอะไรเพื่อชุมชน หากได้ทำอีกก็จะทำให้ดีขึ้นในอนาคต

“ตอนนี้เห็นคนมาใช้ ช่วยกันรักษาความสะอาด เมื่อสนามสะอาด ปิดแน่นหนา แหล่งมั่วสุมหมดไป ถึงไม่มีใครมาขอบคุณ ผมก็ดีใจครับ อาธเนศจะบอกพวกผมเสมอว่า ถ้าเราสร้างลานจอดเครื่องบินไว้แล้ว เดี๋ยวก็มีเครื่องบินมาลงจอดเอง สิ่งที่พวกผมทำเป็นตัวพิสูจน์คำพูดของอาธเนศว่าเป็นจริง” น้องอ้นสะท้อน

­



น้องป่าหวาย นายป่าหวาย จะบุ้ง โครงการศึกษาสถานการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาของน้ำตกบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี แบ่งปันบ้างว่าการได้ร่วมกับชุมชนฟื้นฟูน้ำตกบ่อหวีให้กลับมาเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวอีกครั้ง ทำให้เขาได้ฝึกฝนตนเอง และได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ

“เมื่อก่อนผมก็เหมือนเด็กทั่วไป เล่นเกม เล่นไลน์ไปวันๆ เมื่อได้ทำโครงการนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งกำลังใจจากเพื่อนๆ ความรับผิดชอบในตัวเอง ได้ฝึกความพยายาม ความอดทน กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ โครงการนี้ทำให้ผมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” น้องป่าหวายย้ำ

­



สุดท้ายที่ น้องเอิร์ธ นายวิกรม นันทวิโรจน์ โครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี อย่างมีส่วนร่วม เล่าว่า การทำโครงการทำให้เขาได้พัฒนาวิธีคิด วิธีการทำงาน คิดเยอะกว่าเดิม และรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น

“การทำโครงการทำให้ผมได้เข้าไปเรียนรู้จากของจริง ได้เห็นเส้นทางการบริหารจัดการน้ำของมหาวิทยาลัยทั้งระบบตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของน้ำและประหยัดน้ำมากขึ้น จากเมื่อก่อนจะเปิดฝักบัวทิ้งไว้เวลาอาบน้ำแปรงฟัน ตอนนี้ไม่ทำแล้ว และยังแนะนำเพื่อนๆ ให้ช่วยกันประหยัดด้วย” น้องเอิร์ธ สะท้อนปิดท้าย

"เยาวชน" คืออนาคตของชาติ ... ความพยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ชุมชนสังคมของเยาวชน แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่ แต่หากมีจำนวนมากเข้าก็สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้ง “สำนึกพลเมือง” ที่ติดตัวพวกเขาไปจนเติบใหญ่ จะส่งผลให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ผลักดันชุมชนสังคม ตลอดจนประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้ายั่งยืน

สำหรับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และในปี 2 จะเปิดรับสมัครในเดือนกรกฎาคมนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล
www.scbfoundation.com


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

ปลุกยักษ์ เด็กภาคตะวันตกรักบ้านเกิด

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2558