กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ
ทีมขับเคลื่อนเยี่ยมโรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18
ความเป็นมา วัตถุประสงค์

เยี่ยมโรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18


 4/10/55

โรงเรียนไร่พวยมิตรภาพที่ 18 จังหวัดเลย วันที่ 27 กันยายน 2555

                    โรงเรียนไร่พวยมิตรภาพที่ 18 อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย เป็นโรงเรียนในเครือข่ายอีสานตอนบนที่อยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามมากที่สุด มีระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร ฉะนั้นการเดินทางในครั้งนี้เราจึงเลือกโรงเรียนเป้าหมายเพียงโรงเดียว และออกเดินทางตั้งแต่เวลา 07.00 น. และกำหนดถึงจุดหมายปลายทางประมาณ 10.00 น. และก็สามารถทำตามที่ได้กำหนดไว้พอดี การเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงบนรถ พอถึงเป้าหมายบนรถทำให้พวกเราหายเหนื่อยเพราะจังหวัดเลยไดเชื่อว่าเป็นเมืองที่ภูเขาสวยงามมากอยู่แล้ว ครั้งนี้เราจึงได้เห็นโรงเรียนที่ฉากหลังเป็นภูเขาสวยมาก เพราะโรงเรียนอยู่ติดถนนสายหลักแต่อยู่ห่างจากภูเขาเพียง 5 กิโลเมตร โรงเรียนมีพื้นที่ 25 ไร่ มีคุณครูอยู่ 16 ท่าน วันนี้น่าจะเป็นวันสอบวันสุดท้ายด้วย ทำให้อาจารย์มาต้อนรับเราเกือบทุกท่าน นำโดยท่าน ผอ.ทรงยศ และคุณครูเกียรติศักดิ์ ครูแกนนำขับเคลื่อน มามีโอกาสชื่นวิวไม่กี่นาที ทางโรงเรียนก็เชิญเข้าห้องประชุม โดยให้ตัวแทนนักเรียนกล่าวต้อนรับ และตามด้วยท่าน ผอ.กล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ และได้กล่าวถึงเป้าหมายที่หวังไว้ว่า ต้องให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิต ในส่วนของคุณครูจะต้องจัดกิจกรรมที่สามารถสอดแทรกหลักของ ปศพพ. และให้ขอความร่วมมือกับกรรมการสถานศึกษาด้วย แต่โรงเรียนมีปัญหาการจัดสภาพแวดล้อมบ้างเพราะขาดนักการฯ และโรงเรียนใด้จัดฐานการเรียนรู้ที่เน้นไปทางด้านการเกษตรกรรม โดยมีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐาน โดยให้นักเรียนได้เข้าเรียนรู้ทุกฐาน ในด้านของหน่วยงานภายนอกพบว่าได้รับการสนับสนุน เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ และ อบต. สำนักงานที่ดินจังหวัด เป็นต้น

           ถัดจากท่าน ผอ.กล่าวต้อนรับเสร็จแล้ว คุณครูเกียรติศักดิ์ครูแกนนำขับเคลื่อนได้กล่าวสรุปกิจกรรมที่ได้ทำเพิ่มเติม นโยบายของกระทรวงต้องการให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นสถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนแรกที่ได้เดินหน้าก่อนคนอื่น ดังนั้นจึงได้รับเชิญจากเขตให้ขยายผลและทำให้คณะครูได้รับหน้าที่เป็นวิทยากรให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ให้เขตจังหวัดเลยหลายโรงแล้ว และท่าน ผอ. ก็ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการประเมินสถานศึกษาพอเพียงของจังหวัดด้วย จึงเชื่อว่าคณะครูมีความพร้อมแล้วในระดับหนึ่ง แต่โรงเรียนก็มีปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนบ้างเพราะโรงเรียนขยายโอกาส และอยู่กึ่งกลางของโรงเรียนประจำเภอ 3 อำเภอ ประมาณ 20 กิโลเมตร พอๆ กัน นักเรียนที่ครอบครัวมีศักยภาพก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอที่ใกล้ที่สุดเป็นส่วนใหญ่ ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเสริมคือการขายล็อตเตอรี่ นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม และทิ้งลูกหลานให้อยู่กับตายายทำให้เลี้ยงลูกหลานด้วยเงินแทน บางส่วนก็ครอบครัวแตกแยก ในส่วนของกรรมการสถานศึกษานั้นได้รับความร่วมมืออย่างทั้งทางด้านทุนทรัพย์และแรงงาน

