ทีมเยาวชนเบอะบลาตู .
Active Citizen ชาติพันธุ์รุ่นใหม่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก
ประวัติและผลงาน
ทีมเยาวชนเบอะบลาตู
โครงการการใช้กีฬาในการสร้างพลังความร่วมมือกลุ่มเยาวชนเทือกเขาเบอะบลาตู
หัวหน้าโครงการ นายศุภชัย เสมาคีรีกุล (บี้) อายุ 21 ปี

        กลุ่มเบอะบลาตู มาจากคำว่า เบอะ แปลว่า ลูกเดือย บลา แปลว่าภูเขา ตู แปลว่า แข็งแรงอดทน ชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นชื่อของเทือกเขา หมู่บ้านของกลุ่มเยาวชน ทั้ง 6 หมู่บ้าน อยู่ในหุบเขาแห่งนี้ พวกเขาจึงใช้ชื่อนี้เป็นตัวแทนของที่จะบ่งบอกว่าพวกเขาจะแข็งแรง อดทน หยัดยืนเพื่อที่จะดูแลปกป้องเทือกเขาที่อยู่อาศัย

       กลุ่มเบอะบลาตู เริ่มต้นจากแกนนำเยาวชน 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน แต่สมาชิกที่ร่วมทำกิจกรรมมีมากกว่า 30 คน พวกเขารู้จักกันจากปัญหาที่ดินทำกิน ก่อนหน้านี้หน่วยงานราชการจะขอคืนพื้นที่ป่า และประกาศพื้นที่ป่าชุมชนเป็นเขตอุทยาน ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทำกินของครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ พวกเขาเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐและไม่มีอำนาจต่อรอง กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐ เมื่อมีเครือข่ายในการเจรจา เจ้าหน้าที่รัฐก็เกรงใจและใช้อำนาจน้อยลง ปัญหาที่เกิดชึ้นเป็นแรงขับให้พวกเขาทั้ง 6 ชุมชนมารวมตัวกัน พวกเขาอยากสานพลังและทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงทำโครงการการใช้กีฬาในการสร้างพลังความร่วมมือกลุ่มเยาวชนเทือกเขาเบอะบลาตู เพื่อใช้กีฬาเป็นตัวแทนแห่งความร่วมมือ พวกเขามองว่าการเล่นกีฬาไม่ใช่เพื่อกีฬา และกีฬาเป็นตัวแทนของมิตรภาพ แต่พวกเขามองว่าน่าจะลองออกแบบการเล่นกีฬาจากฐานรากเดิมทางวัฒนธรรม จึงสืบค้นหาข้อมูล การเล่น การละเล่นในชุมชน

       ด้วยการเดินทางในเทือกเขาที่ห่างไกลหมู่บ้านของสมาชิกแต่ละคนอยู่ไกลกันและสัญญาณโทรศัพท์มีน้อยมาก พวกเขาจะประชุมกลุ่มกันเดือนละ 1 – 2 ครั้งแบ่งหน้าที่กันไปหาข้อมูลกับปราชญ์ชุมชน นำข้อมูลมาออกแบบกิจกรรมกีฬา ระหว่างการทำการสืบค้น พวกเขาได้ความรู้ใหม่ๆ จากชุมชน เช่น ของเล่นตามฤดูกาล การเล่นที่ผนวกกับความเชื่อและการทำอยู่ทำกิน กุศโลบายในการทำเครื่องมือที่จะนำร่องการปลูกข้าวไร่ เป็นต้น พวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ความหมาย แม้บางหมู่บ้านผู้ใหญ่ในชุมชนจะรู้สึกไม่ไว้วางใจ คิดว่าเยาวชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่กล้าให้ข้อมูล แต่ทีมเยาวชนเบอะบลาตูไม่ท้อ อดทน เพียรอธิบายจนชาวบ้านเข้าใจ

       ด้วยมิตรภาพและเคารพความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิและความเท่าเทียม พวกเขาออกแบบกิจกรรมกีฬาโดยให้คนที่มาเข้าร่วมทั้งหมดคละกันและแบ่งออกเป็นสี เขามองว่าเวลาจัดกีฬาชุมชนของ อบต. จาก 9 ชุมชน มีการตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ บางชุมชนยังแตกกันเป็น 2- 3 ทีม การสังเกตและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบกิจกรรม พวกเขายืนยันว่าไม่ชอบการทะเลาะกัน กิจกรรมจึงมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือ มิตรภาพ โดยให้ผู้หญิงและผู้ชายเล่นร่วมกันได้ กีฬาฟุตซอล 5 คน จะมีผู้หญิง 2 คนผู้ชาย 3 คน และในสนามผู้หญิงสามารถจับบอลและโยนใส่ประตูได้ ทุกคนมาเล่นกีฬา ทุกคนได้ถ้วยรางวัล ทุกคนได้มิตรภาพและผนึกกำลังเป็นเครือข่ายกัน หลังกิจกรรมพวกเขาชวนนักกีฬาทุกคนล้อมวงถอดบทเรียน (Reflection) น้องผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า “ขอบคุณที่ไม่ทิ้งผู้หญิง เรารู้สึกถึงความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน” และเยาวชนชายต่างหมู่บ้าน “ชอบกิจกรรมมาก และขอเข้าร่วมในครั้งถัดไปด้วย” ทีมงานทุกคนก็รู้สึกดี ภูมิใจในสิ่งที่ช่วยกันคิดและลงแรงทำ

       ปัจจัยหลักที่ทำให้วัยรุ่นชายที่ดูเหมือนอุปนิสัยเลือดร้อน มุทะลุมารวมตัวกันหลายคน ทำงานด้วยความรักใคร่ปรองดอง และใช้พลังงานไปในทิศทางที่ถูกที่ควร เพราะพวกเขามีเป้าหมายและหัวใจเดียวกัน “ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับคนในชุมชน พวกเราทำโดยไม่หวังอะไร สมัยก่อนไม่มีใครเลยที่กล้าตรวจสอบนโยบายรัฐที่ลงมาในพื้นที่ โครงการอะไรลงมาก็รับหมด โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อคนรุ่นหลัง พวกเราคนรุ่นใหม่เท่าทันสถานการณ์ ได้รับข่าวสารจากภายนอกจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อต่อรอง” พวกเขาเล่าด้วยแววตาที่มีความหวังและอยากเห็นความเป็นธรรม “ถึงแม้เราจะมีปัญหา เราจะคุยกันต่อหน้าเลยครับ จะไม่โกรธ เราสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดใจ ไว้วางใจกัน ไม่เอาไปพูดให้คนอื่นฟัง ต้องสร้างความไว้วางใจกันในทีม”

       การทำโครงการฯ โดยมีวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยเป็นพี่เลี้ยงทำให้มุมมองพวกเขากว้างขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และมองการณ์ไกลขึ้นกว่าจากเดิม การรวมตัวเป็นเครือข่ายสร้างโมเดลการดำเนินชีวิตให้น้องๆ เด็กๆ ที่เห็นพวกเขาเป็นตัวอย่าง เห็นความกล้าหาญที่พี่ๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อรองอย่างมีเหตุมีผล “ผมคิดว่าจุดเด่นของทีมเราคือมีพี่ๆ เป็นแกนนำที่กล้าหาญและเข้มแข็ง” น้องเยาวชนพูดถึงทีม ในขณะที่รุ่นพี่แกนนำก็ตอบกลับมาทันทีว่า “น้องๆ เป็นหนึ่งแรงและกำลังใจให้กับพวกเรา เหตุผลหลักที่เรายังทำงานอยู่ตรงนี้เพราะน้องๆ เป็นแรงบันดาลใจ พวกเขาก็เป็นกำลังใจให้เราเหมือนกัน ในการทำแต่ละครั้ง ถ้าไม่มีน้องๆ พวกเราก็ทำแบบนี้ไม่ได้” มิตรภาพบนเทือกเขาเบอะบลาตูเบ่งบานด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักและหวงแหนบ้านเกิด ดอกไม้ในหุบเขาจะบานและเติบโตเต็มทุ่งด้วยมือที่เข้มแข็งเฝ้าถนอมพรวนดิน ต้นไม้ที่แข็งแรงเฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่ง คนในกลุ่มเยาวชนเบอะบลาตูจะเป็นผู้นำชุมชน พัฒนาและดูแลกันและกัน

­

ความโดดเด่น
  • อุดมการณ์และหัวใจเดียวกัน ที่อยากปกป้องหมู่บ้าน ชุมชนและแหล่งทำกินทำให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายและออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์
  • กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เคารพความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิและความเท่าเทียม ออกแบบโดยคำนึงถึงการไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ให้หญิง ชาย ได้แสดงศักยภาพก่อให้เกิดมิตรภาพร่วมกัน
  • การใช้พลังงานวัยรุ่นไปในทางที่สร้างสรรค์ สังเกต เรียนรู้ หาบทเรียน เชื่อมั่นและวางใจในทีม พร้อมทั้งกล้าเรียนรู้และพัฒนาทีมของตัวเอง