กลุ่ม Youth of Kamphaeng .
เยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
ประวัติและผลงาน

กลุ่ม Youth of Kamphaeng : ทีมเยาวชนเด่น โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ โรงเรียนกำแพง ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้ประสานงาน : นายวันเฉลิม โนนกลาง (เฟรม) อายุ 18 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

Facebook Fan page: THE STORY อุทุมพรพิสัย https://www.facebook.com/thestory1/

­

­

ทีม Youth of Kumpheang โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 – 6 จำนวน 18 คน ที่สนใจ พวกเขามีแนวคิดว่าอำเภออุทุมพรพิสัยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนอกอำเภออาจจะไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ยังไม่รู้วิถีของชุมชน พวกเขาจึงอยากนำเสนอสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้คนภายนอกรู้จัก อยากมีส่วนร่วมในการช่วยชุมชนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ทีม Youth of Kumpheang จึงสร้างเพจ The Story อุทุมพรพิสัย ขึ้นมา ตามความสนใจของคนในทีมที่อยากเรียนรู้และมีประสบการณ์ในกระบวนการทำสื่อ ตั้งแต่การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำมาทำสื่อ จนเกิดเป็นทักษะในการประสานงาน การสื่อสารเพื่อพูดคุยกับแหล่งข้อมูล การทำสื่อขึ้น ทีม Youth of Kumpheang ช่วยกันหาวิธีการวาง Story ให้สื่อที่ทำออกมาดูน่าสนใจ เป็นความท้าทายที่ได้จากการทำโครงการฯ นอกเหนือจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว

“ต้นมะเดื่อ” เป็นต้นไม้ที่มีจำนวนมากในอำเภออุทุมพรพิสัย คำว่า “อุทุมพรพิสัย” หมายความว่าถิ่นมะเดื่อใหญ่ ทีม Youth of Kumpheang จึงตั้งชื่อโครงการว่าสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ พวกเขาแบ่งหน้าที่กันทำงาน ด้วยจำนวนคนของทีมที่มีจำนวนมาก จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าที่มีในชุมชน, สินค้า OTOP และกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว แต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็นฝ่ายเพื่อลงพื้นที่ในแต่ละเส้นทาง เมื่อแต่ละฝ่ายแบ่งหัวข้อกันแล้ว จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน รวบรวมข้อมูลและนำมาสังเคราะห์กันในทีมเพื่อวาง Story และกลับลงไปในพื้นที่เพื่อถ่ายทำ เช่น เรื่องข้าวหลาม ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง ทีม Youth of Kumpheang ถ่ายทำและสัมภาษณ์กระบวนการทำ จากนั้นนำมาตัดต่อ เพื่อนำมาเผยแพร่ที่เพจ

สิ่งที่พวกเขาได้เห็นและเรียนรู้ระหว่างการทำงานคือ การได้เห็นบ้านเกิดในอีกมุมมอง ได้รู้ถึงการเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อน ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ย่าตายายที่มีการรักษาสืบสานวัฒนธรรมจนถึงรุ่นปัจจุบัน ทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกว่ารักและอยากคงความเป็นอุทุมพรพิสัยไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป พวกเขาภูมิใจมากที่เพจมีคนติดตามถึงสามพันกว่าคน ในเวลา 4 – 5 เดือน และดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คนภายนอกรู้จักบ้านเกิดมากขึ้น มีครั้งหนึ่งจังหวัดศรีสะเกษเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันทักษะวิชาการ ช่วงนั้นมีลูกเพจเข้ามาสอบถามสถานที่พักในตัวอำเภอ แอดมินเพจก็ให้ข้อมูลสถานที่พักกับลูกเพจ พวกเขาดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

การลงพื้นที่ทำให้พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า “ความเป็นสังคมเมืองของอำเภออุทุมพรพิสัยขยายเพิ่มมากขึ้น เมื่อชุมชนเป็นสังคมเมืองมากขึ้นทำให้ วิถีการใช้ชีวิตบางอย่างขาดหายไป เช่น ในอดีตจะมีการใส่ผ้าถุง หลายพื้นที่มีไม่มีการใส่ผ้าถุงแล้ว ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สวมใส่เสื้อผ้าไปตามเทรนแฟชั่นกันหมด”

แม้จำนวนของสมาชิกที่มีถึง 18 คน ทำให้งานต่อเนื่อง แต่สมาชิกหลายคนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและกำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้พวกเขาต้องจัดสรรเวลาให้ตรงกัน หลายครั้งการนัดหมายล้มเลิกทำให้สมาชิกท้อ แต่ทุกคนต่างให้กำลังใจกัน พร้อมนัดหมายเวลาใหม่ การทำงานนอกสถานที่สมาชิกหลายคนไม่มีพาหนะต้องติดรถกันเพื่อเดินทางทำโครงการฯ พวกเขาไม่มองว่าเป็นอุปสรรค แต่เป็นการช่วยกันเพื่อทำงานให้สำเร็จ พวกเขาเล่าว่าหัวใจของการทำงานคือ “ทีมเรามีเป้าหมายเดียวกันคืออยากเผยแพร่ ให้คนภายนอกได้เห็นว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็กสวยงาม อย่างน้อยเราก็ได้ทำ ถึงจะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย” เมื่อเกิดปัญหาพวกเขาจะช่วยกันคิดว่าเกิดจากอะไร ไม่ตำหนิกัน ค่อยๆ หาหนทางแก้ไข อะไรที่ปรับไม่ได้ก็จะไม่คิดมาก คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สู้ไปด้วยกัน

จากนี้เพจ The Story อุทุมพรพิสัย ยังคงดำเนินต่อไป พวกเขาฝันว่าจะส่งต่อเพจจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง พัฒนาเนื้อหาและคลิปต่างๆ ทำให้เป็นแนวสารคดีมากขึ้นโดยการไปปรึกษาอาจารย์ที่รู้ประวัติศาสตร์ชุมชน และอยากพัฒนาทักษะการผลิตสื่อให้ดีกว่าเดิม อยากขยายพื้นที่ไปยังอำเภอรอบข้าง เช่น อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอห้วยทับทัน บ้านปราสาท เป็นต้น

­

ความโดดเด่น
  • การเลือกวิธีการสื่อสารให้เหมาะกับยุคสมัยใช้ Facebook ในการสร้างเพจและเป็นสื่อกลางในการทำสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่
  • แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน กำหนดบทบาทและแบ่งเส้นทางในการทำงานในพื้นที่ให้ครอบคลุม โดยใช้การประชุม วางแผนอย่างมีขั้นตอน และมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะเผยแพร่เรื่องราวของบ้านเกิด
  • ลงพื้นที่ด้วยหัวใจที่อยากเรียนรู้ อยากรู้จัก เคารพและตั้งข้อสังเกตกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น