  • โรงเรียนได้ทำข้อตกลงกับกรมธนารักษ์ ในการกำหนดให้ใช้พื้นที่ 3 ไร่เพื่อดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ
  • อบต. สนับสนุนงบประมาณ เพื่อทำห้องเทิดพระเกียรติ ห้องนิทรรศการ และการจัดทำป้ายนิเทศก์
  • สำนักงานที่ดินสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมยุวหมอดิน
  • ศูนย์ OTOP ของชุมเป็นครูภูมิปัญญาในการอบรม เช่น การปั้นขี้เรื่อยเป็นมังกร เครื่องจกรสานไม้ไผ่

       การขับเคลื่อนหลักเน้นไปที่งานด้านการเกษตร เพราะชุมชนแวดล้อมมีอาชีพเกษตรเป็นหลัก

       หลังจากนั้น ดร.ฤทธิไกร ได้ขอทางคณะครูเพื่อทำกิจกรรมกับนักเรียน โดยนัดหมายพูดคุยกับคณะครูในช่วงบ่ายโมง โดยเริ่มเมื่อเวลา 10.10 น. จากการให้นักเรียนแนะนำตนและเพื่อนร่วมวงทุกคนและได้ยกสถานการณ์จริงที่เดินทางไปพบท่านอาจารย์ ดร.ปิยะนุช ที่วัดป่าเหล่ากกหุ่ง ที่อำเภอมัญจาคีรี แล้วไม่ได้เตรียมผ้าห่มและเสื้อแขนยาว ถึงตอนกลางคืนอากาศเย็นทำให้มีอาการเป็นไข้หวัดตกค้างมาจนถึงวันนี้ และทำให้อาการไปติดต่อไปยังลูกสาวและภรรยา ทำให้ต้องไปหาหมอหมดเงินไปร่วมพันบาท แล้วถามนักเรียนว่าอาจารย์ไม่พอเพียงอย่างไร ขาดภูมิคุ้มกันอย่างไร การขาดการวางแผน เข้าหลักขาดหลักการข้อใดใน ปศพพ. และให้นักเรียนนักเรียนคนหนึ่งเล่าถึงกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน และให้นักเรียนวิเคราะห์มีกิจกรรมใดที่สอดคล้องกับหลัก ปศพพ. อย่างไร และให้นักเรียนเล่าถึงกิจกรรมที่นักเรียนประทับใจมากที่สุดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ และเมื่อเวลา 11.40 น. ได้ปล่อยให้นักเรียนไปทานข้าว และนัดหมายนักเรียนอีกครั้ง เมื่อเวลา 12.30 น. โดยให้ตัวแทนนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ 2 คน ส่วนที่เหลือทั้งหมดไปประจำฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมแล้วอาจารย์จะไปเยี่ยมทุกฐาน

เมื่อได้เวลานัดหมาย 12.30 น. ตัวแทนนักเรียนได้พาเข้าฐานการเรียนรู้ การกระจายนักเรียนแกนนำออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของนักเรียน ดังนี้

