ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒ จนมาถึงการปฏิรูปรอบที่สองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ แต่คุณภาพการศึกษาของประเทศก็ยังไม่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึง คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ภาคีภาครัฐและภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเป็นพื้นที่นวัตกรรมใน ๖ พื้นที่ ๘ จังหวัด
จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวทางการจัดการศึกษามีทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน/ธุรกิจ สถานประกอบการ ภาคประชาชน ภาคท้องถิ่นแม้กระทั่งภาคการเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาส่งเสริมสนับสนุนและลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนไทย สังคมไทยและประเทศชาติมากขึ้น แต่จากข้อเท็จจริงก็ยังมองเห็นปัญหาของการศึกษาที่สะท้อนการลงทุนสูง ทั้งงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษา แต่คุณภาพของผู้เรียนตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น โดยดูจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตํ่าผู้เรียนขาดทักษะการเรียนรู้และคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ซึ่งสะท้อนผลกลับไปยังความด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการการศึกษาคุณภาพของครูและผู้บริหารสถานศึกษา โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๐ “สะท้อนปัญหาและทางออกตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาไทย”
สืบเนื่องจากภาคีเครือข่ายมียุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ที่บอกลา การสอนแบบระบบเดิมท่องจำ ไปสู่ ระบบใหม่ แบบค้นคว้า เน้นการสร้างทักษะชีวิตและทักษาอาชีพ เพื่อสร้างนักเรียนคนรุ่นใหม่ ตอบสนองต่อการพัฒนาคนในประเทศที่เริ่มต้นจากฐานโรงเรียนที่มีความเชื่อว่า “โรงเรียนเป็นประตูสู่การเปลี่ยนแปลง” เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง
และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่าการเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ โดยปรับบทบาทจาก “ครูสอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อํานวยการการเรียนรู้” ทําหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนําวิธี เรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ออกแบบกิจกรรมและสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญในการอบรมบ่มความรู้ ประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนก้าวสู่สังคม และเผชิญกับสภาวการณ์ต่างๆ ได้อย่างรู้ทันตนเอง และสภาพแวดล้อมที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันอุดมศึกษาที่ก่อกำเนิดจากการขยายผลแนวคิดและประสบการณ์การจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ กว่า ๒๐ ปี ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กนักเรียนและเห็นถึงปัญหาของการจัดการศึกษาของประเทศไทยดังที่กล่าวข้างต้น จึงมีเจตนาที่จะนำความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวมผ่านหลักสูตร “เพิ่มพลังวิสัยทัศน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน สู่การเป็นครูของครู (Super Coach)” จึงมุ่งให้ผู้บริหารและครู ได้รับการเสริมพลังเพื่อการตระหนักถึงความสำคัญ และบทบาทหน้าที่ของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตของเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม ครูต้องมีความตื่นตัว ตื่นรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในระดับต่างๆ รู้จักตนเอง การประมาณตน การประเมินสถานการณ์ ให้ถึงพร้อมทั้งทัศนคติ ความรู้ และทักษะอย่างเข้าถึงระบบคุณค่าแท้ของการเรียนรู้ต่างๆ เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างมีความหมายกับชีวิตและโลก พร้อมด้วยสมรรถนะที่สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมตามวัยผ่านความร่วมมือทำหน้าที่เป็นคู่คิดเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติมหนุนเสริมการทำงานด้านวิชาการและการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอน เป็นการพัฒนาการบูรณาการการสอนวิชาพื้นฐานกับงานเกษตรให้เป็นภาพเดียวกันดังเป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อเปิดมุมมองด้านการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ว่า “ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษานั้นต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม กล่าวคือโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพื้นที่บ่มเพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนทั้งระบบWhole School Transformทั้งทางด้านจิตใจ (Heart) พฤติกรรม (Hand) และปัญญา (Head) โดยเริ่มจากบทบาทของผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการทางด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน การจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาครูซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาด้วยแนวทาง PLC: Professional Learning Community และการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ส่งผลต่อผู้เรียนที่มีทักษะการเรียนรู้จักตนเอง และมีทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑
ดังนั้น การเปิดมุมมองและพัฒนากระบวนทัศน์ของการจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ ของผู้เรียน เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ของผู้บริหารและคณะครู ให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning) ที่ส่งผลให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม จนเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับความตระหนักถึงมิติด้านคุณค่าของผู้เรียนพร้อมทั้งพัฒนาความเข้าใจในบทบาทและท่าทีในการสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมผ่านการพัฒนาศักยภาพจากที่กล่าวมาสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ จึงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร นำประสบการณ์การจัดการเรียนรู้และการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Transform) มาถ่ายทอดประสบการณ์และร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้บริหารและคณะครูในการพัฒนาการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนในโครงการร่วมพัฒนา (Partnership Schools) ให้มีศักยภาพและก้าวสู่การปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนให้เป็นโรงเรียน ๔.๐ (Whole School Transform)หรือองค์กรแห่งมืออาชีพในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและพัฒนาพลังวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการโรงเรียนให้เป็นครูของครู (Super Coach)
ที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
๑. การการออกแบบ ROAD MAP และแผนการจัดการเรียนแบบใฝ่รู้ (Active Learning) โดยใช้กระบวนการ OLE ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ๓ ด้าน ความรู้ ทักษะ คุณค่า กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง สื่อ และการประเมินผล
๒. การออกแบบการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วนโดยเชื่อมโยงการบูรณาการฐานวิชาการและฐานธุรกิจแบ่งปันโดยมีพื้นที่ในโรงเรียนและชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้
๓. กระบวนการสื่อสาร การเป็นโค้ชและกระบวนกรด้วยกระบวนการโค้ชชิ่งและสร้างชุมชนผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ (PLC : Professional Learning Community)
ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ เห็นภาพของกระบวนทัศน์การจัดการศึกษา 4.0 เพื่อพัฒนาชีวิตของผู้เรียนบูรณาการพื้นฐานวิชาการควบคู่กับการสร้างธุรกิจเพื่อแบ่งปัน พัฒนาทักษะการเรียนรู้และสมรรถนะของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ เห็นภาพจริงของกระบวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ และบทบาทของผู้บริหาร/ผู้อำนวยการ บทบาทครู และบทบาทของผู้ปกครอง และมีความพร้อมในการปฏิบัติการสอนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักเรียนและเป็นหุ้นส่วนของการเรียนรู้โดยนำพาให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้