  • ฐานการเลี้ยงจิ้งหรีด ฐานนี้ทราบภายหลังทราบว่านักเรียนประจำฐานนั้นผู้ปกครองได้เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อจำหน่วยอยู่แล้ว มีฐานความรู้อยู่แล้ว แต่ในตอนแรกนักเรียนขาดความมั่นใจในการนำเสนอ แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นก็สามารถทำได้ แต่จะต้องทำการฝึกฝนเพิ่มเติม
  • ฐานการเลี้ยงปลาดุก ฐานนี้นักเรียนสามารถนำเสนอได้พอสมควร
  • ฐานถั่วงอกคลอโรฟิลด์ ฐานนี้นักเรียนยังขาดองค์ความรู้ เช่น ทำไม่ใช้ถังสีขาว ใช้ถังสีอื่นได้หรือไม่เพราะอะไร และในฐานนี้มีถังหมักปุ๋ยชีวภาพอยู่ด้วย
  • ฐานบ่อปลารวม เป็นบ่อที่เน้นปลาธรรมชาติ มีตะเพียน ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ฐานนี้นักเรียนยังไม่สามารถจำแนกปลากินพืช และประกินเนื้อและนักเรียนยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าปลากินเนื้อและปลากินพืชอยู่ด้วยกัน
  • ฐานเพาะปลูกข้าว เน้นให้นักเรียนได้รู้จักวิธีการปลูกข้าว ได้รับการชี้แจงจากครูวิไลรัตน์ว่า นักเรียนส่วนใหญ่ผู้ปกครองทำนำแต่ไม่ยอมให้นักเรียนได้ทำนา ดังนั้นทางโรงเรียนจึงต้องดำเนินกิจกรรมนี้
  • ฐานเห็ด นักเรียนสามารถอธิบายได้แต่ขาดการเชื่อมโยง เช่น ก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเชื้อ และไม่มีซ้อมาพร้อมกันเพราะอะไร ต้นทุน กำไร เท่าใด
  • ฐานเกษตรอินทรีย์ จะมีการปลูกพืชท้องถิ่น เช่น มะขามหวาน มะม่วง กล้าย และมีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เช่น แก้วมังกร และยางพารา นักเรียนจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับฐานชีวิตของนักเรียนให้ได้

 หลักจากครบทุกฐาน จึงมีการถอดบทเรียนกับนักเรียน ในการนำอาจารย์เยี่ยมชมแล้วได้อะไรบ้าง และเสร็จกิจกรรมกับนักเรียนประมาณ 14.00 น. เลยเวลาที่นัดหมายกับคุณครูไปหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก็เข้าไปที่ห้องประชุมเพื่อพบกับคณะคุณครู และสรุปผลการพบกับนักเรียนพบว่านักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำแต่การอธิบายและการเชื่อมโยงกับชีวิตจริงยังจะต้องได้รับการปรับปรุง โดยใช้เฉพาะการใช้คำถามในการกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ และเสนอให้คุณครูร่วมกันบูรณาการเพื่อลดภาระงานของทั้งเด็กและตัวคุณครูเอง อาจจะต้องให้เด็กได้ทำโครงงานที่มีการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้คุณครูได้แสดงความเห็น

รอง ผอ.สมหมาย ได้กล่าวถึงกิจกรรมที่ได้ดำเนินงาน เช่น ในเรื่องแผนการสอน การสร้างบทเรียนสำเร็จรูปในการวิทยากรประจำฐานของทั้งคุณครูและนักเรียน และการตอบคำถามที่สอดคล้องกับหลัก ปศพพ. หลังจากนั้นให้นักเรียนเข้ากลุ่มเพื่อทำการถอดบทเรียน

ครูวิไลรัตน์ กล่าวโรงเรียนเป็นสถานศึกษาพอเพียงตั้งแต่ปี 52 โดยที่โรงเรียนไม่ได้เสนอตัวเอง เพราะคิดว่ายังไม่พร้อม แต่ทางเขตพื้นที่มองว่าโรงเรียนมีความพร้อมมากที่สุดจึงเสนอให้โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะว่าโรงเรียนมีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วและได้รับรับรางวัลหลายรางวัล แต่คุณครูยังไม่รู้สึกพอใจ เพราะคุณครูมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนจึงจะเห็นคุณค่าของกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้

ครูเบญจวรรณ เป็นครูในกลุ่มภาษาไทย สาระสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนใช้ภาษาได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการพูด เขียน และสื่อสารได้ถุกต้อง และชี้ให้เห็นประโยชน์ถึงการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ทำให้เกิดความพอเพียง พอประมาณอย่างไร

ครูปรัชญา เน้นการสอนให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม และสอนในเรื่องใกล้ตัว เช่น สอนเรื่องดิน ก็พานักเรียนมาดูตัวอย่างดินจริงๆนอกห้องเรียน โดยใช้ดินตัวอย่างในโรงเรียน ดินแต่ละชนิดเป็นอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ถ้าสอนเรื่องสัตว์ก็สอนเกี่ยวกับสัตว์ท้องถิ่น

ครูนัฐนันท์ ครูกลุ่มภาษาต่างประเทศ การสอนจะใช้ร่วมกับบทเรียนสำเร็จรูป หรือศัพท์ที่ใกล้ตัว เช่น จากข้อความโฆษณาจากผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว เช่น กล่องนม เป็นต้น

ครูปริทัศน์ จบพละศึกษา แต่มาสอนสังคมศึกษา จะต้องไปอบรมเกี่ยวกับการสอนและเรื่องกับ ปศพพ. และมีการสอนร่วมกับการใช้วีดิทัศน์ โดยเฉพาะวิดีโอเฉลิมพระเกียรติ 7 เรื่อง หลังจากดูแล้ว ให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ ดูแล้วได้อะไร รู้สึกอย่างไร

ปิดเบรกวันนี้ด้วย ดร.ฤทธิไกร ได้แจ้งให้โรงเรียนทราบว่า โรงเรียนศูนย์พี่เลี้ยงคือโรงเรียนสนามบิน ที่จะติดตามและช่วยเหลือโรงเรียนในการเดินหน้าเข้าสู่การประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ และทางทีมจะจัดให้มีการประเมินภายในก่อนมีการประเมินจริง ให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้น และครูจะต้องมั่นคงในตนเองว่าเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนคืออะไร เช่น วิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย เด็กจะต้องผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน คือบวกลบ คูณหารได้ ภาษาไทยเด็กจะต้องอ่านออกเขียนได้ การถอดบทเรียนสาระสังคมศึกษาอาจจะต้องรับหนักในการเป็นผู้นำในการฝึกการถอดบทเรียน และเป้าหมายของการเป็นโรงเรียนศูนย์จะต้องแสดงผลออกมาไห้ได้ว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการมีพฤติกรรมอันพึงประสงค์หรือไม่

กำหนดการและรายงานผล
ทำเนียบผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สรุปผลกิจกรรม/บันทึกการทำงาน

วัตถุประสงค์

การเดินทางเยี่ยมเยือน เพื่อเรียนรู้จากเพื่อนครูและผู้อำนวยการ เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินการที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อเรียนรู้ ให้รู้จักโรงเรียนด้วยประสบการณ์ตรง
  2. เพื่อพบปะสนทนากับคน 2 กลุ่ม คือ ครูแกนนำ และ นักเรียนแกนนำ เพื่อให้ได้เรียนรู้ใน 4 ประเด็น ดังนี้
    1. รู้จำและรู้จัก ปศพพ.
    2. เข้าใจ ปศพพ.
    3. นำไปปฏิบัติใช้กับชีวิต หรือ เชื่อมโยงชีวิตจริง
    4. เผยแพร่สู่บุคคลอื่น
  3. เพื่อเรียนรู้จากผู้บริหารของโรงเรียน ใน 4 ประเด็นตามข้อ 2 และเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น คือ
    1. กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่ครู นักเรียน และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในโรงเรียน
    2. กลยุทธ์หรือวิธีการในการขับเคลื่อนสู่ชุมชนและผู้ปกครองของนักเรียน
  4. เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนา การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนในบริบทต่างๆ

ขอบเขตของกิจกรรม

  1. ไม่มีรูปแบบตายตัว แล้วแต่จำนวนคน ที่เข้าร่วม หลักๆ คือ ทำกระบวนการกลุ่มกับนักเรียนแกนนำก่อน และ สะท้อนผลสู่ครูและผู้อำนวยการ
  2. ทำกิจกรรมระยะสั้น นักเรียนแกนนำประมาณ 1 ชั่วโมง ครูแต่ละโรงเรียน 1 ชั่วโมง
  3. เน้นการเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อน
  4. สะท้อนความจริง ตรงไปตรงมา
  5. ประชาสัมพันธ์ข่าวโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป
"ขออภัย"
ยังไม่มีเนื้อหาข้อมูลในส่วนนี้
ภาพกิจกรรม
วิดีโอแนบ
ไฟล์แนบ